เมืองไทย 360 องศา
แม้ว่าภาพการเมืองในช่วงหน้าฝนแบบนี้จะดูอืดๆ เนือยๆ จนน่าเบื่อไปบ้าง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะฝ่ายการเมืองยังไม่สามารถสร้างราคาขึ้นมาให้ทัดเทียมกับ “กลุ่มเผด็จการยุคใหม่” ได้เลย
ใช้แล้ว กลุ่มเผด็จการที่ว่านั้น ก็คือ กลุ่มของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และมีรัฐบาลที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่นแหละ เพราะทั้งรูปแบบและองค์ประกอบมันย่อมเลี่ยงไปจากคำว่า “เผด็จการ” ไปไม่ได้เลย แต่ก็ไม่ใช่พอเป็นเผด็จการแล้วจะเสื่อมถอยด้อยค่าลงไปง่ายๆ พิสูจน์กันให้เห็นง่ายๆ ก็คือ แม้เวลาผ่านมากว่า 4 ปีกำลังเข้าสู่ปีที่ 5 แต่พวกเขารวมๆ แล้วยังไม่ค่อยเสื่อมถอยลงไปมากนัก ในทางตรงข้ามสำหรับ “หัวหน้าเผด็จการ” อย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมีความแข็งแกร่ง มั่นคง โดยเฉพาะกำลังขยายฐานรุกคืบออกไปสู่วงการเมืองกว้างขวางมากขึ้นทุกที
แน่นอนว่า สำหรับเขาแล้วหากต้องการ “ไปต่อ” ก็ไม่จำเป็นต้องลงมาเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองโดยตรง แต่ด้วยกลไกของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ถูกออกมารองรับนายกรัฐมนตรีได้ทั้งในแบบ “คนนอก” และ “คนใน” ก็ได้ อย่างน้อยก็ช่วงที่เรียกว่า “เปลี่ยนผ่าน” กำหนดโดยบทเฉพาะกาลเป็นเวลา 5 ปี กำหนดให้หัวหน้าคณะรักษาความความสงบแห่งชาติคัดเลือก ส.ว.ได้ถึง 250 คน ในความหมายที่ว่านี่คือพรรคการเมืองขนาดใหญ่เอาไว้ในมือแล้ว
อย่างไรก็ดี ในบรรยากาศการเมืองที่เปลี่ยนไปตามกระแสที่ที่มาแบบ “นายกฯคนนอก” ดูแล้ว “ไม่ทันสมัย” ไม่สง่างาม และที่สำคัญ ยังเป็นการสร้างเงื่อนไขไปเข้าทางฝ่ายตรงข้ามอีก จึงเป็นที่มาของการเคลื่อนไหวของการตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาสนับสนุน และเท่าที่พอมองเห็นในเวลานี้ ก็คือ “พรรคพลังประชารัฐ” ที่ว่ากันว่าเป็นสายตรงมาจาก “ในทำเนียบฯ” กันเลยทีเดียว ซึ่งในอนาคตเชื่อกันว่าน่าจะเป็นพรรคการเมืองหลักสำหรับรองก้น “บิ๊กตู่”
ขณะเดียวกัน ด้วยกลไกของรัฐธรรมนูญที่ว่ากันว่าถูกออกแบบมาให้เกิดเป็นพรรคขนาดกลางจำนวนมากกว่าเดิม และรัฐบาลหลังการเลือกตั้งก็น่าจะต้องเป็นรัฐบาลผสม โดยมีพรรค ส.ว.อีก 250 เสียงคอยค้ำยันเอาไว้อีกทางหนึ่ง มันถึงได้เห็นภาพเลาๆ แล้วว่ารัฐบาลหน้าจะเป็นรัฐบาลผสม และ “ใคร” จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป
อย่างที่คาดเดาเอาไว้ล่วงหน้าแล้วว่ารัฐบาลต่อไปจะต้องเป็นรัฐบาลผสม มีพรรคพลังประชารัฐเป็นพรรคการเมืองหลัก และมีอีกหลายพรรคที่ประกาศสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีอีกรอบ ที่เห็นก็มีพรรครวมพลังประชาชาติไทย ที่เดินเครื่องโดยบรรดาอดีตแกนนำ กปปส.ที่นำโดย สุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นกำลังหลัก ยังมีพรรคภูมิใจไทย ของ เนวิน ชิดชอบ พรรคพลังชล ของกลุ่มคุณปลื้ม ในภาคตะวันออก ยังมีพรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคชาติพัฒนา หรือแม้แต่พรรคประชาธิปัตย์ ที่แม้ว่าก่อนหน้านี้จะเคลื่อนไหวในทางตรงกันข้าม แต่ในทางการเมืองและแนวโน้มรวมไปถึงแบ็กกราวนด์ในอดีตก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้
ดังนั้น กลายเป็นว่าฝ่ายที่ “หัวเดียวกระเทียมลีบ” ก็ย่อมหมายถึงพรรคเพื่อไทยของ ทักษิณ ชินวัตร ที่เวลานี้ยังหา “หุ่นเชิด” รายใหม่ไม่ได้เลย ขณะเดียวกัน ไม่ว่าจะพิจารณาจากกระแส หรือว่า “กระสุน” มองมุมไหนก็ยังมองไม่เห็นเลยว่าพรรคเพื่อไทยจะชนะการเลือกตั้งแบบถล่มทลาย แม้ว่าหลายคนจะยังเชื่อตามความรู้สึกเดิมว่าเลือกตั้งเมื่อไหร่พรรคนี้ก็จะชนะ ซึ่งก็ยังเป็นไปได้สูงอยู่ แต่คำถามก็คือ “ชนะแล้วไง” เพราะถึงแม้ชนะแต่ตั้งรัฐบาลไม่ได้ แม้จะอ้างความชอบธรรมว่าชนะได้เสียงมากกว่าใคร แต่ในเมื่อยังไม่มีเสียงข้างมากมันก็ไร้ความหมาย เหมือนกับสูตรของการตั้งรัฐบาลผสมทั่วไป ก็คือ อยู่ที่ว่าใครจะสามารถรวบรวมเสียงได้มากกว่าใคร
ขณะเดียวกัน นอกเหนือจากเสียงจากพรรคการเมือง เสียงของพรรค ส.ว.250 เสียงแล้ว ยังมี “พลังสีเขียว” ที่ตั้งทะมึนอยู่ข้างนอกอีก ซึ่งพลังนี้แหละสำคัญในลำดับต้นๆ เพราะต้องไม่ลืมว่าในปีนี้มีระดับผู้บัญชาการเหล่าทัพเกษียณพร้อมกันทั้งสามเหล่าทัพ โดยเฉพาะผู้บัญชาการทหารบกคนใหม่เหมือนจะรับรู้กันล่วงหน้ามาหลายเดือนแล้วว่าเป็นใคร
แม้ว่าก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเคยกล่าวกับสื่อต่างประเทศระหว่างการเยือนสหราชอาณาจักร และ ฝรั่งเศส ว่า จะแถลงถึงอนาคตทางการเมืองในเดือนกันยายน ซึ่งก็คาดเดากันว่า เขาจะยอมให้พรรคพลังประชารัฐเสนอชื่อเป็นนายกฯในนามพรรค ในความหมายแบบ “นายกฯคนใน” เสนอชื่อโดยสมาชิกรัฐสภาลบเงื่อนไขนายกฯคนนอกที่ฝ่ายตรงข้ามพยายามสร้างกระแสต้าน
แต่ขณะเดียวกัน ในเส้นทางแบบนี้มันช่วยไม่ได้ที่ละม้ายคล้ายกับเส้นทางที่ “ป๋าเปรม” พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี เคยเดินมาก่อนเมื่อปี 2523 ที่มีทั้งพรรคการเมืองสนับสนุนและมีกองทัพช่วยค้ำยันความมั่นคงอีกทางหนึ่ง ดังนั้น อย่าได้แปลกใจที่จะได้เห็นท่าที “ลอยตัว” ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่า ไม่เกี่ยวข้องในทางการเมือง ให้ว่ากันไป เพราะเวลานี้เขามีมือทำงานให้แล้วพร้อมสรรพ รอเพียงแต่เดินเข้ามานั่งเก้าอี้เท่านั้น!!