รายงานพิเศษ..ศูนย์ข่าวภาคใต้
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการศาตร์พระราชาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เมื่อวันศุกร์ที่ 20 เมษายน ที่ผ่านมา หลังจากที่องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ประกาศขึ้นทะเบียนพื้นที่ 4 อำเภอของ จ.สตูล เป็นอุทยานธรรณีโลกสตูล ซึ่งนับเป็นอีกก้าวหนึ่งที่จะส่งผลต่อการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามันโดยรวมในอนาคต
“ผมขอยกตัวอย่างโครงการด้านการท่องเที่ยวและบริการระดับท้องถิ่น ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่เราควรให้ความสนใจ ได้แก่ อุทยานธรณีโลกในจังหวัดสตูล ซึ่งครอบคลุม 4 อำเภอ ที่ผ่านการประเมินหลักเกณฑ์ขององค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) เมื่อ 17 เมษายนที่ผ่านมา นับเป็นอุทยานธรณีโลกแห่งแรกของประเทศไทย ที่มีซากฟอสซิล ชั้นหิน ชั้นดิน ซึ่งเป็นจุดน่าสนใจทางธรณีวิทยา อีกทั้งมีเทือกเขาหินปูน ถ้ำ เกาะ ชายหาด และล่องแก่ง ที่เป็นจุดขาย สำหรับนักท่องเที่ยว”
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทั้งหมดนี้กลไกประชารัฐและชุมชนต้องร่วมกันวางยุทธศาสตร์การท่องเที่ยว การอนุรักษ์ การต้อนรับผู้มาเยือน การเป็นเจ้าบ้านที่ดี ดูแลเรื่องราคา และความปลอดภัยต่างๆ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ณ แหล่งท่องเที่ยว อาทิ เส้นทางจราจร พื้นที่จอดรถ เขตสุขาภิบาล การโซนนิ่งพื้นที่
“เราต้องพิจารณาให้ครบวงจร เป็นขั้นเป็นตอน ให้ได้มาตรฐาน ต้องช่วยกันคิด ช่วยกันสร้าง เริ่มระเบิดจากข้างใน และชุมชนต้องช่วยกันดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง อย่าปล่อยให้ทรุดโทรม เพราะจะเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ นำรายได้มาสู่ชุมชนของท่าน โดยรัฐบาลก็จะเข้าไปสนับสนุนในภาพรวมของเศรษฐกิจมหภาคด้วย”
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2559 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบเสนอให้อุทยานธรณีสตูลเป็นสมาชิกอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก (UNESCO Globat Geoparks) ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ ดังนี้ 1.เห็นชอบให้เสนออุทยานธรณีสตูลเป็นสมาชิกอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก (UNESCO Globat Geoparks) 2.มอบหมายให้คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) กระทรวงศึกษาธิการ ดำเนินการเสนออุทยานธรณีสูตลเป็นสมาชิกธรณีโลกของยูเนสโกต่อสำนักเลขาธิการยูเนสโก ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
