กระทรวงศึกษาธิการ (ส่วนหน้า) สรุปผลงานแก้ปัญหาประชากรวัยเรียนที่อยู่นอกระบบการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เผยน้อมนำศาสตร์พระราชา พาเด็กกว่า 2.7 หมื่นคนกลับเข้าเรียนได้สำเร็จ ด้านผู้เชี่ยวชาญฯ ยูเนสโก ชื่นชมพร้อมหนุนเด็กที่เหลือเข้าสู่ระบบ
พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะหัวหน้าผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นประธานการประชุมสรุปและแถลงผลการดำเนินงานแก้ปัญหาประชากรวัยเรียนที่อยู่นอกระบบการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อสาธารณชน ที่จังหวัดปัตตานี
พล.อ.สุรเชษฐ์กล่าวว่า การแก้ปัญหาประชากรวัยเรียนที่อยู่นอกระบบการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นหนึ่งในงานสำคัญที่รัฐบาลมอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการเร่งดำเนินการเพื่อยกระดับคุณภาพและโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาอย่างทั่วถึง ด้วยมุ่งมั่นตั้งใจของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง นับตั้งแต่การประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันเมื่อเดือน พ.ย. 2560 เราติดตามช่วยเหลือ สนับสนุน แก้ไขปัญหาให้เด็กวัยเรียนที่อยู่นอกระบบการศึกษาในพื้นที่รับผิดชอบได้เข้ารับการศึกษาในรูปแบบต่างๆ ครบทุกคนโดยเร็ว
พล.อ.สุรเชษฐ์กล่าวอีกว่า จนถึงปัจจุบันกระทรวงศึกษาธิการ (ส่วนหน้า) ได้น้อมนำยุทธศาสตร์พระราชทานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา รวมทั้งพระบรมราโชวาทในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ ๑๐ ที่ได้พระราชทานเกี่ยวกับการศึกษาที่ต้องมุ่งสร้างพื้นฐานให้แก่ผู้เรียน 4 ด้าน คือ 1. มีทัศนคติที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง ที่ยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ 2. มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคง มีคุณธรรมจริยธรรม 3. มีงานทำ มีอาชีพสุจริต 4. เป็นพลเมืองดี เป็นหลักคิดในการดำเนินงาน ตั้งแต่การจัดทำฐานข้อมูลนักเรียน การศึกษาระเบียบกฎหมาย กำหนดแนวทางการติดตาม ค้นหาสาเหตุ และจัดหาที่เรียน พร้อมกำหนดผู้รับผิดชอบดูแลนักเรียน และติดตามผลเป็นระยะ
“วันนี้จึงมีผลแห่งความก้าวหน้าเกิดขึ้น โดยกระทรวงศึกษาธิการสามารถนำประชากรวัยเรียนอายุระหว่าง 3-18 ปี เข้าสู่ระบบการศึกษาได้กว่า 27,376 คน คิดเป็นร้อยละ 60.45 ของจำนวนเด็กที่อยู่นอกระบบฯ แบ่งเป็นเด็กปกติ 12,759 คน เด็กออกกลางคัน 7,175 คน จบภาคบังคับ 5,573 คน และเด็กพิการ 1,869 คน พร้อมกำหนดมาตรการป้องกันดูแลและช่วยเหลือนักเรียนที่เข้มแข็ง เพื่อให้คงอยู่ในระบบการศึกษา และเติบโตเป็นเยาวชนที่ดีของชาติในอนาคต ส่วนประชากรวัยเรียนที่เหลืออีกร้อยละ 40 จะเร่งติดตามนำเข้าสู่ระบบการศึกษาให้ได้ครบ 100 เปอร์เซ็นต์ พร้อมจัดระบบช่วยเหลือให้ได้เรียนจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐานและมีงานทำ ไม่ว่าจะเข้าเรียนในระบบ นอกระบบ ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา หรืออุดมศึกษา” รมช.ศึกษาฯ กล่าว
