ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ศาลอุทธรณ์ภาค 9 สั่งฟ้อง ‘สันต์ ศรุตานนท์’ อดีต ผบ.ตร.พร้อมพวกใช้กำลังสลายการชุมนุมม็อบคัดค้านท่อก๊าซ อ.จะนะ จ.สงขลา ระบุใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม
เมื่อเวลา 10.00 น. วันนี้ (6 พ.ค.) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 อ.เมืองสงขลา กลุ่มคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซ โรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย - มาเลเซียและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง อ.จะนะ จ.สงขลา ได้เดินทางมายังศาลจังหวัดสงขลา โดยมีนายแสงชัย รัตนเสรีวงษ์ และนายรัษฏา มนูรัษฏา ทนายฝ่ายโจทย์จากสภาทนายความ และ พล.ต.ต.สัณฐาน ชยนนท์ จำเลยที่ 3 พร้อมทนายฝ่ายจำเลยเดินทางมาศาลโดยมีตำรวจติดตามร่วม 10 นาย
ทั้งนี้ เพื่อมาร่วมฟังคำพิพากษาคดีดำที่ 1818/2546 คดีแดงหมายเลขที่ 1804/2547 ณ บัลลังก์ห้อง 204 ศาลจังหวัดสงขลา คดีที่นายสักกริยา หมะหวังเอียดกับพวกรวม 25 คน เป็นโจทก์ยื่นฟ้องพล.ต.อสันต์ ศรุตานนท์กับพวกรวม 38 คน ฐานความผิดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติงานและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ, มั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้าย กระทำการให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง โดยมีอาวุธโดยมีผู้กระทำความผิดเป็นหัวหน้าหรือเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการในการกระทำความผิดนั้น หรือเป็นผู้ร่วมกระทำการ ,ร่วมกันทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย,ร่วมกันก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในที่ประชุมศาสนิกชนเวลาประชุมกัน นมัสการ หรือกระทำพิธีกรรมตามศาสนาโดยชอบด้วยกฎหมาย
กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลัง สลายการชุมนุมของกลุ่มคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซโรงแยกก๊าซธรรมชาติและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2545 คราวรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จัดประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่โรงแรมเจบี อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา
ศาลได้อ่านคำพิพากษารับฟ้องเจ้าหน้าที่ตำรวจเพิ่มอีก 5 นายได้แก่ พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ จำเลยที่ 1 พ.ต.อ.สุรชัย สืบสุข จำเลยที่ 4 ร.ต.อ.เล็ก มียัง จำเลยที่ 6 ร.ต.ท.บัณฑูรย์ บุญเครือ จำเลยที่ 13 และร.ต.ท.อธิชัย สมบูรณ์
นายสักกริยา หมะหวัง โจทก์ผู้ร่วมฟ้อง กล่าวว่าวันนี้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 ได้รับฟ้องเจ้าหน้าที่ตำรวจที่สลายการชุมนุมกลุ่มคัดค้านเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2545 การที่ศาลรับฟ้องนั้นแสดงว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจเหล่านี้ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และทำร้ายร่างกายประชาชน โดยเจตนา ซึ่งถือเป็นการผิดวินัยอย่างร้ายแรง
ที่ผ่านมามาศาลชั้นต้นได้รับฟ้อง พ.ต.ต.สัณฐาน ชยนนท์ พร้อมพวกแต่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ขณะนั้นและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติไม่ได้แสดงความรับผิด ไม่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบวินัยความผิดที่เกิดขึ้นทั้งที่เป็นความผิดร้ายแรง กลับมีการเลื่อนยศเลื่อนตำแหน่งหน้าที่ให้ในลักษณะปูนบำเหน็จให้ ทั้งที่กระทำความผิดต่อประชาชน ถือเป็นการสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่กระทำผิดและใช้ความรุนแรงกับกลุ่มคัดค้าน
โดยเฉพาะวันนี้ศาลรับฟ้อง พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ ซึ่งเป็นถึงผู้บังบัญชาการตำรวจแห่งชาติในขณะนั้นยิ่งต้องออกมารับผิดชอบแม้จะพ้นจากการรับราชการแล้วก็ตาม โดยศาลจังหวัดสงขลานัดพร้อมจำเลยทั้ง 6 มาศาลในวันที่ 5 สิงหาคม ซึ่ง พล.ต.อสันต์ ศรุตานนท์ กับพวกอีก 5 คนต้องเดินทางมาศาลและประกันตัวในฐานะจำเลย
เปิดรายละเอียดคำพิพากษาบางส่วน
