การเดินขบวนขับไล่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พ้นจากอำนาจ เมื่อปีสองปีที่ผ่านมามีเหตุผลสำคัญ คือปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นที่อดีตนายกรัฐมนตรี มีส่วนเข้าไปพัวพันในหลายคดีสำคัญ ทั้งการทุจริตในเชิงนโยบาย การใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ การเอื้อประโยชน์ให้กับเครือญาติ พวกพ้องบริวาร ฯลฯ อันนำมาสู่กระบวนการตรวจสอบโดยคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.)
กว่าหนึ่งปีที่ผ่านมา คตส. ได้สรุปสำนวนคดีทุจริตที่มีพ.ต.ท.ทักษิณ เข้าไปเกี่ยวข้อง นำไปสู่การฟ้องร้อง ออกหมายจับในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน และยังมีอีกหลายคดีสำคัญที่เข้าคิวรอนำขึ้นสู่ศาลก่อนที่ คตส.จะหมดอายุในเดือนมิถุนายน 2551 นี้
การเดินหน้าตรวจสอบอดีตนายกรัฐมนตรีของ คตส. โดยไม่หวั่นต่อแรงเสียดทานทุกด้าน รวมทั้งการทำงานของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในช่วง สุนัย มโนมัยอุดม เป็นอธิบดี ที่ออกหมายจับพ.ต.ท.ทักษิณ ทำให้รัฐบาลหุ่นเชิดที่เข้ามาครองอำนาจหลังชนะเลือกตั้ง ต้องหาทุกวิถีทางในการเคลียร์คดี กันคนที่ไม่ใช่พวกพ้องหรือสั่งได้ให้พ้นไปจากการทำคดี เพื่อให้กระบวนการฟอกตัวอดีตนายกฯ ให้พ้นผิดราบรื่น
กล่าวสำหรับคดีทุจริตที่รัฐบาลหุ่นเชิดต้องเร่งเคลียร์ให้กับอดีตนายกฯ ทักษิณ นอกเหนือจากคดีที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ได้อนุมัติหมายจับตามที่พ.ต.ท.ไกรวิทย์ อรสว่าง พนักงานสอบสวน คดีพิเศษ 8 (ดีเอสไอ) สำนักคดีการเงินและการธนาคาร ยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2550 ขออนุมัติหมายจับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยา ผู้ต้องหากระทำผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ในการปกปิดการยื่นแบบแสดงข้อมูล (ไฟลิ่ง) โครงสร้างผู้ถือหุ้น บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เนื่องจากผู้ต้องหาทั้งสองคนมีพฤติการณ์หลบเลี่ยงไม่เข้าพบพนักงานสอบสวนที่หมายเรียกแล้ว ยังมีคดีสำคัญๆ ที่ คตส. สรุปสำนวนส่งฟ้องต่อศาลไปแล้ว และกำลังจ่อคิวตามมาอีกยาวเหยียด
หนึ่ง คดีที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร) และภริยา เข้าทำสัญญาซื้อขายที่ดินของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (ที่ดินถนนรัชดาภิเษก) คดีนี้ คตส.ตรวจสอบพบว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้ร่วมกับพวกกระทำความผิดทางอาญาที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐเท่ากับมูลค่าของที่ดินจำนวน 4 โฉนด เนื้อที่ 33-0-78.9 ไร่ บริเวณถนนรัชดาภิเษก ซึ่งยังประเมินราคาตลาดไม่ได้ แต่ราคาที่ปรากฏตามสัญญาที่เป็นส่วนของการกระทำผิด เป็นเงิน 772 ล้านบาท
คดีดังกล่าว ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้ประทับรับฟ้องคดี เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2550 ซึ่ง นายพชร ยุติธรรมดำรง อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยา เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐาน เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐร่วมกันเป็นคู่สัญญา หรือมีส่วนได้เสียในสัญญาที่ทำกับหน่วยงานของรัฐ ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้น ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีอำนาจกำกับ ดูแล ควบคุม ตรวจสอบ หรือดำเนินคดี
