xs
xsm
sm
md
lg

แผ่นดินสตูล : จุดกำเนิดลมหายใจโลก [ตอนที่ 2] เซอตุล “คนเฝ้าตีนเสาของเทือกเขาหิมาลัย” ชะตาลิขิตให้ “บังไกร - บังโฟล์ค” มาพบกันอย่างประหลาดที่ “ปราสาทหินพันยอด”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

บังโฟล์ค เป็นอาสาสมัครกู้ชีพและคณะกรรมการลุ่มน้ำฯ ของ จ.สตูล กิจกรรมอดิเรกที่เขาทำมาตลอดหลายปีมานี้คือถ่ายภาพและสำรวจธรรมชาติของ จ.สตูล
 
รายงานพิเศษ..ศูนย์ข่าวภาคใต้
 
สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญๆ ตามจังหวัดต่างๆ ในประเทศไทยส่วนใหญ่มักจะมีเรื่องเล่าหรือตำนานเกี่ยวพันอยู่และกลายเป็นสตอรี่เล่าขานต่อเนื่องไปไม่รู้จบสิ้นส่วนใหญ่มักเป็นเรื่องที่พูดถึงประวัติที่มาและความสำคัญของสถานที่ต่างๆ เรื่องราวส่วนใหญ่เดินทางข้ามเวลายาวนานและเล่าต่อๆ กันมาโดยยากที่จะหาต้นตอหรือจุดเริ่มต้นว่าเริ่มเป็นที่กล่าวขานกันเมื่อใด แต่น่าสนใจว่าสถานที่สำคัญๆ เกือบทุกแห่งใน จ.สตูล ไม่ปรากฎเรื่องเล่าหรือตำนานนิทานปรัมปราหรือปกรณัมใดๆ ไม่มีปรากฎ แต่หากใครอยากลองจินตนาการผูกโยงเรื่องราวต่างๆ ที่เคยผ่านการรับรู้มาแล้วโดยอาศัยข้อมูลทางธรณีวิทยายาในฐานะอุทยานธรณีโลกของ จ.สตูล เป็นพื้นฐานก็จะพบว่ามีเรื่องราวอันน่าทึ่งตั้งอยู่บนหลักฐานประกอบต่างๆ ที่จับต้องได้จริงบนโลกใบนี้ 

กล่าวคือดินแดนอันดามันใต้แห่งนี้ เป็นอาณาเขตใต้สุดทางฝั่งทะเลอันดามันของประเทศไทย คำว่า สตูล มาจาก ภาษามลายูเกดะห์ ว่า เซอตุล (ستول) (ภาษามาเลย์ ว่า เซอตุล (setul) แปลว่า กระท้อน ซึ่งเป็นผลไม้ชนิดหนึ่งที่ขึ้นอยู่ชุกชุมในท้องที่นี้ ส่วนชื่อเมืองเก่าในนาม นครสโตยมำบังสการา (มลายู: Negeri Setoi Mumbang Segara) นั้นหมายความว่า สตูล เมืองแห่งพระสมุทรเทวา ที่ใช้เป็นตราหรือสัญลักษณ์ของจังหวัด น่าสังเกตุว่าจากหลักฐานทางธีรณีวิทยาที่ทำให้เชื่อว่าแผ่นดิน จ.สตูล คือพื้นดินส่วนแรกสุดของโลกที่ยกตัวขึ้นพ้นจากระดับน้ำ เป็นหนึ่งในจุดก่อกำเนิดสิ่งมีชีวิตขึ้นมาบนโลกใบนี้รวมทั้งมนุษย์
 

 
ธารน้ำตกนี้อยู่ในเขตธรณีวิทยาโลกสตูลเช่นกัน
 
หลักฐานยืนยันคือซากฟอสซิลสาหร่ายชนิดหนึ่งที่สร้างอ๊อกซิเจนขึ้นบนโลกจนนำมาสู่วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตอันหลากหลายได้ถูกค้นพบที่ตำบลหนึ่งของ จ.สตูล พืชสาหร่ายชนิดนี้ ในทางธรณีวิทยาเชื่อว่าเป็นรูปแบบของสิ่งมีชีวิตชนิดแรกที่ก่อกำเนิดขึ้นบนโลกโดยอาศัยพลังงานจากความร้อนที่พวยพุ่งมาจากชั้นเปลือกโลกที่จมอยู่ใต้มหาสมุทรลึกที่เรียกว่า “สะดือทะเล”

