xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.คือตัวตัดสินอนาคตลุงตู่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ


โจทย์คณิตศาสตร์การเมืองที่ต่างกันระหว่างฝั่งที่เอาลุงตู่กับไม่เอาลุงตู่เป็นนายกรัฐมนตรีหลังเลือกตั้งคือตัวเลข 251 และ 376

ตัวเลข 251 คือเป้าหมายที่พรรคสนับสนุนลุงตู่ต้องการรวบรวมเสียงให้ได้เมื่อไปรวมกับ ส.ว.แต่งตั้งทั้งทางตรงและอ้อมจำนวน 250 คนก็เท่ากับ 501 เสียง ที่ต้องการเสียงจำนวนนี้เพราะการเป็นรัฐบาลแม้จะมีเสียง ส.ว.สนับสนุนทั้งหมด แต่ก็ต้องมีเสียงในสภาผู้แทนราษฎรเกินครึ่งของจำนวนเต็ม 500 อยู่ดี

ดังนั้นใครบอกว่าลุงตู่มีเสียง ส.ว.อยู่แล้ว 250 เสียงต้องการเสียง ส.ส.สนับสนุนอีกเพียง 126 เสียงก็พอจึงเป็นความเห็นที่ไม่ถูกต้อง เพราะการลงมติบางอย่างในสภาผู้แทนฯ ย่อมต้องการเสียงข้างมากด้วย ดังนั้นยังไงเสียพรรครัฐบาลก็ต้องมีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรอยู่ดี

แต่โจทย์ของฝ่ายไม่เอาลุงตู่นั้นยากกว่า หากว่า ส.ว.ทั้ง 250 คนที่มีสิทธิ์ลงมือเลือกนายกฯ ด้วยเลือกลุงตู่ทั้งหมดโดยไม่แตกแถวเลย การเอาชนะฝั่งลุงตู่ได้จึงต้องการเสียงทั้งหมด 376 เสียง ดังนั้นโอกาสที่จะได้เสียงขนาดนี้ได้นั้น นักวิเคราะห์การเมืองพูดกันเป็นทางเดียวว่า ต้องให้พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์จับมือกัน จากนั้นดึงพรรคบางพรรคที่พร้อมสวิงไปทุกทางเข้ามาร่วมด้วย

ล่าสุดบางคนที่สนับสนุนลุงตู่เริ่มเห็นช่องทางใหม่ว่า เดี๋ยวพรรคเพื่อไทยก็ถูกยุบในกรณีที่ กกต.กำลังตรวจสอบว่า ปล่อยให้ทักษิณเข้ามาครอบงำพรรค แต่สำหรับผมตัดประเด็นนี้ออกไปเลย เพราะคิดว่า ต่อให้พรรคเพื่อไทยถูกยุบก็จะมีพรรคของทักษิณพรรคใหม่ขึ้นมาอยู่ดี แถมดีไม่ดีการไปยุบพรรคของทักษิณอาจจะเรียกคะแนนสงสารให้เพิ่มขึ้นอีกด้วย

การใช้มุกนี้เพื่อจัดการกับพรรคของทักษิณสำหรับผมจึงมองไม่เห็นประโยชน์อะไร

อย่าลืมว่าทัศนคติของประชาชนที่สนับสนุนพรรคของทักษิณนั้น เขาไม่ได้มองว่าทักษิณเป็นคนชั่วร้าย ไม่ได้มองว่าทักษิณโกง แต่เขามองว่าทักษิณไม่ได้รับความยุติธรรม ดังนั้นการไปยุบพรรคของทักษิณยิ่งตอกย้ำทัศนคติของพวกเขาว่าทักษิณถูกกลั่นแกล้งทางการเมือง

ดังนั้นทางออกที่ดีที่สุดในการต่อสู้กับทักษิณก็คือต้องทำให้คนส่วนใหญ่เข้าใจว่า การดำเนินการกับทักษิณ คนของทักษิณ พรรคของทักษิณนั้นมีข้อเท็จจริงที่เป็นการกระทำที่เป็นความผิดอย่างไร มีการบังคับใช้กฎหมายที่เป็นธรรมไม่ได้เลือกปฏิบัติอย่างไร นโยบายที่ทักษิณใช้ในระหว่างมีอำนาจที่ถูกมองว่าเป็นการทุจริตเชิงนโยบายนั้นทำให้ประเทศชาติเสียหายอย่างไร

ทีนี้มาถึงโอกาสที่พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์จะจับมือกัน ก่อนอื่นต้องบอกว่า ถ้ามองตามความเป็นจริงเคมีที่เข้ากันมีความเป็นไปได้มากกว่าว่าเมื่อถึงเวลาพรรคประชาธิปัตย์จะไปร่วมกับพรรคที่สนับสนุนลุงตู่เป็นนายกฯ และพูดได้ว่า การรวมกันตั้งรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์เพื่อตั้งรัฐบาลนั้นมีโอกาสน้อยมาก แต่ว่าไม่ใช่จะเป็นไปไม่ได้เลย

ตอนนี้ถ้าเราจับเสียงของแกนนำพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทยแล้วเริ่มจะมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันในหลายเรื่องที่ชัดเจนที่สุดคือ การประกาศว่าจะไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจ และเริ่มมีการเสวนาร่วมกันบนเวทีต่างๆ หลายครั้งแล้วมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน ล่าสุดเกิดปรากฏการณ์ที่น่าสนใจคือ สถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวีของพานทองแท้ ชินวัตร เชิญหัวหน้าพรรคการเมืองมาเสวนาจำนวน 10 พรรค แต่สถานีที่ถ่ายทอดสดการอภิปรายคือ สถานีโทรทัศน์ฟ้าวันใหม่หรือบลูสกายของพรรคประชาธิปัตย์

