xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

คณิตศาสตร์หลังเลือกตั้ง กับแต้มต่อของลุงตู่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“หนึ่งความคิด”
“สุรวิชช์ วีรวรรณ”

ตอนนี้มีพรรคหนุนลุงตู่เปิดตัวออกมาแล้วหลายพรรคทั้งพรรคเก่าและพรรคตั้งขึ้นใหม่ ไล่ตั้งแต่ พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาชนปฏิรูปของไพบูลย์ นิติตะวัน พรรครวมพลังประชาชาติไทยของกปปส. ฯลฯ เหลือแต่เปิดตัวพรรคที่ลุงตู่จะลงในบัญชีที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีคือพรรคอะไร ใช่ พรรคพลังประชารัฐ ที่จดชื่อรออยู่แล้วหรือไม่

ถึงตอนนี้ผมเขียนย้ำไปหลายครั้งแล้วว่าประตูนายกฯ คนนอกนั้นปิดตายแล้ว เพราะกว่าจะฝ่าฟันไปถึงได้ต้องใช้เสียงมากถึง500เสียงขึ้นไป ซึ่งยากมากที่จะรวบรวมได้เพื่อเปิดประตูนั้น เพราะพรรคประชาธิปัตย์ไม่เอานายกฯคนนอกแน่ๆ ดังนั้นลุงตู่ต้องมาลงในฐานะคนในซึ่งพรรคประชาธิปัตย์อาจจะยอมรับได้

พรรคที่ไม่เอาลุงตู่แน่คือพรรคเพื่อไทยของทักษิณ และพรรคอนาคตใหม่ พรรคซ้ายจัดของเศรษฐีหมื่นล้าน

ส่วนพรรคที่ยังแสดงท่าทีไม่ชัด แต่มีทัศนะเชิงลบต่อการสืบทอดอำนาจของลุงตู่มาตลอดก็คือ พรรคประชาธิปัตย์

เมื่อไม่กี่วันก่อนมีคนถามผมว่า หลังเลือกจะเป็นอย่างไร ผมตอบว่า พรรคไม่เอาลุงตู่ 200บวกลบ พรรคเอาลุงตู่ 200บวกลบ และพรรคประชาธิปัตย์ 100บวกลบ

หากสถานการณ์เป็นเช่นนี้จะเห็นว่า พรรคเอาลุงตู่กับไม่เอาลุงตู่ไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้ทั้งสองฝั่งเพราะต้องการเสียงไม่ต่ำกว่า251เสียงขึ้นไป เมื่อเป็นเช่นนี้อำนาจการต่อรองจะอยู่ที่พรรคประชาธิปัตย์ทันที

แต่ออกตัวไว้นิดนะครับว่า การคำนวณของผมมาจากฐานของการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ในการเลือกตั้งครั้งหน้าจะมีวิธีการนับคะแนนแบบใหม่คือ ใช้บัตรเดียวลงคะแนนเลือก ส.ส.เขตแล้วเอาคะแนนส.ส.เขตของแต่ละพรรคมารวมกัน เพื่อหาสัดส่วนของบัญชีรายชื่อ ผมเคยเขียนอธิบายวิธีคิดไปแล้ว แต่โดยสรุปมีการคำนวณกันเอาไว้ว่าถ้ามีคนมาเลือกประมาณ70%จะคำนวณได้70,000คะแนนต่อ1ที่นั่ง

เช่น ถ้ายึด70,000คะแนนต่อ1ที่นั่งถ้าพรรค ก.ได้เสียงทั่วประเทศรวมกัน 7 ล้านเสียง พรรคนี้จะมีส.ส.ประมาณ 100 ที่นั่ง ถ้าพรรคนี้ได้ส.ส.เขตไปแล้ว 100 ที่นั่งหรือมากกว่านั้น พรรคนี้จะไม่ได้บัญชีรายชื่ออีก แต่ถ้าพรรคนี้ได้ส.ส.เขตมา90ที่นั่ง ก็จะได้บัญชีรายชื่อ 10 ที่นั่ง อันนี้คิดให้ดูเป็นตัวอย่างนะครับ เพราะถ้ารู้กติกาเราจะวิเคราะห์การเลือกครั้งต่อไปได้อย่างสนุก

ครั้งนี้เราจึงน่าจะมีผู้สมัครมากในทุกเขตการเลือกตั้งของทุกจังหวัด เพราะแต่ละพรรคจะต้องหาคนลงให้ได้ในทุกเขต เพราะทุกคะแนนมีความหมาย ตอนนี้เราจึงได้ข่าวว่ามีพรรคไปทาบทามคนมาลงสมัครแล้วโดยเฉพาะพรรคเล็กๆ เพราะถ้าเขาส่งคนได้ทุกเขต ในแต่ละเขตคนที่ส่งลงเสียงแค่ 400 เสียง แต่เมื่อรวมกัน 350 เขต ก็เท่ากับ 140,000 เสียง คนที่เป็นนายทุนพรรคหรือหัวหน้าพรรคจะนั่งรอในบัญชีรายชื่อก็จะได้เป็น ส.ส.2ที่นั่งทันที

