xs
xsm
sm
md
lg

รัฐแห้วฉีกสัญญา "ไทยคม" ไอซีทีสรุปชินฯ ไม่เจตนา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ไอซีทีรายงานโฆสิต "ชินแซท" เปิดไทยคมแพร่ภาพทีวีก่อการร้ายไม่ผิดสัมปทานแถมเจ้าตัวเร่งปิดช่องสัญญาณได้รวดเร็วทันใจ “อนุภาพ”สวดยับทำประเทศไทยเสียหาย ระบุเป็นเพราะไม่มีกฎหมายดาวเทียมคอยควบคุม ด้านชินแซทยันชี้แจงสถานทูตสหรัฐกับอิสราเอลแล้วต่างพอใจ

แหล่งข่าวจากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารหรือไอซีทีกล่าวว่านายสือ ล้ออุทัย ปลัดกระทรวงไอซีทีได้รายงานผลสอบกรณีดาวเทียมไทยคมของบริษัท ชินแซท เทลไลน์ จำกัด(มหาชน) เปิดแพร่ภาพสถานีโทรทัศน์ Al-Manar TV เลบานอนซึ่งเป็นของเครือข่ายก่อการร้ายระดับโลกถ่ายทอดข่าวสารถึงสมาชิกขบวนการทั่วโลก ถึงนายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฐ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะรักษาการ ไอซีทีแล้วเมื่อบ่ายวันที่ 18 ม.ค. 2551

“คณะกรรมการที่รองนายกให้กระทรวงไอซีทีให้แต่งตั้งเมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2551 ได้รายงานผลสอบต่อรองนายกในฐานะรักษาการรมว.ไอซีทีเรียบร้อยแล้ว”แหล่งข่าวกล่าว

ทั้งนี้ผลการตรวจสอบของคณะกรรมการสรุปออกมาว่าการเลือกลูกค้าและเปิดให้บริการของชินแซทกรณีให้สถานีโทรทัศน์ Al-Manar TVเลบานอนแพร่ภาพผ่านดาวเทียมไทยคมสามารถทำได้ไม่ผิดสัญญาสัมปทานที่ทำกับกระทรวงไอซีที เนื่องจากบริษัทสามารถคัดสรรให้บริการลูกค้าได้

นอกจากนี้กรณีดังกล่าวเมื่อชินแซทพบว่าข้อมูลข่าวสารที่แพร่ภาพผ่านสถานีโทรทัศน์ Al-Manar TV บริษัทได้ดำเนินการปิดทันที โดยเปิดทดสอบให้บริการเพียง 3 วันคือระหว่างวันที่ 9-11 ม.ค. 2551 ซึ่งถือว่าไม่เป็นความผิดเพราะไม่ได้ละเลยเปิดให้บริการต่อเนื่อง และจากการตรวจสอบพบว่าชินแซทได้ดำเนินการตรวจสอบลูกค้ารายนี้เช่นเดียวกับลูกค้ารายอื่นๆ แต่กรณีความผิดพลาดที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่เหนือความคาดหมาย

“กรณีที่เกิดขึ้นเชื่อได้ว่าจะเป็นบทเรียนให้ชินแซทดำเนินการคัดสรรลูกค้าอย่างละเอียดรอบคอบมากขึ้นเพราะกรณีนี้ส่งผลให้เกิดความเสียหายแก่ตัวบริษัท และประเทศเป็นอย่างมากนอกจากนี้กระทรวงจะแจงเป็นลายลักษณ์อักษรกำชับให้ชินแซทเข้มงวดขึ้นอีกทางหนึ่ง”

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่าที่ผ่านมาชินแซทยังไม่ทำผิดสัญญาสัมปทานที่ทำกระทรวงไอซีที แม้แต่ครั้งเดียว และเชื่อว่าชินแซทจะไม่มียอมดำเนินการอันใดที่ผิดสัมปทานแน่นอนเพราะหากถูกยึดใบอนุญาตก็จะสร้างความเสียหายให้กับบริษัทเอง

****นักวิชาการสวดยับ
นายอนุภาพ ถิรลาภ ผู้อำนวยการสถาบันการบริหารการสื่อสารไทยในฐานะนักวิชาการด้านสื่อสารโทรคมนาคมกล่าวถึงกรณีที่มีส่งสัญญาณของกลุ่มก่อการร้ายผ่านดาวเทียมไทยคม ที่ให้บริการโดยชินแซทมีผลกระทบกับประเทศไทยว่าประเทศไทยขณะนี้ไม่มีกฎหมายที่เกี่ยวกับกิจการอวกาศ และดาวเทียมมีเพียงกฎหมายโทรคมนาคมที่อำนาจการกำกับดูแลอยู่ภายใต้คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.)แต่กทช.ก็อ้างว่าเรื่องดาวเทียมไม่ได้อยู่ในอำนาจของการกำกับดูแลเป็นหน้าที่ของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีทีซึ่งเรื่องนี้เกิดขึ้นในช่วงที่มีการซื้อขายกิจการของกลุ่มชินคอร์ปกับเทมาเส็กและกทช.ก็อ้างว่าการซื้อขายกิจการกับต่างชาติของเอกชนไม่มีอำนาจเพิกถอนสัญญาณสัมปทานเพราะดาวเทียมไม่ใช่กิจการโทรคมนาคม เป็นหน้าที่ของกระทรวงไอซีทีแต่โดยข้อเท็จจริงแล้วกระทรวงไอซีทีไม่มีอำนาจยึดสัมปทานคืนเพราะเป็นเพียงคู่สัญญากับเอกชนเท่านั้น หากคู่สัญญาไม่ทำผิดสัญญาก็ไม่สามารถทำอะไรได้ทั้งที่ตามกฎหมายมาตรา 58 ระบุว่าถ้าทำสัญญากับต่างประเทศต้องให้กทช.อนุมัติ แต่ชินแชทไม่ทำ

