xs
xsm
sm
md
lg

แฉตัวการปั่นราคาข้าว ชาวนาเสี่ยงเจ๊ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน – หวั่นชาวนาแห่ปลูกข้าวเจ็บหนักหลังข้าวฤดูกาลใหม่ออกสู่ตลาด คาดราคาอาจลดเหลือตันละ 7,000 บาท เตือนรัฐฯวางแผนพยุงราคาช่วยชาวนาที่แบกรับต้นทุนเพิ่มเท่าตัว ด้านนายกฯสมาคมโรงสี แฉวงการค้าข้าวปั่นราคาสูงเกินจริง 20% โดยผู้ค้าข้าวรายใหญ่ที่คุมตลาดภายในและต่างประเทศเป็นตัวการ ร่ำรวยนับพันล้านชั่วเวลาเพียง 4 เดือน


นางกิมอั้ง พงษ์นารายณ์ ชาวนาข้าวนาปรัง จังหวัดชัยนาท เปิดเผยในเวที “ข้าวแพง ชาวนาได้ประโยชน์จริงหรือ” จัดโดยมูลนิธิผู้บริโภคและเครือข่าย เมื่อวันที่ 28 เม.ย.ที่ผ่านมาว่า ขณะนี้ชาวนาในเขตภาคกลางที่เพิ่มพื้นที่การเพาะปลูกข้าวปรังเพราะเห็นว่าราคาข้าวแพง ต่างหวั่นเกรงว่าเมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวราคาข้าวอาจจะลดต่ำลงมาเพราะเป็นช่วงใกล้เคียงกันกับที่ข้าวนาปีจะออกสู่ตลาด หากราคาข้าวเหลือตันละ 7,000 – 8,000 บาท ตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ จะส่งผลให้ชาวนาซึ่งมีต้นทุนในการเพาะปลูกเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวเสี่ยงต่อการขาดทุน

“ชาวนามีแต่ความเสี่ยงทั้งต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ทั้งโรคระบาดและศัตรูพืช แต่หนี้ธ.ก.ส.ที่กู้มาต้องชำระตามนัดทุกๆ 4 เดือน ไม่มีโอกาสเก็บข้าวไว้เพื่อรอราคา ถ้าข้าวราคาไม่ดีหรือผลผลิตไม่ได้ ก็ต้องขายที่นาชำระหนี้” นางกิมอั้ง กล่าว

ชาวนาปรังจากจังหวัดชัยนาท กล่าวถึงต้นทุนการทำนาที่เพิ่มขึ้นภายหลังราคาข้าวแพงเป็นประวัติการณ์ว่า จากเดิมต้นทุนการทำนาโดยรวมเฉลี่ยตกไร่ละประมาณ 3,000 กว่าบาทต่อไร่ ขณะที่ราคาข้าวตกตันละประมาณ 5,000 บาท แต่เวลานี้ได้ปรับเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว ไม่ว่าจะเป็นค่าเช่านาจากไร่ละ 500 บาท ปรับเพิ่มเป็น 2,000 บาท/ไร่/ครั้ง ปีหนึ่งๆ ทำนา 3 ครั้ง เฉพาะค่าเช่าตกเฉลี่ยไร่ละ 6,000 บาท เพราะเจ้าของที่ดินเห็นว่าข้าวมีราคาแพง

ส่วนปุ๋ยลูกละ 50 กก.ราคาปรับเพิ่มกว่าเท่าตัวมาอยู่ที่ 1,100 บาทจากเมื่อต้นปีราคาเพียง 400 บาท รวมทั้งค่าน้ำมันวิดน้ำเข้านาที่สูงขึ้น ซึ่งต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับราคาข้าวที่ปรับขึ้นประมาณ 13,000 บาท/ตัน เป็นราคาที่ชาวนาพออยู่ได้ แต่หากข้าวฤดูกาลใหม่ที่จะออกมาแล้วกดราคาข้าวให้ต่ำลง ชาวนาคงอยู่ไม่ได้และไม่รู้ว่าเมื่อราคาข้าวลด เจ้าของที่นาจะลดค่าเช่านาลงมาเหมือนเดิมหรือไม่

นายวิโรจน์ เหล่าประภัสสร กรรมการสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ กล่าวว่า นับจากนี้อีก 2 – 3 ปีราคาข้าวจะตกต่ำเหมือนในอดีตคงจะยาก แต่เมื่อราคาข้าวไต่ระดับสูงขึ้นไปมาก การสั่งซื้อก็จะชะลอตัวลงตามกลไกตลาด ขณะนี้วงการส่งออกข้าวประเมินกันภายในว่า ตัวเลขส่งออกข้าวจะลดต่ำลงจากเดือนละ 1 ล้านตันเหลือประมาณ 7 แสนตัน แต่เรื่องที่น่าห่วงคือในช่วงเดือนต.ค.ไปจนถึงต้นปีหน้า ซึ่งข้าวนาปีจะออกสู่ตลาดจะกดราคาลดต่ำลงจึงต้องมีจิตวิทยารักษาระดับราคาให้อยู่ที่ 10,000 – 11,000 บาทต่อตันเพื่อให้ชาวนาอยู่ได้จากปัจจัยต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งรัฐฯสามารถทำได้โดยเก็บสต็อกข้าวเป็นข้าวเปลือก และทำสัญญากับคู่ค้าล่วงหน้า

ทางด้านนายปราโมทย์ วานิชชานนท์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า วงการค้าข้าวทั้งผู้ส่งออกและโรงสี ประเมินกันว่าฤดูข้าวใหม่ที่จะออกมาในรอบหน้าถ้าผลผลิตดีในทุกประเทศผู้ผลิตข้าวทั้งไทย เวียดนาม อินเดีย อาจทำให้ราคาข้าวลดต่ำลงมาเหลือประมาณ 7,000 – 8,000 บาท/ตัน ดังนั้นรัฐบาล ต้องเปิดเกมรุกวางแผนล่วงหน้าเพื่อพยุงราคาข้าวในฤดูกาลใหม่ที่จะออกมาด้วย

นายปราโมทย์ ยังตั้งข้อสังเกตว่า ราคาข้าวที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วจากข้าวที่ซื้อมาจากชาวนาในราคาตันละ 6,000 – 7,000 บาทในช่วงต้นปีเพิ่มพรวดขึ้นเป็น 13,000 บาท/ตันในเวลานี้ มีผู้ได้ประโยชน์เต็มๆ คือ พ่อค้าข้าวในประเทศและผู้ส่งออกข้าว โดยเฉพาะผู้ค้าข้าวรายใหญ่ในตลาดที่คุมตลาดทั้งภายในประเทศและตลาดส่งออก ซึ่งสามารถเล่นราคาในสองตลาดได้ ทำให้ผู้บริโภคข้าวภายในประเทศต้องซื้อข้าวแพงกว่าข้าวที่ส่งออก การทำข้าวถุงธงฟ้าของรัฐบาลจะช่วยสกัดการเก็งกำไร

“วงการค้าข้าวมีการปั่นราคากันจริง ผู้ส่งออกยอมรับว่า ราคาข้าวสูงเกินจริงถึง 20% มีผู้ค้าข้าวที่อยู่ในกระบวนการเก็งกำไร ปั่นราคาจากการค้าข้าว ร่ำรวยเป็นพันล้านในช่วงเวลาเพียง 4 เดือน” นายปราโมทย์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น