xs
xsm
sm
md
lg

ส่อเค้าล้ม! อ่าวกุ้งมารีน่า ท่าเรือยอชต์หลายร้อยล้าน ชาวบ้านหวั่นขุดร่องน้ำกระทบปะการัง ป่าชายเลน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวภูเก็ต - อ่าวกุ้งมารีน่า ท่าเทียบเรือยอชต์หรู มูลค่าหลายร้อยล้าน ที่เจ้าของโดยบริษัทซีวิว แลนด์ เตรียมเข้ามาลงทุนในภูเก็ต ส่อเค้าล้ม เมื่อชาวบ้านในพื้นที่ไม่เอาด้วย หวั่นขุดลอกร่องน้ำให้เรือเข้าออก ส่งผลกระทบแนวปะการังบริเวณหน้าเกาะเฮ ห่างจากโครงการ 2 กิโลเมตร รวมถึงป่าชายเลนที่อยู่ติดโครงการ สอดรับต่ออธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง.ที่ได้ลงพื้นที่ และระบุว่า แนวปะการังและป่าชายเลนมีความสมบูรณ์ที่จะต้องดูแลไม่ให้ได้รับผลกระทบ

ภายหลังจากที่บริษัท เอ็นริช คอนซัลแตนท์ จำกัด ผู้ทำการศึกษาและจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการท่าเทียบเรือสำราญและกีฬาอ่าวกุ้งมารีน่า ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ หมู่ที่ 9 ตำบลป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ได้นำผลการศึกษาดังกล่าวมารับฟังความเห็นผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการให้ประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับทราบในกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชน เป็นครั้งที่ 2 เมื่อเร็วๆ นี้

ทำให้ประชาชนในพื้นที่หมู่ที่ 9 และพื้นที่ใกล้เคียงเกิดข้อกังวลถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการลงทุนก่อสร้างอ่าวกุ้งมารีน่า โดยเฉพาะในประเด็นการขุดลอกร่องน้ำที่จะใช้เป็นทางเข้าออกของเรือไปยังโครงการ ที่คาดว่าจะต้องขุดลึกไม่น้อยกว่า 8 เมตร เพื่อรองรับเรือยอชต์ขนาดใหญ่ 40 เมตร จะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของแนวปะการังในพื้นที่รอบๆ อ่าวกุ้งได้

สำหรับโครงการท่าเทียบเรือสำราญและกีฬาอ่าวกุ้งมารีน่า ตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ที่ 9 ตำบลป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต เนื้อที่บนฝั่ง 30 ไร่เศษ พื้นที่บางส่วนติดกับป่าชายเลนบ้านอ่าวกุ้ง และพื้นที่บ่อเลี้ยงกุ้ง และคลองอ่าวกุ้ง เป็นมารีนาหรูอีกแห่งที่ต้องการเข้ามาลงทุนในภูเก็ต เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจมารีนาในจังหวัดภูเก็ต ที่แต่ละปีจะมีเรือยอชต์จากต่างชาติเดินทางเข้ามาเป็นจำนวนมาก ตามยุทธศาสตร์ในการผลักดันให้ภูเก็ตเป็นฮับมารีนา ซึ่งปัจจุบัน ภูเก็ตมีมารีนาหรูของเอกชนรองรับเรือยอชต์ทั้งหมด 4 แห่งแล้ว ประกอบด้วย ยอช์ทเฮเว่น อ่าวปอแกรนด์มารีนา ภูเก็ตโบ๊ทลากูน และรอยัล ภูเก็ต มารีนา ทั้งหมดตั้งอยู่ทางชายฝั่งตะวันออกของเกาะภูเก็ต

อ่าวกุ้งมารีน่า เป็นการลงทุนโดยบริษัท ซีวิว แลนด์ จำกัด แบ่งการลงทุนออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นท่าเทียบเรือยอชต์ หรือมารีนา และส่วนพื้นที่บริการเรือยอชต์ โดยในส่วนของมารีนาถูกออกแบบให้สามารถรองรับเรือยอชต์ได้ 72 ลำ รองรับเรือยอชต์ได้ตั้งแต่ขนาดความยาวเรือ 18 เมตร ไปจนถึง 40 เมตร ซึ่งบนสะพานเทียบเรือจัดให้มีหลักผูกเรือ ระบบจ่ายน้ำ ระบบไฟฟ้าสำหรับเรือยอชต์

ส่วนพื้นที่บริการจะตั้งอยู่บริเวณทางด้านทิศใต้ของพื้นที่โครงการ ซึ่งภายในพื้นที่จะมีบริการงานทาสีท้องเรือ งานไม้ งานซ่อมแซมบำรุงเครื่องยนต์ และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องต่อเรือยอชต์ทั้งหมด

