xs
xsm
sm
md
lg

เปิดโปง ปตท. หลอกฟันกำไรน้ำมัน-ก๊าซฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการออนไลน์ - องค์กรผู้บริโภค เปิดโปง ปตท. แหกตาประชาชนฟันกำไรจากราคาน้ำมันโดยอิงต้นทุนสิงคโปร์ที่สูงกว่าต้นทุนซื้อจริงจากตะวันออกกลาง อัดซ้ำแต่งนิยายก๊าซธรรมชาติขาดแคลน แถมทวงบุญคุณต้องแบกรับภาระค่าก๊าซ ทั้งที่มีกำไรบานเบอะ ซ่อนหมากกลให้รัฐฯปล่อยราคาลอยตัวเพื่อส่งออกก๊าซฟันกำไรสูงสุด

เมื่อวันที่ 20 ก.ค. ที่ผ่านมา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค ได้ร่วมกันเผยแพร่ข้อมูลที่ซ่อนเงื่อนเกี่ยวกับการค้ากำไรจากธุรกิจน้ำมันและก๊าซฯ ของบริษัท ปตท. ซึ่งอ้างธรรมาภิบาลในการดำเนินธุรกิจเสมอมา

ปมเงื่อนที่ซุกซ่อนไว้ภายใต้การดำเนินธุรกิจที่ทำกำไรนับแสนล้านต่อปีของ ปตท. มีดังนี้

**** บริษัทน้ำมันมีกำไรจากการคิดราคาน้ำมันที่สูงกว่าต้นทุนจริง

เริ่มต้นจากการกำหนดต้นทุนราคาน้ำมันของบริษัทน้ำมันที่สูงกว่าต้นทุนจริง เป็นที่ทราบกันดีว่า บริษัทน้ำมันอาศัยราคาน้ำมันที่ซื้อขายล่วงหน้าของประเทศสิงคโปร์มาเป็นราคาต้นทุนน้ำมัน เนื่องจากในอดีตต้องการสนับสนุนและสร้างแรงจูงใจให้กับโรงกลั่นน้ำมันในการลงทุน ซึ่งไม่ใช่ต้นทุนที่แท้จริงของบริษัท เนื่องจากบริษัทส่วนใหญ่ซื้อน้ำมันจากประเทศแถบตะวันออกกลาง แล้วดำเนินการกลั่นน้ำมันเหล่านั้นออกจำหน่ายในประเทศ หรือเป็นน้ำมันในประเทศถึงะร้อยล 21

เช่น หากประเทศสิงคโปร์ กำหนดราคาซื้อขายที่ 34 บาท บริษัทน้ำมันก็จะกำหนดราคาน้ำมันในประเทศไทยอยู่ที่ 35 บาทโดยอัติโนมัติเพราะบวกค่าขนส่ง 1 บาททันที เมื่อรวมกับค่าการตลาด ภาษีกองทุนน้ำมัน ภาษีมูลค่าเพิ่มอีกประมาณ 6 บาท ทำให้ราคาน้ำมันที่จำหน่ายในท้องตลาดจะอยู่ที่ 41 บาท

แต่หากพิจารณาต้นทุนที่แท้จริง พบว่า ต้นทุนราคาน้ำมันดิบที่ซื้อขายประมาณ 140 เหรียญต่อบาเรล ทำให้ราคาน้ำมันดิบก่อนการกลั่นของบริษัท อยู่ที่ประมาณ 28 บาทต่อลิตร ซึ่งหากรวมค่าขนส่งและค่าการกลั่นจำนวน 2 บาท ค่าการตลาดและภาษีทุกประเภทอีก 6 บาท ดังนั้นบริษัทน้ำมัน หรือปตท. ควรจะขายน้ำมันอยู่ที่ลิตรละ 36 บาทก็มีกำไรแล้ว

