xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.-พท.ประสานเสียง ไม่มั่นใจรัฐแทรกแซงเลือกตั้ง กกต.ย้ำยึด กม.อยากพ้นเก้าอี้สบาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กกต.จัดเสวนากลไกปราบโกงเลือกตั้งฯ ปชป.-พท.ประสานเสียงไม่มั่นใจเลือกตั้งไร้อำนาจรัฐแทรกแซง “จุรินทร์” ห่วงการใช้อำนาจเหนือองค์กรอิสระ “หญิงหน่อย” เชื่อเลือกตั้งครั้งหน้าหนัก หวั่น กกต.คุมไม่ได้ ด้านประธาน กกต.แจงทำทุกอย่างยึดกฎหมาย เหตุพ้นหน้าที่แล้วอยากสบายไม่ต้องไปอยู่ในที่จำกัด

วันนี้ (7 มิ.ย.) สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดเสวนาในหัวข้อ “กลไกปราบโกงเลือกตั้ง ใช้กับใคร ใช้ได้จริงหรือ” โดยมีนายเจษฎ์ โทณะวณิก ที่ปรึกษาคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ นายเจษฎ์กล่าวว่า เงื่อนไขต่างๆ ที่จะทำให้การเลือกตั้งถูกลากไปอีกไม่มีอีกแล้ว ถ้าพูดว่าจะมีการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์และยุติธรรม ตนยังไม่เห็นว่าจะมีการทุจริต แต่สิ่งที่ได้สัมผัสจากการลงพื้นที่พูดคุยกับประชาชน คือ เมื่อมีการเลือกตั้งทุกครั้งจะมีการทุจริตเลือกตั้งทุกหน่วย ถ้าหากมองการเลือกตั้งทั่วประเทศมีทั้งหมด 9 หมื่นหน่วย สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ กกต.ได้บอกว่าเจ้าหน้าที่จัดการเรื่องปัญหาดังกล่าวได้เพียงร้อยละ 1 เท่านั้นของที่เกิดปัญหา ดังนั้น ต้องเริ่มจากกลไกจากเสรีภาพของการตั้งพรรคการเมือง หากพรรคการเมืองนั้นไม่มีสมาชิกที่มีอุดมการณ์และจรรยาบรรณที่ดีก็ย่อมจะมีผลต่อการคัดเลือกผู้สมัครที่เหมาะสม หรือไม่สามารถหลุดพ้นพรรคที่เป็นของนายทุน และจะกระทบต่อการทำไพมารี่โหวต ซึ่งเป็นหน้าด่านของการปราบโกง เพราะจะไม่ได้ผู้สมัครที่ไม่ซื้อสิทธิขายเสียง

นายเจษฎ์ยังกล่าวอีกว่า กลไกหลังจากเลือกตั้งเสร็จก็จะมีบทลงโทษเรื่องการแจกใบดำ ซึ่งจะมีผลตัดสิทธิผู้สมัครทั้งระดับประเทศและท้องถิ่นตลอดชีวิต เทียบได้กับการประหารชีวิตทางการเมือง แต่กลไกดังกล่าวจะได้ผลหรือไม่ ขึ้นอยู่กับประชาชนว่าจะให้ความร่วมมือกับ กกต.ได้มากน้อยแค่ไหน

“ตอนนี้รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวติดอาวุธให้แก่ประชาชนแล้ว โดยในรัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ว่าในการเลือกตั้งบางเขต ถ้ามีประชาชนไม่ประสงค์ลงคะแนนมากกว่าการประสงค์ลงคะแนนบุคคลใด ในพื้นที่นั้นจะต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ และผู้สมัครในตอนแรกก็ห้ามลง” นายเจษฎ์กล่าว และว่าประชาชนและข้าราชการจะเป็นกลไกที่ดีที่สุด เพราะการทุจริตของนักการเมืองจะเกิดไม่ได้ ถ้าไม่มีข้าราชการเข้ามาร่วมด้วย จึงดังนั้นเป็นเหตุผลว่าทำไมข้าราชการทุกคนต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินเพื่อให้ตรวจสอบ

ด้านนายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยืนยันมีการเลือกตั้งแน่นอน แต่จะมีเมื่อไหร่ต้องถาม คสช. ตามกรอบรัฐธรรมนูญ คือ สูตร 3 : 3 : 5 หลังกฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้งอีก 2 ฉบับ คือเมื่อทูลเกล้าฯ เพื่อให้ทรงลงพระปรมาภิไธยระยะเวลา 3 เดือน และ 3 เดือนหลังกฎหมายลูก ส.ส.บังคับใช้ จากนั้นดำเนินการเลือกตั้งให้เสร็จสิ้นภายใน 5 เดือน แต่ห่วงเงื่อนไขนอกรัฐธรรมนูญว่าถ้าบ้านเมืองไม่สงบจะไม่มีเลือกตั้ง กลัวว่าจะมีคนนำมาใช้ ขณะเดียวกันมีผู้พูดถึงรัฐธรรมนูญปราบโกง ถ้าปราบได้จริง รัฐธรรมนูญยังคับใช้มาแล้ว 1 ปี แต่ยังมีการโกง ถ้าจะใช้ปราบโกงได้บ้างต้องใช้ควบคู่ระบอบประชาธิปไตยที่มีการตรวจสอบถ่วงดุล ถ้าใช้กับระบอบที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ก็ไม่เป็นผล

