ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ – ปีหนูสุดป่วน ปั่นเศรษฐกิจไทยประสบปัญหารอบด้าน วงการอุตสาหกรรมใต้ล่างสะเทือนด้วยต้นทุนการผลิตสูงจากราคาน้ำมัน “ซีอีโอทีทีเอ็ม” เผย ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.สงขลา เล็งเจรจาขอใช้ก๊าซธรรมชาติ (เอ็นจีวี) ป้อนโรงงานอุตสาหกรรมแถบแนวท่อก๊าซบริเวณ อ.สะเดา เพื่อลดต้นทุนด้านเชื้อเพลิง แต่ทั้งหมดต้องผ่านไฟเขียวจาก ปตท.ถึงจะจัดส่งเอ็นจีวีให้โรงงานตามแนวท่อส่งก๊าซได้ ชี้ไม่กระทบผู้ใช้เอ็นจีวีในรถยนต์แม้จะเป็นชนิดเดียวกัน ด้านธุรกิจไม้ยางของยะลาต้นทุนพุ่งจนแข่งกับจีน-เวียดนามได้ยากขึ้น เช่นเดียวกับธุรกิจก่อสร้างที่ดิ้นรนต่อต้นทุนและการขาดแคลนแรงงานสุดฤทธิ์
นอกจากปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่รุมเร้าเศรษฐกิจภาคใต้ตอนล่างแล้ว รอบครึ่งปีที่ผ่านมาวิกฤตราคาน้ำมันก็เป็นเชื้อร้ายที่กัดกร่อนฐานของธุรกิจให้ซวนเซ เห็นได้ชัดเจนจาก จ.สงขลา ซึ่งมีฐานลงทุนที่สำคัญด้วยโรงงานเกือบ 2,000 แห่ง เม็ดเงินลงทุนเกือบ 50,000 ล้านบาท แต่ในห้วงเวลาที่ผ่านมาผู้ประกอบการของ จ.สงขลา ที่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันดีเซลแพง บางบริษัทปล่อยให้ฟางเส้นสุดท้ายขาดลงด้วยการปิดตัวลง โดยเฉพาะธุรกิจโรงอบไม้ยางพารา ที่ปิดกิจการกว่า 50 แห่ง ส่วนโรงงานอื่นๆ ที่เหลืออยู่ก็ดิ้นรนหาวิธีการลดต้นทุนเพื่อให้สามารถปรับตัวอยู่ได้ต่อไป
นายจรูญฤทธิ์ ขำปัญญา ซีอีโอ บริษัท ทรานส์ไทย-มาเลเซีย (ประเทศไทย) หรือ ทีทีเอ็ม ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง ปตท.-เปโตรนาส ฝ่ายละ 50% เพื่อดำเนินโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติจากโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย ที่ขุดเจาะได้จากแหล่งพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (JDA) เปิดเผยว่า ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.สงขลา ได้มีแนวคิดที่จะใช้พลังงานทางเลือกในโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อลดต้นทุนด้านเชื้อเพลิง โดยเฉพาะพลังงานจากก๊าซธรรมชาติ หรือเอ็นจีวี
ทั้งนี้ ในที่ประชุมของสภาอุตสาหกรรม ได้มีการยกปัญหาดังกล่าวขึ้นมาพูดคุย แต่ยังไม่มีการนำเสนอเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างเป็นทางการ แต่หากโรงงานอุตสาหกรรมมีความต้องการก๊าซธรรมชาติเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมโรงงานอย่างจริงจัง ปตท.จะเป็นผู้พิจารณาความเป็นไปได้ของข้อเสนอ โดยมีทีทีเอ็มเป็นผู้จัดส่งก๊าซธรรมชาติให้ตามความต้องการของลูกค้า และหากการเจรจามีความเห็นชอบร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย
อย่างไรก็ตาม แม้ว่า เอ็นจีวีที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมจะเป็นชนิดเดียวกันกับที่ใช้ในรถยนต์ แต่ปริมาณการใช้จะไม่ส่งผลกระทบต่อเอ็นจีวีที่จะใช้ในรถยนต์อย่างแน่นอน เพราะบริษัทสามารถผลิตและส่งให้แก่ลูกค้าได้อย่างเพียงพอและต่อเนื่องหลายสิบปี โดยขณะนี้ ปตท. เตรียมก่อสร้างสถานีแม่และปั๊มบริการบนเนื้อที่ 20 ไร่ ใกล้กับโรงแยกก๊าซทรานส์ไทย-มาเลเซีย อ.จะนะ จ.สงขลา เพื่อให้บริการแก่ลูกค้าในภาคใต้ตอนล่างเป็นหลัก ทดแทนก๊าซที่นำมาจากขนอม ซึ่งใช้เวลาการขนส่งนานกว่า ทำให้ประสบปัญหาการขาดแคลนเอ็นจีวีในบางช่วง ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จปลายปีนี้ ขณะที่การใช้เอ็นจีวีในโรงงานอุตสาหกรรมจะอยู่ในแนวจาก อ.จะนะ-อ.สะเดา ซึ่งส่งก๊าซให้แก่มาเลเซียเป็นหลัก ทำให้โรงงานที่ตั้งอยู่ในแถบ อ.สะเดาได้รับประโยชน์โดยตรง