“ข้อเท็จจริงไต่สวนว่า โจทย์ทั้งยี่สิบห้าและประชาชนซึ่งเป็นกลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านได้รวมตัวชุมนุมคัดค้านโดยมีมูลเหตุมาจากรัฐบาลตัดสินใจดำเนินการตามโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย ต่อจากรัฐบาลชุดก่อนที่ได้อนุมัติไว้ โดยโครงการดังกล่าวอาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ ระบบนิเวศวิทยาชายฝั่งทะเลและคุณภาพสิ่งแวดล้อม และอาจก่ออันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวและโจทก์ทั้งยี่สิบห้าย่อมมีสิทธิได้รับข้อมูลคำชี้แจงและเหตุผลจากหน่วยงานของทางราชการก่อนการดำเนินการตามโครงการท่อส่งก๊าซฯ ดังที่กฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 59 รับรองไว้
แต่ปรากฏจากการแถลงการณ์ของสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2545 ตามเอกสารหมาย จ.6 ซึ่งไม่มีการชี้แจง อธิบายข้อมูลและเหตุผลของการพิจารณาตัดสินใจให้ดำเนินการตามโครงการท่อส่งก๊าซฯ ต่อจากรัฐบาลชุดก่อนแต่อย่างใดและก่อนหน้านี้ได้ความจากโจทก์ที่ 15 เบิกความยืนยันว่า ชาวบ้านเคยรวมกลุ่มยื่นหนังสือต่อหน่วยงานราชการแต่ไม่ได้รับคำตอบเลย เมื่อครั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางมารับฟังความเห็นจากกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่บริเวณลานหอยเสียบ ตำบลสะกอม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา นายกรัฐมนตรี รับว่าจะให้คำตอบที่ชัดเจนแก่ชาวบ้าน แต่ในที่สุดไม่ได้ให้คำตอบเช่นกัน
ดังนี้ การร่วมชุมนุมของโจทก์ทั้งยี่สิบห้าและประชาชนกลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซฯ จึงเป็นการใช้สิทธิของประชาชนที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐ เพื่อที่จะแสดงเจตนารมณ์ ในการจัดการบำรุงรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อให้ประชาชนดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่อง
ดังนั้น การใช้สิทธิเรียกร้อง เพื่อการมีส่วนร่วมในการแสดงความเห็นในส่วนได้เสียของตนหรือของชุมนุมซึ่งรัฐบาลต้องรับฟังชาวบ้านก่อนการตัดสินใจ ดำเนินการโครงการที่มีผลกระทบต่อชุมชนดังที่ได้รับรองไว้ในบทบัญญัติ มาตรา 46,56 และ 59 ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ดังกล่าว กรณีจึงเป็นที่ประจักษ์ว่าโจทก์ทั้งยี่สิบห้าและประชาชนได้ชุมนุมกันในวันเกิดเหตุมีวัตถุประสงค์ เพื่อใช้สิทธิตามกฎหมายรัฐธรรมนูญที่จะแสดงมติของกลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซฯ โดยยื่นหนังสือขอให้รัฐบาลทบทวนการตัดสินใจดำเนินการโครงการท่อส่งก๊าซฯ ต่อจากรัฐบาลชุดก่อนซึ่งหาได้มีเจตนาก่อความรุนแรงหรือขัดขวางการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรแต่อย่างไร
โจทก์ทั้ง 25 และประชาชนที่คัดค้านและใช้สิทธิเรียกร้องที่พวกตนมีส่วนได้เสียและมีผลกระทบต่อตนสำหรับโครงการที่รัฐจะดำเนินการต่อเป็นการใช้สิทธิ์ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 44 ในเรื่องการชุมนุมในที่สาธารณะโดยสงบและปราศจากอาวุธ โดยไม่มีเจตนากีดขวางทางสาธารณะ ซึ่งเจ้าพนักงานตำรวจมีหน้าที่ต้องอำนวยความสะดวก และดูแลรักษาความปลอดภัยให้แก่ผู้ชุมนุม เพื่อมิให้เกิดชนวนนำไปสู่ความวุ่นวาย แต่จากทัศนคติในเชิงลบชองจำเลยที่ 1 ซึ่งมีต่อกลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านดังกล่าว
ดังจะเห็นได้ตามคำให้การของจำเลยที่ 1 ที่ให้ข้อมูลต่อคระกรรมิการการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ในเอกสารหมายเลข จ.22 ว่ากลุ่มผู้ชุมนุมเป็นกลุ่มที่มีความขัดแย้งต่อการตัดสินใจของรัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐ “ที่พูดอย่างไรก็ไม่รู้เรื่อง” ต่างกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่ประท้วงหน้าสถานทูตกัมพูชาในประเทศไทยเป็นกลุ่มผู้รักชาติ “พูดแป๊บเดียวเข้าใจ” ประกอบกับจำเลยที่ 1 นำข้อเท็จจริงที่เกิดเหตุรุนแรงในวันทำประชาพิจารณ์สองครั้งที่หอประชุมเทศบาลนครหาดใหญ่ และที่สนามกีฬาจิระนคร มาคาดคะเนว่ากลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้นเตรียมกานำแนวทางความรุนแรงมาใช้
เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติและเป็นผู้บังคับบัญชาเจ้าพนักงานตำรวจในระดับสูงในขณะเกิดเหตุ อันเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์มีหน้าที่ปราบปรามจับกุมผู้กระทำผิดตามกฎหายบ้านเมือง เพื่อให้สังคมในบ้านเมืองเกิดความสงบสุขและเป็นระเบียบเรียบร้อย จำเลยที่ 1 จึงมีความรับผิดชอบดูแลทุกข์สุขของประชาชนโดยเฉพาะ กลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้าน เป็นผู้มีความเดือดร้อน ซึ่งได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการท่อส่งก๊าซ จึงได้รวมตัวชุมนุมกันสะท้อนปัญหาให้รัฐบาลทราบ จำเลยที่ 1 ยิ่งต้องใช้ความรอบคอบดูแลบุคคลดังกล่าวบนพื้นฐานหลักความเมตตาธรรม ควบคู่กับหลักยุติธรรม โดยหลีกเลี่ยงการใช้กำลังเพื่อให้เกิดเหตุการณ์วุ่นวาย และลุกลามบานปลายอันนำมาซึ่งความสูญเสียถึงแก่ชีวิตและทรัพย์สินของทั้ง 2 ฝ่าย ที่ยากแก่การควบคุมได้
ในเรื่องนี้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของตำรวจในระดับสูง ในการสั่งการเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง จึงต้องออกมาตรวจดูเหตุการณ์ในที่เกิดเหตุด้วยตนเองในทันทีก่อนที่จะสั่งการอย่างใดเพื่อหาทางแก้ไข เพราะที่เกิดเหตุอยู่ไม่ไกลจากโรงแรมเจ.บี. ซึ่งสามารถเดินทางด้วยรถยนต์ใช้เวลาไม่เกิน 3 นาที ดังที่ พล.ต.อ.ประทิน เบิกความยืนยันจำเลยที่ 1 ออกมาตรวจสอบด้วยตนเอง ก็จะได้ความจริงอันจะทำให้จำเลยที่ 1 มีโอกาสเลือกใช้ดุลพินิจให้เหมาะสมต่อเหตุการณ์ที่เป็นจริงว่ามีความรุนแรงหรือไม่เพียงใดและทำให้เห็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นว่ายังไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะสลายการชุมนุมแต่อย่างไร ดังที่จำเลยที่ 2 ให้การต่อกรรมาธิการการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา เอกสารหมาย จ.22 หน้า 6/7
ดังนั้นคำสั่งของจำเลยที่ 1 ที่ใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมนั้นไม่อยู่บนพื้นฐานแห่งความเป็นจริง แต่อยู่บนพื้นฐานจากรายงานข้อเท็จจริงอันเป็นเท็จของจำเลยที่ 3 ซึ่งคำสั่งของจำเลยที่ 1 ที่สลายการชุมนุมดังกล่าวจึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ จะอ้างว่าได้รับรายงานเท็จจากผู้ใต้บังคับบัญชาย่อมฟังไม่ขึ้น
ส่วน พ.ต.อ.สุรชัย สืบสุข, ร.ต.อ.เล็ก มียัง, ร.ต.ท.บัณฑูรย์ บุญเครือ ร.ต.ท.อภิชัย สมบูรณ์ ได้ความว่าขณะนั้น พ.ต.อ.สุรชัย สืบสุข ซึ่งเป็นรองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา หลังจากได้รับคำสั่งจาก พล.ต.ต.สัณฐาน แล้ว ได้มีคำสั่งให้ จำเลยที่ 5 ถึง 38 กับเจ้าพนักงานตำรวจอื่นเข้าสลายการชุมนุมตามที่ ร.ต.อ.อภิชัย สมบูรณ์ เบิกความเห็นว่าจำเลยที่ 4 , 6, 13,14 ต่างเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาการของ พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ และ พล.ต.ต.สัณฐาน ปฏิบัติราชการตามคำสั่งของ พล.ต.ต.สัณฐาน ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาที่ออกคำสั่งให้สลายการชุมนุม
โดยรายงานข้อเท็จจริงอันเป็นเท็จต่อ พล.ต.อ.สันต์ จนเป็นเหตุให้ พล.ต.อ.สันต์ ให้ความเห็นชอบต่อการใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม ซึ่งจำเลยที่ 4 , 6,13,14 ต่างอยู่ในที่เกิดเหตุในลักษณะเผชิญหน้ากับกลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้าน ย่อมรู้เห็นเหตุการณ์และเข้าใจโดยตลอดว่า กลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านไม่ได้กระทำผิดกฎหมายแต่อย่างใด แต่ยังกระทำตามคำสั่งซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยการใช้กำลังสลายการชุมนุมดังกล่าว จึงต้องรับผิดชอบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 70 ที่โจทก์ทั้ง 25 นำสืบในชั้นต้น ข้อหาดังกล่าวสำหรับจำเลยที่ 4 ,6,13,14 จึงมีมูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา 157,295,38 ที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 9 เห็นพ้องด้วยบางส่วน อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน