xs
xsm
sm
md
lg

ย้อนรอย! “สุสานหอยทาก” จากยุค “คมช.” ถึง “คสช.” อีกหนึ่งมหากาพย์ทุจริตของราชการไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
รายงาน...ศูนย์ข่าวภาคใต้

ย้อนกลับไปเมื่อราว 10 ปีที่แล้วข่าวแรกที่ MGR Online ภาคใต้ รายงานเกี่ยวกับเรื่องนี้คือข่าววันที่ 4 ก.พ.51 นายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตหัวหน้าพรรคชาติไทย ในฐานะประธานที่ปรึกษาโครงการเดินทางมาติดตามความคืบหน้าระหว่างเตรียมการก่อสร้างด้วยงบประมาณ 800 ล้านบาท

โครงการจัดตั้งศูนย์ศึกษาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทะเลสาบสงขลา มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นสถานที่ศึกษาค้นคว้าและทดลองทางชีววิทยา ของคณาจารย์และนักศึกษาเกี่ยวกับสัตว์น้ำและพันธุ์ไม้น้ำตลอดจนจะเป็นแหล่งทัศนศึกษาของนักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังจังหวัดสงขลา
 

 
โครงการนี้เริ่มใน มิ.ย.- ก.ค.50 สมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกฯ นายวิจิตร ศรีสอ้าน รมว.ศึกษาฯ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ที่มี นายวีระศักดิ์ วงศ์สมบัติ เป็นเลขาฯ ทำหนังสือถึงสำนักเลขาฯ ครม.ขออนุมัติทำสัญญาก่อหนี้ผูกพันประจำปีงบประมาณ 50

ได้รับอนุมัติในเดือน ส.ค.50 โดย นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รองนายกฯ ลงนามเห็นชอบอันเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการนี้

ส่วนประกอบของโครงการ ประกอบด้วย อาคารแสดงพันธุ์พืชและสัตว์น้ำ โรงสูบน้ำและระบบกรองน้ำ ถังพักน้ำ บ่อสำหรับเลี้ยงและอนุบาลสัตว์น้ำ บ่อสำหรับรักษาสัตว์น้ำที่เจ็บป่วย ห้องแสดงนิทรรศการ ห้องประชุม เป็นต้น
 

 
นับแต่ปี 50 มาจนถึงปัจจุบันสิ่งที่เป็นรูปธรรมที่สุดของโครงการนี้คืออาคารรูปหอยสังข์ที่จุดไฟความหวังชาว จ.สงขลา ว่าโครงการใกล้เสร็จสมบูรณ์แล้ว

ปี 60 กอง บก.MGR Online ภาคใต้ ได้รวบรวมข้อมูล “โครงการร้าง-ผลาญงบ” เริ่มจากข่าวปลดระวาง “เรือเหาะชายแดนใต้” ที่ใช้งบเกือบ 1,000 ล้านบาท แต่ไม่เคยได้ใช้จริงแม้แต่ครั้งเดียว

โดย MGR Online ภาคใต้ นำเสนอข่าวนี้ในรูปแบบคลิปวิดีโอ ปรากฏว่า มีผู้รับชมกว่า 1 ล้านครั้ง พร้อมกับได้แจ้งเบาะแสโครงการก่อสร้างศูนย์ศึกษาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทะเลสาบสงขลา ที่สร้างมาเกือบ 10 ปีใช้งบประมาณไปกว่า 1,000 ล้านบาทแล้ว แต่ยังสร้างไม่เสร็จ
 

 
MGR Online ภาคใต้ จึงลงพื้นที่ตรวจสอบพบว่าโครงการได้หยุดก่อสร้างเป็นเวลานานแล้วและมีสื่อมวลชนหลายสำนักติดตามตรวจสอบเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง เมื่อข่าวเผยแพร่ออกไปทำให้เสียงวิพากษ์วิจารณ์ดังกระหึ่มขึ้นอีกครั้ง จนกระทั่งมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบในที่สุด

