ศูนย์ข่าวภาคใต้ - ผลสอบ “อะควาเรียมหอยสังข์” ที่ใช้งบกว่า 1,400 ล้านบาท สร้างมาแล้วกว่า 10 ปี ยังไม่เสร็จ เผย พบประเด็นทุจริตมีมูล มีการแก้แบบเอื้อผู้รับเหมาหลายครั้ง ผู้เกี่ยวข้องตั้งแต่เริ่มต้นโครงการโดนหมด ศธ.ตั้งกรรมการสอบวินัย พร้อมส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.ดำเนินคดีข้อหาทุจริต เล็งตั้งผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบก่อนเสนอ ครม.โอนโครงการให้กรมทรัพย์ปิดจ๊อบ
“MGR Online ภาคใต้” ได้รับการเปิดเผยจากแหล่งข่าวระดับสูงในกระทรวงศึกษาธิการ เกี่ยวกับความคืบหน้าของการตรวจสอบความไม่ชอบมาพากลในโครงการก่อสร้างศูนย์ศึกษาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทะเลสาบสงขลา หรือ “อะควาเรียมหอยสังข์” ที่เริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2551 ใช้งบประมาณไปแล้วกว่า 1,000 ล้านบาท แต่จนถึงขณะนี้ยังก่อสร้างไม่เสร็จ
โดยแหล่งข่าวระดับสูงในกระทรวงศึกษาธิการ บอกว่า ขณะนี้การตรวจสอบของคณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนแก้ปัญหาทุจริตของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสร็จสิ้นแล้ว โดยพบว่ามีมูลเหตุของการทุจริตที่มีข้าราชการระดับสูงเข้าไปเกี่ยวข้องขณะนี้อยู่ในระหว่างตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยและเตรียมยื่นเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ดำเนินการทางกฎหมายในคดีทุจริตต่อไป
แหล่งข่าวกล่าวว่า โครงการนี้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2551 ตามหลักการประมูลงานของภาครัฐผู้ว่าจ้างจะต้องจ่ายเงินค่าจ้างล่วงหน้า 15 เปอร์เซ็นต์ให้กับผู้รับเหมา โครงการนี้ก็เป็นเงิน 125 ล้าน เมื่อจ่ายล่วงหน้าไปแล้วทางผู้รับเหมาจะต้องรายงานถึงความคืบหน้าของโครงการว่าไปถึงไหน แต่กลับไม่มีการรายงานความคืบหน้า สุดท้ายพบว่ามีการแก้แบบโดยนำรายละเอียดงานในส่วนสำคัญที่เกี่ยวกับระบบการเลี้ยงสัตว์น้ำไปไว้ข้างหลัง และนำรายละเอียดในส่วนงานที่ไม่สำคัญขึ้นมาทำก่อน ซึ่งเป็นการแก้แบบที่เอื้อให้กับผู้รับเหมาก่อสร้าง
“ที่แย่ไปกว่านั้นอีกก็คือ ได้เงินล่วงหน้า 15 เปอร์เซ็นต์ไปแล้วมันก็ควรจะทำตามแบบถูกมั้ย พอมันแก้แบบมันก็ไม่ต้องตรวจรับงานก็หายไปเลยตรงนั้น พูดง่ายๆ คือ เอาเงินทอนไปเรียบร้อยแล้ว”
แหล่งข่าวกล่าวและว่า ต่อมาได้มีการแก้แบบอีก 3 ครั้ง จนกระทั่งครั้งสุดท้ายที่ถูกชี้มูลความผิด เนื่องจากมีการแก้แบบถึง 100 กว่ารายการ โดยแจ้งกับสำนักงบประมาณว่าตัดส่วนรายการที่ไม่จำเป็นกว่า 100 รายการออกจากแบบแแปลนเดิมของโครงการ
“เพราะว่าวันที่จบโครงการถ้าไม่ตรวจรับหรือว่าไม่มีเหตุพอ ก็จะโดนปรับวันละแปดหมื่นกว่าบาท เลยแก้ว่ายังไม่เสร็จแต่ว่าในส่วนของรายการส่วนประกอบที่จำเป็นของโครงการกลับไม่มี”
แหล่งข่าวกล่าวและว่า ตามความคิดเห็นส่วนตัวมองว่าความไม่ชอบมาพากลในโครงการก่อสร้าง “อะควาเรียมหอยสังข์” ยุคแรกๆ น่าจะเกิดจากนักการเมือง แต่ยุคหลังๆ น่าจะเป็นข้าราชการที่มาสวมรอยต่อ เพราะงานไม่เสร็จ ส่งงานไม่ได้ จนกระทั่งทำให้เกิดการแก้แบบก่อสร้างหลายครั้ง ซึ่งจากการที่เคยลงไปตรวจดูในสถานที่ก่อสร้างพบว่าซีลตู้กระจกเริ่มเสียหายและจะต้องทำใหม่ทั้งหมด เนื่องจากตู้กระจกหมดจะต้องรับปริมาณน้ำถึง 50 ตัน หากเสียหายขึ้นมาขณะเปิดดำเนินการซึ่งอาจจะสร้างความเสียหายใหญ่หลวงตามมาได้
“ก็สรุปว่าในแง่ทุจริตนี่ตอนนี้เราจับได้หมดแล้ว มีรายงานเป็นทางการหมดแล้ว บุคคลที่เกี่ยวข้องตั้งแต่เริ่มจ่ายเงินมัดจำล่างหน้า 125 ล้าน มาจนกระทั่งคนที่แก้แบบตั้งแต่ครั้งแรก ครั้งต่อๆมาจนถึงครั้งสุดท้ายและการใช้เงินเหลือจ่ายของอาชีวะอีก 3 ครั้งโดนหมด โดนไปที่ไหนบ้างก็คือ ปปช.เพราะว่าคนที่เกษียณไปแล้วเราสอบวินัยไม่ได้ ส่วนคนที่รับราชการอยู่ก็จะโดนสอบทางวินัยด้วย”