ภายหลังจากที่ชาวบ้านได้ออกมาเคลื่อนไหวแสดงความเป็นห่วงว่า การลงทุนก่อสร้างอ่าวกุ้งมารีน่า จะส่งผลกระทบต่อแนวปะการังหน้าเกาะเฮ บ้านอ่าวกุ้ง ประมาณ 2 ไร่เศษ ซึ่งอยู่ห่างจากจุดที่ตั้งโครงการประมาณ 2 กิโลเมตร จากการขุดลอกร่องน้ำเพื่อให้เรือยอชต์เข้าออก ภายในโครงการได้ และป่าชายเลน ที่อยู่ติดกับโครงการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ลงไปสำรวจพื้นที่ และแนวปะการัง พบพื้นที่ดังกล่าวมีแนวปะการังในกลุ่มปะการังโขด (Porites spp.) ปะการังเขากวาง (Acropora spp.) ปะการังดอกไม้ทะเล (Goniopora sp.) ปะการังรังผึ้ง (Goniastrea sp.) ปะการังวงแหวน (Favia spp.) ปะการังช่องเหลี่ยม (Favites spp.) เป็นต้น

เช่นเดียวกับ นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วย นายวัชรินทร์ ถิ่นถลาง ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 9 นายสาคร ปู่ดำ นักวิชาการขนส่งชำนาญการ สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาภูเก็ต นายณัฐกฤษณ์ พลเพชร นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการพิเศษ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดภูเก็ต นายมนัส เกิดทรัพย์ รองนายกเทศมนตรีตำบลป่าคลอก ผู้แทนศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอันดามัน และผู้เกี่ยวข้อง ได้ลงไปตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่เมื่อวันที่ 16 พ.ค.ที่ผ่านมา และระบุว่า โครงการดังกล่าวยังไม่ได้ยื่นขออนุญาตจากหน่วยงานที่รับผิดชอบในพื้นที่แต่อย่างใด ยังอยู่ในขั้นตอนการทำ EIA ถึงแม้ว่าจังหวัดภูเก็ต จะมียุทธศาสตร์ในการส่งเสริมในเรือยอชต์จากต่างชาติเดินทางเข้ามาในภูเก็ต แต่มารีนาที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่นั้นจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ปะการัง และป่าชายเลน รวมไปถึงชุมชน

นายนรภัทร กล่าวอีกว่า จากที่ทราบข้อมูลในขณะนี้ ทางบริษัทที่ปรึกษาจะจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นอีกครั้งหนึ่งในเร็วๆ นี้ ชาวบ้าน และหน่วยงานต่างๆ สามารถที่จะเข้าไปโต้แย้งในประเด็นที่คิดว่าจะเป็นปัญหาทั้งปะการัง และป่าชายเลนได้

ขณะที่เมื่อวันที่ 20 พ.ค.ที่ผ่านมา นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงในส่วนของป่าชายเลนที่อยู่ติดกับที่ตั้งของโครงการ และแนวปะการังด้านหน้าเกาะเฮ บ้านอ่าวกุ้ง พร้อมกับเปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่จะเห็นว่า แนวปะการังในบริเวณหน้าเกาะเฮ บ้านอ่าวกุ้ง ยังมีความสมบูรณ์ตามสภาพพื้นที่ และระบบนิเวศในบริเวณนั้น รวมไปถึงป่าชายเลน ที่มีความสมบูรณ์ไม่ต่างกัน ซึ่งเกรงว่าหากมีการขุดลอกร่องน้ำเพื่อให้เรือเข้าออกในโครงการ จะส่งผลกระทบต่อแนวปะการังตามที่ชาวบ้านเป็นห่วง เรื่องนี้จะต้องว่ากันไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ จะต้องมีการชั่งน้ำหนักผลดีผลเสียที่จะเกิดขึ้น รวมไปถึงความจำเป็นที่จะต้องมีมารีนารองรับซูเปอร์ยอชต์ในพื้นที่

“โดยส่วนตัวแล้วเห็นด้วยต่อการพัฒนา แต่การพัฒนาจะต้องไม่ลงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หากโครงการนั้นส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแล้วจะคุ้มค่าหรือไม่ ต้องชั่งน้ำหนักในเรื่องนี้ และจะไม่ขอก้าวล่วงไปถึงในส่วนของโครงการที่ดำเนินการในที่ดินของเอกชน แต่จะเข้าไปดูแลในส่วนที่รับผิดชอบทั้งป่าชายเลน และปะการังเท่านั้น” นายจตุพร กล่าวในที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น