“หนึ่งความคิด”
“สุรวิชช์ วีรวรรณ”
การอภิปรายในงานเสวนาวิชาการ “อนาคตประชาธิปไตยไทย: ข้ามพ้น กับดัก ความหวัง?” จัดโดยคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย และพรรคอนาคตใหม่ ต่างสนับสนุนให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 เพียงแต่เงื่อนไขของพรรคประชาธิปัตย์ก็คือต้องพิสูจน์ให้เห็นก่อนว่ารัฐธรรมนูญมีปัญหาและอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนเพื่อป้องกันครหาว่านักการเมืองแก้ไขเพื่อเพิ่มอำนาจให้กับตัวเอง
ในการเสวนาครั้งนั้นมีเพียงพรรคประชาชนปฏิรูปของนายไพบูลย์ นิติตะวัน ซึ่งยืนยันมาเนิ่นนานแล้วว่าจะสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี ที่ยืนยันว่าสนับสนุนรัฐธรรมนูญฉบับนี้
แม้ว่าพรรคประชาชนปฏิรูปจะมีจุดยืนของตัวเอง แต่อย่างน้อยการเสวนาครั้งนี้ทำให้เราได้เห็นฉันทามติร่วมกันของพรรคการเมือง2ขั้วนั่นคือพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ แต่ถ้าจะว่าไปก็ไม่ใช่เรื่องแปลกเสียทีเดียวเพราะอภิสิทธิ์นั้นยืนอยู่ในฝ่ายไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในชั้นทำประชามติมาตั้งแต่ต้น
แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้หากเราศึกษาให้ดีจะเห็นได้ชัดว่า ได้เขียนไว้ให้เป็นเครื่องมือของการสืบทอดอำนาจของคสช. ดังนั้นตัวบทของรัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงเขียนไว้ให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปด้วยความยากลำบากและผูกปมซ่อนเงื่อนเอาไว้อย่างซับซ้อน ซึ่งจาตุรนต์ ฉายแสง ตัวแทนของพรรคเพื่อไทย ก็ยอมรับว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่ยาก
ในขณะที่ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เสนอทางออกว่าให้ทำประชามติเพื่อขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญ 2560 ได้วางกลไกในการแก้รัฐธรรมนูญไว้ 3ขั้นตอนดังต่อไปนี้
ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องมาจากคณะรัฐมนตรี หรือจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจํานวน ไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร หรือจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภาจํานวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา หรือจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจํานวนไม่น้อยกว่าห้าหมื่นคนตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย
ในกรณีที่เป็นการเสนอให้แกัไขรัฐธรรมนูญผ่านรัฐสภาจึงต้องใช้เสียงส.ส.และส.ว.อย่างน้อย150คน
โดยการผ่านญัตติวาระที่ 1 นั้น ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการแก้ไขเพิ่มเติมนั้น ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมด เท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา ซึ่งในจํานวนนี้ต้องมีสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของ จํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา
ด่านแรกนั้นนอกจากจะใช้เสียงทั้งกึ่งหนึ่งของสองสภาคือ 376คนขึ้นไปแล้ว ใน376คนนั้นจะต้องเป็นส.ว.ถึง 84 คนด้วย ซึ่งเป็นเรื่องยากมาก เพราะอย่าลืมว่า ส.ว.ชุดแรกนั้นได้รับการแต่งตั้งจากคสช.ทั้ง250คน(ทั้งโดยตรงและอ้อม)
ถ้าผ่านวาระที่ 1ไปได้ ในวาระที่2ระบุไว้เพียงให้ใช้เสียงข้างมาก แต่ในวาระที่ 3 รัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่า ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการที่จะให้ออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญมากกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิก ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา โดยในจํานวนนี้ต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคการเมืองที่สมาชิก มิได้ดํารงตําแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎร เห็นชอบด้วย ไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบของทุกพรรคการเมืองดังกล่าวรวมกัน และมีสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า หนึ่งในสามของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา
อ่านถึงตรงนี้แล้วจะเห็นได้ว่า ใช้เสียงของพรรคร่วมรัฐบาลซึ่งเป็นพรรคเสียงข้างมากอย่างเดียวไม่ได้ การลงมติในวาระที่3ต้องใช้เสียงของพรรคฝ่ายค้านหรือพรรคที่ไม่มีตำแหน่งรัฐมนตรี ไม่ได้เป็นประธานสภาและรองประธานสภาด้วย สมมติว่าพรรคฝ่ายค้านมี 200 เสียง ก็ต้องมีพรรคฝ่ายค้านอย่างน้อย40เสียงคือร้อยละ 20 มาร่วมออกเสียงแก้รัฐธรรมนูญด้วย
ถ้าพูดกันอย่างอ้อมการแก้รัฐธรรมนูญจึงแทบจะได้เรียกว่าต้องมีฉันทามติร่วมกันของจำนวนสมาชิกเกือบทั้งหมดนั่นแหละ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยากมาก
การแก้รัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ ดังนั้นหลังเลือกตั้งก็อาจจะเกิดชนวนความขัดแย้งรอบใหม่ขึ้น ถ้าหากว่าพรรคการเมืองอย่างเพื่อไทยและพรรคอนาคตใหม่ที่หาเสียงเอาไว้ตั้งแต่ต้นว่า หากได้เป็นรัฐบาลแล้วจะเข้ามาแก้รัฐธรรมนูญใหม่สามารถรวบรวมเสียงข้างมากในสภาได้
เป้าหมายของฝั่งพรรคเพื่อไทยและอนาคตใหม่นั้น หากจะเป็นรัฐบาลจะต้องรวบรวมเสียงให้ได้ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของ2สภาคือ 376 เสียงขึ้นไป ถ้าหากการเลือกตั้งปรากฎผลว่าทั้งสองพรรคหรืออาจจะร่วมกับพรรคการเมืองอื่นได้เสียงข้างมาก 376 เสียงจริง นอกจากผลที่ตามมาคือ การปิดฉากการสืบอำนาจของคสช.แล้ว ก็มีคำถามว่า จะเกิดกระแสเรียกร้องความชอบธรรมในฐานะพรรคเสียงข้างมากที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญตามที่หาเสียงเอาไว้หรือไม่
ซึ่งโดยความเห็นของผมคิดว่าจะเกิดกระแสเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญแน่ๆ แต่ปัญหาก็คือว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นทำได้ไม่ง่าย เพราะกับดักที่คสช.วางเอาไว้ แล้วถามว่ามันจะเกิดแรงปะทะจนกลายเป็นความขัดแย้งในสังคมไหมเมื่อพรรคเสียงข้างมากที่เป็นรัฐบาลมาจากการเลือกตั้งของประชาชนไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ และเมื่อแก้ไม่ได้ก็ต้องบริหารประเทศไปตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนการปฏิรูปประเทศที่คสช.เป็นคนวางแนวทางเอาไว้ ซึ่งหากรัฐบาลไม่ดำเนินการตามแผนก็จะถูกส.ว.ที่คสช.เป็นคนแต่งตั้งดำเนินคดีทางอาญา
เมื่อพิจารณาข้อเสนอนายธนาธรคือ หากสามารถชนะเลือกตั้งได้ 376เสียง ทางออกคือการทำประชามติเพื่อขอแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เปิดทางตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ร.ร.) ที่มาจากประชาชนขึ้นมาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ดูเหมือนเป็นทางออกที่ดีที่จะแก้รัฐธรรมนูญที่มาจากประชามติของประชาชน
แต่ข้อเสนอในการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญของธนาธรไม่น่าจะทำได้ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้เขียนเอาไว้ว่า ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญได้โดยการใช้ประชามติ ซึ่งนอกจากใช้กระบวนการทางรัฐสภาแล้ว อีกช่องทางคือ ให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจํานวนไม่น้อยกว่าห้าหมื่นคนตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย
เพียงแต่รัฐธรรมนูญระบุว่า ในกรณีร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหมวดบททั่วไป หมวดพระมหากษัตริย์ หรือหมวดการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะ ต้องห้ามของผู้ดํารงตําแหน่งต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออํานาจของศาล หรือองค์กรอิสระ หรือเรื่องที่ทําให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติตามหน้าที่หรืออํานาจได้ก่อนดําเนินการขึ้นทูลเกล้าถวายให้จัดให้มีการออกเสียงประชามติตามกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติ
ส่วนอีกทางเลือกหนึ่งนั้นพรรคที่ชนะเสียงข้างมากอาจจะระดมรายชื่อคนห้าหมื่นคนได้ไม่ยาก แต่ถามว่าจะเกิดความขัดแย้งขึ้นในสังคมเหมือนกับตอนที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์จะใช้เสียงข้างมากเพื่อแก้กฎหมายนิรโทษกรรมอีกไหม เพราะอย่าลืมว่า รัฐธรรมนูญ2560 มาจากการผ่านประชามติของฝ่ายที่เป็นขั้วตรงข้ามกับเพื่อไทยและอนาคตใหม่ และมีกองทัพและคสช.อยู่เบื้องหลัง ประชาชนที่ให้การสนับสนุนรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะออกมาชุมนุมคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อนำไปสู่วิกฤติการณ์ทางการเมืองอีกหรือไม่
ดังนั้น เห็นได้ชัดเลยว่า หลังการเลือกตั้งครั้งหน้านอกจากอาจจะเกิดความยุ่งยากในการตั้งรัฐบาลแล้ว ถ้าหากพรรคที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีไม่สามารถรวบรวมเสียงข้างมากเพื่อบริหารประเทศได้แล้ว ความยุ่งยากและวิกฤตการณ์การเมืองจะยังคงเกิดขึ้นในประเทศของเรา
พูดง่ายๆ ก็คือว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ร่างขึ้นมาเพื่อเอื้อประโยชน์ให้รัฐบาลทหารเข้ามาบริหารประเทศต่อ แต่เป็นอุปสรรคต่อพรรคการเมืองอื่นที่ไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์นั่นเอง ดังนั้นไม่ใช่เรื่องแปลกที่พรรคการเมืองพุ่งเป้าไปที่การแก้รัฐธรรมนูญ
ถ้ามองจากตรงนี้จะเห็นว่าทางออกของอภิสิทธิ์ที่ชี้ว่า ถ้าจะแก้รัฐธรรมนูญนั้นจะต้องให้ความเห็นร่วมของคนในสังคมสุกงอมเสียก่อนนั้น น่าจะเป็นทางออกที่ลดความเสี่ยงของความขัดแย้งได้มากที่สุด เพราะถ้าสังคมมีฉันทามติเหมือนกับกระแสแก้รัฐธรรมนูญธงเขียวเหมือนในอดีตแล้ว สมาชิกรัฐสภาหรือฝ่ายเสียงข้างมากก็ยากจะทัดทาน
แต่ต้องไม่ลืมว่ากว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าจะมาถึงแล้วกว่าจะได้รัฐบาลใหม่เท่ากับเราอยู่ภายใต้รัฐบาลทหารมาแล้วเกือบ5ปี ถ้าหลังเลือกตั้งรัฐบาลทหารสามารถรวบรวมเสียงข้างมากเพื่อสืบทอดอำนาจได้ มันจะยิ่งโหมไฟที่ลุกโชนอยู่แล้วในคนกลุ่มหนึ่งให้รุนแรงขึ้นหรือไม่ และอย่าลืมว่า วันนั้นเราอยู่ภายใต้รัฐบาลประชาธิปไตยที่มีเสรีภาพมากกว่าในปัจจุบันนี้ เราจะกลับมาสู่สภาพการชุมนุมบนท้องถนนอีกหรือไม่
อย่าลืมว่า โดยภูมิศาสตร์ของการเลือกตั้งมีโอกาสสูงมากที่พรรคเพื่อไทยจะยังได้รับการเลือกตั้งด้วยเสียงข้างมาก ไม่ว่าพรรคเพื่อไทยจะได้เป็นรัฐบาลหรือไม่ก็ตาม ความต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็จะอยู่ในใจของประชาชนจำนวนหนึ่งที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทยและพรรคอนาคตใหม่และจะเกิดการเคลื่อนไหวกดดันรัฐบาลอย่างรุนแรงอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
มันน่าชวนให้คิดว่าเราจะไปสู่ทศวรรษใหม่แห่งความขัดแย้งหรือไม่ แน่นอนประชาชนจำนวนหนึ่งที่ไม่เอาพรรคเพื่อไทยนั้นก็ยังมีจุดยืนเหมือนเดิม ประชาชนที่เลือกพรรคเพื่อไทยและแนวร่วมก็ยังคงมีจุดยืนเหมือนเดิม ซึ่งยังมองไม่เห็นเลยว่า ทั้งสองฝ่ายจะหาจุดร่วมเพื่ออยู่ในสังคมได้อย่างไร แม้สองฝ่ายอาจจะยอมรับผลการเลือกตั้งที่ออกมาในเบื้องต้น แต่ก็พร้อมที่จะจุดเชื้อไฟแห่งความขัดแย้งให้กลับคืนมาตลอดเวลา
โดยเฉพาะพรรคอนาคตใหม่ที่มีแนวคิดหักล้างและโค่นล้มแบบไม่ประนีประนอมในเกือบทุกด้าน
เมื่อเป็นเช่นนี้ดูเหมือนว่า แม้เราจะได้เลือกตั้งใหม่ในปีหน้า แต่วังวนความขัดแย้งก็จะยังคงอยู่คู่กับสังคมไทย
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan