xs
xsm
sm
md
lg

สำเร็จ! สตูลคว้าตำแหน่ง"อุทยานธรณีโลก"จากยูเนสโก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

Facebook : Travel @ Manager
ถ้ำเลสเตโกดอน ที่มีที่มาของชื่อจากการค้นพบฟอสซิลช้างสเตโกดอน
สตูลได้รับเลือกจากยูเนสโกให้เป็นแหล่งอุทยานธรณีโลก (Global Geopark) เนื่องด้วยเป็นแหล่งฟอสซิลที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย และเป็นแหล่งค้นพบซากดึกดำบรรพ์แห่งมหายุคพาลีโอโซอิกครบทั้ง 6 ยุค หนึ่งเดียวในเมืองไทย

หลังจากที่ชาวสตูลได้พยายามผลักดันสตูลเป็นแหล่งอุทยานธรณีมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2554 รวมถึงได้ดำเนินการตามแผนต่างๆ เพื่อเสนอจัดตั้งเป็นแหล่งอุทยานธรณีโลกต่อองค์การยูเนสโก และล่าสุดเมื่อเดือนกรกฎาคม 2560 คณะกรรมการยูเนสโกได้ลงพื้นที่อุทยานธรณีสตูลเพื่อประเมินและรวบรวมข้อมูลไปพิจารณาสู่การเป็นอุทยานธรณีโลก (UNESCO Global Geopark)
ฟอสซิลฟันกรามของช้างสเตโกดอนที่ขุดค้นพบ ปัจจุบันนำมาจัดแสดงในศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราช พิพิธภัณฑ์ช้างดึกดำบรรพ์ทุ่งหว้า
จากนั้นในที่สุดยูเนสโกจึงได้ประกาศให้จังหวัดสตูลเป็นพื้นที่แห่งอุทยานธรณีแห่งแรกของประเทศไทย และเป็นลำดับที่ 5 ในอาเซียน และคาดว่าจะมีการมอบตำแหน่งอย่างเป็นทางการในเวลาต่อไป

ทั้งนี้ จังหวัดสตูลได้ชื่อว่าเป็น “ฟอสซิลแลนด์ แดนสตูล” อันเนื่องมาจากการค้นพบฟอสซิลมากมายในจังหวัดนี้ ซึ่งการค้นพบที่สำคัญคือการพบฟอสซิลกรามช้าง “สเตโกดอน” ที่มีชีวิตอยู่ในยุคไมโอซีนตอนปลายถึงต้นยุคไพลสโตซีน มีอายุประมาณ 1.8 ล้านปีมาแล้ว อีกทั้งยังทั้งมีการค้นพบฟอสซิลในมหายุคพาลีโอโซอิก (Paleozoic) มีอายุประมาณ 542-251 ล้านปี (ก่อนยุคไดโนเสาร์) ซึ่งเป็นยุคแห่งสัตว์ทะเล สิ่งมีชีวิตพวกสาหร่ายดึกดำบรรพ์ และภูเขาสาหร่ายก่อนที่จะมีสัตว์มีครีบเกิดขึ้นบนโลกใบนี้

สตูลยังมีการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ครบทั้ง 6 ยุค ในมหายุคพาลีโอโซอิก ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นแห่งเดียวในเมืองไทย และเป็นเพียงไม่กี่แห่งในโลก นับเป็นเรื่องที่น่าทึ่งไม่น้อย
ประติมากรรมสัตว์ดึกดำบรรพ์บริเวณปากทางเข้าถ้ำเลสเตโกดอน
ปัจจุบัน ถ้ำเลสเตโกดอนได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อของสตูล ตั้งอยู่ใน ต.ทุ่งหว้า อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล มีความยาวกว่า 4 กม. เป็นถ้ำธารลอดในเทือกเขาหินปูนซึ่งมีลักษณะเด่นคือมีน้ำทะเลไหลเข้าไปในถ้ำ(ในช่วงน้ำทะเลหนุน) จนถูกยกให้เป็นถ้ำน้ำเค็มที่ยาวที่สุดในเมืองไทย

ภายในถ้ำเลสเตโกดอนงดงามไปด้วยหินงอกหินย้อยที่สวยงามหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นหินงอกหินย้อยตามเพดาน-ผนังถ้ำ หินประกานเพชร หินที่มีสายน้ำไหลผ่านดูคล้ายม่านน้ำตกเล็กๆภายในถ้ำ เสาหิน หินรูปหลอด ทำนบหิน ซึ่งปัจจุบันถ้ำเลสเตโกดอนยังคงเป็น“ถ้ำเป็น” ซึ่งนักท่องเที่ยวห้ามไปแตะ จับ สัมผัส หินงอกหินย้อยที่กำลังเติบโตมีชีวิตภายในถ้ำอย่างเด็ดขาด
ตัวอย่างฟอสซิลบางส่วนที่นำมาจัดแสดงไว้บริเวณที่ทำการอำเภอทุ่งหว้า
นอกจากฟอสซิลของช้างสเตโกดอนแล้ว ภายในถ้ำแห่งนี้ยังมีการค้นพบฟอสซิลฟันกรามของช้างเอลิฟาสที่เป็นบรรพบุรุษของช้างเอเชีย อายุประมาณ 1.1 ล้านปี พบฟอสซิลของแรดสมัยไพลสโตซีน(ประมาณ 2 ล้าน-11,700 ปีมาแล้ว) พบฟอสซิลกระซู่ เต่า หอย หมึก รวมไปถึงขวานหินของมนุษย์โบราณ รวมแล้วซากดึกดำบรรพ์ที่พบนั้นกว่า 300 ชิ้นเลยทีเดียว

ซากฟอสซิลเหล่านั้นได้นำมาจัดแสดงไว้ที่ “ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราช พิพิธภัณฑ์ช้างดึกดำบรรพ์ทุ่งหว้า” ณ ที่ว่าการอำเภอทุ่งหว้า เพื่อเป็นสถานที่เก็บรักษาฟอสซิลที่พบในท้องที่ อ.ทุ่งหว้า และใน จ.สตูล พร้อมทั้งเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้ให้ผู้สนใจได้เข้าไปเที่ยวชม

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook :Travel @ Manager


กำลังโหลดความคิดเห็น