รายงานพิเศษ...ศูนย์ข่าวภาคใต้
กลุ่มวิสาหกิจท่องเที่ยวชุมชนอ่าวปากบารา จ.สตูล เริ่มขึ้นที่รีสอร์ทชุมชนเล็กๆ แห่งหนึ่งที่ชายหาดบ้านบ่อเจ็ดลูก อ.ละงู จ.สตูล จะไม่มีใครรู้ว่าสวรรค์ตั้งอยู่ที่นี่ถ้านักท่องเที่ยวมัวแต่มองหาว่าบริเวณชายหาดที่ไหนก่อกองไฟกินเหล้าแล้วสนุก
รีสอร์ทชุมชนมุสลิมย่อมมีกติกาความร่วมมือต่อการปฏิบัติของผู้มาเยือนไม่เหมือนพื้นที่อื่น ซึ่งมีบ่อยครั้งที่นักท่องเที่ยวขออนุญาตหิ้วเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาเองจากบ้าน แต่เขาจะรับประกันได้หรือไม่ว่า จะดื่มอย่างสุภาพและเมาอย่างมีสันติ?
ก่อนที่จะไปฟังเหตุผลว่าทำไมชุมชนอ่าวปากบารา, อ่าวละงู, อ่าวทุ่งหว้า จ.สตูล จึงเชื่อว่าแผ่นดินของพวกเขามีค่าเหมือนดั่งเพชร ในความเป็นสิ่นค้าทางการท่องเที่ยวเขาจึงไม่อาจกำหนดราคาขายในราคาเท่ากับเศษเหล็กได้นั้น มันด้วยเหตุผลใด
ซึ่งหากจะทำความเข้าใจสตูลให้ลึกซึ้งคงต้องไปเริ่มมาจากการศึกษาให้ลึกไปถึงชั้นหินซึ่งในความเป็นจริงภาครัฐโดยกรมทรัพยากรธรณีได้เริ่มศึกษาแผ่นดินทั่วประเทศรวมทั้งแผ่นดินของ จ.สตูล มาก่อนหน้านี้แล้วหลายสิบปีแล้ว
การค้นหาซากดึกดำบรรพ์ในประเทศไทยเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2519 โดยโครงการศึกษาวิจัยฟอสซิลของสัตว์มีกระดกูสัน หลังในประเทศไทยของกรมทรัพยากรธรณี ได้ค้นพบกระดูกขนาดใหญ่ใน อ.ภูเวียง จ.ขอนแก่น แต่ผลการวิจัยในขณะนนั้นทราบเพียงว่าเป็นชิ้นส่วนกระดูกต้นขาหลังของไดโนเสาร์ซอโรพอดสี่เท้าคอยาวหางยาวมีความยาวประมาณ 15 เมตร
นับเป็นรายงานการค้นพบไดโนเสาร์ครั้งแรกในประเทศไทย ต่อมาในปี พ.ศ.2524 - 2525 ได้มีการสำรวจที่ภู เวียงอีกทำให้พบกระดูกส่วนต่างๆ ของไดโนเสาร์และสัตว์อื่นๆ อีกเป็นจานวนมาก ถือเป็นการเริ่มต้นการค้นหาซากดึกดำบรรพ์อย่างจริงจัง
ส่วนที่ จ.สตูล ผลการสํารวจของกรมทรัพยากรธรณีพบว่าจังหวัดสตูลเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางธรณีวิทยา (Geodiversity) สูง ทั้งบนบกและเกาะต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งลําดับชั้นหินของมหายุคพาลีโอโซอิค (Paleozoic Era) ที่มีความครบถ้วน มีซากดึกดําบรรพ์ที่หลากหลาย ทั้งชนิดมีกระดูกสันหลังและไม่มีกระดูกสันหลัง สามารถใช้เป็นซากดึกดําบรรพ์ดรรชนีเพื่อบ่งบอกอายุชั้นหินที่ถูกต้อง และสามารถบ่งบอกสภาพแวดล้อมของพื้นที่นี้ในอดีตเมื่อหลายร้อยล้านปีก่อนได้
จุดเด่นสําคัญอยู่ที่กลุ่มหินตะรุเตา ยุคแคมเบรียน (Cambrian) พบบนเกาะตะรุเตาอายุประมาณ 490-540 ล้านปีก่อนและพบซากดึกดําบรรพ์ของสัตว์ทะเลโบราณชนิด “ไทรโลไบต์” ซึ่งมีอายุเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย นอกจากนั้นสตูลยังมีแหล่งธรณีวิทยาประเภทธรณีสัณฐานหลายแห่งที่มีความสวยงามระดับประเทศและเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยว
เช่น ชายหาดต่างๆ ของเกาะตะรุเตา เกาะอาดัง เกาะราวี ถ้ำภูผาเพชร ถ้ำเล-สเตโกดอน ถ้ำเจ็ดคต น้ําตกวังสายทอง น้ําตกธารปลิว และทะเลบัน เป็นต้น ซึ่งกระจายตัวอยู่ตามอําเภอต่างๆ แหล่งเหล่านี้เป็นแหล่งมีศักยภาพสูงในการพัฒนา เป็นแหล่งเรียนรู้ทางธรณีวิทยา และสามารถเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวได้
การศึกษาของกรมทรัพยากรธรณีพบว่าแหล่งแร่ที่พบในเขตสงวนทรัพยากรแร่ ของ จ.สตูล มีจํานวน 170 แหล่ง ครอบคลุมเนื้อที่ 394.85 ตารางกิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ 90.95 ของเนื้อที่แหล่งแร่ทั้งหมดของจังหวัดมีปริมาณสํารองแร่ทุกชนิด รวม 154,703.31 ล้านตัน มีมูลค่าประมาณ 16.24 ล้านล้านบาท ยังไม่รวมมูลค่าของแหล่งแร่ในเขตอนุรักษ์ทรัพยากรแร่และเขตพัฒนาทรัพยากรแร่ที่มีมูลค่ารวมกันเกือบ 800,000 ล้านบาท
และในช่วงที่ภาครัฐสนับสนุนงบประมาณให้กรมทรัพยากรธรณีทำการสำรวจแหล่งแร่ทั่วประเทศนั้น ก่อนหน้านี้ในปี 2518 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้เริ่มกำหนดแผนพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคใต้ ต่อมาในปี 2523 รัฐบาลจัดทำแผนแม่บทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของประเทศไทย โดยตามแผนระยะที่ 4 ตั้งแต่ปี 2559 มีแผนพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมปิโตรเคมีเพิ่มเติมในภาคใต้ โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช
ที่ จ.นครศรีธรรมราช นั้นมีเรื่องเศร้า ก่อนที่จะอ่านต่อไปขอให้สงบนิ่งสักอึดใจเพื่อไว้อาลัยให้ประชาชนที่ตายจากนโยบายการพัฒนา...
จากนั้นเปิดโปรแกรมกูเกิลเอิร์ธในคอมพิวเตอร์ เลือกโหมดดูย้อนเวลา ซึ่งโปรแกรมสามารถพาเราย้อนไปได้ถึงปี 1930 แต่ใน อ.พิปูน จ.นครศรีธรรมราช ระบบสามารถย้อนไปได้เพียงปี 1984 หรือตรงกับปี พ.ศ.2528 และให้นึกย้อนกลับไปก่อนหน้านั้น 10 ปี ตามที่ได้กล่าวมาแล้วก่อนหน้านี้ คือในปี 2518 รัฐบาลจัดทำแผนแม่บทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของประเทศไทย พอเข้าปี 2519 กรมทรัพยากรธรณีเริ่มออกทำการสำรวจแหล่งแร่ธาตุทั่วประเทศ
สำหรับใน อ.พิปูน จ.นครศรีธรรมราช นายสมบูรณ์ ศิริรักษ์ ชาว อ.พิปูน ได้บันทึกข้อมูลสำคัญของ อ.พิปูน เผยแพร่ทางเว็บไซต์ http://www.phipuncity.go.th/ahistoryphipun/index.html ระบุว่า อ.พิปูน มีทรัพยากรป่าไม้ที่สำคัญประกอบด้วย ป่าห้วยช่อง เนื้อที่ประมาณ 8381 ไร่ อยู่ในตำบลกะทูน กรมทรัพยากรธรณี ได้ออกประทานบัตร ให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด เหมืองแร่สินดำรงค์ ตั้งเป็นโรงงานอุตสาหกรรมทำเหมือง ยิ่งกว่านั้นได้ออกเอกสารสิทธิให้เอกชนบางรายด้วย
