xs
xsm
sm
md
lg

รายงานพิเศษ : ย้อนคดี “ทักษิณ-พจมาน”...ซื้อที่รัชดาฯ-ปกปิดหุ้นเอสซีฯ !?!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อมรรัตน์ ล้อถิรธร...รายงาน

ในที่สุด “คุณหญิงพจมาน” ก็ได้ฤกษ์เดินทางมาขึ้นศาลแล้วในวันนี้ (8 ม.ค.) ในคดีซื้อที่รัชดาฯ พร้อมเข้ารับทราบข้อกล่าวหาคดีปกปิดหุ้นในบริษัท เอสซีฯ ที่ดีเอสไอ ขณะที่ “พ.ต.ท.ทักษิณ” ในฐานะจำเลยร่วมยังไม่ยอมกลับมาสู้คดี แม้ว่าคุณหญิงพจมานจะล่วงหน้ามาชิมลางก่อน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า การมาวันนี้ ถือว่าล่าช้ากว่ากำหนดที่ควรจะเป็นหลายเดือน และก่อนที่ทั้ง 2 คดีจะได้บทสรุป เรามาย้อนดูความผิดแห่งคดีอีกสักครั้ง แล้วคอยจับตาว่า ที่สุดแล้ว การถ่วงเวลาเพื่อมาสู้คดีหลังเลือกตั้งแบบนี้ จะทำให้ทั้งคู่ชนะคดีจริงหรือไม่

คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายงานพิเศษ

คดีคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ซื้อที่ดินย่านรัชดาฯ จากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินจำนวน 33 ไร่ 2 งาน ในราคา 772 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าราคาที่ควรจะเป็นและน่าจะเข้าข่าย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ใช้ตำแหน่งนายกฯ เอื้อประโยชน์ให้คุณหญิงพจมานชนะประมูลซื้อที่ดินดังกล่าว นับเป็นคดีลำดับต้นๆ ของคุณหญิงพจมาน และ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ขึ้นสู่ศาล รองจากคดีที่คุณหญิงพจมานโอนหุ้นให้ นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ พี่ชายบุญธรรม โดยใช้กลอุบายหลอกลวงและแจ้งเท็จ เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีจากการโอนหุ้นให้กัน ซึ่งอัยการได้ส่งฟ้องคุณหญิงพจมาน-นายบรรณพจน์ และนางกาญจนา หงษ์เหิน เลขานุการส่วนตัวคุณหญิงพจมานในคดีดังกล่าวต่อศาลอาญาเมื่อวันที่ 26 มี.ค.2550

สำหรับคดีซื้อที่ย่านรัชดาฯ นั้น คณะอนุกรรมการไต่สวนคดีซื้อที่รัชดาฯ ของ คตส.ที่มีนายอุดม เฟื่องฟุ้ง เป็นประธาน ได้สรุปผลสอบเรื่องนี้เมื่อวันที่ 9 พ.ค.ว่า การกระทำของ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมานในคดีนี้ เข้าข่ายผิด พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 4, 100, 122 นอกจากนี้ ยังผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 86, 91, 152 และ 157 เนื่องจากบุคคลทั้งสองเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่ได้ร่วมกันเป็นคู่สัญญาหรือหรือมีส่วนได้เสียในสัญญาที่ทำกับหน่วยงานของรัฐ รวมทั้งเป็นเจ้าพนักงานและผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต

ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน พยายามสู้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายกฯ ไม่ได้เป็นรัฐมนตรีคลังที่กำกับดูแลกองทุนฟื้นฟูฯ พร้อมอ้างว่า การประมูลซื้อที่ดินดังกล่าวเป็นไปอย่างโปร่งใส และกองทุนฟื้นฟูฯ มีอิสระในการตัดสินใจ แต่คณะอนุกรรมการไต่สวนฯ มองว่า ฟังไม่ขึ้น เพราะมีคำให้การของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยและอดีตประธานคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูฯ ที่น่าจะยืนยันได้ว่า นายกฯ มีบทบาทในการกำกับดูแลกองทุนฟื้นฟูฯ อยู่ โดย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ยอมรับกับ คตส.ว่า การออกพันธบัตรช่วยชาติ 5 แสนล้าน เพื่อแก้ปัญหากองทุนฟื้นฟูฯ นั้น เป็นแนวคิดของตน แต่ขั้นตอนการอนุมัติ ต้องนำเสนอรัฐมนตรีคลัง, ครม.และนายกรัฐมนตรี เห็นชอบก่อน!