อย่างไรก็ตาม การตรวจสอบเรื่องนี้ทำให้สื่อและสังคมตั้งข้อสงสัยถึงความจริงจังในการตรวจสอบความไม่ชอบมาพากลของโครงการ

เพราะที่ผ่านมาเคยมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบแล้วตั้งแต่สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่มี น.ส.นริศรา ชวาลตันพิพัฒน์ นั่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาฯ กำกับดูแล สอศ.หน่วยงานที่เป็นเจ้าของโครงการผู้สร้างมหากาพย์ทุจริตนี้
 

 
โดยให้สัมภาษณ์สื่อเมื่อ 4 ก.พ.52 ว่า ผู้รับเหมาขอชะลอการก่อสร้างชั่วคราวเมื่อเดือน เม.ย.51 โดยให้เหตุผลว่ารูปแบบอาคารยังไม่ชัดเจน จึงขอหยุดเพื่อปรับแบบโครงสร้างอาคารและสัญญาให้ถูกต้อง

ต่อมา 18 ก.พ.52 น.ส.นริศรา ให้สัมภาษณ์สื่ออีกครั้งว่าตนได้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องนี้แล้ว โดยให้ นายสุรเทพ ตั๊นประเสริฐ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเป็นประธาน เนื่องจากมีปัญหาข้อโต้แย้งในสัญญา และมีปัญหาการใช้จ่ายงบประมาณ โดยให้จัดทำรายงานการติดตามและตรวจสอบข้อเท็จจริงเสนอมายังตนภายใน 30 วัน

ต่อมา 8 พ.ค.52 น.ส.นริศรา ให้สัมภาษณ์สื่ออีกครั้ง ว่า คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบฯ ได้สรุปผลการตรวจสอบรายงานให้ทราบแล้ว โดยสรุปสาเหตุที่ทำให้การก่อสร้างล่าช้ามาจากบริษัทผู้รับเหมาไม่ดำเนินการก่อสร้างตามที่มีการเซ็นสัญญา แต่กลับมีการจ่ายเงินมัดจำไปแล้ว 125 ล้านบาท
 

 
จากการตรวจสอบพบว่า มีเพียงการนำดินไปถมพื้นที่ แต่ยังไม่มีการก่อสร้างใดๆ โดยอ้างว่าแบบก่อสร้างไม่ชัดเจน แต่จากการตรวจสอบเบื้องต้นได้รับการยืนยันว่าแบบการก่อสร้างดำเนินการอย่างถูกต้อง และหากแบบไม่ชัดเจนเหตุใดจึงมีการเซ็นสัญญาและจ่ายเงินมัดจำตั้งแต่แรก

ประเด็นที่สองต้องสอบถาม นายเฉลียว ในฐานะเลขาธิการ กอศ.ว่า มีเหตุผลอะไรที่ทำหนังสือถึงบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างให้หยุดการก่อสร้างภายหลังเข้าดำรงตำเพียงกว่า 20 วันเท่านั้น ซึ่งจะต้องมีการสอบถามข้อเท็จจริงก่อนว่า มีเหตุผลอย่างไรจึงออกคำสั่งยุติการก่อสร้าง

จากนั้น 19 ส.ค.52 น.ส.นริศรา ให้สัมภาษณ์สื่อถึงความคืบหน้าเรื่องนี้อีกครั้ง ว่า ได้ส่งเรื่องให้ สตง.ตรวจสอบแล้ว หลังพบว่าโครงสร้างอาคารผิดแบบ เช่น กำหนดเสาเข็ม 1,000 ต้น แต่ผู้รับเหมาลงเข็มเพียง 800 ต้น เป็นต้น นอกจากนี้ ยังพบว่ามีการปลอมลายเซ็นในสัญญาต่างๆ
 

 
อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบของ “MGR Online ภาคใต้” พบว่า 12 พ.ย.53 คณะกรรมาธิการติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร และคณะอนุกรรมาธิการติดตามการบริหารงบประมาณภาคใต้ ได้เดินทางลงพื้นที่ตรวจสอบติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างศูนย์ศึกษาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทะเลสาบสงขลา แต่หลังจากนั้นประเด็นการตรวจสอบต่างๆ ได้เงียบหายไป