ในทางกลับกัน หากปตท.กลั่นน้ำมันส่งออกไปขายที่สิงคโปร์ จะขายได้ในราคาเพียง 33 บาทเท่านั้น เพราะต้องหักต้นทุน 1 บาทสำหรับค่าขนส่งน้ำมัน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนปัจจุบัน น่าจะทราบปัญหาการคิดราคาที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคนี้ดี เลยได้มีมติเสนอให้บริษัทน้ำมันลดราคาเพื่อลดภาระของประชาชนจำนวน 1 บาทต่อลิตร ซึ่งบริษัทก็ยังคงมีกำไรมากมาย

แต่บริษัทน้ำมันได้สร้างภาพร่วมกันโดยการลดราคาน้ำมันครั้งใหญ่มากกว่าที่รัฐมนตรีขอความร่วมมือถึง 3 บาทต่อลิตร แต่ใครจะรู้บ้างบริษัทเหล่านี้ลดราคาให้เพียง 700 ล้านลิตรเท่านั้น หรือคิดเป็นเงินประมาณ 2,000 ล้านบาท หรือเพียงร้อยละ 10 ที่รัฐมนตรีเสนอ เพราะประเทศไทยใช้น้ำมันโดยรวมประมาณ 20,000 ล้านลิตรต่อปี

**** ปัญหาขาดแคลนก๊าซ LPG เรื่องจริงหรือหลอก

ปกติก๊าซ LPG ที่ใช้ในประเทศจะได้มาจากสองสามแหล่งที่สำคัญ คือ การแยกจากก๊าซธรรมชาติ ผลพลอยได้จากการกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมี

นับตั้งแต่ปี 2000-2007 ประเทศไทยมีก๊าซธรรมชาติเหลือใช้ทุกปี แต่ในจำนวนที่มากน้อยต่างกัน แต่พบว่า ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2008 ไม่มีการผลิตก๊าซ LPG จากปิโตรเคมี อาจจะเนื่องมาจากเหตุอื่นใดไม่ทราบได้ ซึ่งน่าจะมีการหาข้อมูลต่อไป

ขณะที่ปริมาณการใช้ พบว่า มีการนำก๊าซ LPG ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต (Feed Stock) และโรงงานอุตสาหกรรม ในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 30.8 และ 23.4 ขณะที่ปริมาณการใช้ในการคมนาคม ขนส่ง รถยนต์ และก๊าซหุงต้มเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 18.2 และ12.2 เท่านั้น แล้วทำไมจึงเกิดภาวะขาดแคลนก๊าซ LPG ในช่วงนี้ ทั้งที่ก๊าซ LPG มีปริมาณเหลือหากพิจารณาจากกำลังการผลิต

****เส้นทางการทำกำไรในธุรกิจก๊าซ

กำไรจากระบบสัมปทานก๊าซธรรมชาติ รัฐได้ประโยชน์น้อยกว่าที่ควรจะได้

บริษัทยูโนแคล เป็นผู้ขุดเจาะและได้รับการสัมปทานจากรัฐบาลหลายสมัย อย่างไร้คู่แข่ง ซึ่งทั้งรัฐบาลทักษิณและรัฐบาลขิงแก่โดยอดีตรัฐมนตรีปิยสวัสดิ์ ได้อนุญาตให้ต่ออายุสัมปทานทั้งที่ยังไม่หมดอายุสัมปทานเลยด้วยซ้ำ มักมีการเอ่ยทวงบุญคุณกับผู้บริโภคว่า สามารถต่อรองลดราคาค่าก๊าซให้กับผู้บริโภคได้ ทั้งๆ ที่เปรียบเสมือนการสอยมะม่วงหลังบ้านแล้วบอกว่า “เราจะขายมะม่วงลดราคาให้กับเจ้าของบ้าน”

เมื่อยูโนแคลขายทรัพย์สินให้แชพลอนเป็นจำนวนเงิน 8 แสนล้าน สิ่งที่น่าสนใจอยู่ตรงที่ เกือบ 50% ของทรัพย์สินของยูโนแคลเป็นทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย

ข้อน่าสังเกต ในระบบสัมปทานก๊าซธรรมชาตินี้ประเทศไทยได้เก็บค่าภาคหลวงเพียง 12.5 % และมีการแบ่งผลกำไร แต่รวมแล้วไม่เกิน 50% ของรายได้ ขณะที่บริษัทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติต่างแบ่งกำไรให้รัฐบาลโบลิเวียไปถึง 82 %