ป่าห้วยท้อน อยู่ในหมู่ที่ 10 ต.เขาพระ มีเนื้อที่ประมาณ 600 ไร่ กรมทรัพยากรธรณี เคยออกประทานบัตรให้เอกชนตั้งโรงงานอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ป่าคลองผวน ในหมู่ที่ 9 ต.เขาพระ มีเนื้อประมาณ 105 ไร่ ปัจจุบันเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชน ป่าหนานกลวง อยู่ในหมู่ที่ 9 ต.ยางค้อม เนื้อที่ประมาณ 4,000 ไร่เศษ ประชาชน เข้าไปบุกเบิกปรับเป็นที่นา ที่สวน บ้านอยู่อาศัย ที่ดินของเอกชนบางรายได้รับโฉนดตราจองก็มี
ป่าห้วยรากไม้ อยู่ใน ต.ยางค้อม และ ต.ควนกลาง เนื้อที่ประมาณ 10,000 ไร่เศษ เมื่อประมาณ พ.ศ. 2520 ผู้แทนท้องถิ่น ได้เคยเสนอสภาจังหวัดขอเพิกถอนที่ดินสาธารณะ ซึ่งประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันในการเลี้ยงสัตว์ ทั้ง 5 แปลง เพื่อนำมาจัดสรรให้ประชาชนใน อ.พิปูน แก่ผู้ที่ไม่มีที่อยู่อาศัยและมีที่ดินเป็นของตนเอง เพื่อป้องกันการบุกรุกป่าสงวน แต่ทางราชการไม่ยินยอม และต่อมาผู้แทนระดับท้องถิ่นได้เสนอให้ออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) กรมที่ดินได้ส่งเจ้าหน้าที่มา 1 นาย
ตั้งแต่วันนั้นจนถึงบัดนี้ ก็ยังไม่ได้ออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง และคำตอบของเจ้าพนักงานบริหารที่ดินระดับ จังหวัดในสมัยนั้นได้ตอบให้ทราบเป็นหลักฐาน สรุปความว่า กระทรวงมหาดไทย มีนโยบายที่จะออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงให้แล้วเสร็จภายใน พ.ศ. 2524
“เป็นที่ทราบแล้วว่า อ.พิปูน มีภูเขาล้อมรอบ และเป็นต้นน้ำลำธาร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ประกาศเป็นป่าสงวน แต่ต่อมา ทางราชการได้อนุญาตให้เอกชนเข้าทำสัมปทานป่าไม้ บริเวณป่าปลายคลองกะทูน ป่าปลายคลองผวน ป่าปลายคลองคันเถน ป่าปลายคลองจันราก อันเป็นป่าต้นน้ำของคลองกะทูนและคลองดินแดง ซึ่งประชาชนจำนวนหลายรายชื่อในท้องที่หมู่ที่ 3,5 และ 8 ต.เขาพระ ได้ขอร้องให้ภาครัฐเลิกสัมปทานแต่ไม่สำเร็จ”
เมื่อพิจารณาจากภาพแผนที่ในแผนที่กูเกิลเอิร์ธ ที่บันทึกไว้นับจากปี 2528 จนถึงปี 2530 จะพบว่า สภาพป่าไม้ของ อ.พิปูน จากที่เคยเขียวขจีจะค่อยๆ ลดพื้นที่ลงทุกปี จนกระทั่งวันที่ 22 พ.ย.2531 ภาพหมู่บ้านกะทูน ต.กะทูน ซึ่งเป็นชุมชนที่มีวัด โรงเรียน โรงภาพยนตร์ ตลาด และบ้านเรือนต่างๆ ของประชาชนก็ได้หายไปจากแผนที่โลก
จากชุมชนซึ่งมีเนื้อที่ 6,000 ไร่ บ้านเรือน 1,500 หลัง ถูกโคลนทับถมหนาร่วม 2 เมตร มีผู้เสียชีวิต 230 คนและสูญหายร่วม 100 คน ประเมินความเสียหายนับพันล้านบาท ทุกคน ทุกฝ่าย หมดหวังกับการฟื้นฟูพื้นที่ชุมชนเดิม ต้องย้ายที่ตั้งชุมชนใหม่ นี่ถือเป็นโศกนาฎกรรมดินถล่มครั้งแรกที่ถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย
ต่อมาในวันที่ 14 มกราคม 2532 รัฐบาลได้ออกพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 และพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ให้อำนาจรัฐมนตรีฯ โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี มีอำนาจสั่งการให้สัมปทานป่าไม้สิ้นสุดลงทั้งแปลงได้ อันเนื่องมาจากอุทกภัยภาคใต้ที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2531 โดยเฉพาะที่ ต.กะทูน อ.พิปูน จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งในเอกสารของทางราชการระบุสาเหตุของการเกิดภัยพิบัติในครั้งนี้ไว้อย่างน่าอดสูใจว่า
“โดยพิจารณาแล้วเห็นว่าภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งมาจากสาเหตุการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า จำเป็นต้องทำการรณรงค์ต่อเนื่องและระยะยาว ให้ประชาชนเข้าใจและให้ความสำคัญในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ โดยสร้างจิตสำนึกเกี่ยวกับอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการตัดไม้ทำลายป่า จึงขออนุมัติให้กำหนดวันที่ 14 มกราคม ของทุกปี เป็นวันอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ของชาติ”
แน่นอนว่ารัฐบาลไม่เคยกล่าวถึงกรณีที่ชาวบ้านใน อ.พิปูน จำนวนหนึ่งในท้องที่หมู่ 3 หมู่ 5 และหมู่ 8 ต.เขาพระ ได้เคยประท้วงเรียกร้องให้รัฐบาลเลิกสัมปทานป่าไม้แล้วก่อนที่จะเกิดโศกนาฎกรรมขึ้น แต่รัฐบาลไม่รับฟัง ทั้งยังอ้างว่าปัญหาภัยพิบัติที่นำมาสู่โศกนาฏกรรมครั้งประวัติศาสตร์นั้น เกิดจากการตัดไม้ทำลายป่าของประชาชน ทั้งที่รัฐบาลเป็นผู้อนุมัติในการให้สัมปทานกับเอกชนเข้ามาตัดไม้ทำลายป่าโดยถูกกฎหมาย
อย่างไรก็ตามการแก้กฎหมายเพื่อให้อำนาจรัฐมนตรีสั่งยกเลิกสัมปทานป่าไม้ในปีนั้น สร้างความดีใจให้กับประชาชนที่หวงแหนทรัพยากรได้เพียงแค่ช่วงต้นปีเท่านั้น เพราะในช่วงปลายปีคือวันที่ 7 พ.ย.2532 ก่อนที่จะครบ 1 ปี โศกนาฎกรรมดินถล่มใน อ.พิปูน ไม่กี่วันคณะรัฐมนตรีสมัยนั้นได้มีมติเห็นชอบยุทธศาสตร์การพัฒนา ‘สะพานเศรษฐกิจ’ เชื่อมฝั่งทะเลอันดามันกับอ่าวไทย ด้วยระบบขนส่งร่วมแบบผสมผสาน ประกอบด้วย ระบบถนน รถไฟ ท่อน้ำมัน และเห็นชอบให้จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ขณะเดียวกันคณะรัฐมนตรีได้มีมติเรื่องการกำหนดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำภาคใต้มาตรการและข้อเสนอแนะในการใช้ที่ดินในเขตลุ่มน้ำ เป็นการปลอบใจคนห่วงใยทรัพยากรป่าไม้
เพราะมติ ครม.เรื่องการกำหนดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำภาคใต้มาตรการและข้อเสนอแนะในการใช้ที่ดินในเขตลุ่มน้ำ นี้ ต่อมาพบว่าเมื่อเอกชนมีการขออนุญาตต่ออายุสัมปทานเหมืองแร่ต่างๆ ซึ่งในการขออนุมัติต่ออายุสัมปทานจะต่ออายุได้ก็ต่อเมื่อมีการอนุมัติให้ผ่อนผันการมาตรการการใช้พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นต่างๆ ก่อน ซึ่งผลปรากฎว่า “อนุมัติ” เป็นส่วนใหญ่