กลับมาที่ผมคำนวณไว้ว่าพรรคขั้วไหนจะได้เท่าไหร่ มีคนบอกผมว่า หากถึงสถานการณ์ตอนนั้น พรรคเพื่อไทยอาจจะยอมให้พรรคประชาธิปัตย์เป็นนายกรัฐมนตรี ข้อดีของทางเลือกนี้ก็คือ ตัดวงจรการสืบทอดอำนาจของทหารลงไปทันที แล้วมาเริ่มต้นกันแบบประชาธิปไตยเต็มไป

แต่ถามว่าง่ายอย่างนั้นไหม คำตอบคือไม่ง่ายครับ ถ้ามีแค่ 300เสียง ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของ2สภา376เสียง เพราะกรณีที่ต้องลงมติร่วม2สภา พรรคฝ่ายค้านที่มี 200เสียงอาจจะจับมือกับส.ว.250คนที่ตั้งขึ้นโดยรัฐบาลทหารในปัจจุบันก็ได้ ถึงตอนนั้นรัฐบาลก็จะไปไม่เป็น ถ้าจะให้รอดต้องรวมให้ได้ถึง376เสียงซึ่งไม่ง่ายนัก

ดังนั้นโอกาสมากกว่าที่พรรคประชาธิปัตย์อาจจะจับมือกับพรรคที่หนุนลุงตู่เป็นนายกฯ แต่ก็ใช่ว่าจะง่ายนะครับที่พรรคประชาธิปัตย์จะยอม เพราะตัวเองมีอำนาจต่อรองสูง ถึงตอนนั้นพรรคประชาธิปัตย์อาจจะดูว่า พรรคที่เสนอชื่อลุงตู่สมมติว่าเป็นพรรคพลังประชารัฐไว้ก่อนนะครับ แล้วดูว่าผลการเลือกตั้งระหว่างประชาธิปัตย์กับพรรคพลังประชารัฐพรรคไหนที่ได้เสียงมากกว่ากัน

ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ได้เสียงมากกว่าก็อาจจะต้องให้เอารายชื่อที่พรรคประชาธิปัตย์เสนอเป็นนายกรัฐมนตรีถึงจะยอมเข้าร่วมรัฐบาล ถึงตอนนี้ก็จะต่อรองกันหนักและยอมรับกันไม่ได้ หรือสุดท้ายหากยอมกันได้ให้ลุงตู่เป็นนายกฯก็อาจต้องยกกระทรวงที่มีบทบาทสำคัญให้พรรคประชาธิปัตย์ไป

ทีนี้ลองไปดูสมการว่าตกลงกันได้พรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคหนุนลุงตู่แล้วยอมให้ลุงตู่เป็นนายกฯ ถามว่ารัฐบาลนี้มีเสถียรภาพไหม คำตอบก็คือไม่มีครับเพราะเป็นการรวบรวมพรรคเล็กพรรคน้อยเข้ามาเป็นรัฐบาลผสม แล้วลุงตู่จะมีท่าทีเหมือนกับการเป็นนายกรัฐมนตรีตอนนี้คือฉุนเฉียวใส่อารมณ์ได้ไหม คำตอบก็คือ ไม่ได้หรอก เพราะไม่มีมาตรา44ในมือไม่มีกองทัพหนุนหลัง เป็นรัฐบาลประชาธิปไตยถ้าทำอย่างนั้นก็รอวันพังได้เลย

โดยสรุปก็คือว่า ถึงลุงตู่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อการบริหารประเทศก็ไม่ง่ายถ้าไม่ปรับตัวจากที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และอำนาจที่ตัวเองเคยมีอยู่ตอนเป็นรัฐบาลเผด็จการก็จะถูกต่อรองด้วยพรรคร่วมรัฐบาลอย่างหนัก ถึงตรงนั้นลุงตู่จะปรับตัวกับความไม่คุ้นชินแบบนั้นได้ไหม

แม้ลุงตู่จะต้องปรับตัวมาก แต่ถ้าลุงตู่ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีแล้วคนอื่นมาเป็นก็ยิ่งต้องตั้งรับกับกับดักที่รัฐธรรมนูญและรัฐบาลทหารของลุงตู่วางไว้ในตอนนี้จนไม่ง่ายที่จะบริหารประเทศไปได้อย่างราบรื่น

กับดักที่วางไว้คืออะไรบ้าง

แรกเลยคือที่พูดไปแล้วข้างต้นคือ ส.ว.ที่รัฐบาลทหารของลุงตู่เป็นคนตั้งมากับมือทั้ง250คน

ต่อมาก็คือ รัฐบาลชุดใหม่จะต้องเดินตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ20ปีที่รัฐบาลนี้วางไว้ ตามพรบ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 2560 ตามที่ลุงตู่วางเอาไว้

