xs
xsm
sm
md
lg

ขุนคลัง"เลี้ยบ"ช่วย"แม้ว"ก่อนแก้ ศก. ล้วงคดีชินฯ-เมินวิกฤตซับไพรม์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เปิดเป้าหมายหลักภาระกิจ "น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี" ขุนคลังคนใหม่ แก้ต่างวิกฤตคดีตระกูลชินวัตรที่ถูก คตส.กล่าวหา แทนที่จะแก้วิกฤตเศรษฐกิจประเทศ จับตาใช้อำนาจในมือล้วงลูกกรมสรรพากร สรรพสามิตและแบงก์ชาติต่อสู้คดีภาษีหุ้นชินคอร์ป ภาษีโทรคมนาคมและคดีที่ดินรัชดา ระบุแม้แจกจ่ายสำนวนไปแล้ว แต่ รมว.คลังอาจกดดันพยานจากกองทุนฟื้นฟู ธปท.กลับคำให้การ

การเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ในรัฐบาลสมัคร 1 ของ น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เป็นที่น่าจับตามองว่าจะเข้ามากู้วิกฤตเศรษฐกิจไทยที่กำลังปั่นป่วนจากวิกฤติเศรษฐกิจเศรษฐกิจสหรัฐที่กำลังเผชิญกับปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพในภาคอสังหาริมทรัพย์ (ซับไพรม์) หรือเข้ามาช่วยเหลือตระกูลชินวัตรของอดีตนายกรัฐมนตรีในการต่อสู้คดีที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ (คตส.) ได้กล่าวหา เนื่องจากปูมหลังของ น.พ.สุรพงษ์และโผรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดนี้ส่วนใหญ่เป็นตำแหน่งตัวแทนและต่างตอบแทนทั้งสิ้น

"ปัญหาเศรษฐกิจโดยเฉพาะวิกฤติซับไพรม์ในสหรัฐอเมริกาที่ส่งผลกระทบทั่วโลกจนกระทั่งธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ต้องประกาศลดดอกเบี้ยถึง 0.75% ถือว่าสูงมากเป็นประวัติการณ์ ประเทศไทยเองก็คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องประสบกับปัญหานี้ แต่การเข้ามาของ นายแพทย์สุรพงษ์ในตำแหน่งรัฐมนตรีคลัง กำลังถูกท้าทายว่าเป้าหมายหลักคือการช่วยเหลืออดีตนายกรัฐมนตรี ใช่หรือไม่ เพราะที่ผ่านมานายแพทย์สุรพงษ์มีความใกล้ชิดและเป็นที่ไว้วางใจจาก พ.ต.ท.ทักษิณและคุณหญิงพจมาน ชินวัตร" แหล่งข่าวกระทรวงการคลังกล่าว

จากความไว้วางใจของอดีตนายกรัฐมนตรีที่มีต่อ น.พ.สุรพงษ์ ทำให้การจัดโผ ครม.ครั้งนี้ ไม่สนใจในฝีมือบริหารและประสบการณ์ด้านเศรษฐกิจ การเงินและการคลัง ทั้งๆ ที่มีภาคเอกชนทักท้วงมาโดยตลอด การให้อำนาจในการกำกับดูแลกรมสรรพากรจึงมองเป็นอื่นไปไม่ได้

หากเป็นเช่นนั้น กรณีเร่งด่วนที่สุดเห็นจะหนีไม่พ้นการเข้าไปจัดการกับคดีการเรียกเก็บภาษีและเงินค่าปรับจากการซื้อขายหุ้นบริษัทชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) SHIN หรือชินคอร์ป ของนายพานทองแท้ และนางสาวพิณทองทา ชินวัตร บุตรชายและบุตรสาวของอดีตนายกรัฐมนตรี คดีนี้มีการหลีกเลี่ยงภาษีรวม 3.3 หมื่นล้านบาท ล่าสุดการซื้อขายหุ้นชินคอร์ป ยังมีการประชุมวันที่ 4 ก.พ.นี้ เพื่อทำหนังสือไปยังกรมสรรพากร ประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคล ปี 2548 ของบริษัทชิน แซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) ในส่วนของภาษีเงินได้จากเงินค่าสินไหมทดแทนความเสียหายของดาวเทียมไทยคม 3 จำนวน 33,082,960 ดอลลาร์ หรือประมาณ 1,500 ล้านบาท ที่บริษัทได้รับจากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที)