แต่ในเดือนมีนาคม 2560 ก็เป็นหน่วยงานภาครัฐนำโดยกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม ที่ยังพยายามผลักดันโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกอุตสาหกรรมปากบารา ที่จะมีการถมทะเล ยกเลิกพื้นที่เขตอุทยานทางทะเลเนื้อที่เกือบ 5,000 ไร่ใช้เป็นสถานที่ก่อสร้างและเส้นทางเดินเรือสินค้าขนาดใหญ่ ซึ่งประชาชนคงไม่คัดค้านใดๆ หากพื้นที่ก่อสร้างและเส้นทางเดินเรือสินค้านั้นมันไม่ได้อยู่ในเขตพื้นที่อาณาเขตเดียวกัน กับเขตอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและเขตอนุรักษ์ทางธรณีวิทยา ที่มีสถานะเป็นอุทยานธรณีโลกอยู่ในขณะนี้
มองย้อนกลับ10 ปีก่อนหน้านี้ หากไปถามอดีตผู้อำนวยการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานภาคใต้ที่รับผิดชอบพื้นที่ จ.สงขลา และ จ.สตูล ว่าเหตุใด จ.สตูล ซึ่งตั้งอยู่บนชายฝั่งทะเลอันดามันมีทรัพยากรธรรมชาติที่สวยงามเกินคำบรรยายตั้งมากมาย แต่เหตุใดจึงไม่สามารถพัฒนาด้านการท่องเที่ยวให้บูมเหมือนกับ จ.กระบี่ จ.พังงา และ จ.ภูเก็ต ได้ ทั้งที่มีต้นทุนจากฐานทรัพยากรที่เป็นสินค้าท่องเที่ยวชั้นดีไม่แตกต่างกับพื้นที่ชายฝั่งอันดามันทางตอนบน ซึ่งคำตอบที่ได้รับเมื่อทศวรรษที่ผ่านมาคือ
“สตูลมีทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลที่สวยงามไม่แพ้ภูเก็ต พังงา หรือกระบี่ แต่เหตุที่การท่องเที่ยวไม่บูมเหมือนที่นั่นก็เพราะว่าพื้นที่ส่วนใหญ่ของ จ.สตูล ทั้งบนแผ่นดินและในทะเลล้วนเป็นพื้นที่อยู่ในเขตอนุรักษ์ทั้งหมด ทั้งในส่วนของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา-ตะรุเตา และเขตอุทยานแห่งชาติทะเลบัน ทำให้เอกชนไม่สามารถเข้าไปพัฒนาธุรกิจการท่องเที่ยวได้ มีเพียงที่เกาะหลีเป๊ะเท่านั้นที่สามารถพัฒนาการท่องเที่ยวได้ซึ่งถือเป็นกรณีพิเศษ เพราะเกาะหลีเป๊ะก็อยู่ในเขตอนุรักษ์เช่นกัน”
เมื่อพิจารณาจากคำตอบของหน่วยงานภาครัฐที่ดูแลด้านการท่องเที่ยวของ จ.สตูล ดังที่ยกมาเป็นตัวอย่าง จะพบว่าเป็นคำตอบที่ทำให้สังคมเข้าใจไปได้ว่าการถูกประกาศเป็นพื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของ จ.สตูล (รวมถึงพื้นที่อื่นที่มีลักษณะแบบเดียวกัน) คืออุปสรรคกีดขวางการพัฒนาทางด้านธุรกิจการท่องเที่ยวมาโดยตลอดใช่หรือไม่ เพราะวิสัยทัศน์ด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวของประเทศไทยก่อนหน้านี้เป็นไปในรูปแบบเดียวกันหมด คือการพัฒนาท่องเที่ยวเพื่อตอบสนองธุรกิจ กลุ่มทุน กระตุ้นให้นักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามา กระตุ้นการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวผ่านการโฆษณาประชาสัมพันธ์รูปแบบต่างๆ เพื่อดึงดูดรายได้จากการท่องเที่ยว
โดยที่ผ่านมาพบว่าหลายพื้นที่ เช่นการท่องเที่ยวใน อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน, การท่องเที่ยวในชุมชนคีรีวง ต.กำโลน อ.ลานสกา จ.นครศรีธรรมราช แม้จะเป็นพื้นที่ที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวสร้างรายได้มหาศาลต่อปี แต่ที่ผ่านมาไม่มีแผนรับมือกับจำนวนของนักท่องเที่ยวที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น