สะดือ ซึ่งในความหมายของมนุษย์คือจุดสำคัญของอวัยวะร่างกายที่ถ่ายเทชีวิตและส่งต่อพันธุกรรมจากมารดาไปสู่ทายาทผู้สืบทอดสายใยชีวิต ซึ่งน่าทึ่งมากที่ชื่อดั้งเดิมของ จ.สตูล ในภาษามลายู คือ “สโตยมำบังสการา” ที่มีความหมายว่า “สตูล เมืองแห่งพระสมุทรเทวา” มีความหมายไปในทิศทางเดียวกันกับชื่อของแผ่นดินบนยอดเขาแห่งเทือกเขาที่สูงที่สุดในโลกคือยอดเขาเอเวอเรสต์ เทือกเขาหิมาลัย ซึ่งชาวเนปาลเรียกชื่อยอดเขานี้ในภาษาสันสกฤต ว่า “สครมาตา” ( सगरमाथा ) ซึ่งหมายถึง “มารดาแห่งท้องสมุทร”
 

หากดูจากแผนที่โลกทางโปรแกรมกูเกิลเอิร์ธในโหมด 3 มิติ จะพบว่าแผ่นดินสตูลเป็นแผ่นดินเดียวที่ติดต่อกันกับแผ่นดินที่ยกตัวสูงขึ้นไปจนถึงยอดเขาเอเวอเรสต์ หรือ “สครมาตา” ในภาษาของชาว “เชอร์ปา” ชนเผ่าหนึ่งของประเทศเนปาลอพยพขึ้นไปอาศัยอยู่บนนั้น เสมือนทำหน้าที่เป็นผู้เฝ้าหลังคาโลกเอาไว้ ขณะที่คน “เซอตุล” หรือคนสตูลทำหน้าที่พิทักษ์รักษาในส่วนที่สำคัญซึ่งมีบางส่วนโผล่พ้นน้ำขึ้นมาขณะที่ส่วนที่เหลือจมลึกอยู่ในมหาสุมทร

จากยอดเขาเอเวอเรสต์ เทือกเขาหิมาลัย เมื่อไล่นิ้วลงมาตามแผนที่ประเทศไทยเรื่อยๆ จะพบว่าน่าทึ่งมากที่ประเทศไทยเป็นแผ่นดินที่วางตัวอยู่ในแนวดิ่งลาดลงมาทางทิศใต้ มีมหาสมุทรสำคัญของโลกขนาบทั้ง 2 ด้าน และในบริเวณแผ่นดินที่เป็น จ.สตูล รวมทั้งดินแดนที่เคยเป็นของไทยแต่ตกเป็นของประเทศมาเลเซียมาตั้งแต่ยุคล่าอาณานิคม จากหลักฐานทางธรณีวิทยาที่พบหินเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่า 500 ล้านปี โดยพบที่เกาะตะรุเตา และถูกจัดอยู่ในหินต้นแบบที่มีความสำคัญทางธรณีวิทยา พบว่าหินที่เก่าแก่นี้ทอดตัวอยู่ใต้ผืนดินจากเกาะตะรุเตายาวไปถึง อ.รัตภูมิ จ.สงขลา
เกาะที่เต็มไปด้วยเปลือกหอยสีขาวใน จ.สตูล ภาพ Folk Kamponsak Sassadee
 
แม้นักธรณีวิทยาในโลกนี้ยังไม่สามารถสรุปได้แบบชัดเจนว่าแผ่นดินส่วนใดคือส่วนที่เก่าแก่ที่สุดของโลก ระหว่างเกาะกรีนแลนด์ กับแผ่นดินที่เรียกว่า “Ur” ซึ่งอยู่ในประเทศอินเดีย แต่เมื่อพิจารณาจากความเชื่อและปรัชญาที่เก่าแก่ที่สุดของโลกคือคัมภีร์พระเวทของศาสนาพรามณ์และฮินดู ทำให้ค่อนข้างมีความเป็นไปได้ว่าอินเดียหรือชมพูทวีปคือแผ่นดินที่เก่าแก่ที่สุดในโลก

โดยในคัมภีร์พระเวทได้กล่าวถึง “เขาพระสุเมรุ” อันเป็นส่วนที่สูงที่สุดของโลกเป็นที่สถิตย์ของพระผู้เป็นเจ้า ขณะที่ในศาสนาพุทธเองก็ได้พูดถึงภูเขาแห่งนี้เอาไว้ เมื่อแผ่นดินสตูลเป็นแผ่นดินเดียวกันกับเทือกเขาหิมาลัย และเมื่อเทือกเขาหิมาลัยมียอดเขาเอเวอเรสต์ หรือ “สครมาตา” เป็นส่วนที่สูงที่สุดที่เรียกว่า “หลังคาโลก” จากแผนที่โลกจะเห็นชัดว่าแผ่นดินสตูลไม่ต่างจากเป็น “ตีนเสาของเทือกเขาหิมาลัย” หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือแผ่นดินสตูลเป็นที่ตั้งของ “ศูนย์กลางจักรวาล” อันยิ่งใหญ่ในคติความเชื่อนั้นนั่นเอง
 
ภาพ Folk Kamponsak Sassadee
 
อัลเฟรด เวเกเนอร์ นักธรณีวิทยาและอุตุนิยมวิทยาชาวเยอรมัน เจ้าของทฤษฎีการไหลเลื่อนของทวีป เชื่อว่าส่วนที่เป็นแผ่นดินในปัจจุบันเกิดจากการเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลก ที่เกิดขึ้นเมื่อ 4,600 ล้านปีก่อนหรืออาจจะมากกว่านั้น ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่โลกเริ่มก่อตัวเป็นดาวเคราะห์แล้วถูกอุกกาบาตขนาดใหญ่พุ่งชนโลก เปลือกโลกที่ยังไม่เสถียร เต็มไปด้วยภูเขาไฟพ่นก๊าซร้อนออกมา บรรยากาศโลกเต็มไปด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ต่อมาเมื่อ 4,200 ล้านปีก่อน โลกเย็นตัวลง ไอน้ำควบแน่นทำให้เกิดฝน

จากนั้นต่อมาเมื่อ 4,000 ล้านปีก่อน ได้เกิดโมเลกุลของสิ่งมีชีวิตขึ้น
 จนกระทั่งเมื่อประมาณ 3,500 ล้านปีที่ผ่านมานี้เอง ตะกอนดินภูเขาไฟที่จมอยู่ใต้มหาสมุทรลึกได้ก่อตัวกันเป็นแผ่นทวีปที่มีการเคลื่อนที่อยู่ตลอดเวลาจากพลังงานจากขั้วแม่เหล็กโลกดึกดำบรรพ์ จนกระทั่งมีส่วนที่โผล่พ้นมหาสมุทรขึ้นมากลายเป็นแผ่นดินเช่นในปัจจุบัน โดยนักธรณีวิทยาชาวเยอรมันเชื่อว่าแผ่นดินที่เก่าแก่ที่สุดในโลกคือส่วนที่เรียกว่า “Ur” ความหมายในภาษาเยอรมันหมายถึง “ดั้งเดิม”

โดยแผ่นดินส่วนนี้ปัจจุบันอยู่ในแถบประเทศอินเดีย ในบริเวณใกล้กับเทือกเขาหิมาลัยที่มียอดเขาสูงที่สุดในโลก ซึ่งในยุคดึกดำบรรพ์แผ่นดินส่วนนี้ของโลกเคยเป็นส่วนที่จมอยู่ลึกที่สุดใต้มหาสมุทร ลึกในระดับที่เรียกว่า “สะดือทะเล” ซึ่งในทางชีววิทยาอธิบายว่าสภาพที่มีทั้งแรงดันจากความหนาแน่นของน้ำ ประกอบกับอุณหภูมิความร้อนจากแม็กม่าและก๊าซต่างๆ ที่พวยพุ่งออกมาจากชั้นหินและปล่องภูเขาไฟที่จมอยู่ใต้มหาสมุทร เป็นสภาวะที่เป็นจุดกำเนิดของสิ่งมีชีวิตชนิดแรกขึ้นบนโลกนั่นคือแบคทีเรีย
 

 
ภาพ Folk Kamponsak Sassadee
 
และต่อมาเกิดพืชสาหร่ายสโตรมาโตไลต์ ที่กระบวนการสังเคราะห์แสงเพื่อย่อยอาหารของพวกมันได้สร้างก๊าซอ๊อกซิเจนขึ้น เกิดชั้นบรรยากาศ เกิดฝนตกที่เป็นวัฎจักรของน้ำและเกิดสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ตามมาดังเช่นในปัจจุบัน ซึ่งหลักฐานการพบซากฟอสซิลสโตรมาโตไลต์ ทำให้เชื่อได้ว่าแผ่นดินที่ประกอบกันขึ้นเป็น จ.สตูล ในปัจจุบัน เป็นแผ่นดินผืนเดียวกับที่ประกอบกันขึ้นเป็นเทือกเขาหิมาลัย

ซึ่งทั้งเทือกเขาหิมาลัยและแผ่นดินของ จ.สตูล ล้วนเคยจมอยู่ในมหาสมุทร ที่มีสภาวะแวดล้อมเอื้อให้เกิดชีวิตแรกขึ้นบนดาวเคราะห์ดวงนี้ บรรพชนจึงขนานนามในความหมายที่คล้ายกันว่า “สครมาตา (สันสกฤต) = มารดาแห่งท้องสมุทร” และ “สโตยมำบังสการา - สตูล - เมืองแห่งพระสมุทรเทวา” ทำให้มีคำถามที่น่าสนใจต่อไปอีกว่า เมื่อเกิดแผ่นดินขึ้นมาแล้ว “แล้วคนสตูลล่ะมาจากไหน?” คนกลุ่มแรกที่มาอาศัยอยู่ในแผ่นดินสตูล มีความเป็นไปได้ว่าน่าจะเป็นสาวกของศาสนาที่มีคัมภีร์เก่าแก่ที่สุดของโลกนั่นคือ “พรามณ์”
 
