xs
xsm
sm
md
lg

AMATAคงเป้ายอดขายที่1.7พันไร่ หวั่นการเมืองฉุดตปท.ชะลอลงทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

AMATA แจงยอดขายที่ดิน 5เดือนแรกแค่ 369 ไร่ มั่นใจไตรมาส 2 ขายที่ดินมากกว่าไตรมาสแรก โดยคงเป้าหมายยอดขายทั้งปีไว้ 1.7 พันไร่ ปลอบใจตัวเองว่าปัจจัยลบทางการเมืองไม่กระทบการขายที่ดินในนิคมฯ แต่นักลงทุนอาจจะชะลอการก่อสร้างไปก่อน อัดเงินกว่าหมื่นล.ทำโรงไฟฟ้าป้อนลูกค้าในนิคมฯ พร้อมเบรกนำบ.ย่อยเข้าตลาดหุ้นเวียดนาม

นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) (AMATA)เปิดเผยว่า บริษัทฯมีความมั่นใจยอดขายที่ดินในไตรมาส 2/2551 จะมากกว่าไตรมาสแรกปีนี้ที่ขายได้ 257 ไร่ แม้ว่าในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ บริษัทฯขายที่ดินไปแล้ว 369 ไร่ แบ่งเป็นการขายที่ในนิคมอมตะนคร 218 ไร่ และนิคมอมตะซิตี้ 151 ไร่ คาดทั้งปียอดขายที่ดินในนิคมฯจะเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 1,700 ไร่

สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ คือ ปัญหาการเมืองในประเทศที่ไร้เสถียรภาพ ทำให้นักลงทุนต่างชาติเบนเข็มไปลงทุนที่ประเทศเวียดนามแทน แต่ในสายตานักลงทุนญี่ปุ่นยังมองว่าไทยยังน่าลงทุนอยู่ แม้ว่าจะเกิดความวิตกกังวลอยู่บ้าง ทำให้นักลงทุนบางรายชะลอการก่อสร้างหรือลงทุนไปก่อน แต่เชื่อว่าจะไม่มีผลต่อการขายที่ดินในนิคมฯตามที่ได้ตกลงกันไว้ เนื่องจากต้นทุนค่าที่ดินต่ำคิดเป็น 10%ของเงินลงทุนทั้งหมด

นอกจากนี้ บริษัทฯมีแผนลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าโคเจเนอเรชั่นที่อมตะนคร ขนาดกำลังการผลิต 280 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุน 1.28 หมื่นล้านบาท โดยเฟสแรก จะสร้างโรงไฟฟ้า 170 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุน 7,800 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2552 แล้วเสร็จในปี 2554 หลังจากนั้นจะลงทุนโรงไฟฟ้าเฟส 2 ในปี 2555 แล้วเสร็จในปี 2557

โดยยอมรับว่าต้นทุนค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้าดังกล่าวเพิ่มขึ้น 40% ทำให้ผลตอบแทนการลงทุน (IRR)ลดลงเหลือ 10% แต่ก็ต้องทำเพื่อสร้างความมั่นใจให้ลูกค้าในนิคมฯ โดยไฟฟ้าส่วนหนึ่งจะขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ผู้ถือหุ้นในโครงการโรงไฟฟ้าดังกล่าว ประกอบด้วย อมตะ เพาเวอร์ ซึ่งบริษัทฯถือหุ้นอยู่ 13.77% กลุ่มซูมิโตโม และบริษัท อมตะ ซิตี้ ที่บริษัทฯถือหุ้นอยู่ 8%

นอกจากนี้ บริษัทฯยังศึกษาความเป็นไปได้ในการขยายโรงไฟฟ้าในนิคมฯอมตะนคร เพิ่มขึ้นอีก 170-200 เมกะวัตต์ คาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็วๆนี้ ส่วนความคืบหน้าการนำบริษัท อมตะ(เวียดนาม) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย เข้าตลาดหลักทรัพย์ที่เวียดนามนั้น นายวิบูลย์ กล่าวว่า เนื่องจากภาวะตลาดหุ้นในเวียดนามไม่ค่อยดี จากเดิมที่เคยมีดัชนีหลักทรัพย์สูงถึง 1พันกว่าจุด แต่ขณะนี้ร่วงลงมาเหลือ 400 กว่าจุด ทำให้บริษัทฯจึงไม่เร่งที่จะนำเข้าตลาดหุ้น รอจนกว่าตลาดหุ้นจะกลับมามีเสถียรภาพดีกว่านี้

"สิ่งที่เราเป็นห่วงว่าสิ่งที่เกิดขึ้นตลาดหุ้นในเวียดนามจะเหมือนกับไทยเมื่อ 10 ปีก่อน ที่ตลาดหุ้นร่วงไปมาก ส่งผลกระทบต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ลามไปถึงธุรกิจไฟแนนซ์ ทำให้เราต้องจับตาอย่างใกล้ชิด " นายวิบูลย์กล่าว

อย่างไรก็ตาม บริษัทฯมีแผนที่จะลงทุนทุนธุรกิจนิคมฯที่เวียดนามเพิ่มขึ้น โดยมีการเจรจาขอขยายที่ดินทำนิคมฯเพิ่มเติมในพื้นที่เดิม รวมถึงการหาพื้นที่ใหม่ประมาณ 1 หมื่นไร่ เนื่องจากเวียดนามเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการดึงดูดนักลงทุนดีอยู่ ขณะเดียวกันในพื้นที่นิคมฯเดิมก็มีนโยบายไม่ขายที่ดินแต่จะสร้างโรงงานให้เช่าแทน เพราะพื้นที่ในนิคมฯดังกล่าวเหลือไม่มาก
กำลังโหลดความคิดเห็น