ศูนย์ข่าวภูเก็ต - นักวิชาการยันแนวปะการัง “อ่าวกุ้ง” จ.ภูเก็ต มีมากกว่า 500 ไร่ พบสมบูรณ์ ถ้ามีการรบกวนพื้นทะเลส่งกระทบแน่ ขณะที่ชาวบ้านงง! โครงการมารีนาขนาดใหญ่ จะมาลงทุนก่อสร้างในพื้นที่ แต่ทางหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องยังไม่ทราบเรื่อง ด้าน ทช.9 ติดทุ่นเตือนห้ามทิ้งสมอเรือ ห้ามเหยียบแนวปะการังแล้ว หลังเกิดกระแสคนแห่ชมหวั่นทำปะการังเสียหาย
ยังเป็นกระแสต่อเนื่องถึงการออกมาแสดงความเป็นห่วงแนวปะการังในพื้นที่อ่าวกุ้ง ต.ป่าคลอก จ.ภูเก็ต ของชาวบ้านในพื้นที่ ถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นถ้ามีการขุดร่องน้ำบริเวณอ่าวกุ้ง ของโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือมารีน่าของเอกชนรายหนึ่ง ที่ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการทำรายการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพื่อส่งให้ให้ สผ.พิจารณา ซึ่งชาวบ้าน และนักวิชาการได้ลงพื้นที่สำรวจพื้นที่เพื่อชี้ให้เห็นว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่มีแนวปะการังสมบูรณ์
นายประดิษฐ์ พวงเกษ ประธานกลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลนอ่าวกุ้ง กล่าวว่า เป็นเรื่องที่สร้างความแปลกใจให้แก่ชาวบ้านเป็นอย่างมาก ที่บริษัทที่ปรึกษาลงพื้นที่มาจัดโครงการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่เพื่อศึกษาและจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการท่าเทียบเรือสำราญและกีฬา “อ่าวกุ้งมารีน่า” ถึง 2 ครั้งแล้ว แต่หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ระดับจังหวัดยังไม่ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้ เกิดอะไรขึ้น โครงการการดังกล่าวเป็นโครงการขนาดใหญ่ มีเงินลงทุนมหาศาล แต่หน่วยงานในพื้นที่ไม่ทราบเรื่องทั้งที่สังคมออนไลน์มีการพูดถึงเรื่องนี้กันอย่างกว่างขวาง
และจนถึงขณะนี้ยังไม่มีการระบุในรายละเอียดเส้นทางการเดินเรือที่ชัดเจนให้แก่ชาวบ้าน และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ ว่า มีเส้นทางเรือเข้าอยู่จุดใด และ ต้องผ่านส่วนไหนของพื้นที่อ่าวกุ้ง ซึ่งโดยความเห็นของชาวบ้านเชื่อว่าไม่ว่าเส้นทางเรือเข้าจะผ่านจุดไหนก็ย่อมส่งผลกระทบต่อแนวปะการังน้ำตื้นอย่างแน่นอน ซึ่งในพื้นที่มีทั้งปะการังเขากวาง กัลปังหาแดง ซึ่งเป็นสิ่งที่หาดูได้อยากขึ้น รวมทั้งปะการังโขด ซึ่งสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนเวลาน้ำลง นอกจากนั้น ยังส่งผลกระทบต่อชาวบ้านในชุมชน และชาวประมงพื้นบ้านที่ทำการประมงอยู่ในบริเวณดังกล่าว
ขณะที่ ดร.นลินี ทองแถม นักวิชาการประมงชำนาญการพิเศษ ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน กล่าวว่า หลังจากได้รับการประสานจากชาวบ้านว่าในพื้นที่นอกจากจะมีปะการังเขากวาง ที่กำลังฟื้นตัวกลับมาอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์แล้ว ในพื้นที่ดังกล่าวยังมีกัลปังหาแดงอยู่หนาแน่นอีกด้วย ทางศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน จึงได้ลงพื้นที่สำรวจในพื้นที่อย่างละเอียดอีกครั้งโดยรอบอ่าวกุ้ง
อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจบริเวณเกาะเฮ พบแนวปะการังประมาณ 62 ไร่ แต่จากการสำรวจบริเวณเกาะโดยรอบอ่าวกุ้ง รวม 5 เกาะ พบแนวปะการังในลักษณะเดียวกัน มากถึง 547 ไร่ นอกจากนั้น ยังพบแนวกัลปังหาบริเวณหน้าเกาะเฮ 7 ไร่ และ ด้านหลังเกาะเฮ 5 ไร่ รวมประมาณ 12 ไร่ ซึ่งเป็นกัลปังหาที่มีความหนาแน่น สมบูรณ์
แต่อย่างไรก็ตาม ปะการังในพื้นที่อ่าวกุ้ง ยังน่าเป็นห่วง แม่ว่าจะมีการฟื้นตัวจากความสูญเสียเมื่อ 5-6 ปีที่ผ่านมา มาอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์แล้วก็ตาม เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวพบว่าเป็นพื้นที่ที่มีความสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดตะกอน เนื่องจากอยู่ติดกับอ่าวพังงา ประกอบกับเป็นทะเลที่ตื้น และล้อมรอบไปด้วยป่าชายเลน โอกาสที่ตะกอนจากแผ่นดินไหลมาลงมาในทะเลมีมาก และถ้ามีกิจกรรมที่ไปรบกวนสภาพพื้นท้องทะเลก็จะทำให้ตะกอนในบริเวณอ่างกุ้ง เกิดการฟุ้งกระจายได้ ซึ่งแนวปะการังก็จะได้รับผลกระทบอย่างเห็นได้ชัด
ส่วนกรณีการขุดร่องน้ำที่ชาวบ้านกังวล ดร.นลินี ให้ความเห็นว่า ในขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องของเส้นทางเดินเรือของทางโครงการ แต่จากการวัดระดับน้ำทะเลลดลงต่ำสุด พบว่า มีความลึกจากพื้นเพียงแค่ 0.8-3 เมตรเท่านั้น หากโครงการเกิดขึ้นก็ต้องมีการขุดร่องน้ำเพิ่มอย่างแน่นอน ซึ่งจากที่ระบุไว้ใน EIA การขุดร่องน้ำจะทำให้เกิดฝุ่นตะกอน 200,000 ตัน ซึ่งตะกอนเหล่านี้จะไปไหนก็ย่อมส่งผลกระทบต่อแนวปะกังอย่างแน่นอน
นอกจากนั้น ดร.นลินี ยังได้แสดงความเป็นห่วงถึงกรณีการฟื้นตัวของแนวปะการังที่เกาะเฮ ว่า หลังจากมีข่างแพร่สะพัดออกไปว่ามีแนวปะการังน้ำตื้นเกิดขึ้นใหม่ ก็ส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวและประชาชนจำนวนมากที่ต้องการจะเดินทางไปดูให้เห็นกับตา ซึ่งตนเกรงว่าการเข้าไปของคน ของนักท่องเที่ยว จะส่งผลกระทบต่อปะการังอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะในบริเวณดังกล่าวไม่ได้มีเฉพาะปะการังเขากวางที่เห็นเป็นแนวยาวเท่านั้น แต่หน้าเกาะเฮ หลังเกาะเฮ ยังมีปะการังโขดเกิดขึ้นอีกจำนวนมาก ถ้าไม่มีการป้องกัน และ ควบคุมไม่ดี ปะการังเหล่านี้อาจจะตายก่อนที่จะมีการสร้างท่าเทียบเรือก็ได้ จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ากำกับดูแล และ กำหนดมาตรการในการเข้าไปในพื้นที่เพื่อให้กระทบต่อปะการังน้อยที่สุด
ล่าสุด กรม ทช. โดยสำนักงานบริหาร ทช.ที่ 9 (ภูเก็ต) ได้เพิ่มมาตรการคุ้มครองปะการังอ่าวกุ้ง ทะเลภูเก็ต โดยร่วมกับอาสาสมัครพิทักษ์ทะเลบ้านอ่าวกุ้ง ติดตั้งทุ่นแนวเขตปะการังบริเวณทิศตะวันตกของเกาะเฮ ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต เพื่อป้องกันการทิ้งสมอของเรือ และการลงเหยียบย่ำปะการัง บริเวณที่มีปะการังเขากวางหนาแน่น ความยาวทุ่น 400 เมตร บริเวณที่ติดตั้งห่างจากตัวเกาะประมาณ 150 เมตร จุดที่ติดตั้งทุ่นมีความลึกโดยเฉลี่ย 3.50 เมตร ซึ่งหลังจากนี้ ทางเจ้าหน้าที่จะเร่งดำเนินการติดตั้งป้ายประชาสัมพันธ์ต่อไป เพื่อให้ระมัดระวังในการเข้าไปชมปะการังในบริเวณดังกล่าว และเพื่อให้ส่งผลกระทบต่อแนวปะการังน้อยที่สุด