คุรำ สัตว์ป่าหายากยังมีชีวิตให้เห็นอยู่ในอุทยานแห่งชาติทะเลบัน
 
โดยพิจารณาจากประวัติการก่อเกิดขึ้นของสถานที่อันเกี่ยวเนื่องกับศาสนาพรามณ์ที่อยู่ใกล้ จ.สตูล มากที่สุด นั่นคือ “วัดเขาอ้อ” ตามประวัติระบุว่า แต่เดิมเรียกว่าสำนักเขาอ้อซึ่งเป็นสำนักทิศาปาโมกข์แบบเดียวกันกับในประเทศอินเดีย ตามประวัติศาสตร์เชื่อว่าสำนักเขาอ้อก่อตั้งขึ้นก่อนปี พ.ศ. 800 ผู้ก่อตั้งคือพรหมณาจารย์หรือพราหมณ์ผู้ทรงเวทย์ที่เดินทางมาจากประเทศอินเดีย

เป็นยุคที่เรียกว่า “ดราวิเลียนยาตรา” คือยุคสมัยที่ศาสนาพราหมณ์เริ่มเคลื่อนไหวออกจากประเทศอินเดียเพื่อจะขยายฐานศรัทธาของศาสนาพราหมณ์ อันเป็นผลเนื่องจากศาสนาพุทธที่กำลังมาแรงในประเทศอินเดีย ทำให้ศาสนสถานของพราหมณ์หลายแห่งต้องกลายมาเป็นศาสนสถานของศาสนาพุทธ เช่นวัดต่างๆ ในเขตเมืองนครศรีธรรมราช
 

 
ศาสนาพุทธได้เริ่มมาตั้งมั่นในเมืองนครศรีธรรมราชราวปี พ.ศ.800 ตามหลักฐานระบุว่าศาสนาพราหมณ์เดินทางมาก่อน ก็แสดงว่าสำนักเขาอ้อย่อมที่จะมีการก่อตั้งขึ้นก่อนปี พ.ศ.800 อย่างแน่นอนเพราะสำนักนักเขาอ้อ พราหมณ์เป็นผู้ก่อตั้ง

มีบันทึกชื่อสำนักเขาอ้อในหนังสือโบราณเล่มหนึ่งที่อยู่ในห้องสมุดของมหาวิทยาลัยพาราณสีในประเทศอินเดีย ค้นพบโดย “เวทย์ วรวิทย์” อดีตมหาเปรียญผู้ผ่านการศึกษาเกี่ยวกับประวัติพระพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง ในบันทึกมีใจความว่าแต่เดิมสำนักเขาอ้อเป็นสำนักทิศาปาโมกข์ คือเป็นที่บำเพ็ญพรตของพราหมณ์ผู้ทรงวิทยาคุณทำหน้าที่ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้แก่เชื่อพระวงศ์ หรือวรรณะกษัตริย์ และลูกหลานผู้นำ เพราะพราหมณ์เป็นชนชั้นรักสงบมีธาตุแห่งความประนีประนอมสูง มีความคิดกว้างไกล เป็นชนชั้นนักการศึกษาชนชั้นแรกของโลก
 
คุรำ เป็นสัตว์คล้ายแพะมีเขาปลายแหลมจึงมักถูกล่านำปลายเขาไปสวมเดือยไก่ของผู้นิยมตีไก่ชน
 
โดยนอกจากจะมีวิชาเกี่ยวกับการปกครองตามตำราธรรมศาสตร์แล้ว ยังมีเรื่องพิธีกรรม ฤกษ์ยาม การจัดทัพตามตำราพิชัยสงครามตลอดไปถึงไสยเวทย์ และการแพทย์ การสืบทอดวิชาในสำนักเขาอ้อได้ดำเนินมาจนกระทั่งถึงพราหมณ์รุ่นสุดท้ายท่านได้เล็งเห็นถึงสถานการณ์ว่าไม่สามารถที่จะต้านกระแสศรัทธาของศาสนาพุทธได้แน่แล้วจึงคิดหลอมสำนักเขาอ้อเข้ากับศาสนาพุทธและกลัวว่าจะไม่มีผู้ใดรับสืบทอดวิชาและสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่อ

ซึ่งพราหมณ์ผู้บรรลุพระเวทหลายท่านได้ฝังร่างไว้ที่นี้เกรงว่าจะถูกปล่อยให้รกร้างประกอบกับขณะนั้นอิทธิพลทางพระพุทธศาสนาได้แผ่เข้ามาถึงตัวจังหวัดพัทลุงแล้ว จึงได้ตัดสินใจนิมนต์พระรูปหนึ่งมาจากวัดน้ำเลี้ยว (วัดน้ำเลี้ยวปัจจุบันเป็นวัดร้างหมดสภาพความเป็นวัดแล้ว) พระรูปดังกล่าวมีนามว่า “พระอาจารย์ทอง” ถูกนิมนต์มาอยู่ในถ้ำและพรามณ์ได้มอบคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ของบูรพาจารย์พราหมณ์พร้อมถ่ายทอดวิชาและมอบสำนักให้ช่วยดูแลสืบต่อมา
 
