xs
xsm
sm
md
lg

รัฐส่งสัญญาณบีบผู้ใช้ LPG ต้อนภาคอุตฯ-รถยนต์ เร่งเปลี่ยนระบบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รมว.พลังงาน ส่งสัญญาณครั้งล่าสุด เลิกดูแลผู้ใช้ก๊าซแอลพีจีแน่นอน “พูนภิรมย์” แนะผู้ใช้รถยนต์-ภาคอุตฯ เตรียมทำใจ หันมาใช้ก๊าซเอ็นจีวีแทน เพื่อลดต้นทุน “ปิยสวัสดิ์” อัดนโยบายแยกราคาก๊าซ 2 ตลาด เพราะรัฐมนตรีกลัวไม่มีงานทำ ชี้ ผลกระทบราคาพุ่ง 5-10 บาท รัฐบาลจะไม่สามารถควบคุมตลาดได้ หวั่นเป็นระเบิดเวลาลูกใหม่ถล่มค่าไฟฟ้า แทนราคาน้ำมันเตาในตลาดโลก

วันนี้ (10 ก.ค.) พล.ท.(หญิง) พูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า จากการที่กระทรวงพลังงานได้ส่งสัญญาณจะปรับโครงสร้างราคาแอลพีจี เป็น 2 ราคาในเดือน ก.ค.นี้ และอาจส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมที่มีการใช้ก๊าซแอลพีจีเป็นเชื้อเพลิงในกระบวนการผลิตเป็นจำนวนมาก และปัจจุบันได้เพิ่มขึ้นกว่า 6 หมื่นตันต่อเดือน ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นราคา

พล.ท.(หญิง) พูนภิรมย์ กล่าวว่า ตนเองจึงขอเรียกร้องให้ผู้ประกอบการเร่งปรับตัวด้วยการหันมาใช้พลังงานทดแทน อาทิ ก๊าซเอ็นจีวี ในกระบวนการผลิตเพื่อลดการนำเข้าก๊าซแอลพีจีจากต่างประเทศที่มีราคาแพงและลดผลกระทบจากการปรับขึ้นราคา

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงาน ได้เร่งเดินสายท่อส่งก๊าซไปยังแหล่งอุตสาหกรรมใหม่ๆ ให้มากขึ้นทั้งในส่วนของภาคเหนือและภาคใต้เพื่อให้โรงงานอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ในพื้นที่สามารถใช้ก๊าซเอ็นจีวีได้

ยอมรับว่า เร็วๆ นี้ รัฐบาลมีแนวโน้มต้องปรับขึ้นราคาก๊าซแอลพีจี อย่างแน่นอน เพราะราคาตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นมากมาอยู่ที่ 950 ดอลลาร์สหรัฐฯ จากที่ราคาขายในประเทศอยู่ที่ 330 ดอลลาร์ต่อตัน อย่างไรก็ตาม คงจะเกิดความชัดเจนในการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ในเร็วๆ นี้ ซึ่งหากจะปรับขึ้นราคาในส่วนของยานยนต์ และอุตสาหกรรม ราคาจะสูงกว่าภาคครัวเรือนแน่นอน จึงส่งสัญญาณเตือนมา เพื่อให้เตรียมตัวรับสถานการณ์

ก่อนหน้านี้ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ปรึกษาประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) อดีตเลขาธิการ สำนักงานนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) ออกมาตำหนินโยบายการแก้ปัญหาก๊าซแอลพีจีของรัฐบาล โดยระบุว่า การแก้ไขปัญหาก๊าซแอลพีจีนั้นรัฐบาลไม่ควรแยกราคาออกเป็น 2 ราคาด้วยการขยับราคาเฉพาะภาคขนส่งและอุตสาหกรรม เพราะจะควบคุมยาก

“ที่ผ่านมา เคยทำแล้ว และราคาต่างกันเพียง 2 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ยังทำให้มีการถ่ายเทแอลพีจีครัวเรือนมาใช้ในรถยนต์และอุตสาหกรรมได้ และหากดูราคาที่ควรปรับอาจจะอยู่สูงถึง 5-10 บาท/กก.ยิ่งสร้างแรงจูงใจการถ่ายเทมากขึ้นอีก”

นอกจากนี้ ยังลำบากที่จะไปดูแลในแง่ของผู้ค้าที่นำแอลพีจีครัวเรือนไปใช้ทางอื่น แต่ทำบัญชีปลอมเพื่อเบิกเงินการอุดหนุนจากภาครัฐ ทั้งหมดจะยุ่งยากมากขึ้นอีก ดังนั้น การปรับขึ้นราคาไม่ควรจะแยกการขึ้น ควรเป็นราคาเดียว

“ในเมื่อ รมว.พลังงาน ถ้าคิดว่าจะไม่ทำอะไรแล้ว ไม่ปรับก็ได้ แต่ถ้าคิดว่าจะทำประโยชน์เพื่อชาติในเมื่อเป็นรัฐมนตรีแล้วก็ควรจะปรับ” นายปิยสวัสดิ์ กล่าวและเพิ่มเติมว่า

การใช้แอลพีจีที่เพิ่มขึ้นถึงปีละ 12% หากพิจารณาการใช้ในครัวเรือนไม่ได้เพิ่มมากระดับดังกล่าว แต่น่าจะนำไปใช้ผิดประเภทโดยเฉพาะกิจการภาคอุตสาหกรรมที่มีการปรับการใช้น้ำมันเตาหันมาใช้แอลพีจีแทน เพราะต้นทุนต่ำกว่ามาก

การปรับราคาด้วยการทยอยขึ้น น่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาที่แท้จริง เนื่องจากราคาตามสูตรเดิมที่กำหนดทยอยไว้จะอิงตลาดโลกท้ายที่สุดเพียง 40% เนื่องจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติใช้ก๊าซในอ่าวไทยที่ผลิตเอง แต่ที่จะเป็นปัญหาคือโรงกลั่นที่ผลิตน้ำมันเตาจากการนำเข้าน้ำมันมา โดยราคาปัจจุบันกำหนดไว้เพียง 330 เหรียญต่อตัน แต่นำเข้าสูงกว่า 900 เหรียญต่อตัน ทำให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงต้องแบกรับภาระเฉลี่ย 16 บาท/กก.ซึ่งส่วนนี้เท่ากับผู้ใช้น้ำมันเป็นผู้อุ้ม

นายปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า ปัญหาแอลพีจีน่าจะเป็นเรื่องเร่งด่วนที่สุดที่รัฐบาลชุดนี้ต้องตัดสินใจในปัจจุบัน แต่อีก 2-3 ปีข้างหน้า เรื่องด่วน และเป็นระเบิดลูกใหม่ที่ต้องเตรียมตัวไว้คือ แนวโน้มราคาก๊าซธรรมชาติจะปรับตามน้ำมันเตา ตามสูตรราคาก๊าซแต่ละสัญญาที่อิงตามน้ำมันโลกย้อนหลัง 6 เดือน ถึง 1 ปี ซึ่งจะเป็นช่วงราคาน้ำมันปรับขึ้นอย่างมากทำให้ราคาก๊าซมีแนวโน้มสูงขึ้น

ดังนั้น จะมีผลกระทบต่อราคาค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือ เอฟที ค่อนข้างมาก ประกอบกับสัญญาก๊าซใหม่มีราคาสูงกว่าแหล่งเดิมและการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ก็ยังไม่ชัดเจนทั้งด้านราคาและปริมาณ นอกจากนี้ แหล่งก๊าซบางแหล่งจะมีการทยอยหมดสัญญาที่ต้องเจรจาใหม่
กำลังโหลดความคิดเห็น