ย้อนกลับไปที่ปี 2518 อีกครั้ง การกำหนดแผนพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคใต้ ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ต่อมาในปี 2523 รัฐบาลจัดทำแผนแม่บทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของประเทศไทย โดยตามแผนระบุว่า อุตสาหกรรมปิโตรเคมีระยะที่ 4 ที่จะเริ่มตั้งแต่ปี 2559 กำหนดแผนพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมปิโตรเคมีเพิ่มเติมในภาคใต้ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช
ความจริงโครงการแลนด์บริดจ์หรือสะพานเศรษฐกิจเชื่อมอันดามัน - อ่าวไทย ไม่ได้กำหนดไว้ที่ จ.สตูล และ จ.สงขลา แต่ได้กำหนดไว้ในพื้นที่ จ.กระบี่ เชื่อมกับ อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช โดยเริ่มก่อสร้างถนนแล้วเสร็จในปี 2546 (มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2536 มอบหมายให้กรมทางหลวงก่อสร้างทางหลวงสายกระบี่-ขนอม โดยกำหนดให้ก่อสร้างเป็น 4 ช่องจราจร และให้กำหนดเขตทางหลวงรวม 200 เมตร เพื่อกันพื้นที่วางท่อส่งน้ำมัน และทางรถไฟในอนาคตอีก 100 เมตร ปัจจุบันชาวบ้านเรียกว่า “ถนนเซาท์เทิร์นซีบอร์ด” ภายหลังเส้นทางนี้ถูกระบุว่าไม่เหมาะสมหลังจากเกิดเหตุการณ์สึนามิขึ้นในปี 2547)
หลังเกิดเหตุการณ์สึนามิ กรมเจ้าท่าเสนอว่าทางฝั่งอันดามันพื้นที่บ้านปากบารา อ.ละงู จ.สตูล มีความเหมาะสมมากกว่าจุดเดิม เส้นทางใหม่ของโครงการแลนด์บริดจ์หรือสะพานเศรษฐกิจเชื่อมอันดามัน - อ่าวไทย จึงถูกกำหนดใหม่ให้เป็น จ.สตูล เชื่อมกับ จ.สงขลา แต่ทว่าในปี 2532 ก่อนที่จะถูกกำหนดให้เป็นเขตอุตสาหกรรมและพื้นที่ก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก จ.สตูล ได้ถูกนำเข้าพิจารณาในการประชุมของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 พ.ย.2532 เช่นกัน
มติคณะรัฐมนตรีกำหนดให้จังหวัดสตูลซึ่งมีแหล่งธรรมชาติอันควรอนุรักษ์ ที่ได้รับการประกาศให้เป็นมรดกทางธรรมชาติของท้องถิ่นอันควรอนุรักษ์ ในปีแห่งการพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 1 ประกอบด้วยสถานที่สำคัญจํานวน 7 แหล่ง คือ เกาะไข่ ผาโต๊ะบู อ่าวพันเตมะละกา หาดหินงาม หาดปากบารา หาดราไว และทะเลบัน (ที่มา : สํานักงานนโยบายและแผน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, 2543)
ซึ่งสถานที่ที่คณะรัฐมนตรีระบุล้วนเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีความโดดเด่นเป็นที่รู้จักในระดับชาติ ถือเป็นสถานที่สําคัญของ จังหวัดสตูลและมีศักยภาพในการสนับสนุนการเรียนรู้ทางธรณีวิทยาของประชาชนในจังหวัดสตูล ภาคใต้ และนักท่องเที่ยวทั่วไป
แต่ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกและการถมทะเล ระยะที่ 1 บริเวณปากคลองปากบารา อ.ละงู จ.สตูล ระบุว่า โครงการนี้ต้องใช้หินทั้งในการถมทะเลและก่อสร้างท่าเรือรวมทั้งหมดปริมาณ 1,188,439 ลูกบาศก์เมตร หินเหล่านี้จะมาจากการระเบิดภูเขาในจังหวัดสตูลทั้งหมด 8 แห่ง ในอำเภอละงู ทุ่งหว้า และควนกาหลง รวม 10 ลูก โดยมีปริมาณสำรอง 112 ล้านตัน บนเนื้อที่รวม 1,276 ไร่