ผมสงสัยนะครับว่า ในอนาคตพรรคการเมืองจะเสนอนโยบายอย่างไรต่อประชาชน จะมีนโยบายของตัวเองได้หรือไม่ จะเข้าไปมีอำนาจกำหนดทิศทางของประเทศได้มากแค่ไหน เพราะแม้จะให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติโดยตำแหน่ง แต่บทบาทที่แท้จริงน่าจะอยู่ที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซึ่งเสียงส่วนใหญ่เป็นกองทัพและกลุ่มทุนมากกว่า และรัฐบาลจะต้องเดินตามกรอบที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติกำหนดขึ้นมาเท่านั้น

และตัวแทนเหล่าทัพก็ยังเป็นส.ว.โดยตำแหน่ง ดังนั้นทหารกับ ส.ว.ที่ตั้งโดยรัฐบาลนี้ก็จะเป็นเนื้อเดียวกัน รวมถึงรัฐบาลทหารยังเป็นคนตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ17คนเข้าไปในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติด้วย ดังนั้นกรรมการยุทธศาสตร์ชาติจะเป็นอำนาจใหม่หรืออำนาจที่4ที่คอยกำกับการทำงานของรัฐบาลในอนาคตอีกที

แล้วพรรคการเมืองจะทำอย่างไร หากได้เป็นรัฐบาลนโยบายที่หาเสียงกับประชาชนจะทำได้หรือไม่ถ้าไม่ตรงหรือสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ

ทั้งนี้ พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2560 กำหนดไว้ว่า ในกรณีที่การดําเนินการของหน่วยงานของรัฐไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติหรือแผนแม่บท เป็นผลจากมติคณะรัฐมนตรี หรือเป็นการดําเนินการของคณะรัฐมนตรีโดยตรงหรือเห็นว่ามติของคณะรัฐมนตรีหรือการ ดําเนินการของคณะรัฐมนตรีเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ให้วุฒิสภามีมติเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยโดยเร็ว หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามติของคณะรัฐมนตรีหรือการดําเนินการของคณะรัฐมนตรีเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้คณะกรรมการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติดําเนินการตามหน้าที่และอํานาจโดยเร็ว ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติพิจารณาและมีมติให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องจากคณะกรรมการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติโดยให้ฟังข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายตามที่ปรากฏในคําวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

จะเห็นว่าอำนาจชี้ผิดถูกจะอยู่ในมือของวุฒิสภา250คนที่รัฐบาลลุงตู่จะเป็นคนแต่งตั้งกับมือ

นั่นเท่ากับว่า ถ้ารัฐบาลเดินออกนอกเส้นทางที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติวางเอาไว้จะถูกส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยและส่งต่อป.ป.ช.ดำเนินการตามกฎหมายทันที ป.ป.ช.ก็คือ บุคคลที่รัฐบาลลุงตู่แต่งตั้งไว้เช่นเดียวกับองค์กรอิสระอื่นๆ
ดังนั้นน่าจะมองออกเลยนะครับว่า หลังเลือกตั้งไม่ว่าฝ่ายไหนจะมาเป็นรัฐบาลก็ยังคงมีความวุ่นวายที่จะตามมา อาจจะง่ายและดีขึ้นหน่อยถ้าลุงตู่เป็นต่อ เพราะจะได้สานต่อแผนยุทธศาสตร์ชาติที่ตัวเองวางไว้ตอนเป็นรัฐบาลทหาร

แต่ปัญหาของลุงตู่ก็มีนะครับว่าจะรับแรงเสียดทานจากการเป็นรัฐบาลที่มีพรรคฝ่ายค้านได้ไหม มีมวลชนคอยเคลื่อนไหวกดดันอยู่ตลอดเวลาได้ไหมนี่เป็นคำถามใหญ่ เพราะนักการเมืองก็จะต้องเคลื่อนไหวหนักขึ้นไม่ให้รัฐบาลบริหารงานไปอย่างราบรื่น เพราะไม่นั้นก็ต้องอยู่ใต้อำนาจของลุงตู่ไปอีก4ปีเป็นอย่างน้อย หลังที่อยู่ภายใต้อำนาจลุงตู่ในฐานะเผด็จการมาแล้ว5ปีตั้งแต่หลังยึดอำนาจ

หรือว่าหลังเลือกตั้งขั้วนักการเมืองทุกพรรคเกิดไอเดียว่าถ้าไม่จับมือรวมกัน อาจจะต้องอยู่ใต้ลุงตู่ไปอีกนาน แล้วลบทิ้งความเป็นศัตรูกันไว้ร่วมมือกันกู้อำนาจรัฐให้กลับมาอยู่ในมือของนักการเมืองจับมือกันให้ได้เกินกึ่งหนึ่งของ2สภาตั้งรัฐบาล แล้วแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อลบล้างอำนาจที่ลุงตู่วางหมากกลเอาไว้ ถึงตอนนั้นกองทัพจะยอมไหมนี่เป็นอีกหนึ่งคำถาม

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าไม่ว่าใครมาเป็นรัฐบาลหลังเลือกตั้งก็บริหารประเทศไม่ได้ง่ายจะเจอชะตากรรมที่สาหัสทั้งสิ้น แต่ถ้าเป็นลุงตู่ก็อาจจะราบรื่นกว่าคนอื่นเท่านั้นเอง

ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan



กำลังโหลดความคิดเห็น