xs
xsm
sm
md
lg

วิเคราะห์เพชรในอุกกาบาตเยือนโลก 10 ปีก่อน พบเป็นชิ้นส่วน "ดาวเคราะห์หลงทาง"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ตัวอย่างเศษอุกกาบาตที่ตกลงมายังพื้นโลกเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้วถูกตัดเป็นแผ่นบางๆ (Hillary Sanctuary/EPFL via AP)
เผยผลวิเคราะห์เพชรจากอุกกาบาตที่ตกมาสู่โลกของเราเมื่อ 10 ปีที่แล้ว พบอุกกาบาตดังกล่าวเป็นชิ้นส่วน "ดาวเคราะห์หลงทาง" ที่ท่องเข้ามาในระบบสุริยะของเรา และไม่ได้เกิดจากคลื่นกระแทกมหาศาลระหว่างเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลก

รายงานจากเอพีระบุว่านักวิจัยจากสวิตเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศสและเยอรมนีได้ทดสอบเพชรที่ค้นพบภายในอุกกาบาต อัลมาฮาตา สิทธา (Almahata Sitta) และสรุปว่ามีโอกาสมากที่อุกกาบาตลูกนี้จะเกิดจากว่าที่ดาวเคราะห์ที่เรียกว่าโปรโตเพลนเนต (proto-planet) ซึ่งก่อกำเนิดอย่างน้อยเมื่อประมาณ 4.55 พันล้านปีก่อน

ฟิลิปเป กุยเลต์ (Philippe Gillet) นักวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์จากสถาบันการของสมาพันธรัฐด้านเทคโนโลยีในโลซานน์ (Federal Institute of Technology in Lausanne) สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นหนึ่งผู้ร่วมวิจัยการศึกษาครั้งนี้กล่าวว่า ภายในเพชรที่พบในอุกกาบาตนั้น มีผลึกเล็กๆ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยแรงกดดันมหาศาล

อุกกาบาตที่มีเพชรอยู่ภายในนี้ ได้ตกสู่พื้นโลกที่ทะเลทรายนูเบียน (Nubian Desert) ของประเทศซูดาน เมื่อเดือน ต.ค.2008 ซึ่งกุยเลต์ได้ให้สัมภาษณ์แก่เอพีผ่านทางโทรศัพท์เพิ่มเติมว่า ทีมวิจัยของพวกเขาได้วิคราะห์ว่า เพชรเม็ดใหญ่ขนาดนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากคลื่นกระแทก (shock) แต่เป็นผลจากการก่อตัวขึ้นภายในดาวเคราะห์

กุยเลต์กล่าวอีกว่า นักวิจัยได้คำนวณพบว่าต้องใช้แรงดัน 200,000 บาร์หรือ 2.9 ล้านปอนด์ต่อตารางนิ้ว เพื่อให้เพชรอย่างที่พบในอุกกาบาตก่อตัว แสดงให้เห็นว่าดาวเคราะห์ต้นกำเนิดอุกกาบาตดังกล่าว ต้องมีขนาดอย่างน้อยเท่าๆ กับขนาดของดาวพุธ หรือเป็นไปได้ว่าอาจจะใหญ่เท่าดาวอังคาร

นักวิทยาศาสตร์ได้เสนอทฤษฎีมานานมากแล้วว่า ระบบสุริยะในช่วงต้นๆ เคยมีดาวเคราะห์มากมาย ซึ่งบางดวงมีมวลมากกว่าแมกมาที่หลอมละลายเพียงเล็กน้อย และหนึ่งในว่าที่ดาวเคราะห์ที่อยู่ในระยะเริ่มต้นนั้นมีดาวเคราะห์ชื่อ "ธีอา" (Theia) ซึ่งเชื่อว่าได้พุ่งชนโลกขณะที่โลกยังอายุน้อย และมีชิ้นส่วนขนาดใหญ่กระเด็นออกมา จนกลายเป็นดวงจันทร์ของโลกอย่างทุกวันนี้

"สิ่งที่ยืนยันได้ตอนนี้คือเรามีเศษชิ้นส่วนของดาวเคราะห์รุ่นแรก ที่ตอนนี้สูญหายไปแล้วเพราะดาวเคราะห์เหล่านั้นถูกทำลาย หรือหลอมรวมเข้ากับดาวเคราะห์ที่ใหญ่กว่าไปแล้ว" กุยเลต์กล่าว

ฝ่าย แอดดิ บิสคอฟฟ์ (Addi Bischoff) ผู้เชี่ยวชาญด้านอุกกาบาตจากมหาวิทยาลัยมุนสเตอร์ (University of Muenster) ในเยอรมนี วิธีที่ใช้ศึกษาได้ผลดีและได้ข้อสรุปเป็นเหตุเป็นผล แต่อย่างไรก็ตามมีความหวังว่าจะได้พบหลักฐานเพิ่มเติมเกี่ยวกับแรงดันมหาศาลด้วยการค้นพบแร่ธาตุต่างๆ ที่อยู่รอบเพชร

สำหรับงานวิจัยนี้ ได้ตีพิมพ์ลงวารสารวิชาการ เนเจอร์ คอมมูนิเคชัน (Nature Communications) ซึ่งบิสคอฟฟ์ไม่ได้เข้าร่วมงานวิจัยด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น