ทั้งนี้ ก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้จากแหล่ง JDA การผลิตเอ็นจีวีปัจจุบันโรงแยกก๊าซทรานส์ไทย-มาเลเซียรับก๊าซจากแหล่ง JDA ผลิตและป้อนก๊าซส่งขายให้มาเลเซียนาน 3 ปี วันละ 430 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน และผลิตป้อนโรงฟ้าจะนะวันละ 120 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ซึ่งมีการขนานเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าเมื่อต้นปีที่ผ่านมา
ในส่วนของ จ.ยะลา ซึ่งตั้งอยู่ปลายสุดของด้ามขวานไทย มีโรงงานอุตสาหกรรมราว 356 แห่ง โดยส่วนใหญ่เป็นโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปไม้ยางพารา อัดน้ำยา อบไม้ยางพารา ซึ่งเกี่ยวข้องกับไม้ยางพารา และอุตสาหกรรมอื่นๆ ทั้งการเกษตร ก่อสร้าง และบริการ ซึ่งโรงงานส่วนใหญ่ตั้งอยู่ที่ อ.เมืองยะลา, รามัน และเบตง มากที่สุดเรียงตามลำดับนั้น
นายพจน์ ไพบูลย์เกษมสุทธิ เจ้าของธุรกิจบริษัท ยะลาไพบูลย์กิจ จำกัด และที่ปรึกษาหอการค้า จ.ยะลา เปิดเผยว่า ภาพรวมของธุรกิจไม้ยางซึ่งมีโรงงานแปรรูปไม้ยางมากที่สุดในภาคใต้ตอนล่าง ประสบปัญหาต้นทุนสูงเช่นเดียวกับธุรกิจอื่นๆ อีกทั้งทั้งที่ตั้งของ จ.ยะลาอยู่ใต้สุดของประเทศ ทำให้ต้นทุนทุกอย่างสูงกว่าที่อื่นๆ โดยเฉพาะต้นทุนด้านการขนส่งที่มีราคาน้ำมันเป็นตัวแปรสำคัญ และภายใต้ภาวะดังกล่าวส่งผลให้การผลิต เพื่อส่งออกต่างประเทศไม่สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้นัก อาจจะต้องมีการลดต้นทุนบางตัวลง ตลอดจนลดชั่วโมงการทำงานให้สอดคล้องกับแรงงานที่มีน้อย และบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
“ตัวเลขการส่งออกไม้ยางจากยะลายังมีไม่มากนัก เพราะมีปัญหาการส่งสินค้าทั้งภาษีนำเข้าไม้ยางของประเทศจีนปรับสูงขึ้น ประกอบกับต้นทุนที่เกิดขึ้นภายในประเทศเองด้วย ทั้งค่าแรง ต้นทุนน้ำมัน ทำให้การแข่งขันกับตลาดลำบากขึ้น โดยเฉพาะทั้งจีนและเวียดนามซึ่งเป็นคู่แข่งที่สำคัญของไทย ทำให้ผู้ประกอบการหันใช้วัตถุดิบจากที่อื่นแทนเพื่อลดต้นทุน” นายพจน์ กล่าวต่อและว่า
ในส่วนของธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ก็มีแต่ทรงกับทรุดเท่านั้น เพราะด้วยปัญหาหลักจากสถานการณ์ความไม่สงบที่มีอยู่ก่อนแล้ว ทำให้ขาดแคลนแรงงานซึ่งเดิมมาจากภาคอีสานเป็นส่วนใหญ่ ส่วนแรงงานต่างด้าวก็มีน้อยด้วยมีกฎเกณฑ์การควบคุม ส่วนแรงงานที่มีในท้องถิ่นก็ต้องปรับค่าจ้างสูงขึ้นตามสภาพค่าครองชีพ แม้ว่ามีการกำหนดค่าแรงไว้ที่ 155 บาท ต่อวัน แต่ความเป็นจริงแล้วนายจ้างต้องจ่ายสูงถึง 200 บาท/วันเลยทีเดียว รวมถึงต้นทุนราคาน้ำมันที่ทำให้ค่าขนส่งและราคาวัตถุดิบปรับสูงขึ้น
“ต้นทุนด้านน้ำมันเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นส่งผลต่อราคาวัตถุดิบในการก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 15-20% ยังไม่รวมปัญหาที่เกิดขึ้นจากการทำสัญญาล่วงหน้าก่อนการก่อสร้าง ทำให้ผู้ประกอบการขาดทุน โดยเฉพาะการรับงานที่ใช้เวลานานจะไม่คุ้มเพราะต้นทุนทุกอย่างปรับขึ้นราคา ทั้งเหล็ก ปูนซีเมนต์ แต่งานที่ใช้เวลาทำสั้นๆ ยังพอมีกำไรเลี้ยงลูกน้องถัวเฉลี่ยกันไป ในส่วนของธุรกิจก่อสร้างผมเองก็เน้นรับงานของภาครัฐที่เกิดขึ้นตามงบประมาณที่จัดจ้างเป็นช่วงๆ แม้จะไม่มีรายได้มากเหมือนเมื่อก่อน แต่ก็เข้าใจถึงสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น และปัจจัยลบที่ทุกคนต้องเผชิญ” นายพจน์ กล่าว