และเป็นเจ้าพนักงานและผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใดเข้าไปมีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตัวเองหรือผู้อื่น เนื่องด้วยกิจการนั้น เป็นเจ้าพนักงานและผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 4 , 100 และ 122 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 , 83 , 86 , 91 , 152 และ 157 ในการทุจริตซื้อขายที่ดินรัชดาภิเษก
คดีนี้ ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยอัยการสูงสุดได้เป็นโจทก์ฟ้องคดี จำเลยไม่มาศาลโดยให้ทนายจำเลยยื่นขอเลื่อนคดีต่อศาล แต่ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้ออ้างของจำเลยไม่อาจรับฟังได้ จึงไม่มีเหตุที่จะเลือกการพิจารณาคดีออกไป จำเลยทราบเรื่องที่ถูกฟ้องและได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องโดยชอบแล้ว แต่ไม่มาศาล พฤติการณ์มีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยหลบหนี จึงให้ออกหมายจับ
ในการพิจารณาคดีครั้งแรก เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2550 โจทก์ยังไม่สามารถนำตัวจำเลยมาศาลได้ ศาลจึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีชั่วคราว ซึ่งหมายความว่า ระหว่างที่ยังไม่ได้ตัวจำเลยมา ศาลจะหยุดการพิจารณาคดีไว้ก่อน เมื่อได้ตัวมาเมื่อใดก็หยิบยกคดีนี้ขึ้นมาพิจารณาต่อไปได้ภายในอายุความ 15 – 20 ปี ไม่ใช่ว่าจำเลยหลุดพ้นไปจากคดี
คดีนี้ อดีตนายกรัฐมนตรี กำลังดิ้นรนต่อรอง หากกลับเข้ามามอบตัวสู้คดีก็ขอให้ได้รับการประกันตัวเหมือนกรณีคุณหญิงพจมาน ชินวัตร
สอง กรณีธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) ซึ่ง คตส. จะส่งสำนวนให้สำนักงานอัยการสูงสุด ฟ้องร้องต่อศาลในเร็วๆ นี้
กรณีดังกล่าว เอ็กซิมแบงก์ ให้เงินกู้แก่ประเทศสหภาพพม่า วงเงิน 4,000 ล้านบาท โดยคิดดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 3 ต่อปี เป็นการดำเนินนโยบายแอบแฝงเกี่ยวกับการหาประโยชน์สำหรับธุรกิจครอบครัวอดีตนายกรัฐมนตรีกับพวก (บริษัท ชินแซทเทิลไลท์ จำกัด )
กรณีข้างต้น เป็นเหตุให้กระทรวงการคลัง เสียหาย ต้องจ่ายเงินชดเชยอัตราดอกเบี้ยส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่จ่ายให้ธนาคารออมสินและตั๋วสัญญาใช้เงิน กับอัตราดอกเบี้ยที่จะได้รับจากรัฐบาลพม่าให้กับเอ็กซิมแบงก์ เฉพาะจำนวนเงินให้กู้เพื่อซื้ออุปกรณ์ดาวเทียมฯ จากบริษัทชินแซทเทิลไลน์ จำกัด (มหาชน) จำนวน 596,330,270.30 บาท ตามสัญญาเงินกู้ 12 ปี คิดเป็นความเสียหายจากการให้กู้อัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าทุนเป็นเงิน 99,962,037.61 บาท
คดีนี้อนุกรรมการไต่สวนคดี ได้แจ้งข้อกล่าวหา พ.ต.ท.ทักษิณไปแล้ว
สาม การกระทำผิดทางกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ เพื่อเอื้อประโยชน์ธุรกิจตนเองและพวกพ้อง โดยพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แยกเป็นสองส่วน คือ
ในส่วนมาตรการเอื้อประโยชน์แก่ธุรกิจโทรคมนาคม ของบริษัทชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งคตส.ได้ตรวจสอบพบว่า
(1) แก้ไขสัญญาข้อตกลงลดส่วนแบ่งรายได้ค่าบริหารโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้า (Prepaid) เพื่อประโยชน์แก่บริษัทเอกชน ซึ่งเป็นการแก้ไขสัญญาโดยมิได้ดำเนินให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 ทำให้รัฐเสียประโยชน์ตลอดอายุสัญญาสัมปทาน เป็นเงินประมาณ 71,677 ล้านบาท