**** ต้นทุนจริง กำไรจริง ของก๊าซ LPG

ขณะนี้ราคาก๊าซ LPG ที่รัฐบาลกำหนด ณ โรงแยกก๊าซ ยังมีกำไรและไม่ได้เป็นราคาที่มีการอุ้มก๊าซ LPG แต่อย่างใด เมื่อเทียบกับต้นทุนจริงของการผลิต LPG จากก๊าซธรรมชาติ


**** ซ่อนกลหลอกรัฐปล่อยลอยตัวราคาก๊าซ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานปัจจุบัน ได้ตั้งคณะกรรมการหนึ่งชุด ดูแลปัญหาก๊าซแอลพีจี( LPG) แบบบูรณาการในทุกด้าน โดยเฉพาะการขึ้นราคาเพราะอ้างว่า ขณะนี้ประเทศแบกรับภาระก๊าซ LPG ไว้มาก(หนังสือพิมห์หลายฉบับวันที่ 5 กรกฎาคม นี้) หากไม่คิดว่ารัฐมนตรีถูกหลอกจากปตท. รัฐมนตรีต้องพิจารณาเรื่องนี้ให้รอบคอบ ไม่อย่างนั้นอาจจะถูกข้อครหาอุ้มบริษัทก๊าซได้ แถมผู้บริโภค ภาคการผลิตต้องทนทุกข์ เหมือนการคิดราคาน้ำมัน ที่ทำกำไรและไม่ได้คิดจากราคาต้นทุนจริง เพราะทุกคนกำลังถูกหลอก หรือเพียงเพราะบริษัทต่าง ๆ เพียง ต้องการให้ยกเลิกการกำหนดราคา 330 เหรียญต่อบาเรล มาใช้ราคาท้องตลาดในปัจจุบัน และต้องการส่งออกก๊าซเพื่อทำกำไรสูงสุด แต่ขณะที่ก๊าซธรรมชาติเป็นทรัพยากรในประเทศ

*** กำไรจากการผูกขาดท่อก๊าซโดยปตท.

“ความสำคัญของระบบท่อก๊าซธรรมชาติ ไม่ได้มีเพียงแค่รายได้จากค่าผ่านท่อจำนวนกว่า 20,000 ล้านบาท/ปี แต่ยังหมายถึงกิจการท่อก๊าซฯ ซึ่งผูกขาดตามธรรมชาติ

1. ปัจจุบัน ปตท. เป็นพ่อค้าคนกลางผูกขาดการซื้อก๊าซจากผู้รับสัมปทานขุดเจาะก๊าซฯ และผูกขาดการจำหน่ายให้ผู้ใช้ก๊าซ โดยคิดค่าตอบแทนในการจัดหาและจัดจำหน่ายก๊าซธรรมชาติ โดยบวก “ค่าหัวคิว” ในอัตราร้อยละ 1.75% - 9-33% ของราคาเนื้อก๊าซเฉลี่ย ดังนั้นหากผู้ใช้ก๊าซ และผู้ขุดเจาะก๊าซสามารถซื้อขายโดยตรงได้ จะทำให้ลดต้นทุนค่าไฟฟ้าขั้นต่ำได้ถึงปีละประมาณ 3,500 ล้านบาท

2. การเลือกปฏิบัติในการขายก๊าซให้โรงแยกก๊าซของ ปตท. ในราคาถูก ในขณะที่ขายให้โรงไฟฟ้าในราคาแพง ปตท. ขายก๊าซให้โรงแยกก๊าซฯ จำนวน 5 โรงของตัวเองในราคาประมาณ 150 บาท (ไม่รวมค่าผ่านท่อ) ในขณะที่ขายให้ กฟผ. ในราคา 180 บาท (ไม่รวมค่าผ่านท่อ) กลายเป็นต้นทุนค่าไฟฟ้าส่วนเกินที่ผู้ใช้ไฟฟ้าทุกคนต้องร่วมกันแบก โรงแยกก๊าซฯของ ปตท. ไม่ได้แค่ผลิตก๊าซหุงต้มเพื่อใช้ในประเทศเท่านั้น แต่ยังส่งออกผลิตภัณฑ์ต่างๆ ส่งออกนอกประเทศ ทำกำไรให้กับบริษัท ปตท.ได้สูงถึง 15,000 ล้านบาท/ปี สูงกว่ากำไรจากท่อส่งก๊าซ ทั้งๆ ที่วงเงินลงทุนต่ำกว่าหลายเท่าตัว

3. การเอื้อประโยชน์ให้ปตท.สผ. ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ ปตท. ในการรับซื้อก๊าซจากหลุมราคาที่แพงกว่าก๊าซที่รับซื้อจากผู้ผลิตก๊าซรายอื่นๆ แต่ขณะเดียวกันก็เป็นคู่สัญญารายใหญ่ขายก๊าซให้ ปตท. ซึ่งเป็นผู้ผูกขาดการจัดหาก๊าซ ปตท. แทนที่จะทำหน้าที่เจรจาราคาสัญญาซื้อขายก๊าซให้มีความเป็นธรรม กลับมีผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะหากปตท.สผ. ยิ่งกำไรมาก จากการขายก๊าซแพง ปตท. ก็ได้รับผลพลอยได้จากกำไรของปตท.สผ. ไปด้วยเนื่องจากถือหุ้นอยู่ถึง 66.4%

ส่วนภาระค่าก๊าซราคาแพง ปตท.ก็เพียงแค่ส่งผ่านต่อไปยังผู้ใช้ก๊าซ (และผู้ใช้ไฟในที่สุด) แถมยังบวกค่าหัวคิวเพื่อฟันกำไรอีกต่อด้วย ผลที่ปรากฏก็คือ ก๊าซที่ ปตท. ซื้อจากแหล่งในอ่าวไทยที่ปตท.สผ. ร่วมทุนมีราคาแพงกว่าแหล่งอื่น ๆ ถึง 28% และก๊าซที่ซื้อจากแหล่งในพม่าที่ ปตท.สผ. ร่วมทุนมีราคาแพงกว่าแหล่งอื่น ๆ ถึง 72% ส่งผลให้ปตท.สผ. มีกำไรถึงปีละกว่า 30,000 ล้านบาท และเพิ่มสูงขึ้นตามราคาน้ำมันโลกที่สูงขึ้น โดยรายได้กว่า 90% ของปตท.สผ. มาจากการหากำไรจากคนไทย”

“กำไรผูกขาด” อีกส่วนหนึ่งของ ปตท. ยังมาจาก “ค่าผ่านท่อ” (ค่าให้บริการส่งก๊าซธรรมชาติผ่านท่อ) ซึ่งคำนวณจากฐานอัตราผลตอบแทนการลงทุนในการวางท่อส่งก๊าซ ซึ่งอดีต ปตท. ได้รับการันตีโดยมติ ครม. สมัยรัฐบาลทักษิณ สูงถึง 16-18%

เนื่องจากก๊าซธรรมชาติกว่า 70% ในแต่ละปีจะถูกใช้ในการผลิตไฟฟ้า อำนาจผูกขาดของ ปตท. โดยเฉพาะในรูป “ค่าหัวคิว” และ “ค่าผ่านท่อ” จึงส่งผลให้ ปตท. มีรายได้มากมายและส่งผลให้ผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศใช้ไฟฟ้าแพงเกินเหตุ โดยมีการประเมินว่า เงินค่าไฟฟ้าที่ผู้บริโภคจ่ายแต่ละ 100 บาท จะไปตกอยู่กับ ปตท. ถึง 42.90 บาท ในขณะที่ กฟผ. ได้รับเพียง 27.10 บาทเท่านั้น ถ้ารัฐจัดการกับ “กำไรผูกขาด” ทั้งหมดของ ปตท. ที่กล่าวถึงข้างต้นได้ ก็น่าจะสามารถลดค่าไฟฟ้าให้ประชาชนได้ 13,000-14,000 ล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็นส่วนลดค่าไฟ 9.30-10 สตางค์ต่อหน่วย

กำลังโหลดความคิดเห็น