สตูล - ยูเนสโก ประกาศให้สตูลขึ้นชั้นสู่อุทยานธรณีโลก ยกมาตรฐานการท่องเที่ยว ผู้ว่าราชการจังหวัดลั่นขอให้ประชาชนพร้อมเป็นเจ้าบ้านที่ดี ส่วนท่าเรือน้ำลึกปากบารา หรือโครงการเหมืองหิน ชี้เป็นคนละส่วนกัน
วันนี้ (18 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ยูเนสโก (UNESCO) ได้ประกาศให้ Satun Geopark หรือ อุทยานธรณีสตูล ขึ้นเป็นแหล่งอุทยานธรณีโลก Satun UNESCO Global Geopark เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2561 หลังผ่านการประเมินหลักเกณฑ์คุณสมบัติของ UNESCO
นายภัทรพนธ์ รัตนพิเชฏฐชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล กล่าวว่า ยินดีที่อุทยานธรณีสตูลได้ก้าวขึ้นสู่อุทยานธรณีโลกแห่งแรกของประเทศไทย และยินดีกับชาวจังหวัดสตูล โดยสาเหตุที่สตูลได้นี้ ปรากฏการณ์มีอยู่จริงของหลักฐานทางธรณีวิทยา โดยเฉพาะซากฟอสซิลต่างๆ มีปรากฏชั้นหินชั้นดิน จุดน่าสนใจที่เรียกว่า จีโอพาร์คไซด์ มีการนำเสนอถึง 50 เปอร์เซ็นต์ แต่ทาง UNESCO บอกว่าน่าสนใจอยู่ 30 เปอร์เซ็นต์ อันนี้สรุปว่ามีอยู่มาก ซึ่งสาเหตุของการได้เป็นอุทยานธรณีโลก ไม่สำคัญเท่ากับได้แล้วคนสตูลจะได้อะไร
สิ่งที่น่าสนใจคือ เราจะได้อะไร ส่วนนี้ก็มีการประชุมกันแล้วในส่วนของท่องเที่ยวและกีฬา ทางท้องถิ่นต่างๆ เรื่องยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวของเราว่าตอบรับในส่วนตรงนี้อย่างไร คนที่อยากมาเที่ยว เราจะพาเขาไปดูอะไรบ้าง แล้วชุมชนจะมีรายได้จากตรงไหนบ้าง ที่พัก ของฝาก บริการที่จะให้แก่นักท่องเที่ยวนั้นต้องมีมาตรฐาน หากเขามาแล้วต้องอยากมาอีก โดยเฉพาะชุมชนที่มีความน่าสนใจด้านการท่องเที่ยวนี้ต้องเตรียมตัว ทางภาครัฐก็ทำหน้าที่สนับสนุน เมื่อนักท่องเที่ยวมาแล้วก็ต้องเป็นเจ้าภาพที่ดี อาหารที่พักต้องสะอาด ราคาสมเหตุสมผล ไม่โก่งราคา ต้องเป็นมาตรฐาน ที่สำคัญต้องปลอดภัยทั้งชีวิต และทรัพย์สิน ไม่ว่าจะเดินทางไปล่องแก่ง หรือเข้าถ้ำต่างๆ
ในส่วนของโครงการใหญ่ๆ อย่างท่าเรือน้ำลึกปากบารา หรือ โครงการเหมืองหิน ที่หลายคนกังวลถึงผลกระทบตรงนี้นั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล กล่าวว่า ส่วนนี้ไม่เกี่ยวกัน เป็นคนละเรื่องกันเป็นเรื่องเฉพาะ
“อุทยานธรณีสตูล” (Satun Geopark) ตั้งอยู่ทางภาคใต้ของประเทศไทย ครอบคลุม 4 อำเภอของจังหวัดสตูล คือ ทุ่งหว้า มะนัง ละงู และอำเภอเมือง ลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขาหินปูน มีเกาะน้อยใหญ่ และชายหาดที่สวยงาม นักท่องเที่ยวสามารถสัมผัสกับธรรมชาติอันบริสุทธิ์ ความร่ำรวยทางประวัติศาสตร์ และวิถีชีวิตผู้คนที่ผูกพันกับพื้นที่แห่งนี้
ผืนดินแห่งนี้เป็นบันทึกหลักฐานของโลกใต้ทะเลเมื่อ 500 ล้านปีก่อน ที่อุดมไปด้วยสิ่งมีชีวิตยุคเก่า เกิดเป็นแหล่งสร้างออกซิเจนให้แก่โลกในช่วงเวลานั้น ต่อมา มีการยกตัวของเปลือกโลกก่อเกิดเป็นเทือกเขา และถ้ำ ซึ่งได้กลายเป็นบ้านหลังแรกของมนุษย์โบราณ ปัจจุบัน ผู้คนก็ยังดำรงชีวิตโดยใช้ประโยชน์จากทรัพยากรของแผ่นดินนี้อยู่ และก่อเกิดเป็นวัฒนธรรมประเพณีที่มีเอกลักษณ์
ด้วยความโดดเด่นทางธรณีวิทยา ภูมิประเทศ และธรรมชาติของอุทยานธรณีสตูล ก่อให้เกิดกิจกรรมการท่องเที่ยวทางธรรมชาติหลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวแนวผจญภัย เช่น ล่องแก่ง ดำน้ำ เที่ยวถ้ำ การท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจที่น้ำตก ชายหาด รวมถึงเลือกซื้อของฝากผลิตภัณฑ์ชุมชน และสัมผัสวัฒนธรรมท้องถิ่นที่หลากหลาย