แหล่งข่าว ระบุด้วยว่า นอกจากนี้ ยังมีส่วนที่สำคัญ คือ การสร้างศูนย์ศึกษาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทะเลสาบสงขลาต่อให้เสร็จ เบื้องต้นคาดว่าจะมีการตั้งคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญขึ้นมาตรวจสอบและจะให้ทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งมาจัดการดูแลการก่อสร้างต่อให้เสร็จสมบูรณ์ซึ่งจะต้องเสนอ ครม.อนุมัติต่อไป ซึ่งคาดว่าอาจจะต้องใช้ระยเวลาประมาณ 2 ปี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการจัดตั้งศูนย์ศึกษาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทะเลสาบสงขลา เป็นการนำผลการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ จัดตั้งพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำทะเลสาบสงขลา มาปรับปรุงให้ทันสมัยยิ่งขึ้น และเพิ่มเติมในส่วนของงานศึกษาค้นคว้า และทดลองเกี่ยวกับชีววิทยาทางทะเล เพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินงานของวิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ เพื่อให้เป็นสถานที่ทำการศึกษาค้นคว้าและทดลองเกี่ยวกับชีววิทยาของสัตว์น้ำ พันธุ์ไม้น้ำ และการเพาะขยายพันธุ์ ของคณาจารย์และนักศึกษา
รวมทั้งสนับสนุนร่วมมือ อำนวยความสะดวกเกี่ยวกับการวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและพันธุ์ไม้น้ำ เพื่อเป็นแหล่งเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับชีวิตสัตว์น้ำ และความเป็นอยู่ ชีววิทยา และระบบนิเวศของทะเลสาบสงขลา ตลอดจนจะเป็นแหล่งทัศนศึกษาของชาวไทยและต่างประเทศที่เดินทางมายังจังหวัดสงขลา
โดยโครงการนี้เริ่มต้นขึ้นในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2550 สมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี นายวิจิตร ศรีสอ้าน เป็นรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ โดยทางสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ที่มี นายวีระศักดิ์ วงศ์สมบัติ เป็นเลขาธิการ ได้ทำหนังสือถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีขออนุมัติทำสัญญาก่อหนี้ผูกพันประจำปีงบประมาณ 2550
และได้รับการอนุมัติในเดือนสิงหาคม 50 โดย นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รองนายกรัฐมนตรี ลงนามในหนังสือเห็นชอบให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ดำเนินการก่อหนี้ผูกพัน อันเป็นจุดเริ่มต้นอย่างเป็นทางการของโครงการนี้โดยเริ่มในส่วนของที่ดินและโครงสร้างอาคารที่นายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตหัวหน้าพรรคชาติไทย ในฐานะประธานที่ปรึกษาโครงการเดินทางมาติดตามความคืบหน้าโครงการนั่นเอง
ทั้งนี้ ส่วนประกอบของโครงการประกอบด้วย การก่อสร้างอาคารสำหรับจัดแสดงพันธุ์พืชและสัตว์น้ำ โรงสูบน้ำ และระบบกรองน้ำ ถังพักน้ำ บ่อสำหรับเลี้ยงและอนุบาลสัตว์น้ำ บ่อสำหรับรักษาสัตว์น้ำที่เจ็บป่วย ห้องแสดงนิทรรศการ ห้องประชุม ห้องปฏิบัติการต่างๆ ห้องเก็บ และเตรียมอาหารสัตว์ ระบบระบายน้ำและระบบบำบัดน้ำเสีย ระบบการฆ่าเชื้อโรคในน้ำ
ระบบไฟฟ้าและเครื่องปรับอากาศ ฟื้นฟูระบบนิเวศทางธรรมชาติ ปลูกป่าชายเลนและทางเดินสะพานเทียบเรือ โรงเก็บเรือและคานขึ้นเรือพร้อมเรือสำหรับออกทำการวิจัยรวบรวมและลำเลียงตัวอย่างสัตว์น้ำ ปรับปรุงพื้นที่ ถนน ทางเท้า ที่จอดรถยนต์ และจัดภูมิทัศน์
ขณะนั้นกำหนดระยะเวลาในการก่อสร้างจะใช้เวลา 4 ปี ตามแผนงานจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ในปี 2553 ในส่วนของประมาณการใช้จ่ายการก่อสร้างโครงการระยะแรก 850 ล้านบาท เป็นงบประมาณผูกพันต่อเนื่อง ระยะที่สอง 269 ล้านบาท สร้างระบบเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ระยะที่สาม 42 ล้านบาท และระยะที่สี่ 258 ล้านบาท รวมใช้งบประมาณก่อสร้างไปแล้ว จำนวน 1,404 ล้านบาท ผ่านมาเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี ยังก่อสร้างไม่เสร็จจนกระทั่งกระทรวงศึกษาธิการตั้งกรรมการตรวจสอบและพบว่ามีมูลการทุจริตดังกล่าว