หลังจาก คตส.ส่งสำนวนคดีนี้ให้อัยการสูงสุดแล้ว ทางอัยการได้ดำเนินการส่งฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณและคุณหญิงพจมานต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเมื่อวันที่ 21 มิ.ย.2550 โดยหลักฐานชิ้นหนึ่งที่น่าจะมัดความผิดของ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมานในคดีนี้ได้ ก็คือ การที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ใช้ “บัตรนายกฯ” หรือบัตรข้าราชการการเมืองตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รับรองการซื้อที่ดินดังกล่าวของคุณหญิงพจมาน แม้ทนายความของบุคคลทั้งสองจะพยายามอ้างว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เซ็นอนุญาตและรับรองการซื้อที่ดินให้คุณหญิงพจมานในนามส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับตำแหน่งนายกฯ ก็ตาม

หลังคดีซื้อที่รัชดาฯ ขึ้นสู่ศาลแล้ว ปรากฏว่า ได้เกิดอุปสรรคเล็กน้อย เพราะทางองค์คณะของศาลที่พิจารณาคดีนี้ไม่เห็นด้วยที่อัยการระบุที่อยู่ของจำเลยในประเทศไทย โดยศาลเห็นว่า อัยการต้องระบุ “ที่อยู่จริง” ของจำเลย ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่า จำเลยพำนักอยู่ในต่างประเทศ และว่า หากอัยการไม่สามารถหาที่อยู่จริงของจำเลยได้ภายในวันที่ 9 ก.ค.2550 ศาลอาจไม่รับฟ้องคดีซื้อที่รัชดาฯ

จากปัญหาดังกล่าว ส่งผลให้ทางอัยการสูงสุดในขณะนั้น(พชร ยุติธรรมดำรง) ไม่เข้าใจว่า เหตุใดศาลจึงอ้างถิ่นที่อยู่ของ พ.ต.ท.ทักษิณจากสื่อมวลชนว่าอยู่ต่างประเทศ ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่สำรอง พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า การที่จำเลยร่อนเร่ย้ายถิ่นที่อยู่ไปประเทศนั้นทีประเทศนี้ที จะทำให้เกิดปัญหากับผู้ปฏิบัติในการดำเนินการ

แต่เมื่อศาลต้องการเช่นนั้น อัยการและ คตส.จึงต้องรีบหาที่อยู่ในต่างประเทศของ พ.ต.ท.ทักษิณและคุณหญิงพจมานเป็นการด่วน ซึ่งเมื่อถึงกำหนด อัยการก็ได้แจ้งที่อยู่ในต่างประเทศของ พ.ต.ท.ทักษิณว่า อยู่บ้านเลขที่ 55 พาร์คเลน กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และมีที่อยู่อีกแห่งคือ ไพร์ม วิลเลจ รีสอร์ท แอนด์ คันทรีคลับ สนามกอล์ฟกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ส่วนคุณหญิงพจมาน พักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลราฟเฟิล เลขที่ 585 ถนนนอร์ธบริดจ์ ประเทศสิงคโปร์ โดยอัยการยืนยันด้วยว่า ที่อยู่ในต่างประเทศดังกล่าวเป็นเพียงที่อยู่สำรอง เพราะจริงๆ แล้วบุคคลทั้งสองยังมีชื่ออยู่ภูมิลำเนาตามทะเบียนราษฎร โดยที่อยู่ของ พ.ต.ท.ทักษิณ คือ บ้านจันทร์ส่องหล้า เลขที่ 472 ถนนจรัญสนิทวงศ์ 69 แขวง-เขตบางพลัด กทม. ส่วนที่อยู่ตามทะเบียนราษฎรของคุณหญิงพจมาน คือบ้านเลขที่ 526 ถนนพระราม 5 แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กทม.

ในที่สุด ศาลได้รับฟ้องคดีดังกล่าว พร้อมออกหมายเรียกให้จำเลยทั้งสองมาปรากฏตัวต่อศาลในการพิจารณาคดีนัดแรกวันที่ 14 ส.ค.50 แต่สุดท้าย ทั้ง พ.ต.ท.ทักษิณและคุณหญิงพจมานก็ไม่ยอมมาขึ้นศาลตามกำหนด โดย พ.ต.ท.ทักษิณบอก จะไม่เดินทางกลับประเทศจนกว่าจะมีการเลือกตั้ง พร้อมอ้างเหตุผล 4 ข้อในการไม่เดินทางกลับว่า 1.ประเทศยังไม่มีประชาธิปไตย และมีการตั้งธงให้ตนต้องติดคุก 2.กระบวนการยุติธรรมถูกแทรกแซง 3.เหตุผลเรื่องความปลอดภัย และ 4.เพื่อความสมานฉันท์!?!