ขณะเดียวกันก็ต้องใช้ทรายและดินลูกรังด้วย ในอีไอเอฉบับนี้ ระบุปริมาณความต้องการทรายบก ทั้งสิ้น 7.15 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยแหล่งทรายถมที่มีความเป็นไปได้มี 2 แหล่ง คือ บริเวณบ้านบ่อเจ็ดลูกกับบ้านหัวหิน อำเภอละงู จังหวัดสตูล ส่วนแหล่งทรายก่อสร้างและลูกรัง อยู่ในพื้นที่ ต.เขาพระ อ.รัตภูมิ จ.สงขลา ส่วนแหล่งน้ำจืดที่สำคัญในจังหวัดสตูลมี 2 แห่ง คือ คลองละงูและคลองดุสน คลองทั้งสองสาย เป็นแหล่งน้ำดิบผลิตน้ำประปาป้อนหลายพื้นที่ของจังหวัด อาจถูกนำมาใช้ในการก่อสร้างโครงการนี้ด้วย
เกี่ยวกับการขอสัมปทานระเบิดหินดังกล่าวทางกรมเจ้าท่าได้พยายามสื่อสารกับสังคมว่าจะไม่มีการใช้แหล่งหินใน จ.สตูล มาใช้ในโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราตามที่ประชาชนหลายคนเข้าใจผิด ซึ่งกรมเจ้าท่าได้กล่าวไว้ในเว็บไซต์ของโครงการ ขณะที่รายงานฉบับล่าสุดของกรมทรัพยากรธรณี ระบุไว้ชัดเจนว่าขณะนี้ใน จ.สตูล มีการยื่นขอสัมปทานบัตรระเบิดหิน จำนวน 8 แปลงตามที่ประชาชนระบุนั้นเป็นเรื่องจริง
จิตสำนึกในการปกป้องและใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างรู้คุณค่าได้เกิดขึ้นในหัวใจประชาชนมานานแล้วไม่ว่าจะเป็นประชาชนใน อ.พิปูน จ.นครศรีธรรมราช ที่ต้องตายจากโศกนาฎกรรมดินถล่ม ไม่ว่าประชาชนใน จ.สตูล หรืออีกหลายจังหวัดทั่วประเทศ ล้วนมีจิตสำนึกและตื่นตัวต่อการรักษาทรัพยากรของชาติอย่างเสมอมาทั้งสิ้น ในขณะที่รัฐบาลได้เลือกยืนอยู่ฝ่ายตรงข้ามมาโดยตลอด ทั้งตรงข้ามกับมติของคณะรัฐบาลเอง และตรงข้ามกับความต้องการของประชาชน มีเพียงเรื่องเดียวที่รัฐบาลยกให้เป็นผลงานของประชาชนนั่นคือในกรณีที่เกิดความผิดพลาดขึ้นดังเช่นที่เกิดมาแล้วใน อ.พิปูน จ.นครศรีธรรมราช
เป็นความจริงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าในรอบเกือบ 50 ปีที่ผ่านมาที่ภาครัฐประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 มาจนถึงปัจจุบัน หากภาครัฐยอมรับว่านโยบายส่งเสริมการลงทุนต่างๆ เช่น เหมืองแร่ สัมปทานป่าไม้ ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อประเทศชาติและประชาชนมากกว่าผลประโยชน์ที่ได้รับ และสำหรับกรณีที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านใน อ.พิปูน จ.นครศรีธรรมราช ที่ชาวบ้านท้วงติงแล้ว แต่รัฐไม่รับฟังจนนำมาสู่โศกนาฏกรรมสร้างความเสียหายอย่างคาดไม่ถึง ซึ่งเมื่อความจริงปรากฎออกมาทำให้น่าสงสัยว่าเหตุการณ์ดินถล่มครั้งแรกในประวัติศาสตร์ซึ่งเป็นผลพวงจากการพัฒนานั้นแท้จริงแล้วมันคือ “ภัยพิบัติ” หรือการก่อ “อาชญากรรม” โดยภาครัฐและกลุ่มนายทุนกันแน่?