มีเพียงความเคลื่อนไหวในด้านของบุคคลที่เดินทางไปยังสถานที่ก่อสร้าง โดยไม่มีการพูดถึงการตรวจสอบปัญหาความล่าช้า ประกอบด้วย วันที่ 6 ส.ค.2555 นายศักดา คงเพชร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการและคณะ เดินทางไปเยี่ยมชมโครงการฯ

ต่อมา 31 ต.ค.57 พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เดินทางไปตรวจเยี่ยมวิทยาลัยประมงติณสูลานนท์และโครงการก่อสร้างศูนย์ศึกษาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทะเลสาบสงขลา
 

 
นอกจากนี้แล้ว ยังพบข้อมูลน่าสนใจว่า ในปี 58 ผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบออกแบบงานโครงสร้างและงานสถาปัตยกรรมและจัดทำเอกสารและคำนวณปริมาณงานในการเบิกงวดงานของโครงการได้ลาออกจากการทำงาน โดยพบว่าไปลงประวัติเพื่อหางานใหม่ไว้ในเว็บไซต์จัดหางานแห่งหนึ่ง

ด้าน “ศูนย์ข่าวอิศรา” เปิดเผยเมื่อ 22 ส.ค.58 พบว่า มีรายชื่อผู้ที่ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนในการทุจริตโครงการจัดซื้อครุภัณฑ์ทางการศึกษาของ สอศ.โครงการไทยเข้มแข็ง (แพ็ค 2) งบ 5,300 ล้านบาท สมัย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พรรคประชาธิปัตย์ เป็นนายกรัฐมนตรี มีผู้ถูกกล่าวหา 17 ราย

โดยมีชื่อของ น.ส.นริศรา ชวาลตันพิพัทธ์ รมช.ศึกษาฯ และ นายเฉลียว อยู่สีมารักษ์ อดีตเลขาธิการ สอศ.ที่ถูก น.ส.นริศรา ตั้งกรรมการสอบในโครงการก่อสร้าง “อะควาเรี่ยมหอยสังข์” อยู่ในรายชื่อผู้ถูกกล่าวหาด้วย
 

 
ซึ่งน่าสงสัยว่าจะเกี่ยวพันกันกับการทุจริตที่นำมาสู่ความล่าช้าในโครงการก่อสร้างศูนย์ศึกษาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทะเลสาบสงขลาด้วยหรือไม่

อย่างไรก็ตาม 6 ก.ย.60 นายเฉลียว อยู่สีมารักษ์ ได้เสียชีวิตลงจากโรคเนื้องอกในตับ ขณะดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงศึกษาฯ

โครงการศูนย์ศึกษาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทะเลสาบสงขลา เริ่มรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ จากนั้นการก่อสร้างได้กินเวลาต่อเนื่องมาถึงรัฐบาลนายสมัคร, รัฐบาลนายสมชาย, รัฐบาลนายอภิสิทธิ์, รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ จนกระทั่งมาถึงรัฐบาล คสช.
 

 
ในรัฐบาล คสช.นี่เองกระทรวงศึกษาฯได้ตั้งคณะกรรมการมาตรวจสอบความล่าช้า และความไม่ชอบมาพากลของโครงการ จนกระทั่งพบว่ามีการทุจริตเกิดขึ้นโดยมีข้าราชการระดับสูงหลายคนพัวพัน

ซึ่งกระทรวงศึกษาฯ ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนเอาผิดทางวินัยและจะยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช.ดำเนินคดีในข้อหาทุจริต ส่วนการก่อสร้างจะเสนอ ครม.ให้อนุมัติให้กรมทรัพยากรทางทะเลฯ ตั้งผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบสภาพอาคารและดำเนินการก่อสร้างให้เสร็จสมบูรณ์ต่อไป
 




กำลังโหลดความคิดเห็น