xs
xsm
sm
md
lg

ธสน.จับมือสคิบรับประกันส่งออก ลดความเสี่ยงลูกหนี้เบี้ยวจ่ายเงิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอ็กซิมแบงก์ จับมือ สคิบ เปิดบริการประกันการส่งออก ป้องกันผลกระทบให้ผู้ส่งออกหากถูกเบี้ยวจ่ายค่าสินค้า ระบุ กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงขึ้นเป็นสหรัฐฯ และประเทศแถบยุโรป พร้อมเร่งเจรจาแบงก์พาณิชย์อีก 2-3 แห่ง ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าการทำกรมธรรม์ปีนี้ที่ 5 หมื่นล้านบาท ด้านแบงก์นครหลวงไทยหวังได้ขยายฐานธุรกิจเทรด ไฟแนนซ์เพิ่ม เล็งเพิ่มศูนย์ธุรกิจอีก 9 แห่งภายใน 3 ปี

นายอภิชัย บุญธีรวร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) หรือ EXIM BANK เปิดเผยว่า เอ็กซิมแบงก์ได้ร่วมมือกับธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ภายใต้ “บริการประกันการส่งออก” (EXIM FLEXI) เป็นบริการประกันการส่งออกแบบใหม่ที่ปรับลดค่าเบี้ยประกัน ลดขั้นตอนการทำงานของ EXIM BANK และผู้ส่งออก และเพิ่มประโยชน์ส่วนของการจ่ายค่าสินไหมทดแทนสูงสุดถึง 90% ของความเสียหายที่เกิดขึ้นให้แก่ผู้ส่งออกที่ปฏิบัติตามเงื่อนไขตามที่ได้ตกลงกับผู้ซื้อแต่ไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้า

สำหรับประโยชน์ของบริการ EXIM FLEXI ต่อผู้ส่งออกไทย คือ ทาง EXIM BANK จะเป็นผู้วิเคราะห์ความน่าเชื่อถือของคู่ค้าในต่างประเทศให้แก่ผู้ส่งออก และช่วยให้ผู้ส่งออกกล้าค้าขายโดยให้เครดิตเทอมที่ยาวนานขึ้น และเป็นการเพิ่มโอกาสในการขยายตลาดไปสู่ตลาดใหม่ๆ ที่อาจมีความเสี่ยง ได้รับค่าสินไหมทดแทนเมื่อเกิดความเสียหาย ช่วยติดตามหนี้ และช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการติดตามหนี้และเป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อธนาคาร

ส่วนประโยชน์ต่อสถาบันการเงิน คือ บริการดังกล่าวเป็นเครื่องมือในการป้องกันความเสี่ยง สามารถขยายวงเงินสินเชื่อได้มากขึ้น รวมถึงได้หลักประกันเพิ่มเติมจากการโอนสิทธิในการรับค่าสินไหมทดแทน และช่วยหนี้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) จากการจ่ายค่าสินไหมทดแทนของ EXIM BANK อีกทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ประกาศให้เป็นหลักประกันประเภทหนึ่ง อย่างไรก็ตาม EXIM BANK ตั้งเป้าหมายมูลค่าของการทำกรมธรรม์ในปีนี้ไว้ที่ 50,000 ล้านบาท

“ตั้งแต่เปิดให้บริการประกันการส่งออกในปี 2538 จนถึงปัจจุบัน EXIM BANK ได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 260 ล้านบาท โดย 80% เกิดจากผู้ซื้อปฏิเสธการชำระเงินค่าสินค้า อีก 18% ผู้ซื้อล้มละลายและ 2% ผู้ซื้อปฏิเสธรับมอบสินค้า ธุรกิจส่งออกที่ได้รับการจ่ายค่าสินไหมทดแทนมากที่สุด ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ 57% รองลงมาคือ เฟอร์นิเจอร์ 13% อาหารกระป๋อง 9% และผลิตภัณฑ์พลาสติก 9% ส่วนกลุ่มประเทศมีความเสี่ยงสูงขึ้นก็จะเป็นสหรัฐอเมริกา และกลุ่มประเทศในยุโรป”

นายอภิชัย กล่าวอีกว่า ในภาวะที่เศรษฐกิจต่างประเทศชะลอตัวลง โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็ทำให้ความเสี่ยงในการไม่ได้รับชำระเงินของผู้ส่งออกมีเพิ่มขึ้น อันเนื่องมาจากผู้ซื้อสินค้าต่างประเทศได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ซึ่งกรมธรรม์ที่เอ็กซิมแบงก์ร่วมกับธนาคารนครหลวงไทย จะช่วยลดความเสี่ยงทางด้านนี้ได้ ขณะที่ค่าใช้จ่ายก็ไม่มากนัก โดยขณะนี้เอ็กซิมแบงก์ก็อยู่ระหว่างการหารือกับธนาคารพาณิชย์อีก 2-3 แห่ง เพื่อให้บริการ EXIM FLEXI และคาดว่าภายในปีนี้จะให้บริการเพิ่มเป็น 3 แห่ง

“เมื่อเศรษฐกิจสหรัฐฯชะลอตัวลงจากปัญหาซับไพรม์ ก็ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของหลายๆ ประเทศ โดยในส่วนของไทยเองก็มีสัดส่วนการส่งออกไปสหรัฐฯประมาณ 15-18%ของยอดสินเชื่อรวม ขณะที่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ เฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์ตกแต่งบ้าน ก็จะได้รับผลกระทบจากยอดขายบ้านที่ลดลง รวมถึงยอดขายสินค้าฟุ่มเฟือยต่างๆ ก็จะลดลงด้วย ซึ่งก็ทำให้ความเสี่ยงของผู้ส่งออกเพิ่มขึ้น ขณะที่ผู้รับประกัน คือ เอ็กซิมแบงก์จะมีความเสี่ยงจากการรับประกันเพิ่มขึ้นบ้าง แต่ก็จะต้องพยายามหาผู้ประกันเพิ่มขึ้น ก็จะช่วยกระจายความเสี่ยงได้” นายอภิชัย กล่าว

สำหรับมาตรการช่วยเหลือผู้ส่งออกนั้น เอ็กซิมแบงก์ได้จัดทำมาตรการเสนอให้รัฐบาลไปแล้ว อาทิ การสนับสนุนให้ซื้อเครื่องจักร ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของรัฐบาลว่าจะเห็นชอบกับแนวทางใด โดยเท่าที่ส่งไปมี 2-3 มาตรการทั้งในส่วนของผู้ส่งออกรายใหญ่ และผู้ส่งออกที่เป็นเอสเอ็มอี ส่วนจะมีการปรับลดภาระดอกเบี้ยหรือเงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรนให้กับผู้ส่งออกเอสเอ็มอีหรือไม่นั้น ก็ต้องขึ้นอยู่กับนโยบายของทางการ ซึ่งทางเอ็กซิมแบงก์ก็จะเข้าไปรับนโยบายจากกระทรวงการคลังในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ที่จะถึงนี้

นายชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCIB เปิดเผยว่า จากบริการนี้เชื่อว่าจะเป็นส่วนที่ช่วยให้ยกระดับรายได้จากการชำระเงินจากการค้าหรือเทรดไฟแนนซ์ของธนาคารให้มีการขยายตัวที่ 30% หรือประมาณ 35,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเติบโตแบบปกติ แต่หากธนาคารจะทำการลงทุนในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพิ่มเติมประกอบกับธนาคารจะเปิดศูนย์บริการธุรกิจต่างประเทศเพิ่มอีกประมาณ 9 แห่งภายใน 3 ปี ซึ่งปัจจุบันมีศูนย์บริการดังกล่าวประมาณ 6 แห่ง โดยในเดือนเม.ย.ธนาคารจะเปิดศูนย์บริการธุรกิจต่างประเทศที่สุรศักดิ์มนตรี ศรีราชา จังหวัดชลบุรี ก็จะทำให้ในปี 2552 ธนาคารจะทำธุรกิจเทรดไฟแนนซ์ได้อย่างเต็มตัว

“เราตั้งเป้าหมายเทรดไฟแนนซ์ว่าจะเติบโต 30% แต่พอได้ร่วมกับกับ EXIM BANK ทำให้เชื่อว่าการเติบโตน่าจะสูงว่าที่ตั้งเป้าหมายไว้ เดิมเราเคยแข็งแกร่งเรื่องนี้มากที่สุดแต่ตั้งแต่มีกาควบรวมเราก็ดูแลได้ไม่ดีนัก แต่ต่อจากนี้เราจะยกระดับและทำธุรกิจนี้ให้ดีขึ้น” นายชัยวัฒน์ กล่าว

นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า ธนาคารตั้งเป้ารายได้จากค่าธรรมเนียมในปี 2551 เติบโต 18% จากปี 2550 มีรายได้ค่าธรรมเนียมอยู่ที่ 2,300 ล้านบาท โดยเชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มที่จะดีขึ้นจะช่วยทำให้รายได้ค่าธรรมเนียมเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ประกอบกับธนาคารยังเน้นปรับโครงสร้างการทำงานรวมถึงการเสริมสร้างความรู้ให้กับพนักงาน จึงเชื่อว่าจะตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าในส่วนของการบริการที่ดียิ่งขึ้น โดยรายได้ค่าธรรมเนียมของธนาคารส่วนใหญ่จะมาจากเทรดไฟแนนซ์ การขยายประกันผ่านธนาคาร และบริหารด้านหลักทรัพย์
กำลังโหลดความคิดเห็น