พล.อ.สุรเชษฐ์กล่าวว่า ความสำเร็จขั้นต้นของการทำงานครั้งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นด้วยกระทรวงศึกษาธิการเพียงลำพัง แต่เป็นความร่วมมือของทุกฝ่ายในรูปแบบการทำงานประชารัฐ ที่จะเป็นแบบอย่างของการทำงานในพื้นที่ชายแดนใต้ และพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำงานของสำนักงาน กศน.ที่มีครู กศน.ทำงานเข้าถึงประชาชนและชุมชนในทุกพื้นที่ จึงย้ำว่ากระทรวงศึกษาธิการจะยังคงให้ความสำคัญต่อนักเรียนพิการ ผู้ด้อย พลาด และขาดโอกาสทางการศึกษาให้มากขึ้น เพื่อให้ทุกคนได้รับการพัฒนาตามความสามารถ ศักยภาพ และความถนัด เพราะกระทรวงศึกษาฯ จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
ขณะที่นายอิชิโร มิยาซาวา ผู้เชี่ยวชาญด้านการรู้หนังสือและการเรียนรู้ตลอดชีวิต ยูเนสโก กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีกับประเทศไทยที่ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาประชากรวัยเรียนที่อยู่นอกระบบการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถือว่าไทยเป็นประเทศผู้นำด้านการศึกษาในภูมิภาคอาเซียน จากการที่รัชกาลที่ 9 ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ทรงสืบสานพระราชปณิธานและพระราชดำริริเริ่มการส่งเสริมการศึกษาให้กับประชาชนทุกหมู่เหล่า โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ชายแดน
นอกจากนี้ ไทยยังมีกฎหมายและนโยบายการศึกษาที่สำคัญต่อการจัดการศึกษาให้แก่ประชากรทุกคน โดยไม่จำกัดเชื้อชาติ ศาสนา เช่น มติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการจัดการศึกษาให้แก่บุคคลที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย เป็นการเปิดโอกาสทางการศึกษาให้แก่ประชากรทุกคนที่อยู่อาศัยในประเทศไทย, การยกร่างปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการสร้างเสริมความเข้มแข็งด้านการศึกษาให้กับเด็กและเยาวชนตกหล่น ที่มีการลงนามรับรองในการประชุมสุดยอดอาเซียน เมื่อปี 2550 ที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เป็นต้น
นายอิชิโรกล่าวว่า ดังนั้น ความสำเร็จของไทยที่เกิดจากความพยายามตลอด 7 เดือนที่ผ่านมาจึงเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น หากแต่สิ่งสำคัญกว่าต่อจากนี้คือหน่วยงานต่างๆ จะต้องร่วมหาแนวทางสนับสนุนเด็กกลุ่มนี้เป็นพิเศษ เพื่อช่วยให้เด็กคงอยู่ในระบบการศึกษาจนสำเร็จการศึกษาได้ และร่วมมือกับทุกภาคส่วนช่วยเหลือเด็กอีก 40 เปอร์เซ็นต์ ให้สามารถเข้าสู่ระบบการศึกษาจนสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยที่ยูเนสโกจะร่วมกับอาเซียนจัดการศึกษาให้เด็กตกหล่นในภูมิภาคนี้ที่มากถึง 4.1 ล้านคนเช่นกันด้วย
“ขอแสดงความยินดีในความสำเร็จของการแก้ปัญหาเด็กตกหล่นของไทย ซึ่งสอดคล้องตามปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการสร้างเสริมความเข้มแข็งด้านการศึกษาให้กับเด็กและเยาวชนตกหล่น และควรเผยแพร่ผลความสำเร็จให้ทั่วโลกรับรู้ ในฐานะองค์การยูเนสโกจะช่วยประกาศและเผยแพร่โครงการส่งเสริมการศึกษาสำหรับเด็กตกหล่นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับสากล หวังว่าจะมีการขยายผลความสำเร็จการดำเนินงานเช่นนี้ไปยังจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศ รวมทั้งประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียนด้วย” นายอิชิโรกล่าว