นายจุรินทร์ยังกล่าวว่า การเลือกตั้งจะสุจริตเที่ยงธรรมได้ มีปัจจัยอย่างน้อย 3 ปัจจัย คือ กติกาต้องเป็นธรรม การบังคับใช้กติกาซึ่งรวมถึงการบังคับใช้กลไกปราบโกงด้วยต้องเป็นธรรม การใช้อำนาจรัฐของคนที่มีอำนาจต้องเป็นธรรมด้วย การเลือกตั้งครั้งหน้ามีโอกาสสุจริตเที่ยงธรรมหรือไม่ ตอบเลยว่าไม่ เพราะกฎกติกาสำคัญคือรัฐธรรมนูญ ไม่สุจริตเที่ยงธรรมตั้งแต่ต้น เรื่องกติกา พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญกับคำสั่ง คสช.ต่างๆ การใช้อำนาจรัฐของผู้มีอำนาจ เพราะเปลี่ยนสถานะจากคนเขียนกติกา จากกรรมการ มาเป็นผู้เล่น ที่สำคัญคือเป็นห่วงเรื่องการใช้อำนาจเหนือองค์กรอิสระ เช่น การใช้มาตรา 44 ที่ส่งผลต่อความสุจริตเที่ยงธรรมได้ นอกจากนี้ขอตั้งข้อสังเกตเรื่องใบส้มระหว่างหาเสียงเลือกตั้ง ถ้า กกต.พบว่ามีความไม่สุจริตกับผู้สมัครรับเลือกตั้ง กกต.สามารถระงับสิทธิ์เลือกตั้งของผู้สมัครได้เป็นระยะเวลา 1 ปี จึงเป็นห่วงถ้า กกต.ใช้อำนาจสุจริตเที่ยงธรรมยุติธรรมก็ไม่มีอะไรน่าห่วง แต่ถ้ามีสิ่งนอกเหนือไปจากนี้ก็อาจจะเอื้อประโยชน์ให้กับผู้สมัครบางคนบางพรรคได้

นอกจากนี้ กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งที่ศาลรัฐธรรมนูญเพิ่งจะวินิจฉัยว่าการให้กรรมการประจำหน่วยไปช่วย หรือจัดให้ไปช่วยคนพิการ ผู้สูงอายุและทุพพลภาพ ตนก็เป็นห่วงกลัวว่าจะไปช่วยกาตามเจตนารมณ์ของผู้กา เกรงจะกลายเป็นช่องทางทุจริต ขอให้ กกต.ช่วยจับตาเป็นพิเศษ อย่าให้เกิดการทุจริต คำถามว่ากลไกปราบโกงใช้กับใครใช้ได้จริงหรือ คือต้องใช้กับทุกคน ถามว่าใช้ได้จริงหรือคำตอบก็ขึ้นอยู่กับ กกต. ถ้า กกต.ดำรงความเป็นอิสระ ไม่เป็นเสือหมอบ เสือกระดาษ คิดว่ากระบวนการเลือกตั้งยังมีความหวังที่จะเห็นความสุจริตเที่ยงธรรมเกิดขึ้น แม้กติกาไม่เที่ยงธรรมมาตั้งแต่ต้นก็ตาม

ด้านคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อดีตรัฐมนตรี และแกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า หลายคนคงได้สัมผัสกับปัญหาด้วยตนเอง หากไปเดินตลาดคงรู้ว่าชาวบ้านตั้งความหวังกับการเลือกตั้งครั้งนี้ว่าจะสามารถทำให้หลุดพ้นจากปัญหาและอุปสรรค โดยเฉพาะปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ ดังนั้น ตนคิดว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นทางออกได้ ก็ฝากความหวังไว้ที่ กกต. ทั้งนี้ การเลือกตั้งครั้งหน้า กกต.ต้องเผชิญศึกหนักกว่าทุกครั้ง เพราะนอกจากต้องเผชิญความคาดหวังของประชาชน ยังมีกติกา และปัจจัยหลายๆ อย่าง กกต.อาจจะกำกับเองไม่ได้ การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นคุณหญิงสุดารัตน์มองว่ามี 5 ปัจจัย คือ 1. กลไกการมีส่วนร่วมของประชาชนกับพรรค จัดให้มีการทำไพรมารีโหวต แต่วิธีการในปัจจุบันกับไม่เอื้อให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมกับพรรคการเมืองอย่างแข็งแรง เช่น การเซ็ตซีโร่พรรคการเมือง แบบนี้เป็นการตัดการมีส่วนร่วมของประชาชนออก ถามว่าการเซ็ตซีโร่ประชาชนได้ประโยชน์อย่างไร แถมยังแช่แข็งพรรคการเมืองไม่ให้ดำเนินกิจกรรมแล้วประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างไร จะปราบโกงได้ต้องเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองลงไปดำเนินการแข่งขันกันด้วยนโยบาย จะได้ไม่เกิดการซื้อสิทธิขายเสียง แต่กลับไม่เปิดโอกาสให้พรรคการเมืองต่างๆ ทำแบบนั้น เมื่อพรรคการเมืองทำอะไรไม่ได้ ไม่ใช่ปัญหาของพรรคการเมืองแต่เป็นการตัดโอกาสของประชาชนที่จะใช้พรรคการเมืองแก้ปัญหาของพวกเรา จากนี้ต้องมาดูกันว่า ยังจะมีการใช้ระบบไพรมารี่โหวตอยู่หรือไม่ เพราะเห็นข่าวว่าจะมีการยกเลิก

คุณหญิงสุดารัตน์กล่าวว่า ปัจจัยที่ 2 ตัวพรรคการเมือง และนักการเมืองต้องปรับตัว ต้องพัฒนาตัวเอง ออกจากวังวนที่เขาตราหน้าว่าซื้อสิทธิขายเสียง 3. กฎหมายและกติกาต่างๆ มีหลายกติกาที่พิจารณาโดยใช้ดุลพินิจ ซึ่งที่ผ่านมาประเทศเรามีปัญหาความขัดแย้งจากการใช้ดุลพินิจที่ไม่เที่ยงธรรม 4. การดำเนินงานของ กกต. และ 5. การใช้อำนาจรัฐ ที่ตนคิดว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าเราจะเจอปัญหาการใช้อำนาจรัฐ ผ่านรัฐราชการ ซึ่งจะเป็นที่หนักใจของ กกต. ทั้งนี้ ตนเห็นใจมีบางองค์กรถูกเซตซีโร่ บางองค์กรไม่ถูกเซ็ต ทั้งที่เป็นองค์กรอิสระเหมือนกัน ภายใต้กฎหมายเดียวกัน นี่คือการใช้อำนาจพิเศษเข้ามาแทรกแซง เช่นเดียวกับการใช้อำนาจพิเศษปลดกรรมการบางคน ซึ่งอำนาจพิเศษนี้จะอยู่ทั้งก่อนการเลือกตั้ง ระหว่างการเลือกตั้ง และหลังการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นการสร้างความหนักใจให้แก่ผู้ใช้กฎหมาย

“เมื่อวันนี้ก้าวเข้าสู่บรรยากาศของการเลือกตั้ง เป็นห่วงในเรื่องของการใช้อำนาจที่อาจทำให้เกิดความไม่เที่ยงธรรม เพราะวันนี้ผู้เขียนกติกาบอกจะไม่เป็นกรรมการแล้ว แต่จะลงมาเป็นผู้เล่น ทั้งที่ยังเป็นผู้ที่ยังมีอำนาจในการตัดสิน แบบนี้จะเที่ยงธรรมได้จริงหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้เป็นความผิดปกติ ไม่เป็นไปตามครรลอง และไม่เป็นไปตามหลักการ การเลือกตั้งครั้งหน้าจึงจะเป็นการเลือกตั้งครั้งที่หนักหน่วงสำหรับคนจัดการเลือกตั้ง กกต.ควรคุมทุกอย่างได้ แต่วันนี้ท่านกลับถูกคุมด้วยมาตรา 44 วันนี้คงไม่ใช่ปัญหาของพรรคการเมืองที่โดนยุบอยู่พรรคเดียวอีกแล้ว แต่เป็นปัญหาของทุกพรรค นอกจากพรรคที่จะไปอยู่กับผู้มีอำนาจ” คุณหญิงสุดารัตน์กล่าว และเชื่อว่าด้วยศักยภาพ คุณธรรม คุณงามความดี กกต.ชุดนี้จะสามารถจัดการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม จะเป็นฮีโร่ช่วยชาติ แม้บางอย่างท่านจะไม่สามารถกำกับดูแลได้

ทั้งนี้ ในช่วงท้ายของการเสวนา นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต.ได้กล่าวของคุณวิทยากรที่มาร่วมแสดงความเห็น พร้อมชี้แจงว่าขอให้พรรคการเมืองไม่ต้องเป็นกังวล เรื่องการปฏิบัติหน้าที่ของ กกต.ชุดนี้ ไม่ต้องกลัวว่าเราจะไปอยู่ใต้อำนาจใคร เพราะเราถูกเซตซีโร่ไปแล้ว ที่อยู่เพราะมีคำสั่งให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อ ดังนั้นการจะทำอะไรก็จะคำนึงถึงกฎหมาย เนื่องจากเมื่อต้องพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว กกต.ทั้ง 4 คนก็อยากอยู่สบาย ไม่อยากไปอยู่ในที่จำกัด และไม่ต้องกลัว เพราะถึงแม้จะมี กกต.ใหม่มาการเลือกตั้งก็จะไม่สะดุด เนื่องจากว่าตามกฎหมายใหม่ กกต.เป็นเพียงผู้กำกับดูแล ส่วนการดำเนินการเป็นหน้าที่ของสำนักงานและขณะนี้สำนักงานก็เตรียมพร้อมทุกอย่างไว้หมดแล้ว










กำลังโหลดความคิดเห็น