คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์ มณีพิลึก
นับตั้งแต่เกิด จยย.บอมบ์ที่ตลาดพิมลชัย เขตเทศบาลนครยะลา เมื่อกลางเดือนมกราคม 2561 เป็นต้นมา จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็กลายเป็น “แผ่นดินเดือด” อีกครั้ง เพราะมีเหตุร้ายที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง เช่น การวางระเบิดชุดคุ้มครองครูหน้าโรงเรียนบ้านซีเยาะ ต.บาโงยซิแน อ.ยะหา จ.ยะลา ต่อด้วยการวางระเบิด 10 กว่าจุดใน 3 อำเภอของ จ.ปัตตานี และวางเพลิงเผาบ้านของชาวไทยพุทธที่ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี
ในขณะที่ เจ้าหน้าที่ก็ยัง “มึนงง” ไม่สร่างกับวิธีการก่อเหตุร้ายแบบใหม่ด้วย “จักรยานบอมบ์” แถมด้วย “กระเป๋าเงินบอมบ์” และ “กระติกน้ำบอมบ์” โดยที่ยังหาใครเป็นผู้ต้องหาไม่ได้
โจรใต้ก็ถือโอกาสวางระเบิดแสวงเครื่องชุดคุ้มครองตำบล หรือ ชคต. ที่ทำหน้าที่คุ้มครองครูที่โรงเรียนบันนังสาเรง อ.เมือง จ.ยะลา อีกทั้งการลอบยิงจุดตรวจของชุดคุ้มครองตำบลโฆษิต อ.เมือง จ.นราธิวาส และการแต่งกายเลียนแบบเจ้าหน้าที่ปล้นชิงรถกระบะของชาวบ้านที่ ต.เกาะสะท้อน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส
เหตุการณ์ทั้งหมดเกินขึ้นในช่วงของเดือนมกราคม 2561 ช่วง “เทศกาลปีใหม่” สากล ต่อเนื่องถึงเดือนกุมภาพันธุ์ 2561 ซึ่งเป็นช่วง “เทศกาลวาเลนไทน์” ของฝรั่ง ต่อด้วย “เทศกาลปีใหม่จีน” หรือ “ตรุษจีน” และแน่นอนว่าทั้งหมดทั้งปวงควรจะเป็นเทศกาลแห่ง “ความสุข” ของประชาชน แต่กลับเป็นว่าประชาชนในพื้นที่ยังตกเป็น “เหยื่อ” ของสถานการณ์ความขัดแย้ง ต้องสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน และบาดเจ็บอีกเป็นจำนวนมาก
เหมือนตกอยู่ใน “ทะเลทุกข์” อย่างไม่รู้จักจบสิ้น
และก็ยังไม่มีหน่วยงานความมั่นคงหน่วยไหนที่จะบอกได้ว่า เดือนมีนาคม 2561 ที่กำลังย่างกรายเข้ามานี้ ซึ่งมีจะ “เทศกาลแห่งความรักของชาวพุทธ” หรือวันสำคัญทางศาสนาพุทธคือ “มาฆบูชา” รวมทั้งจะมีคณะของ “โอไอซี” ที่จะมาเยือนพื้นที่ จ.ปัตตานี อีกทั้งเดือนเมษายน 2561 ซึ่งก็จะมี “เทศกาลสงกรานต์” สถานการณ์ของจังหวัดชายแดนภาคใต้จะเป็นไปอย่าง สงบเรียบร้อยดี หรือจะ “แดงเดือด” ด้วยเลือดของผู้บริสุทธิ์เพื่อสังเวยความขัดแย้งระหว่าง “รัฐไทย” กับ “ขบวนการแบ่งแยกดินแดน”
ผู้เขียนเคยเขียนไว้เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2560 ว่า สถานการณ์ที่สงบเงียบ 2-3 เดือนก่อนสิ้นปีระกานั้น ไม่ใช่เป็นเพราะหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่สามารถ “กุมสภาพ” หรือ “กุมสถานการณ์” ได้ จนทำให้โจรใต้เคลื่อนไหวไม่ได้
แต่เป็นเพราะ “บีอาร์เอ็นฯ” อยู่ระหว่างการ “ปรับโครงสร้าง” ใหม่ในพื้นที่ 3 จังหวัดคือ ปัตตานี ยะลาและนราธิวาส กับ 4 อำเภอของ จ.สงขลา คือ จะนะ เทพา นาทวีและสะบ้าย้อย เพราะโครงสร้างเก่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงรู้เห็นอย่างชัดแจ้งแล้ว จึงทำให้การเคลื่อนไหวทั้งด้าน “การทหาร” และ “การเมือง” ยากลำบาก
อีกทั้งผู้เขียนก็ได้ระบุไว้แล้วด้วยว่า ให้จับตาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2561 เป็นต้นไป สถานการณ์จะเข้าสู้สภาวะ “ปกติ” อีกครั้ง นั่นคือจะมีการ “ก่อเหตุ” ในทุกพื้นที่ของจังหวัดชายแดนภาคใต้
มีรายงาน “ลับๆ” เกี่ยวกับระเบิด 10 กว่าจุดในพื้นที่ 3 อำเภอของ จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า เป็นการ “สั่งการ” มาจาก “ผู้นำบีอาร์เอ็นฯ”
ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการ “ส่งสัญญาณ” ว่าพวกเขาไม่เห็นด้วยกับการที่โต๊ะ “พูดคุยสันติสุข” ได้ตั้ง “วอร์รูม” ที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดปัตตานี เพื่อการขับเคลื่อนกระบวนการพูดคุยสันติสุขระหว่างตัวแทนของรัฐบาล กับ “กลุ่มมาราปาตานี”
สำหรับเรื่องนี้เจ้าหน้าที่การข่าวของฝ่ายความมั่นคงจะต้องแสวงหาข้อเท็จจริงว่า ใช่ หรือ ไม่ใช่
หากใช่ก็ย่อมแสดงให้เห็นว่า บีอาร์เอ็นฯ มีแผนในการใช้ความรุนแรงตอบโต้การเดินหน้าในการพูดคุยสันติสุขระหว่างรัฐไทยกับมาราปาตานี และถ้าเป็นเช่นนี้จริงสถานการณ์ความรุนแรงก็จะเพิ่มมากขึ้น โอกาสของการกำหนด “พื้นที่เซฟตี้โซน” ก็อาจจะกลับกลายเป็น “พื้นที่กระสุนตก” โดยมีประชาชนตกเป็นเหยื่อความโหดร้ายไปโดยปริยาย
สิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่เวลานี้คือ โจรใต้ไม่ได้ “หยุดนิ่ง” แต่มีการ “พัฒนา” วิธีการก่อการร้าย รวมถึงพัฒนางานด้านการเมืองอยู่ตลอดเวลา
สังเกตจากระเบิดที่ใช้ในการก่อการร้ายหรือก่อกวนเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ในพื้นที่ 3 อำเภอของ จ.ปัตตานีคือ การพัฒนา “ระเบิดขนาดเล็ก” เช่น ระเบิดกระเป๋าสตางค์ ระเบิดที่ประกอบในกระติกน้ำใบเล็กๆ ติดตั้งบนจักรยาน เพื่อเปลี่ยนจาก จยย.บออมบ์ไปเป็นจักรยานบอมบ์ เพื่อให้ง่ายในการ “ตบตา” เจ้าหน้าที่และง่ายในการนำระเบิดเหล่านั้นเข้าไปก่อการร้ายในเขตเมือง
ซึ่งเชื่อกันว่าในภายภาคหน้าโจรใต้ยังมีวิธีการในการผลิตระเบิดจากอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อใช้ในการก่อเหตุในรูปแบบใหม่ๆ ได้อีกแน่นอน
ใช่หรือไม่ การที่โจรใต้ต้องเปลี่ยนวิธีการผลิตระเบิดในรูปแบบต่างๆ ย่อมเกิดจากการที่เจ้าหน้าที่ทำงานได้ผลในการ ตั้งจุดตรวจค้นถี่ยิบจนทำให้โจรใต้ไม่กล้าที่จะใช้วิธีการเดิมๆ เช่น คาร์บอมบ์และ จยย.บอมบ์อย่างฟุ่มเฟือยเหมือนก่อน
รวมทั้งสิ่งที่ต้องยอมรับคือ วันนี้เจ้าหน้าที่มี “มวลชน” เพิ่มขึ้น นั่นคือผู้ที่ “ให้เบาะแส” กับเจ้าหน้าที่ถึงความเคลื่อนไหวของโจรใต้มีมากขึ้น จนทำให้โจรใต้ต้องปรับ “ยุทธวิธี” ทั้งในงานการทหารและงานการเมือง เพื่อให้สามารถต่อสู้กับหน่วยงานความมั่นคงอย่างได้ผล
นี่จึงเป็น “โจทย์” ใหญ่อีกหนึ่งข้อของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ที่ต้องตามให้ทันกับการปรับเปลี่ยนของโจรใต้ หรือขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่ “ศูนย์การนำ” ที่อยู่ในประเทศมาเลเซียยังไม่มีทีท่าในการที่จะเดินเข้าสู่การร่วมวงนั่งโต๊ะพูดคุยสันติสุขด้วย เนื่องจากการพูดคุยที่ถูกกำหนดขึ้นโดยฝ่ายไทยและมาราปาตานีไม่ใช่รูปแบบของ “การเจรจา” ของขบวนการบีอาร์เอ็นฯ
เนื่องเพราะการพูดคุยแบบ “ซื้อเวลา” ยังไม่ใช่ “ทางออก” ของการที่จะยุติความรุนแรงแต่อย่างใด
วันนี้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ก็พยายามที่จะสร้าง “ข่าวดี” เพื่อที่จะกลบ “ข่าวร้าย” นั่นคือ “โครงการพาคนกลับบ้าน” ซึ่งล่าสุดมีการแถลงข่าวว่าจะมี “ผู้กลับใจ” จำนวน 103 คนที่จะเข้ารายงานตัวกับเจ้าหน้าที่ ซึ่ง ก่อนหน้านี้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ก็มีการ “จัดงานใหญ่โต” เพื่อประชาสัมพันธ์โครงการพาคนกลับบ้านเพื่อ “สร้างข่าว” ให้เห็นความสำเร็จในการดับไฟใต้ไปแล้ว
แต่น่าเสียดายที่ข่าวดีของการพาคนกลับบ้านยังไม่อาจที่จะกลบข่าวร้ายที่ก็คือ ระเบิดรายวันและมีคนตายรายวันที่เกิดขึ้นได้
นอกจากนั้นยังมีเสียงไม่เห็นด้วยจากกลุ่มคนไทยพุทธในพื้นที่ที่ “เห็นต่าง” โดยเห็นว่าทั้ง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และ ศอ.บต. โอบอุ้มแต่ “คนกลุ่มใหญ่” ในพื้นที่ ซึ่งก็คือคนไทยมุสลิม แต่ขาดการเหลียวแล “คนกลุ่มน้อย” ซึ่งก็คือคนไทยพุทธที่ต้องโยกย้ายหรืออพยพออกจากพื้นที่
และไม่เห็นมีนโยบายที่จะ “พาคนไทยพุทธกลับบ้าน” อย่างเข้มข้นเหมือกับการ “พาโจรใต้กลับบ้าน” ซึ่งแม้จะหมดเขี้ยวเล็บแล้วก็ตาม ซึ่งมีการทุ่มเทงบประมาณกันอย่างมากมายและเอิกเกริก
แต่อย่างไรก็ตาม โครงการพาคนกลับบ้านที่ดำเนินการอยู่อย่างเอิกเกริกในครั้งนี้ ก็นับมีส่วนดีอยู่บ้างที่จะเป็นการ “ชี้ชะตา” ของการดับไฟใต้ เพราะความจริงย่อมเป็นความจริง หากมีการนำโจรใต้ที่เชื่อว่า “หลงผิด” เข้ามอบตัวเป็นจำนวนมากแล้ว สถานการณ์ความรุนแรงยังไม่ “ยุติ” สิ่งที่ฝ่ายความมั่นคงทำไป และเชื่อมั่นว่า “ถูกทาง” ก็จะมีคำตอบในตัวของมันเอง
เพื่อให้สังคมได้รับรู้ว่า สุดท้ายแล้ว “ใครโง่” หรือ “ใครฉลาด” กันแน่ หรือใครกันที่เข้าใจถูก และใครกันที่เข้าใจผิด
สุดท้ายสิ่งที่เป็นปรากฏการณ์ของฝ่ายความมั่นคงในวันนี้คือ การเดินหน้าใช้ “กฎหมาย” กับ “บุคคลที่ออกมาเปิดเผยความจริง” ในเรื่องการถูกจับกุม ถูกซ้อม รวมทั้งกับ “สื่อมวลชน” ที่เสนอข่าวดังกล่าว โดยฝ่ายความมั่นคงอ้างว่า เป็น “ข่าวเท็จ” ที่ทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงกับกองทัพ
ซึ่งหากมองด้วยหลักของความจริงก็เป็นเรื่องที่ถูกต้อง ในการที่กองทัพจะใช้กระบวนการของกฎหมายเพื่อปกป้องชื่อเสียงตนเอง
แต่ถ้ามองในหลักของความจริงอีกด้านแล้ว วิธีการดังกล่าวคือการ “เชือดไก่ให้ลิงดู” เพื่อเป็นการ “ข่มขวัญ” และที่สำคัญต้องการ “ปิดปาก” มิให้ทั้งบุคคลที่ถูกกระทำ รวมถึงบุคลอื่นๆ ที่รู้เรื่องราวได้ออกมาบอกเล่าให้สังคมฟัง และแม้แต่สื่อมวลชนที่เคยนำเสนอไปแล้ว หรือสื่ออื่นๆ ที่คิดว่าจะนำเสนอข่าวในแง่มุมที่ถูกปกปิดซ่อนเร้นมานาน ต่อไปคงไม่กล้าที่จะแม้เพียงแตะในเรื่องราวเหล่านี้ ทั้งที่จริงแล้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังมีเรื่องอื่นๆ อีกมากมายสื่อก็ไม่กล้าที่จะนำเสนอข่าวเหล่านั้น
นี่คือ “ความเสียหายของประเทศชาติ” ในวันที่บุคคลและสื่อมวลชน “ถูกคุกคาม” จนไม่กล้าเสนอความจริง
แต่ให้เชื่อเถอะ! ประเทศนี้ยังมี “คนกล้า” ที่พร้อมออกมาเปิดเผยความจริง และยังมี “สื่อมวลชน” ที่กล้าในการที่จะตีแผ่สิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นธรรมและไม่โปร่งใส
เนื่องเพราะที่ประเทศนี้ยังยืนเด่นเป็นสง่าอยู่มาได้ หาใช่มีแต่ความเข้มแข็งของกลุ่มคนที่ยกตนเองว่าเป็นรั้วของชาติเท่านั้น
แต่ยังเป็นเพราะประเทศนี้มี “สุนัขเฝ้าบ้าน” ผู้จงรักในหน้าที่ และไม่ยอมเปลี่ยนสภาพเป็น “สุนัขรับใช้” เพื่อหวังเสพสุข โดยการละทิ้งหน้าที่และจรรยาบรรณวิชาชีพรวมอยู่ด้วย