xs
xsm
sm
md
lg

“พูนภิรมย์” เปิดโรงผลิตก๊าซธรรมชาติเหลว ที่ระยอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา- รมว.พลังงาน เป็นประธานเปิดโรงงานผลิตก๊าซธรรมชาติเหลวของ ปตท.ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยอง


เวลา 09.00 น.วันนี้ (22 พ.ค.) พล.ท.(หญิง) พูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและคณะ เดินทางมาตรวจเยี่ยมชมกระบวนการผลิต รับฟังความคืบหน้าในอุตสาหกรรมพลังงาน ได้แก่ โรงแยกก๊าซธรรมชาติ โรงกลั่นน้ำมัน ARC บริษัท ปตท. เคมีคอล จำกัด (มหาชน) และการผลิตไบโอดีเซล ของบริษัท ไทยโอลิโอเคมี จำกัด นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และเป็นประธานพิธีเปิดโรงงานผลิตก๊าซธรรมชาติเหลวขนาดเล็ก แห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SMALL LNG PLANT) ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่โรงแยกก๊าซธรรมชาติของ ปตท. ต.มาบตาพุด อ.เมืองระยอง โดยมีนายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.ให้การต้อนรับและกล่าวรายงานบรรยายสรุป

พล.ท.(หญิง) พูนภิรมย์ รมว.พลังงาน กล่าวว่า อุตสาหกรรมพลังงานเป็นอุตสาหกรรมหลัก ที่สร้างรายได้ให้ประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีสามารถสร้างรายได้ให้ประเทศกว่า 4 แสนล้านบาทต่อปี หรือประมาณร้อยละ 6 ของจีดีพี ในแต่ละปี และยังเป็นการเพิ่มมูลค่าการผลิตในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ที่สร้างรายได้หลักให้ประเทศ ได้แก่ อุตสาหกรรมรถยนต์ อิเล็คโทรนิกส์ พื้นที่มาบตาพุดเป็นฐานการผลิตหลักของประเทศ โรงงานผลิตก๊าซธรรมชาติเหลวระยองแห่งนี้ มีกำลังการผลิต 20 ตันต่อวัน เทียบเท่าน้ำมันดีเซลประมาณ 27,800 ลิตรต่อวัน

ทั้งนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมทางด้านการตลาดและการใช้งาน ก่อนที่ ปตท.จะนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว ในปี 2554

LNG ที่ผลิตได้จะใช้เพื่อการทดลองหรือนำร่องเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการทดแทนน้ำมันดีเซลในรูปแบบต่างๆ ที่มีข้อจำกัดการใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนในภาคการขนส่งทางน้ำ ซึ่งมีข้อจำกัดในเรื่องพื้นที่วางถังบรรจุก๊าซและน้ำหนัก เช่น เรือประมง เรือลากจูง เรือโดยสาร ที่วิ่งบริการในแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองแสนแสบ รวมทั้งรถหัวลากที่วิ่งระยะทางไกล และเครื่องจักรกลหนักที่ไม่สะดวกในการเติม NGV เช่น รถเจาะหิน รถขนดินที่ใช้ในเหมืองของบริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด ที่ อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช และที่ อ.แก่งคอย จ.สระบุรี และยังสามารถนำไปใช้ในอาคารสำนักงานหรือโรงงานอุตสาหกรรม ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติในกระบวนการผลิต ที่ยังไม่มีระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติไปถึง

ส่วนโรงแยกก๊าซธรรมชาติสามารถแยกก๊าซได้ถึง 1,840 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน และในปี 2553 จะขยายเพิ่มเป็น2,790 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน บริษัท ปตท.เคมีคอล จำกัด(มหาชน) พัฒนาการผลิตสินค้าปิโตรเคมีอย่างต่อเนื่อง นับเป็นผู้ผลิตเคมีภัณฑ์แบบครบวงจร และริเริ่มเคมีภัณฑ์ชีวภาพรายแรกด้วยการพัฒนาการผลิตโอลีโอเคมีแห่งแรกในประเทศไทย ภายใต้การดำเนินการของบริษัท ไทยโอลีโอเคมี จำกัด (TOL) มีผลิตภัณฑ์หลัก คือ เมทิลเอสเทอร์ (ไบโอดีเซล B 100) แฟตตี้แอลกอฮอล์ และกรีเซอรีน ซึ่งจะช่วยลดการนำเข้าผลิตภัณฑ์โอลีโอเคมีกว่า 3,000 ล้านบาท / ปี

พล.ท.(หญิง) พูนภิรมย์ เน้นย้ำผู้บริหารกลุ่มบริษัท ปตท.ให้ความสำคัญและรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม กระทรวงพลังงานพร้อมให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมด้านพลังงาน ให้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในระดับแนวหน้าของภูมิภาค


กำลังโหลดความคิดเห็น