(2) แก้ไขสัญญาข้อตกลงปรับเกณฑ์การตัดส่วนแบ่งรายได้ ให้บริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) เพื่อเอื้อประโยชน์แก่บริษัทเอกชนทำให้รัฐเสียหายประมาณ 700 ล้านบาท
(3) ตราพระราชกำหนดภาษีสรรพสามิตในกิจการโทรคมนาคม และได้มีมติคณะรัฐมนตรีแปลงค่าสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต ทำให้บริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) เสียหายประมาณ 30,667 ล้านบาท
(4) เรื่องบริษัทชิน แซทเทิลไลท์ จำกัด (มหาชน) เกี่ยวกับดาวเทียมไอพีสตาร์ และการได้รับยกเว้นภาษีจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
อย่างไรก็ตาม ในสี่กรณีข้างต้น คณะอนุกรรมการไต่สวนของ คตส. พบการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตกรณีการแปลงค่าสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต ที่พบว่าพ.ต.ท.ทักษิณ สั่งการโดยมิชอบ ทำให้องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท) และการสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท) เสียหาย 4 หมื่นล้านบาท ซึ่ง คณะอนุกรรมการไต่สวนฯ ได้ร่างสำนวนและพร้อมที่จะแจ้งข้อกล่าวหาในความผิดมาตรา 152 และ 157 มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี
ส่วน 3 กรณีที่เหลือ กำลังอยู่ระหว่างการไต่สวนเพิ่มเติม
ในส่วนที่เกี่ยวกับการคงไว้ซึ่งหุ้นบริษัทชินคอร์ป คตส.ได้ตรวจสอบพบหลักฐานน่าเชื่อถือได้ว่า ผู้ถูกกล่าวหายังคงถือหุ้นชินคอร์ป ทั้งในชื่อบุคคลและชื่อบริษัทจดทะเบียนต่างประเทศ ซึ่งเป็นการผิดกฎหมาย ขณะเดียวกันก็เป็นเหตุเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่
รายงานของคณะอนุกรรมการไต่สวนในคดีการกระทำผิดทางกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ เพื่อเอื้อประโยชน์ธุรกิจตนเองและพวกพ้อง โดยพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ข้างต้น ในส่วนที่เกี่ยวกับการคงไว้ซึ่งหุ้นบริษัทชินคอร์ป หรือคดีซุกหุ้น คตส.ได้แจ้งข้อกล่าวหาต่อพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
สำหรับความผิดของ พ.ต.ท.ทักษิณ คดีซุกหุ้นนั้น เป็นความผิดมาตรา 100 (3) ประกอบมาตรา 122 แห่ง พ.ร.บ.ป.ป.ช. พ.ศ.2542 สองกระทง อันมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท เท่ากับรวมโทษจำคุก 6 ปี โดยคดีนี้ คตส.เห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ยังถือครอบหุ้นเอาไว้ผ่านบุตร และพี่น้อง รวมทั้งบริษัท แอมเพิล ริช และวินมาร์ค จำนวน 1,496,799,250 หุ้น
นอกจากนั้น อดีตนายกรัฐมนตรีและครอบครัว ยังถูก คตส. สั่งอายัดทรัพย์ จำนวน 72,310,292,181 บาท แต่คณะอนุกรรมการตรวจสอบฯ ได้รับหนังสือยืนยันจากธนาคารและสถาบันการเงินแจ้งยืนยันการอายัด จำนวน 65,508,466,422 บาท เนื่องจากมีการเคลื่อนย้ายเงินออกจากบัญชีที่มีคำสั่งอายัดก่อนที่คำสั่งอายัดจะมีผลบังคับ
ณ เวลานี้ หากรวมคดีที่ คตส.ดำเนินการกับพ.ต.ท.ทักษิณ จะมีคดีซุกหุ้น 2 กระทง ระวางโทษจำคุก 6 ปี คดีแปลงค่าสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต 1 กระทง จำคุกไม่เกิน 10 ปี และคดีเอ็กซิมแบงก์ปล่อยเงินกู้ให้พม่าอีก 1 กระทง รวมถึงคดีที่ดินรัชดาฯ อีก 1 กระทง หากศาลพิจารณาเห็นตรงกับ คตส. คาดว่า พ.ต.ท.ทักษิณ จะต้องติดคุกหัวโต
แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สังคมหวังว่ากระบวนการยุติธรรมจะดำเนินไปอย่างยุติธรรม กำลังริบหรี่ลงเมื่อรัฐบาลนอมินีของทักษิณ เข้าเถลิงอำนาจและเข้ามาแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมอย่างไม่หวั่นเกรง