ไกรวุฒิ ชูสกุล ถ่ายรูปกับเด็กๆ ที่ชุมชนประมงแห่งหนึ่งใน อ.ละงู จ.สตูล
 
แม้ว่าสำนักเขาอ้อจะกลายมาเป็นสำนักสงฆ์แล้วแต่ก็ยังคงสืบทอดหน้าที่เป็นสำนักเผยแพร่ความรู้ให้แก่เยาวชนต่อมาอีกหลายร้อยปี แต่ว่าเมื่ออยู่ในความปกครองของพระภิกษุ บรรดาศิษย์ที่เข้าเรียนในสำนักนี้มีหลายชนชั้นไม่เหมือนกับสมัยพราหมณ์ปกครองอยู่ เปิดโอกาสให้แก่เชื้อพระวงศ์ หรือวรรณะกษัตริย์ และลูกหลานผู้นำเท่านั้น

“บรรพบุรุษผมเป็นพรามณ์ เดินเท้าจากพัทลุงมาตั้งรกรากอยู่ที่ปากบารา ต่อมาได้เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม”

ไกรวุฒิ ชูสกุล ผู้มีบรรพบุรุษเป็นพรามณ์ที่คาดว่าล่องเรือข้ามมหาสมุทรอินเดียมาขึ้นฝั่งที่ จ.สตูล เพื่อเดินทางต่อไปยัง จ.พัทลุง และ จ.นครศรีธรรมราช เป็นหนึ่งในผู้ประสานงานเครือข่ายติดตามแผนพัฒนาภาคใต้ ผู้ได้รับฉายาจากนักพัฒนาเอกชนที่ร่วมกันเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการท่าเรือน้ำลึกอุตสาหกรรมปากบาราว่าเป็น “ขงเบ้งเมืองสตูล”
 
ภาพ Folk Kamponsak Sassadee
 
ไกรวุฒิ เป็นผู้หนึ่งที่มีบทบาทสำคัญต่อการสร้างพลังแนวร่วมดึงมวลชนทุกฝ่ายให้ลุกขึ้นมาร่วมมือกันปกป้อง “ตีนเสาของเทือกเขาหิมาลัย” ปกป้องทะเลอันดามันจากการทำลายล้างของอุตสาหกรรม หากพราหมณ์เป็นชนชั้นที่มีอุปนิสัยรักสงบ มีธาตุแห่งความประนีประนอมสูง มีความคิดกว้างไกล และยังเป็นชนชั้นนักการศึกษาชนชั้นแรกของโลก จึงไม่แปลกเลยที่ลูกหลานอย่างไกรวุฒิ ชูสกุล จะมีบุคลิกลักษณะดังกล่าว ซึ่งเขาสร้างความแปลกใจให้กับชาวเมืองสตูลส่วนหนึ่งถึงทัศนะทางการเมือง

“ชาวบ้านมักจะคิดว่าการที่พวกเราออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านปกป้องสิ่งแวดล้อม เพราะอยากลงเล่นการเมือง แต่ตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา คนที่เคลื่อนไหวเอาจริงเอาจังเรื่องสิ่งแวดล้อม ไม่มีใครสนใจอยากลงเล่นการเมืองเลยแม้จะมีโอกาสชนะเลือกตั้งในระดับต่างๆ ก็ตาม การเคลื่อนไหวในรูปแบบของการเมืองภาคประชาชนแบบนี้ ที่หลายๆ คนช่วยกันทำมานาน บริสุทธิ์และมีพลังมากกว่ามาก และชาวบ้านเขาได้เห็นด้วยตาตัวเองแล้ว” ไกรวุฒิ กล่าว
 
การติดตั้งกล้องดักถ่ายไว้กลางป่าทำให้ได้เห็นคุรำเป็นๆ ในสภาพธรรมชาติ แต่ล่าสุดมีรายงานว่ากล้องตัวหนึ่งได้ถูกขโมยไปโดยเชื่อว่าเป็นพรานป่าที่เข้าไปลักลอบล่าสัตว์
 
ที่ จ.สตูล ก็เป็นอีกที่หนึ่งที่เป็นที่นิยมของเดินทางมาเยือนของนักถ่ายภาพทั้งมืออาชีพและมือสมัครเล่น ซึ่งต่างก็มีจุดมุ่งหมายต่างกันในการเดินทางไปถ่ายภาพตามสถานที่ท่องเที่ยวอันสวยงามต่างๆ แต่การเคลื่อนไหวปกป้องสิ่งแวดล้อมในรอบ 50 ปี ของเครือข่ายประชาชนทั่วประเทศรวมทั้งในสองฝั่งทะเลภาคใต้ ได้ค้นพบว่าข้อจำกัดหนึ่งของชาวบ้านคือการไม่มีกล้องถ่ายรูปที่จะบันทึกภาพตามสถานที่ต่างๆ ที่อยากจะนำมาสื่อสารให้เห็นถึงความมีคุณค่า

สำหรับเกาะเขาใหญ่ ที่ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับหาดปากบารา อ.ละงู จ.สตูล เมื่อช่วงประมาณปี 2549 เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล เคยเชิญผู้สื่อข่าวหนุ่มสาวกลุ่มหนึ่งนั่งเรือไปถ่ายภาพและซึมซับบรรยากาศประกอบเรื่องเล่าดึกดำบรรพ์ที่มีหลักฐานทางธรณีวิทยาฝังอยู่ในเนื้อหินของปราสาทพันยอด สถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังที่ UNESCO ยกย่องในเวลานี้
 
 ภาพ Folk Kamponsak Sassadee
 
แต่ทว่าในขณะนั้นแม้เรื่องเล่าหรือข้อมูลจะมีความน่าสนใจเพียงใด กล้องถ่ายรูปของผู้สื่อข่าวบันทึกได้เพียงผาหินที่มียอดแหลม กับผืนน้ำทะเลที่ไม่มีอะไรน่าดึงดูดใจ ปราสาทหินพันยอด เหมือนกำลังรอคอยอะไรบางอย่างหรือใครบางคน อุปสรรคที่ชาวบ้านค้นพบร่วมกันกับสื่อมวลชนที่ติดตามข่าวนี้มาโดยตลอดคือชาวบ้านจะไม่สามารถสื่อสารให้เห็นคุณค่าที่แม้จริงของสตูลได้ หากไม่มีภาพทางอากาศและภาพใต้น้ำ ที่ซ่อนความงามอันบริสุทธิ์ของสตูลเอาไว้ ชาวบ้านที่คัดค้านท่าเรือน้ำลึก จ.สตูล อยู่กับโจทย์นี้มานานหลายปี

จนกระทั่งเย็นวันหนึ่งของเดือนมกราคม 2560 ชายหนุ่มหญิงสาวคู่สามีภรรยาชาวสตูลคู่หนึ่งได้เกี่ยวก้อยกันเข้าไปขออาศัยกางเต๊นท์นอนในพื้นที่ริมชายหาดบริเวณปากน้ำรีสอร์ท โดยเขาและเธอได้ติดต่อและขอความอนุเคราะห์ข้อมูลและพาหนะคือเรือสำหรับเดินทางไปถ่ายรูปที่เกาะเขาใหญ่ ตั้งใจจะไปบันทึกภาพ “ปราสาทหินพันยอด” ไกรวุฒิ ชูสกุล ให้ความอนุเคราะห์และช่วยอำนวยความสะดวกเป็นอย่างดี
 

 
ชาวบ้านในเครือข่ายติดตามแผนพัฒนา จ.สตูล รวมทั้งไกรวุฒิ ไม่มีใครทราบมาก่อนว่าเด็กหนุ่มมุสลิมที่ใช้ชื่อในเฟซบุ๊กว่า Folk Kamponsak Sassadee มีหน้าที่การงานหรือมีความสนใจด้านใดเป็นพิเศษต่อแหล่งท่องเที่ยวในอ่าวปากบาราแต่อย่างใด เช่นเดียวกันช่างภาพหนุ่มก็ไม่เคยรู้มาก่อนว่า “ไกรวุฒิ ชูสกุล” คือใครและสำคัญอย่างไรในปากบารา

รุ่งเช้าการเดินทางไปที่เกาะเขาใหญ่และถ่ายทำทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวโดยใช้กล้องแบบโดรนบินขึ้นไปถ่ายเหนือปราสาทหินพันยอดซึ่งนับว่าเป็นครั้งแรกที่มีการบันทึกภาพมุมสูงของเกาะเขาใหญ่อย่างใกล้ชิดและหลากหลานแง่มุม จนกระทั่งทุกอย่างเสร็จสรรพ ช่างภาพหนุ่มผู้มาเยือนเกี่ยวก้อยภรรยากลับบ้าน ร่ำลาผู้อนุเคราะห์สถานที่ด้วยความเป็นมิตร กลับถึงบ้านเขาอัพโหลดภาพในมุมมองต่างๆ ของเกาะเขาใหญ่และปราสาทหินพันยอด เผยแพร่อยู่ในเฟซบุ๊กส่วนตัวโดยตั้งค่าการเผยแพร่แบบสาธารณะไว้
 
