xs
xsm
sm
md
lg

ธสน.ปี 50 ทำกำไร 505 ล้านบาท พอใจหนี้เน่าลดฮวบเหลือ 5.5%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอ็กซิมแบงก์โชว์ความสามารถทำกำไรสุทธิ 505 ล้านบาทในปี 2550 ซึ่งเป็นผลสำเร็จของการปรับกลยุทธ์ด้านโครงสร้างองค์กรและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ รวมทั้งการแก้ปัญหา NPLs ภายใต้ข้อจำกัดด้านเงินกองทุนขนาดเล็กในการช่วยเหลือผู้ส่งออกและนักลงทุนไทยให้แข่งขันได้ในตลาดโลก ส่วนปี 51 ตั้งเป้าอนุมัติสินเชื่อใหม่อีก 2.9 หมื่นล้าน กำไรสุทธิ 250 ล้านบาท

นายณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานกรรมการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(ธสน.) หรือ EXIM BANK และนายอภิชัย บุญธีรวร กรรมการผู้จัดการ ร่วมกันแถลงผลการดำเนินงานของ EXIM BANK ในปี 2550 ว่า ท่ามกลางสถานการณ์ทางเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศที่เปลี่ยนแปลงและผันผวนอย่างต่อเนื่องตลอดปี 2550 ประกอบกับข้อจำกัดด้านเงินกองทุนขนาดเล็กของ EXIM BANK ทำให้ EXIM BANK ไม่สามารถขยายการให้สินเชื่อได้มากเท่าที่ควรในปี 2550

อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานด้านต่างๆ ของ EXIM BANK ในปีที่ผ่านมายังอยู่ในระดับที่น่าพอใจ มียอดอนุมัติวงเงินสินเชื่อและวงเงินรับประกันการส่งออกเพื่อสนับสนุนแก่ผู้ส่งออกและนักธุรกิจไทยจำนวนทั้งสิ้น 21,728 ล้านบาท ปริมาณธุรกิจสะสมในปี 2550 มีจำนวน 294,850 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2550 มียอดคงค้างเงินให้สินเชื่อจำนวน 52,752 ล้านบาท หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-performing Loans: NPLs) ลดลงจาก 7,925 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2549 เหลือเพียง 2,925 ล้านบาท คิดเป็น 5.5% ของเงินให้สินเชื่อและดอกเบี้ยค้างรับ ส่งผลให้ในปี 2550 EXIM BANK มีผลกำไรสุทธิจำนวน 505 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 480 ล้านบาท

ปัจจุบัน EXIM BANK มีเงินกองทุนเพียง 7,500 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินกองทุนขนาดเล็กที่ทำให้ EXIM BANK ดำเนินบทบาทสนับสนุนและส่งเสริมธุรกิจส่งออกและการลงทุนของไทยในต่างประเทศได้อย่างจำกัด EXIM BANK จึงจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์ในหลายด้านตลอดปีที่ผ่านมา เริ่มตั้งแต่การแก้ไขปัญหา NPLs โดยจัดตั้งฝ่ายวาณิชธนกิจดูแลการปรับโครงสร้างทางการเงินของลูกหนี้ NPLs รายใหญ่จนสามารถทำให้ NPLs กลับมาเป็นหนี้ปกติได้รวม 2,598 ล้านบาท รวมทั้งขาย NPLs จำนวน 8,200 ล้านบาทได้สำเร็จ ทำให้ NPLs ของ EXIM BANK ลดลงอย่างน่าพอใจจาก 13.6% เหลือเพียง 5.5% ต่ำกว่าเป้าหมายซึ่งตั้งไว้ที่ 10%

สำหรับเป้าหมายการดำเนินงานของธสน.ในปี 2551 ตั้งเป้าหมายอนุมัติวงเงินสินเชื่อเพิ่มใหม่จำนวน 29,200 ล้านบาท ยอดสินเชื่อคงค้างรวมดอกเบี้ยรับจำนวน 59,812 ล้านบาท และกำไรสุทธิที่ 520 ล้านบาท ส่วนเอ็นพีแอลตั้งเป้าไว้ต่ำกว่า 5.5% ของพอร์ตสินเชื่อ

ขณะเดียวกัน EXIM BANK ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ได้แก่ บริการทางการเงินสำหรับธุรกิจบริการการส่งออก (Service Providers for Exports) บริการสินเชื่อ Exclusive P/N (Promissory Note) สำหรับลูกค้าที่มีผลประกอบการดีถึงดีมาก และบริการด้านวาณิชธนกิจ ครอบคลุมบริการด้านที่ปรึกษาทางการเงิน การร่วมลงทุนในกิจการทั้งในและต่างประเทศที่มีศักยภาพในการเติบโตแต่ขาดเงินทุน และการออกตราสารทุนเพื่อช่วยระดมทุนให้แก่ลูกค้า

ส่วนการปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ของ EXIM BANK ตลอดปีที่ผ่านมาเริ่มตั้งแต่การจัดตั้งฝ่ายกลยุทธ์และพัฒนาธุรกิจ ฝ่ายวิเคราะห์สินเชื่อ และส่วนกำกับการปฏิบัติงาน (Compliance Division) รวมทั้งปรับโครงสร้างการทำงานของฝ่ายธุรกิจธนาคารและฝ่ายงานด้านการตลาดทั้งหมด โดยควบรวมงานให้คำปรึกษาแนะนำ สินเชื่อ วงเงินค้ำประกัน และบริการประกันการส่งออกไว้ด้วยกันเพื่อความคล่องตัวในการให้บริการที่ครบวงจรแก่ผู้ประกอบการไทยแต่ละราย ทั้งนี้ ฝ่ายงานด้านการตลาดตามโครงสร้างใหม่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ต้นปี 2551

“การดำเนินธุรกิจด้วยเงินกองทุนขนาดเล็ก ในขณะที่ EXIM BANK ต้องมีบทบาทในเชิงรุกเพื่อช่วยให้นักธุรกิจไทยแข่งขันได้ในตลาดโลก ทำให้ EXIM BANK ต้องปรับตัวอย่างมากตลอดปีที่ผ่านมาเพื่อทำหน้าที่ต่อไปและดำรงความแข็งแกร่งทางการเงินขององค์กรให้ได้ในขณะเดียวกัน การเพิ่มทุนจึงเป็นสิ่งจำเป็นและคาดหวังว่ารัฐบาลจะพิจารณาเพิ่มทุนให้แก่ EXIM BANK ในปีนี้” ประธานกรรมการ EXIM BANK กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น