นายอนุภาพกล่าวว่าเรื่องที่เกิดขึ้นรัฐสามารถยึดสัมปทานคืนได้อยู่แล้วแต่ไม่ยอมทำเองอย่างกฎหมายมาตรา 30 ระบุว่าถ้าเกิดภัยพิบัติหรือภัยที่มีผลกระทบกับความมั่นคงของประเทศ รัฐสามารถร้องขอ กทช.อย่างใดอย่างหนึ่งได้ เช่น ให้หยุดการแพร่ภาพ หรือยึดสัมปทานคืน

“ตอนซื้อขายชินคอร์ปมีคนโวยวายเรื่องไม่เสียภาษี แต่ผมเฉยๆเพราะนักธุรกิจถ้าเลี่ยงได้เลี่ยงอยู่แล้ว แต่ที่เสียดายคือความถี่ของไอทีวี กับดาวเทียมเพราะมีผลกับความมั่นคงของประเทศแต่เมื่อขายให้เทมาเส็กแล้วรัฐก็ทำอะไรไม่ได้ และถ้าเขาทำธุรกิจต่อโดยขายให้อิสราเอล เลบานอน หรือรัสเซียที่มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับอิหร่านจะเกิดอะไรขึ้นรัฐก็ทำอะไรเขาไม่ได้เพราะเป็นการตัดตอนเพื่อปกป้องผลประโยชน์ตั้งแต่แรกโดยกทช.ทำตัวเป็นศรีธนญชัย”

ส่วนการทำธุรกิจของภาคเอกชนเพียงหากลยุทธ์ในการขายช่องสัญญาณได้ก็พอใจแล้วลูกค้าจะส่งคอนเทนต์อะไรผ่านไม่ทราบเพราะอาจจะเข้าข่ายไปลักลอบดูข้อมูลของลูกค้า นอกจากนี้ปัจจุบันการสื่อสารผ่านดาวเทียมผู้รับสัญญาณสามารถทำได้ง่าย เพราะไม่ต้องตั้งเสาอากาศสูงๆ ที่ต้องลงทุนแพงเหมือนเมื่อก่อนเพียงซื้อจานดาวเทียมราคาประมาณ 1,900 บาท ก็สามารถรับสัญญาณได้แล้วทำให้การทำตลาดของเอกชนก็ขายของง่ายขึ้นข้อมูลข่าวสารก็สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ง่ายขึ้นด้วย

****ชี้แจงสถานทูตสหรัฐ
แหล่งข่าวจากบริษัท ชินคอร์ปกล่าวว่าจากการที่มีช่องสถานีโทรทัศน์ Al-Manar TV จากประเทศเลบานอน มาใช้ดาวเทียมไทยคมเพื่อส่งสัญญาณภาพ และต่อมามีหน่วยงานราชการลับของอิสราเอลออกมารายงานเป็นข่าวว่าช่องสถานีโทรทัศน์ดังกล่าวอยู่ในบัญชีดำเพราะได้ทุนและร่วมมือกับผู้ก่อการร้ายฮิสบัลเลาะห์ ซึ่งส่งผลกระทบเรื่องความมั่นคงจนถึงขนาดจะยกเลิกสัญญากับชินแซทนั้น เห็นว่าไม่ควรโยงเป็นเรื่องการเมืองมากเกินไปทั้งที่ชินแซทเองก็ออกมาแถลงแล้วว่า เป็นแค่ช่วงทดสอบสัญญาณสั้นๆเพียง 3 วัน ระหว่างวันที่ 9-11 มกราคมที่ผ่านมา เมื่อบริษัททราบจากรายงานข่าวจากต่างประเทศว่าช่องนี้อยู่ในบัญชีดำ ก็รีบหยุดการทดสอบและปฏิเสธให้เช่าใช้ช่องสัญญาณทันที โดยมีความเห็นหลายประเด็นว่าชินแซทก็ไม่รู้มาก่อนว่าช่องสถานีโทรทัศน์ดังกล่าว หรือช่องใด อยู่ในบัญชีดำผู้ก่อการร้ายของหน่วยงานประเทศไหนที่เป็นผู้มีอำนาจกำหนด หรือผิดกฏหมายประเทศไหนฉบับใด ดาวเทียมไทยคมมีช่องสถานีโทรทัศน์มาเช่าใช้กว่า 200 ช่องจากหลายสิบประเทศและมีความหลากหลายของภาษามาก เจ้าหน้าที่บริษัทก็ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญภาษาเลบานอนจะได้เข้าใจว่าพูดอะไรกันอย่างไร ตอนเริ่มเช่าใช้ทุกรายก็จะแจ้งว่ารายการเป็นกลางๆ เช่นข่าว กีฬา