ที่สำคัญทั้งสองพรรคกำลังเริ่มเผชิญชะตากรรมเดียวกันก็คือถูกพลังดูดดึงตัว ส.ส.พรรคของตัวเองไปร่วมพรรคที่จะสนับสนุนลุงตู่ ซึ่งตอนนี้มองกันว่าน่าจะเป็นพรรคพลังประชารัฐที่ยื่นจดทะเบียนไว้แล้ว แถมตอนนี้รัฐบาลลุงตู่ก็เริ่มใช้นโยบายประชานิยมลงไปสู่คนระดับล่างในชื่อที่สอดคล้องกับชื่อพรรคการเมืองนี้นั่นเอง

เป็นไปได้ว่า แกนนำของพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ที่กำลังถูกกวาดต้อนไพร่พลทางการเมืองเหมือนกันอาจจะเริ่มมองเห็นทางออกแล้วว่า หากนักการเมืองมีความขัดแย้งกันแล้ว โดยโครงสร้างของรัฐธรรมนูญที่เขียนไว้ให้ ส.ว.สามารถลงคะแนนเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีได้ใน 5 ปีแรกนั้น หากเป้าหมายการสืบทอดอำนาจของลุงตู่ประสบความสำเร็จก็จะเท่ากับว่า ลุงตู่อาจจะอยู่ไปได้ถึง 2 สมัยคือ 8 ปี

อย่าลืมนะครับว่า กว่าจะถึงวันเลือกตั้งที่คาดกันว่าเป็นเดือนกุมภาพันธ์ 2562 นั้น เราจะอยู่กับลุงตู่มาแล้ว 5 ปี ถ้าลุงตู่อยู่ต่อไปอีก 8 ปีเท่ากับว่าเราจะอยู่กับลุงตู่ไปอีก 8 ปีรวมเป็น 13 ปีซึ่งยาวนานกว่าสมัยของพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์เสียอีก ปัจจัยนี้แหละครับอาจที่ทำให้นักการเมืองฉุกคิดว่า เราจะขัดแย้งกันไปแล้วปล่อยให้รัฐบาลทหารมาสืบทอดอำนาจต่อไปอีก 8 ปีหรือจับมือกันในหมู่นักการเมือง เพื่อพาการเมืองไทยออกจากใต้อำนาจของทหาร

โดยส่วนตัวผมคิดว่า ไม่ว่าพรรคเพื่อไทยจะอยู่ในสภาพอย่างไร แต่น่าจะเป็นพรรคที่ได้รับการเลือกตั้งมาเป็นอันดับ 1 ส่วนพรรคอันดับ 2 นั้นถึงวันนี้ไม่มั่นใจนะครับว่าจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์หรือพรรคพลังประชารัฐที่กำลังกวาดต้อนนักการเมืองฝั่งทักษิณมาเข้าพรรค

แต่อย่าประมาทคำพูดของทักษิณที่เชื่อมั่นว่า กระแสของพรรคจะยังเหนือกระแสของตัวผู้สมัครและมั่นใจว่า เมื่อถึงเวลาเลือกตั้งพรรคเพื่อไทยจะยังชนะได้เสียงข้างมากและคนที่ออกจากพรรคจะสอบตก ซึ่งผมเองก็เชื่อเหมือนกันว่าคำพูดของทักษิณน่าจะถูกต้อง

ดังนั้นหลังการเลือกตั้งสถานะจึงน่าจะอยู่ที่การแย่งกันรวบรวมเสียงข้างมากระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคพลังประชารัฐของลุงตู่ ซึ่งเป็นไปตามที่บอกไว้ข้างต้นว่า พรรคเพื่อไทยต้องการเสียง ส.ส. 376 เสียง แต่พรรคลุงตู่ต้องการเสียง ส.ส.เพียง 251 เสียง แต่ไม่ว่าจะมีโจทย์ที่ต่างกันจะเห็นได้ว่า ตัวแปรสำคัญก็คือ พรรคประชาธิปัตย์นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่า ในระหว่างหาเสียงเลือกตั้งพรรคประชาธิปัตย์จะต้องแสดงจุดยืนที่ชัดเจนออกมาในระหว่างการหาเสียงอย่าลืมว่า ฐานเสียงของพรรคพลังประชารัฐที่สนับสนุนลุงตู่หากไม่นับพวกที่จะดึงมาจากพรรคของทักษิณจะทับกับฐานเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ เพราะคนที่สนับสนุนลุงตู่ส่วนใหญ่ก็คือคนที่เคยเลือกพรรคประชาธิปัตย์มาแล้วนั่นเอง

แม้ว่าวันนี้พรรคประชาธิปัตย์จะมีท่าทีออกมาว่าจะไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจ แต่สุดท้ายแล้วก็ยังเชื่อว่า พรรคประชาธิปัตย์จะต้องละทิ้งอุดมการณ์บางอย่างไป เพราะระหว่างที่สนับสนุนลุงตู่กับไปร่วมกับพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์น่าจะเลือกสนับสนุนลุงตู่มากกว่า

แต่อย่าลืมอมตวาจาทางการเมืองที่ว่า การเมืองไม่มีมิตรแท้ศัตรูถาวรซึ่งน่าจะเป็นคำที่ยังใช้ได้อยู่

ดังนั้นไม่ว่าจะอย่างไรก็ตามฟันธงไว้เลยว่า พรรคประชาธิปัตย์จะเป็นตัวแปรสำคัญว่าจะนำพาการเมืองไทยไปทางไหนหลังการเลือกตั้งครั้งหน้าที่จะมาถึง

ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น