ซึ่งหลายฝ่ายฟังแล้วไม่เชื่อในเหตุผล 4 ข้อของ พ.ต.ท.ทักษิณ ว่า จะเป็นเหตุผลที่แท้จริงในการไม่เดินทางกลับประเทศมาสู้คดี เช่น นายเกียรติ สิทธีอมร ในฐานะคณะทำงานด้านเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์ มองว่า เหตุผล 4 ข้อของ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นเหตุผลที่อ่อน เพราะหาก พ.ต.ท.ทักษิณเชื่อว่าตนบริสุทธิ์จริงๆ ไม่ได้ทำผิด ก็ต้องกลับมาสู้คดี แต่ที่ไม่กลับ อาจเป็นเพราะไม่สามารถหาอะไรมาหักล้างข้อกล่าวหาได้มากกว่า

“ทุกคดี เท่าที่ผมตามดูนะ เริ่มจากซีทีเอ็กซ์ ก็เห็นชัดว่ามันมีความผิดปกติเยอะมาก อธิบายไม่ได้ การตอบข้อเท็จจริงจากหลายฝ่ายก็เห็นได้ชัดว่ามันมีความผิดปกติอยู่มาก และการจัดซื้อจัดจ้างนี่ราคาสูงกว่าที่ควรจะเป็นมาก ถ้าตรวจเส้นทางเงินไปแล้ว เราก็เห็นเหมือนกันว่า เส้นทางเงินเองก็มีการไปชำระเงิน เอาเงินของโครงการไปชำระแก่บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องกับโครงการเลยเยอะมาก ข้อเท็จจริงอย่างนี้ไม่ว่าไปพูดให้ศาลไหน ประเทศไหนฟัง ก็เข้าใจได้ว่าผิดปกติมาก กรณีที่ดินรัชดาฯ ผมคิดว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏก็เด่นชัดพอสมควรแล้ว มีเรื่องของการใช้อำนาจในรูปแบบต่างๆ ในกรณีของวินมาร์ค ในกรณีของภาษี ในกรณีของหุ้นชิน ไม่ว่าเป็นเรื่องใดก็แล้วแต่ที่ตรวจสอบ หลักฐานเด่นชัดมากในเรื่องของเส้นทางเงิน ซึ่งอธิบายไม่ได้ ยกตัวอย่างง่ายๆ บอกว่าไม่ใช่หุ้นของตัว แต่เป็นผู้รับเงินปันผลทั้งหมด อย่างนี้จะเอาข้อเท็จจริงไหนมาสู้ ผมคิดว่าข้อเท็จจริงที่จะหักล้างสิ่งเหล่านี้ ยากมาก ถ้าคุณทักษิณเชื่อว่าตัวเองบริสุทธิ์ ก็มาต่อสู้คดี”

เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ไม่ยอมเดินทางกลับมาสู้คดี ในที่สุดทางอัยการจึงต้องหาช่องเพื่อขอให้อังกฤษส่งตัวบุคคลทั้งสองให้ไทยในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน แต่ยังไม่ทันมีความคืบหน้า คุณหญิงพจมานในฐานะจำเลยที่ 2 ในคดีซื้อที่รัชดาฯ ก็เดินทางกลับประเทศมาขึ้นศาลเสียก่อนในวันนี้ (8 ม.ค.) ขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ส่งสัญญาณเป็นระยะๆ โดยตอนแรกแกนนำพรรคพลังประชาชนบอกว่า พ.ต.ท.ทักษิณ จะเดินทางกลับมาวันที่ 14 ก.พ.นี้ แต่ไปๆ มาๆ สัญญาณล่าสุด ก็คือ จะกลับมาวันที่ 13 เม.ย.ซึ่งคงยังไม่แน่นอนว่าจะใช่คำตอบสุดท้ายหรือไม่?

หลังศาลฯ สอบคำให้การของคุณหญิงพจมานในคดีซื้อที่รัชดาฯ แล้ว ได้อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวคุณหญิงพจมานโดยตีราคาประกันในวงเงิน 5 ล้านบาท พร้อมสั่งห้ามคุณหญิงพจมานเดินทางออกนอกประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต และห้ามคุณหญิงพจมานกระทำการใดที่อาจเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อคดีนี้ มิฉะนั้นจะถอนประกัน!

นอกจากคดีซื้อที่รัชดาฯ แล้ว อีกคดีของคุณหญิงพจมาน และ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่น่าสนใจและเป็นเรื่องใหญ่ไม่แพ้กัน ก็คือ คดีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้ตรวจสอบพบว่า พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมานปกปิดการถือหุ้นใหญ่ในบริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือเอสซี ซึ่งหุ้นดังกล่าวถูกโอนให้บริษัทและกองทุนต่างๆ หลายทอด เพื่ออำพรางการถือหุ้นหรือเป็นนอมินีให้ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน เช่น โอนให้บริษัทวินมาร์คในช่วงกลางปี 2543 ต่อมาก็โอนให้กองทุนรวมแวลู อินเวสท์เมนท์ ในวันที่ 11 ส.ค.2546 ให้หลังไม่ถึงเดือน (1 ก.ย.) ก็โอนให้กองทุนโอเวอร์ซีโกรธ และกองทุนออฟชอร์ ไดนามิค ก่อนที่บริษัทเอสซีจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์วันที่ 13 พ.ย.2546

ทั้งนี้ ดีเอสไอได้ออกหมายเรียกให้ พ.ต.ท.ทักษิณ-คุณหญิงพจมาน และผู้มีส่วนร่วม เช่น นางบุษบา ดามาพงศ์ ภรรยานายบรรณพจน์ พี่ชายบุญธรรมคุณหญิงพจมาน มารับทราบข้อกล่าวหาเมื่อปลายเดือน มิ.ย.50 (26-29 มิ.ย.) แต่บุคคลทั้งสองก็ไม่ยอมมา โดย พ.ต.ท.ทักษิณยก 4 เหตุผลเดิมในการไม่เดินทางกลับประเทศ ส่งผลให้ดีเอสไอต้องเตรียมใช้ช่องทางขอให้อังกฤษส่งตัวบุคคลทั้งสองในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนเช่นกัน แต่สุดท้าย คุณหญิงพจมานก็ได้เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหาแล้วในวันนี้ (8 ม.ค.) หลังจากขึ้นศาลในคดีซื้อที่รัชดาฯ เรียบร้อยแล้ว

คดีปกปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้นบริษัท เอสซีฯ นี้ นอกจาก พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน จะถูกดีเอสไอตั้งข้อหาว่ามีความผิดฐานแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดความจริงซึ่งควรแจ้งในใบแนบแสดงข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์แล้ว พ.ต.ท.ทักษิณ ยังอาจเข้าข่ายทำผิดกฎหมาย ป.ป.ช.ด้วย เพราะถือว่าขณะดำรงตำแหน่งนายกฯ ไม่แจ้งบัญชีทรัพย์สินหุ้นที่ถือในบริษัทเอสซี จึงอาจเป็นการจงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ นอกจากนี้ ยังอาจมีความผิดตาม พ.ร.บ.จัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณอาจกระทำการอันมีลักษณะเข้าไปบริหาร ครอบงำ หรือจัดหาผลประโยชน์ในหุ้นของบริษัทต่างๆ โดยดีเอสไอได้แยกสำนวนคดีส่วนนี้ส่งให้ ป.ป.ช.ดำเนินการ

ซึ่งหาก ป.ป.ช.ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ และศาลฯ วินิจฉัยว่า พ.ต.ท.ทักษิณ แสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ จะต้องถูกห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี นอกจากนี้หากมีความผิดตาม พ.ร.บ.จัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี จะต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 1 แสน-1 ล้านบาท

คงต้องติดตามความคืบหน้าของทั้ง 2 คดี (คดีซื้อที่รัชดาฯ-คดีปกปิดหุ้นเอสซี)ต่อไปว่า บทสรุปสุดท้ายจะจบลงอย่างไร? จะจบลงง่ายๆ อย่างที่คุณหญิงพจมานและ พ.ต.ท.ทักษิณคาดหวังและยกขึ้นต่อสู้ว่า คตส.ไม่มีอำนาจตรวจสอบคดีต่างๆ เพราะตั้งขึ้นโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่?



พงษ์เทพ เทพกาญจนา อดีต กก.บห.พรรคไทยรักไทยก็มาให้กำลังใจคุณหญิงพจมาน
กำลังโหลดความคิดเห็น