เจ้าหน้าที่บริษัทก็มีหน้าที่เพียงแค่สุ่มตรวจสอบเฉพาะคุณภาพสัญญาณภาพ ไม่ได้มีอาชีพการตรวจหรือเซ็นเซอร์เนื้อหาทุกช่อง เมื่อมีผู้แจ้งร้องเรียน หรืออย่างมากเมื่อเห็นภาพที่ไม่เหมาะสมเช่นภาพอนาจาร ก็จะระงับสัญญาณหรือเลิกให้เช่าใช้การส่งสัญญาณภาพนี้ ทั้งผู้ส่งหรือบริษัทก็ไม่ได้ปิดบังอะไร เพราะสัญญาณอยู่ในอวกาศ สามารถตั้งจานรับได้ในหลายประเทศ หน่วยงานรัฐตรวจสอบได้ง่ายมากหากทำผิด จึงไม่ใช่การที่บริษัทจงใจปิดบังทำอะไรหมิ่นเหม่ต่อกฏหมายใดๆ

ภายหลังก็มีข้อมูลเพิ่มเติมว่า ช่องสถานีโทรทัศน์ดังกล่าวนี้ เมื่อสามสี่ปีที่ผ่านมาเคยไปส่งสัญญาณที่ดาวเทียมเอเชียแซทของจีนฮ่องกง และฮิสปาแซทของสเปน แล้วภายหลังก็ถูกระงับการเช่าใช้ไปเช่นกัน ก็ไม่ได้มีรัฐบาลใดไปมีเรื่องมีราวกับบริษัทดาวเทียมทั้งสอง เพราะเมื่อทราบก็หยุด ไม่ได้ถูกกล่าวหาว่าบริษัทผิดหรือไปร่วมมือก่ออาชญากรรม

แหล่งข่าวกล่าวว่ากรณีนี้สถานทูตสหรัฐและอิสราเอลก็สอบถามข้อมูลมายังชินแซท เมื่อทราบว่าหยุดให้ใช้ช่องสัญญาณแล้วก็พอใจและไม่มีประเด็นต่ออีก ซึ่งปกติบริษัทดาวเทียมทั่วโลกเน้นการให้เช่าในเชิงพาณิชย์เท่านั้น ไม่เกี่ยวกับการเมืองในหรือนอกประเทศใดๆ ตามหลักการของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) โดยที่รัฐบาลประเทศที่บริษัทดาวเทียมสังกัดก็ไม่ยุ่งเกี่ยว เพราะจะได้ไม่ต้องเข้าไปตัดสิน เกี่ยวข้องหรือขัดแย้งกับประเทศอื่นๆไปด้วย ตัวอย่างเช่นประเทศไทยก็มีความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศเลบานอน มีการท่องเที่ยว แรงงาน การลงทุนและการค้าขายกันอยู่ แต่อิสราเอลอาจเป็นศัตรูกับเลบานอนอยู่ประเทศไทยก็ไม่ควรกลายเป็นกลไกที่ไปขัดแย้งนี้ด้วย ลูกค้าใดๆที่เช่าใช้ ก็ไม่ต้องการให้รัฐบาลประเทศที่บริษัทดาวเทียมสังกัดมาสั่งหรือหยุดได้ ไม่งั้นก็ไม่ต้องร่วมมือกัน เช่น หากประเทศเวียดนามใช้ดาวเทียมจากประเทศจีนอยู่ แล้วภายหลังเกิดรัฐบาลสองฝ่ายมีปัญหากัน ก็ไม่ใช่ว่าไปปิดช่องสัญญาณกัน

ครั้งนี้ชินแซทก็หยุดให้ช่องนี้ใช้เอง ไม่มีใครสั่งหรือบังคับ ไม่ว่าทางการไทยหรือต่างประเทศ เป็นการตัดสินใจในเชิงพาณิชย์เมื่อทราบว่าไม่เหมาะสมก็ไม่อยากให้ใช้อยู่แล้ว เพราะหากมีช่องที่ไม่เหมาะสม ลูกค้ารายอื่นก็อาจจะไม่อยากมาอยู่ในดาวเทียมดวงเดียวกัน ก็จะเสียลูกค้าอื่นๆได้ ดาวเทียมไทยคมเองก็มีช่องที่มาจากบริการส่งในอิสราเอลหลายรายด้วย

การส่งสัญญาณภาพผ่านดาวเทียมแบบนี้ ก็เป็นการส่งรายการแบบเฉพาะให้ผู้ชมจำนวนจำกัด ผู้รับต้องใช้จานรับขนาดใหญ่ ไม่ใช่การออกอากาศโทรทัศน์ทั่วไปแก่ประชาชนจำนวนมากที่เจาะจงสำหรับทั้งประเทศ จึงไม่ได้มีผลกระทบในวงกว้างใดๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น