หินคล้ายใบหน้าคน ภาพ Folk Kamponsak Sassadee
 
ความจริงแล้ว ไกรวุฒิ ชูสกุล ไม่ได้ถือว่าเป็นคนที่ติดเฟซบุ๊ก แต่ค่ำนั้นมีคนแชร์ภาพสวยงามแปลกตามาให้ดู มันเป็นภาพของเกาะเขาใหญ่และปราสาทหินพันยอดในมุมมองที่เขาไม่เคยเห็น แม้กระทั่งคนสตูลหรือคนส่วนใหญ่ก็เชื่อว่ายังไม่มีใครเคยเห็น การปรากฎขึ้นของภาพนี้มีความหมายเพราะมันเรียกความสนใจจากคนใน จ.สตูล ได้ทันที รวมทั้งคนที่อยู่จังหวัดอื่นๆ ก็พลอยตื่นตาตื่นใจไปด้วย ขณะที่เขาไม่รู้วิธีว่าจะส่งต่อภาพชุดนี้ไปให้คนอื่นได้อย่างไร ในกล่องข้อความก็มีชาวบ้านในเครือข่ายฯ ส่งภาพที่ดาวน์โหลดจากต้นฉบับมาให้ดูอีกชุดหนึ่ง จึงบันทึกลงในโทรศัพท์และอัพโหลดขึ้นเฟซบุ๊กส่วนตัว

“ผมโพสต์ภาพชุดนั้นโดยไม่รู้เลยว่าเป็นของน้องโฟล์คที่มาถ่ายภาพเกาะเขาใหญ่เมื่อกลางวัน แต่ได้เขียนไว้ว่าขออนุญาตเจ้าของภาพไม่ทราบว่าเป็นของท่านใด แต่ขอนำมาใช้เพื่อสื่อสารให้คนสตูลและคนไทยทั่วประเทศเห็นว่าจังหวัดสตูลของเรามีคุณค่าเกอนกว่าที่รัฐบาลจะใช้เป็นพื้นที่สร้างท่าเรือน้ำลึกทำลายความสวยงามของที่นี่ และทำลายหลักฐานทางธรณีวิทยาที่เก่าแก่ ตอนนั้นสถานการณ์ร้อนแรงเพราะเดือนมีนาคมจะมีพิธีการผลักดันโครงการท่าเรือน้ำลึกกันอีก แต่สรุปว่าถูกเจ้าของภาพตำหนิที่เอาภาพมาใช้ เพราะเราไม่ได้ใส่ชื่อเขา ตอนนั้นเราไม่รู้จริงๆ ว่าภาพของใคร และผมเองก็เพิ่งหัดใช้เฟซบุ๊ก”
 
ภาพ Folk Kamponsak Sassadee
 
เมื่อ Folk Kamponsak Sassadee ตอบโต้ด้วยลักษณะการตำหนิและประจานผู้ใช้เฟซบุ๊กที่ชื่อ “ไกรวุฒิ ชูสกุล” สังคมสตูลในโลกออนไลน์ก็ร้อนฉ่าภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง สังคมที่ทราบเรื่องส่วนใหญ่จะตำหนิ “บังโฟล์ค” ด้วยถ้อยคำเผ็ดร้อน ประเด็นเรื่องช่างภาพชอบเดินทางมาถ่ายภาพในสถานที่ต่างๆ ถูกหยิบยกมาถกเถียงกันอีกครั้ง ประเด็นคือช่างภาพมืออาชีพส่วนใหญ่มักเข้าไปฉกฉวยความงามจากธรรมชาติด้วยกล้องถ่ายภาพ ประหนึ่งว่ารักและหวงแหนที่นั่นปานดวงใจ และการได้ไปถ่ายภาพอย่างสวยสุดฝีมือใครเห็นเป็นต้องชมนั้น คือการปกป้องและกระตุ้นให้ผู้คนช่วยรักษาสถานที่นั้นๆ อย่างเต็มที่แล้ว

เขาอาจไม่มีประสบการณ์และอาจจะยังไม่เคยสัมผัสโลกของชาวบ้านที่บันทึกคุณค่าของธรรมชาติไว้ได้เพียงในสายตาและความทรงจำซึ่งไม่เพียงพอต่อการพูดให้ใครเชื่อว่าที่นี่มีคุณค่า ช่างภาพมืออาชีพหวงแหนผลงานมากกว่าสถานที่ทางธรรมชาติที่เขาดั้นด้นไปถ่ายภาพมาอย่างเหน็ดเหนื่อย อย่างนั้นเชียวหรือ?
 

 
หากไปไล่ดูกิจกรรมทางหน้าเฟซบุ๊กของ “บังโฟล์ค” ช่างภาพหนุ่มในช่วงปีที่แล้วพบว่าก่อนจะเดินทางมาถึงเกาะเขาใหญ่ กิจกรรมของเขาก่อนหน้านั้นคือตะลุยไปถ่ายรูปสถานที่ต่างๆ ซึ่งขณะนี้ถูกขีดกรอบให้อยู่ในเขตอุทยานธรณีโลกสตูลของ UNESCO แล้วทั้งสิ้น

โดยบังโฟล์ค ได้เขียนเรื่องราวสั้นๆ ให้มองเห็นคุณค่าของสถานที่ต่างๆ เหล่านั้น ทั้งที่ฝีมือการถ่ายภาพของเขาอย่างเดียวแค่เขียนสถานที่กำกับก็แทบจะไม่ต้องบรรยายอะไรอีกแล้ว แต่เขามีความตั้งใจมากกว่านั้น แต่กว่าจะผ่านวันนั้นมาได้ ช่างภาพหนุ่มได้รับบทเรียนที่มีค่าถ้ามองในแง่ดี และช่างบังเอิญเกินไปที่คนที่ถือวิสาสะแชร์ภาพของเขาไปโดยไม่ใส่ชื่อเจ้าของผลงานให้ และต่อมาเขาก็ได้ตำหนิคนผู้นั้นอย่างเผ็ดร้อน กลับกลายเป็นว่าเป็นคนคนเดียวกับที่อำนวยความสะดวกและให้ที่พักพิงแก่เขาก่อนเดินทางไปถ่ายภาพชุดนั้น
 

 
“เขาขอมาอัฟแล้ว อย่าไปว่าเขาเลย เขาไม่รู้ เราก็ไม่รู้ แต่ผลดีของเรื่องนี้คือวันต่อมาทีมงานพรรคพวกกันที่เขาเห็นปรากฎการณ์จากเฟซบุ๊กเขานึกเห็นใจเราที่ไม่มีภาพสวยๆ มาใช้เคลื่อนไหวปกป้องทรัพยากรบ้านเราให้มีพลัง เขาสนับสนุนเงินทุนเช่าอุปกรณ์ทั้งโดรน ทั้งกล้องภาพนิ่ง กล้องวิดีโอ ขนมาชุดใหญ่แล้วไปถ่ายทำกันที่เกาะเขาใหญ่ เอาโดรนบินขึ้นไปถ่ายปราสาทหินพันยอด ภาพที่ได้เราเอามาให้สื่อมวลชนและประชาชนทุกคนนำไปใช้ได้ฟรีไม่มีลิขสิทธิ์ ตอนนั้นผู้คนเขาสนใจประเด็นถกเถียงเรื่องลิขสิทธิ์ภาพกันอยู่แล้ว เขาก็ช่วยกันแชร์จนปราสาทหินพันยอดเป็นที่รู้จักทั่วประเทศ กลุ่มวิสาหกิจท่องเที่ยวชุมชนที่รวมตัวกันมานานก็ได้เวลาบริหารการท่องเที่ยวหลังจากทำวิจัยศึกษากันมานาน”

ไกรวุฒิ กล่าวและว่า ผู้คนอาจจะรู้สึกแปลกใจที่ไกด์ท้องถิ่นคนหนึ่งมีนามว่า “บังจำปา” ที่สามารถแนะนำสถานที่ให้กับนักท่องเที่ยวในรูปแบบของเพลงแหล่สร้างสีสันให้กับการท่องเที่ยวในอ่าวปากบาราเป็นอย่างมากเหตุใดชาวบ้านธรรมดาๆ จึงสามารถสร้างสรรค์ผลงานศิลปะการขับร้องนั้นได้ในเวลาอันรวดเร็ว ทั้งที่ในความจริงแล้ว บังจำปาแต่งและร้องเพลงแหล่เพลงนี้มาตั้งแต่ที่ผู้รุกรานในนามของการพัฒนาได้ย่างกรายเข้ามาในแผ่นดินสตูลตั้งแต่แรกเริ่มแล้ว ในเวลานั้นหลายคนยังนอนหลับอยู่เลย รวมทั้งคนในทำเนียบรัฐบาลบางคนที่วันนี้มาออกทีวีบอกให้ชาวบ้านช่วยกันปกป้องรักษาธรณีโลกสตูล ก็เช่นกัน
 

 
หากถามว่าแผ่นดินที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศไทยคือแผ่นดินสตูลแห่งนี้มนุษย์พวกที่มาอาศัยอยู่มาจากไหนและมาอาศัยอยู่บนแผ่นดินแห่งนี้ด้วยเหตุผลใด เมื่อพิจารณาจากความหลากหลายและความเข้ากันได้ของผู้คนไม่ว่าจะเป็นชาติพันธุ์ใด ไล่มาตั้งแต่ชนเผ่ามันนิหรือซาไกบนเทือกเขาบรรทัด คนไทยพุทธ มุสลิม ทุกศาสนาไปจนถึงชาวอุรักลาโว้ยบนเกาะหลีเป๊ะ สำหรับคนที่รู้จักนิสัยใจคอคนแผ่นดินนี้อยู่บ้าง ก็อาจจะตอบได้อย่างกว้างๆ ว่าผู้คนที่มาอาศัยอยู่บนแผ่นดินอันเก่าแก่นี้มีภารกิจปกป้องรักษา “ตีนเสาของเทือกเขาหิมาลัย” หรือมาอยู่เพื่อ “ปกป้องโลกธรรมชาติ” ไว้ให้นานตราบนานนั่นเองกระมัง

(อ่านต่อตอนที่ 3)
 

ธารน้ำตกนี้อยู่ในเขตธรณีวิทยาโลกสตูลเช่นกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น