สตูล - กรมทรัพยากรธรณี จัดฝึกอบรมโครงการเสริมความรู้ พ.ร.บ.คุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ ให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐ พร้อมส่งต่อถึงประชาชน “ทำอย่างไรให้เกิดความยั่งยืน” กระตุ้นรับการประเมินในอีก 4 ปีข้างหน้า
หลังจาก UNESCO ได้ประกาศให้ Satun Geopark (อุทยานธรณีสตูล) ขึ้นเป็น Satun UNESCO Global Geopark อุทยานธรณีโลก เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2561 หลังผ่านการประเมินหลักเกณฑ์คุณสมบัติของ UNESCO ในโอกาสนี้ ทางจังหวัดสตูล ได้เร่งสร้างความพร้อมให้แก่ประชาชน ชุมชน ไปจนถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐในการเป็นเจ้าบ้านที่ดี ทั้งการให้ความรู้เกี่ยวกับ พ.ร.บ.คุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ พร้อมรับแขกผู้มาเยือน
วันนี้ (23 เม.ย.) ที่โรงแรมสินเกียรติบุรี ต.พิมาน อ.เมือง จ.สตูล กรมทรัพยากรธรณี จัดฝึกอบรมโครงการให้ความรู้เกี่ยวกับพระราชบัญญัติคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ พ.ศ.2551 แก่ชุมชน จำนวน 3 พื้นที่ ครั้งที่ 1 พื้นที่ จ.ขอนแก่น ครั้งที่ 2 จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งทั้ง 2 ครั้งเป็นการฝึกอบรมในหลักสูตรทั่วไปที่ได้ดำเนินการแล้วเสร็จไปตั้งแต่เดือนมีนาคม และครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 ซึ่งเป็นการฝึกอบรมหลักสูตรพิเศษที่จัดขึ้นสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐในพื้นที่ภาคใต้ ประกอบด้วย ผู้แทนจากสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ จ.สตูล อุทยานแห่งชาติในภาคใต้ที่มีการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ และสื่อมวลชน 30 คน นำโดย นายนิมิต ศรคลัง ผอ.กองคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ กล่าวรายงานการจัดโครงการ นายนิวัติ มณีขัติย์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมอบรม และนายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา รองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล เป็นประธานในพิธีเปิด
โดยการฝึกอบรมครั้งนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 23-27 เม.ย.2561 แบ่งเป็น 3 กิจกรรม คือ 1.การบรรยายให้ความรู้ซากดึกดำบรรพ์ และ พ.ร.บ.คุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ 2.การศึกษาดูงาน และฝึกปฏิบัติภาคสนามในพื้นที่แหล่งซากดึกดำบรรพ์ และแหล่งอนุรักษ์ทางธรณีวิทยา และ 3.แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมาย
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับพระราชบัญญัติคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ พ.ศ.2551 ทบทวน และซักซ้อมความเข้าใจในการดำเนินการตามพระราชบัญญัติคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ ตลอดจนแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประเด็นปัญหาเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมาย ภาครัฐกับชุมชน ของผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด ซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในส่วนภูมิภาคมาตรา 5 แห่ง พระราชบัญญัติคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ พ.ศ.2551 และเจ้าหน้าที่ของรัฐในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งจะก่อให้เกิดการคุ้มครอง อนุรักษ์ และบริหารจัดการซากดึกดำบรรพ์ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการรักษามรดกทางธรรมชาติของแผ่นดิน สามารถพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ และแหล่งท่องเที่ยวที่สร้างรายได้ให้แก่ท้องถิ่นในอนาคต อันจะนำไปสู่การพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน
ในการนี้ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล กล่าวว่า สิ่งที่ยากขึ้นคือ เราจะบริหารจัดการอย่างไรเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ให้สามารถผ่านพ้นการประเมินในรอบ 4 ปีข้างหน้าได้ ทั้งนี้ ดูแล้วการที่ยูเนสโกประเมิน คือ เรามีหลักฐานทางฟอสซิลที่ระบุชี้ชัดถึงความเก่าแก่ของชั้นเปลือกโลก รวมทั้งหลักฐานที่แสดงถึงสิ่งมีชีวิตในยุค 540 ล้านปีลงมา ส่วนนี้เป็นประการแรกที่ยูเนสโกให้การรับรอง ประการที่ 2 คือ แนวคิดเชิงอนุรักษ์ของพี่น้องชาวสตูล ที่มีวิธีคิดช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ของเรา ส่วนที่ 3 ในเรื่องของวิถีชีวิตของชาวสตูลที่สอดคล้องต่อแนวคิด เชื่อมโยงกับทรัพยากรที่เรามีอยู่ นำไปสู่แนวคิดด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชน ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และนี่เป็นหัวใจสำคัญ
แต่อย่างไรก็ตาม ในเรื่องเหล่านี้ พี่น้องประชาชนในวงกว้างอาจมีความเข้าใจในบางส่วน โดยเฉพาะกฎหมายในเรื่องของการคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ ซึ่งประกาศใช้มาตั้งแต่ปี 2551 โดยต้องยอมรับว่า หลายท่านยังไม่รู้ ซึ่งมีวิธีปฏิบัติทางกฎหมายอาจจะเป็นเรื่องใหม่ เมื่อไปพูดกับชาวบ้านเขาก็ไม่เข้าใจ ต้องยอมรับว่าพื้นที่ของอุทยานธรณีนี้บางส่วนอยู่ในความครอบครองของเอกชน จะสื่อสารอย่างไรให้เขาเข้าใจ ต้องสร้างจิตสำนึก สร้างความตระหนักให้แก่พี่น้องประชาชน ว่า สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สมบัติส่วนตัว พื้นที่ดินอาจเป็นสมบัติของท่าน แต่สิ่งที่อยู่ในพื้นที่เป็นสมบัติส่วนรวม ของประเทศ ของโลก ทั้งนี้ นอกจากให้ความรู้เรื่องการคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์นี้แล้ว การสร้างความตระหนัก สร้างจิตสำนึกก็เป็นเรื่องสำคัญ ทำอย่างไรให้พี่น้องประชาชนมีความรัก ความหวงแหน รู้จักรักษา
ด้าน นายนิวัติ มณีขัติย์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กล่าวแสดงความยินดีกับชาวจังหวัดสตูล ที่ได้รับการประกาศเป็นอุทยานธรณีวิทยาโลกแห่งแรกของประเทศไทย และเป็นแห่งที่ 8 ของเอเชีย พร้อมกล่าวด้วยว่า พ.ร.บ.คุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ ประกาศใช้ตั้งแต่ปี 2551 ทางกรมทรัพยากรธรณีก็เข้าใจถึงการบังคับใช้ การรับรู้รับทราบ การตระหนักของการคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ว่ายังเป็นจุดอ่อน ส่วนนี้ก็พยายามให้มีการรับรู้รับทราบให้มาก เพราะในรายละเอียดของ พ.ร.บ.ซากดึกดำบรรพ์นี้ มี 3 ประเด็นหลัก คือ การคุ้มครองซาก การคุ้มครองแหล่งซาก ในขณะเดียวกัน ต้องมีการเผยแพร่องค์ความรู้ ซึ่งคิดว่ายังไม่เพียงพอ
โดยในครั้งนี้ได้จัดให้มีการฝึกอบรมให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐก่อน โดยเฉพาะในเรื่องการคุ้มครองซาก เพื่อให้เกิดความเข้าใจ สามารถนำไปเผยแพร่ต่อให้แก่พี่น้องประชาชนชาวสตูลได้รับทราบ ในขณะเดียวกัน ต้องขอความร่วมมือในส่วนของจังหวัดสตูลเองด้วย เพราะว่าสิ่งเหล่านี้ถือเป็นสิ่งใหม่ จึงต้องการให้เกิดการรับรู้ ตระหนักรู้ในการอนุรักษ์ในเรื่องของซากดึกดำบรรพ์ ในเรื่องของทรัพยากรธรณี ในเรื่องของภูมิสถานธรณี เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นทรัพย์สมบัติ และเป็นมรดกที่ธรรมชาติให้เรามา