ระยอง - ชาวบ้านคนระยองกว่า 200 ชีวิต รวมตัวคัดค้านโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ (ระยอง) ชี้ต้องเปิดเวทีทำประชาพิจารณ์โดยมีชาวบ้านมาร่วมรับฟังข้อมูลก่อนดำเนินการ
วันนี้ (14 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายไพฑูรย์ ไพศาลสุขวิทยา ผอ.ฝ่ายพัฒนาโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้า บริษัท อมตะ เพาเวอร์ จำกัด ออกมาชี้แจงกรณีจะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ (ระยอง) หมู่ 6 ต.มาบยางพร อ.ปลวกแดง จ.ระยอง ในปี 2553 เนื่องจากชาวบ้านที่มีพื้นที่ห่างจากโรงไฟฟ้า 5 กิโลเมตร จำนวน 3 หมู่บ้าน ซึ่งมีประชากรรวมกว่า 2,000 คน หวั่นจะได้รับผลกระทบมลพิษสิ่งแวดล้อม
โดยมีชาวบ้านกว่า 200 คน พร้อมด้วยกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม อาทิ นายวีระพล แสงฉวี สมาชิกสภาเทศบาล ต.มะขามคู่ นายสุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก พร้อมด้วยนายนิคม รุ่งโรจน์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) พนานิคม มารอรับฟังข้อมูลท่ามกลางการดูแลความสงบเรียบร้อยของกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 10 นาย ที่วัดพนานิคม ม.4 อ.นิคมพัฒนา เมื่อวานนี้
นายไพฑูรย์ กล่าวว่า โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ จะเริ่มก่อสร้างในปลายปี 2553 ระยะเวลาก่อสร้าง 30 เดือน มีกำลังการผลิต 120 เมกะวัตต์ และผลิตไอน้ำ 30 ตัน/ชม. โดยใช้พลังงานจากก๊าซธรรมชาติจากระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติของ บริษัท ปตท.จำกัด เป็นเชื้อเพลิงหลักบนพื้นที่ 30 ไร่ ม.6 ต.มาบยางพร อ.ปลวกแดง คาดว่าจะเริ่มผลิตกระแสไฟฟ้าในปี 2557 ส่วนหนึ่งขายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ อีกส่วนหนึ่งใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ นอกจากนี้จะมีการตั้งกองทุนจำนวน 30 ล้านบาท เพื่อนำไปพัฒนาชุมชนรอบโรงงานไฟฟ้า
ด้าน นายสุทธิ ได้สอบถามชาวบ้านที่มารับฟังในวันนี้กว่า 200 คน ที่คัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าดังกล่าว พบว่า สาเหตุชาวบ้านหวั่นว่าจะเกิดผลกระทบมลพิษสิ่งแวดล้อมต่อประชาชน และพืชไร่เกษตรกรรม เพราะที่ผ่านมาเกิดมลภาวะกระทบต่อชุมชนหลายแห่งแต่หาผู้รับผิดชอบไม่ได้ ทั้งนี้ ก่อนจะมีการก่อสร้างโรงงานก็พูดดีกับชาวบ้าน ครั้นเมื่อเกิดปัญหาชาวบ้านกลับพึ่งพาใครไม่ได้ ทั้งนี้ชาวบ้านเจ็บจนฝังใจเสีย และจะไม่ยอมให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขึ้นอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาการทำอีไอเอเรื่องสิ่งแวดล้อมไม่มีความน่าเชื่อถือ โรงงานหลายแห่งมักจะพาชาวบ้านไปเที่ยวต่างจังหวัด โดยอ้างว่าพาไปศึกษาดูงาน จากนั้นก็ให้เซ็นชื่อในแบบสอบถาม แล้วนำไปกล่าวอ้างว่าประชาชนในพื้นที่เห็นชอบให้มีการก่อสร้าง ฉะนั้นวยังไม่มีบทสรุปว่าชาวบ้านจะยินยอมให้มีการก่อสร้างหรือไม่ และอยากให้โรงงานเปิดเวทีประชาพิจารณ์โดยมีชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วม กับทางภาครัฐ และให้ทางโรงงานชี้แจงรายละเอียดให้กับชาวบ้านได้รับทราบข้อเท็จจริงในทุกขั้นตอน