อนุกรรมการได้พิจารณาแล้วมีความเห็นว่าเงินค่าสินไหมดังกล่าว เป็นรายได้พึงประเมินตามมาตรา 65 ของประมวลรัษฎากร โดยการตอบข้อหารือของกรมสรรพากรมีความคลาดเคลื่อน คตส.จึงยื่นหนังสือให้ทบทวนการประเมินภาษีใหม่

"ปัญหาเรื่องภาษีชินคอร์ป นั้นกรมสรรพากรจะต้องถูกการเมืองยุคสมัคร1 เข้ามาแทรกแซงอย่างแน่นอน"

ยังมีกรณีออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) จัดเก็บภาษีสรรพสามิตโทรคมนาคมเพื่อเอื้อประโยชน์ให้บริษัทในเครือชินคอร์ปไม่ต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้กับรัฐแต่ให้จ่ายภาษีสรรพสามิตโทรคมนาคมในอัตรา 11% ของรายได้แทนซึ่งทำให้รัฐบาลเป็นผู้เสียประโยชน์จากส่วนต่างของรายได้ที่เกิดขึ้น เรื่องนี้ น.พ.สุรพงษ์มีส่วนในการผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงสัญญาสัมปทานในสมัยที่นั่งในตำแหน่ง รมว.ไอซีที เมื่อปี 2546 และน.พ.สุรพงษ์เคยเข้าชี้แจงต่อ คตส.ว่า สาเหตุที่มีการออกพ.ร.ก.ภาษีสรรพสามิต เพราะช่วงนั้นกำลังที่จะมีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเข้าตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งก่อนหน้านี้หน่วยงานของรัฐได้มีความพยายามในการเจรจาเพื่อแปรสัญญาสัมปทานกับบริษัทเอกชนมาตลอด แต่ไม่สามารถหาข้อสรุปได้ จึงมีแนวคิดที่จะนำมาตรการทางภาษีมาใช้แทนการแปลงสัญญาสัมปทาน เนื่องจากรัฐไม่ต้องการให้ส่วนแบ่งรายได้ที่เอกชนจ่ายให้กับรัฐวิสาหกิจติดเข้าไปในตลาดหลักทรัพย์ด้วย เพราะไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นว่าเงินของประเทศเข้าไปในตลาดหลักทรัพย์ด้วย ดังนั้นจึงมีแนวคิดว่ารายได้ที่เกิดจากส่วนแบ่งรายได้ที่เอกชนให้กับรัฐวิสาหกิจต้องกลับเข้ามาสู่กระทรวงการคลังก่อนที่รัฐวิสาหกิจจะเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ พอมีแนวคิดออกมาจึงมีการเลือกใช้แนวทางภาษีสรรพสามิตแทน

ส่วนที่มองกันว่าการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตโดยให้เอกชนสามารถนำภาษีสรรพสามิตไปหักออกจากส่วนแบ่งรายได้ที่ต้องจ่ายให้กับบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) TOT และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) CAT ทำให้ทีโอทีและกสท เสียหาย น.พ.สุรพงษ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องแยกให้ชัดว่าขณะนี้รัฐวิสาหกิจได้พ้นจากผู้กำกับดูแลมาเป็นผู้ให้บริการ เพราะฉะนั้นในเรื่องของขาดทุนหรือกำไรต้องเกิดจากการให้บริการ ไม่ใช่เกิดจากส่วนแบ่งรายได้ และหลังจากที่มีภาษีสรรพสามิต กระทรวงการคลังได้เงินทันทีทุกเดือน และรัฐวิสาหกิจจึงไม่สามารถนำเงินที่ได้ในส่วนนี้ไปคิดเป็นกำไรจากการดำเนินการได้อีกต่อไป ซึ่งคิดว่าเป็นเรื่องที่ดีที่จะทำให้รัฐวิสาหกิจทราบผลการทำงาน

**คดีที่ดินรัชดา ภาระกิจด่วน

คดีการซื้อขายที่ดินระหว่างคุณหญิงพจมาน ชินวัตร กับกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน บริเวณถนนเทียมร่วมมิตร ย่านรัชดาภิเษก ที่อัยการส่งฟ้องต่อศาลและแจกจ่ายสำนวนแล้วนั้น น.พ.สุรพงษ์อาจใช้อำนาจหน้าที่ในฐานะที่กำกับดูแลธนาคารแห่งประเทศไทยแทรกแซงในเรื่องของพยานเมื่อศาลมีการเรียกไต่สวนคดีนี้ได้

ซึ่งคดีนี้คุณหญิงพจมาน ถึงกับลงทุนเดินทางมาให้การในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วยตนเอง ตำแหน่งเก้าอี้ รมว.คลังของ น.พ.สุรพงษ์ย่อมมีผลไม่ทางตรงก็ทางอ้อมต่อคดีนี้อย่างแน่นอน

"น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งสำหรับอนาคตทางด้านเศรษฐกิจของประเทศไทยในยุคที่มีรมว.คลัง ชื่อน.พ.สุรพงษ์คนนี้ปัญหาด้านเศรษฐกิจการเงินที่ถาโถมเข้ามาจากวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยส่งสัญญาณรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ทั้งจากเงินทุนที่เคลื่อนย้ายจากสหรัฐฯ เข้ามาสูประเทศแถบเอเชียรวมทั้งประเทศไทยในปริมาณมหาศาลได้ส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาทกดดันให้แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วจนส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกที่ต้องรับกรรมจากวิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้" แหล่งข่าวระบุ

ตั้งแต่อดีตที่ผ่านมาในหลายๆ รัฐบาล แม้จะมีการระมัดระวังและเลือกเฟ้นรมว.คลังที่มีพื้นความรู้การเงินการคลังเป็นอย่างดี ทั้งนายแบงก์ นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญที่เป็นหัวกะทิของประเทศ แต่ก็ยังเกิดปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สถาบันการเงินแทบจะเอาตัวไม่รอดหลายครั้ง การเดิมพันอนาคตของประเทศในครั้งนี้ท่ามกลางเศรษฐกิจของโลกที่อยู่ในขาลงและการเงินโลกมีปัญหาหนัก สมควรหรือไม่ที่จะนำคนใกล้ตัวหรือสนิทสนมในครอบครัวมาบริหารการเงินของประเทศ ประเทศไทยยังมีคนที่มีความรู้ความสามารถทางด้านการเงินการคลังอีกมากที่จะดึงตัวมาทำงาน แต่กลับทำเสมือนประเทศไทยเป็นบริษัทส่วนตัวแต่งตั้งคนที่ใครบางคนไว้ใจเข้ามาแก้ปัญหาส่วนตัว ประเทศไทยก็คงจะมีอันตรายและเผชิญกับความเสี่ยงสูงเกินไป

แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า ขณะนี้นักลงทุนต่างชาติกำลังจับตามองเศรษฐกิจไทยอยู่ รัฐบาลควรแสดงให้นักลงทุนเห็นถึงเสถียรภาพของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นการชูนโยบายให้เกิดเป็นรูปธรรมและชัดเจน เพื่อคลายความกังวลที่มีต่อการลงทุนและภาคธุรกิจไทย เนื่องจากสัญญาณการฟื้นเศรษฐกิจจากภาครัฐเป็นสิ่งสำคัญ ที่ทำให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้สามารถขับเคลื่อนและฟื้นตัวดีขึ้น

ประเทศไทยในขณะนี้ต้องการผู้ที่มีความรู้ความสามารถเป็นผู้เชี่ยวชาญที่แท้จริงเข้ามาแก้ปัญหา การแต่งตั้งมือสมัครเล่นหรือ "ลูกแหง่" ที่นักวิชาการให้ฉายา เข้ามาเป็น รมว.คลัง อาจเป็นการเปิดประตูนำพาเศรษฐกิจของประเทศไทยเข้าสู่หายนะอย่างรวดเร็วมากขึ้น.
กำลังโหลดความคิดเห็น