เมื่อถึงจุดหนึ่งจึงมีปัญหาต่อชุมชนและประชาชนที่อาศัยอยู่ในแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ได้เช่นกันดังเช่นกรณีของชุมชนคีรีวงเป็นต้น แม้ว่าก่อนจะไปถึงจุดวิกฤตินั้น ทั้งที่ชุมชนส่วนหนึ่งมีความพึงพอใจกับเม็ดเงินที่เข้ามาสู่ภาคธุรกิจการท่องเที่ยว โดยเฉพาะในแหล่งท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลอันดามันของประเทศไทยที่สร้างรายได้นับแสนล้านบาทในแต่ละปี แต่พบว่าสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือผลกระทบต่อทรัพยากรการท่องเที่ยว ปัญหาขยะและน้ำเสีย รวมถึงความแออัดของนักท่องเที่ยว ที่อาจจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ อันอาจจะยิ่งทำให้การแก้ไขยิ่งเป็นไปได้ยากในอนาคต
แต่กรณีของ จ.สตูล ประชาชนไม่เคยเรียกร้องให้ภาครัฐต้องลดความเข้มข้นในมาตรการการปกป้องพื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทั้งบนบกและในทะเลแต่อย่างใด ตรงกันข้ามประชาชนในพื้นที่ได้เห็นข้อดีของการเป็นพื้นที่อนุรักษ์ที่ไม่ทำให้เกิดการเติบโตทางการท่องเที่ยวอย่างก้าวกระโดดจนส่งผลกระทบกับชุมชนตามมาซึ่งในส่วนของ จ.สตูล มีกรณีวิกฤติการท่องเที่ยวบนเกาะหลีเป๊ะ เป็นกรณีศึกษาได้อย่างดีจากปัญหาขยะล้นเกาะ, การพิพาทเรื่องที่ดิน, และการทำลายทรัพยากรธรรมชาติของนักท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง เช่น กรณีการทำลายปะการังและหอยมือเสือที่เคยปรากฎเป็นข่าวก่อนหน้านี้
ทำให้ประชาชนชาว จ.สตูล โดยเฉพาะชุมชนที่อาศัยอยู่ริมชายฝั่งทะเล คือ อ.ละงู อ.ทุ่งหว้า อ.เมืองสตูล บางส่วนและชุมชนแถบเชิงเขาที่เป็นป่าต้นน้ำสำคัญใน อ.มะนัง สามารถมองเห็นภาพเปรียบเทียบได้อย่างชัดเจนว่าวิสัยทัศน์การพัฒนาด้านการท่องเที่ยวที่มีสูตรสำเร็จรูปของภาครัฐ ทำได้เพียง “พัฒนาเกาะหลีเป๊ะให้ตกอยู่ในชะตากรรมเลวร้ายไม่ต่างจากเกาะพีพี จ.กระบี่” ซึ่งสำหรับชาวบ้านเจ้าของพื้นที่ผู้อยู่ใกล้ชิดกับแหล่งท่องเที่ยวที่ต้องเห็นภาพความเปลี่ยนแปลงไปในทางเลวร้ายอยู่ทุกวัน นั่นคือเรื่องที่สุดแสนจะน่าสะเทือนใจ
การเป็นพื้นที่อนุรักษ์ทั้งในทะเลและบนแผ่นดินของ จ.สตูล พิสูจน์แล้วในวันนี้ว่า มาตรการไม่ยอมจำนนให้เกิดการพัฒนาการท่องเที่ยวแบบทำลายล้างใน 1 ทศวรรษที่ผ่านมา แท้จริงแล้วคือการปกป้องรักษาขุมทรัพย์อันมีค่าไว้ให้ยาวนานที่สุด รอคอยอย่างใจเย็นและอดทน จนกระทั่งเมื่อทุกอย่างพร้อม ก็ได้เวลาที่เจ้าของบ้านเจ้าของทรัพย์สินและเจ้าของทรัพยากรตัวจริงจะเปิดหีบให้ทั่วโลกได้ชมว่า จ.สตูล มีทรัพย์สมบัติทรัพยากรธรรมชาติที่ทรงคุณค่าอะไรบ้างที่ไกด์ท่องเที่ยวของชุมชนจะนำผู้มาเยือนไปชม การได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวโดยไกด์ชุมชนซึ่งเป็นเจ้าของบ้านเอง โดยไม่ผ่านนายหน้าเคาท์เตอร์ทัวร์ใดๆ คือความรู้สึกใหม่ ในความหมายของการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ซึ่งเป็นมูลค่าที่ไม่มีอยู่ในการท่องเที่ยวทำลายล้างตามวิถีเดิมๆ ที่ดำเนินอยู่เป็นส่วนใหญ่
นั่นหมายถึงว่าชุมชนจะต้องมีความเข้มแข็งและมีส่วนร่วมมาตั้งแต่การกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ พูดง่ายๆ ว่าชุมชนจะต้องลุกขึ้นมากำหนดอนาคตตนเอง เพราะไม่ว่าจะอย่างไรชุมชนก็คือผู้ที่รับผลกระทบโดยตรงไม่ว่าจะเป็นด้านดีหรือด้านเสียจากยุทธศาสตร์การพัฒนา และที่ผ่านมาประชาชนใน จ.สตูล ได้แสดงออกให้เห็นมาตลอดผ่านทางเวทีสมัชชาชาประชาชน จ.สตูล และการเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตอุตสาหกรรมหนัก เพื่อสื่อสารกับรัฐบาลว่าชาวสตูลมีความต้องการอย่างไร
และที่ผ่านมาการเคลื่อนไหวคัดค้านพิธีกรรมปลุกเสกท่าเรือน้ำลึกและเขตอุตสาหกรรมที่รัฐจะเดินหน้าสร้างในพื้นที่ริมชายฝั่งบ้านปากบารา อ.ละงู จ.สตูล ซึ่งอยู่ในพื้นที่ประกาศของ UNESCO ให้เป็นอุทยานธรณีโลก จ.สตูล เช่นกัน ยังไม่ชัดเจนอีกหรือว่าประชาชนชายฝั่งทะเลอันดามันมีความต้องการเช่นไรและมีส่วนร่วมอย่างไรต่อการพัฒนาที่ผ่านๆ มาซึ่งรัฐเป็นผู้กำหนดทั้งสิ้น
ขณะเดียวกันการรวมกลุ่มของชาวบ้านริมชายฝั่งชุมชนตั้งวิสาหกิจชุมชนจัดการการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์อย่างยั่งยืนขึ้น มีประชาชนใน 15 ชุมชนรอบอ่าวละงู ลงมือเขียนโครงการโดยได้รับการสนับสนุนจากองค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการ สื่อมวลชน และภาคประชาชนต่างๆ รวมถึงภาครัฐบางหน่วยงาน ร่วมทำการศึกษาวิจัยข้อมูลชุมชนเจาะลึกถึงรากเหง้าในระดับประวัติศาสตร์ดึกดำบรรพ์ ศึกษาลึกลงไปในชั้นหินและเปลือกโลก
ซึ่ง จ.สตูล เป็นพื้นที่เดียวในประเทศไทยที่มีหลักฐานบันทึกไว้ในชัดเจนว่าสถานที่แห่งนี้มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอย่างไร ทั้งในบริบทของประวัติศาสตร์มนุษยชาติและในบริบทของประวัติศาสตร์การกำเนิดขึ้นของโลก ทำให้ภาคประชาชนยิ่งค้นพบและมองเห็นถึงความสำคัญ
ในห้วงเกือบ 20 ปีที่ผ่านมาประชาชนใน จ.สตูล และแนวร่วมที่มีอุดมการณ์เดียวกันด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ จึงพร้อมใจกันสละเวลาแรงกายเข้าร่วมจัดทำยุทธศาสตร์ ข้อเสนอ ไปจนถึงการคัดค้านอย่างอหิงสาไม่ให้แผนพัฒนาภาครัฐที่จะนำสตูลไปสู่หนทางเสื่อม คือโครงการท่าเรือน้ำลึกและอุตสาหกรรมต่างๆ ไม่ให้เกิดขึ้นใน จ.สตูล
ทำให้หลายคนต้องสูญเสียอิสรภาพถูกดำเนินคดีถูกคุกคามจากขบวนการของภาครัฐต่างๆ นานา แต่ทว่าไม่สามารถหยุดความตั้งใจจริงของชาวบ้านได้ จนขบวนการปกป้องอันดามันได้ขยายไปเป็นอุดมการณ์ปกป้องด้ามขวานไทยจากการพัฒนาอุตสาหกรรมหนักที่ไม่ตอบโจทย์ความยั่งยืนตามศักยภาพทรัพยากรและตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง
รูปธรรมที่ชัดเจนคือกลุ่มบริหารจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนในแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังอย่างปราสาทหินพันยอด เกาะเขาใหญ่ หนึ่งในธรณีโลกสตูล ซึ่ง UNESCO ยกย่องว่า “ปราสาทหินพันยอด” คือความโดดเด่นที่น่าทึ่งของธรณีโลกและนี่ไม่ใช่ที่เดียวแต่ในอาณาบริเวณของเนื้อที่เกือบ 3,000 ตารางกิโลเมตรของอุทยานธรณีโลกสตูล ยังมีสิ่งตื่นตาตื่นใจรออยู่อีกจำนวนมาก
“ ความจริงแล้ว จ.สตูล เรายังมีแหล่งทรัพยากรที่สามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่มีความสวยงามระดับโลกอีกหลายที่ เรากล้าพูดว่าสวยงามระดับโลกเพราะคนต่างชาติที่เขาเคยมาค้นคว้ามาศึกษาเขายืนยันแบบนั้น เรายังมีแหล่งดำน้ำ แหล่งชมความงามต่างๆ อีกหลายจุด ไม่ต่ำกว่า 40 จุดที่เรายังไม่อยากให้ใครรู้ ในตอนนี้ เก็บเอาไว้ ให้เขาได้อยู่อย่างนั้น ยังไม่ควรมีใครได้เห็นเขาตอนนี้ เราชาวประมงพื้นบ้านและเครือข่ายได้แบ่งทีมกันออกสำรวจอ่าวละงู อ่าวทุ่งหว้า เรียกว่าศึกษาทุกๆ ตารางเมตร ทั้งใต้น้ำและบนบก เรามีผู้เชี่ยวชาญทุกสาขา คนหาปลาวางอวน เขารู้ดีว่าแถวไหนวางอวนไม่ได้เพราะมีปะการังสวย ระดับน้ำตื้นลึกเท่าไหร่เขารู้หมดทั้งใต้ทะเลและบนยอดเขาของที่นี่ เมื่อได้ข้อมูลมาแล้วก็นำไปกำหนดแผนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวยั่งยืนโดยชุมชน” วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี สมาคมรักษ์ทะเลไทย จ.สตูล กล่าวกับ “MGR Onlineภาคใต้”
การปรากฎตัวของ “ปราสาทหินพันยอด” ซึ่งนับเป็น “เพชรเม็ดงาม” ที่โลกยกย่อง มีเรื่องราวความเป็นมาที่น่าตื่นตาตื่นใจและสุดแสนจะดราม่าแต่ทว่ามันน่าซาบซึ้งใจในหัวใจและจิตสำนึกของชาวบ้านตัวเล็กๆ กับช่างภาพหนุ่มคนหนึ่ง ซึ่งจะเล่าให้นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับฟังในตอนต่อไป เพื่อจะได้เข้าใจว่าทำไมชาวบ้านกลุ่มวิสาหกิจท่องเที่ยวชุมชนอ่าวปากบาราจึงกล้าประกาศว่า
“เป็นเรามาเที่ยวเองนี่ก็นับว่าคุ้มเกินคุ้ม..ที่นี่มันไม่ใช่แหล่งท่องเที่ยว..แต่เหมือนสวรรค์ซ่อนอยู่ใต้น้ำ ตามหลืบถ้ำ ไม่รู้จะโม้ยังไงที่ผ่านมาเราก็ไม่มีกล้องถ่ายรูปดีๆ และยังไม่มีแผนการจัดการกันเลย มันไม่ควรเป็นรายได้ของใครคนใดคนเดียวมันควรเป็นของชุมชนเพราะชุมชนเป็นผู้ปกป้องดูแล เราศึกษาวิจัยร่วมกันมานานจนได้แผนการจัดการที่จะนำไปสู่ความยั่งยืน หากใครมีเวลาเราสามารถอธิบายให้เข้าใจได้ว่าทำไม...”
“เราถึงไม่อยากขายเพชรในราคาเศษเหล็ก...ไม่อยากเอาสวรรค์ปากบาราไปแลกกับท่าเรือน้ำลึก”
(อ่านตอนที่ 2)