xs
xsm
sm
md
lg

ปรากฏการณ์ “นอนเตียงเดียวกัน” แต่ “ฝันคนละเรื่อง” ของหน่วยงานดับไฟใต้ / ไชยยงค์ มณีพิลึก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
คอลัมน์  :  จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์  มณีพิลึก
----------------------------------------------------------------------------------------
 
 
และแล้วสถานการณ์ของการก่อการร้ายใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยกเว้น จ.สตูล ก็เป็นไปตามความคาดหมายของหน่วยข่าวความมั่นคง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า นั่นคือ 10 วันสุดท้ายของ เดือนรอมฎอน แนวร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดนในพื้นที่ยังคงพยายามที่จะก่อเหตุร้าย ไม่ว่าจะเป็นด้วยคาร์บอมบ์ หรือด้วยอาวุธอะไรก็ตาม เพื่อที่จะให้ “สังคมโลก” โดยเฉพาะ “โลกมุสลิม” เห็นว่าพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังคงเต็มไปด้วยความรุนแรง
 
ทั้งที่โดยข้อเท็จจริงผู้ก่อความรุนแรงในพื้นที่สร้างความสูญเสียทั้งชีวิต และทรัพย์สินให้แก่ทั้งประชาชนที่เป็น “คนพุทธ และ “มุสลิม รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐคือ “แนวร่วม” หรือ “โจรแบ่งแยกดินแดน” ในสังกัด ขบวนการบีอาร์เอ็น และกลุ่มอื่นๆ ความรุนแรงทั้งหมดที่เกิดขึ้นหาได้เกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐแต่อย่างใด
 
เหตุรุนแรงหลายแห่งที่เกิดขึ้นใน อ.สุไหงโก-ลก ที่แนวร่วมปฏิบัติการด้วย “คาร์บอมบ์และการใช้ “ระเบิดแสวงเครื่อง” ต่อเจ้าหน้าที่รัฐ และในอีกหลายอำเภอ รวมถึงการทำร้ายชาวไทยพุทธในหลายๆ พื้นที่ของ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นั่นคือสิ่งที่ยืนยันได้ชัดเจนว่า ยังมี “แนวร่วมรุ่นใหม่” ที่ถูกบ่มเพาะ และหลงเชื่อในคำบิดเบือนว่า การก่อเหตุในเดือนรอมฎอนจะได้รับผลบุญมากกว่าการก่อเหตุในเดือนธรรมดาถึง 10 เท่า
 
ดังนั้น สิ่งที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ซึ่งรับผิดชอบดูแลพื้นที่จะต้องดำเนินการต่อไปจนกว่าจะพ้นห้วงของเดือนรอมฎอนคือ การควบคุมพื้นที่แล้วปิดจุดอ่อนของเป้าหมาย และการติดตามตรวจค้นแหล่งที่เชื่อว่าเป็นที่หลบซ่อนของแนวร่วม รวมทั้งตรวจยึดอุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อเหตุร้าย โดยเฉพาะรถยนต์ และจักรยานยนต์ที่เชื่อว่าถูกนำไปประกอบเป็น “คาร์บอมบ์และ “จยย.บอมบ์” อีกจำนวนหนึ่ง
 
เหตุร้ายที่เกิดขึ้นถี่ๆ ในพื้นที่คือ “ข่าวร้าย” ซึ่งก็คือ “ข่าวประจำวัน” หรือ “ข่าวประจำฤดูกาล” ของ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งไม่ได้หมายรวมว่า กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ทำงาน “ไม่มีประสิทธิภาพ” และคณะพูดคุยสันติสุข “ล้มเหลว” ในการพูดคุยกับขบวนการผู้เห็นต่างในประเทศมาเลเซีย
 
แต่การที่สถานการณ์การก่อการร้ายถูก “จำกัดวง” และแนวร่วม “เข้าถึงเป้าหมายที่เป็น “ใจกลางเมือง ได้ยากขึ้น เจ้าหน้าที่สามารถสืบสวนสอบสวน และออกหมายจับในคดีการก่อการร้ายใหญ่ๆ อีกทั้งติดตามจบกุมผู้ต้องหาได้เป็นจำนวนมาก สถานการณ์ที่ความรุนแรงลดลง และการปฏิบัติการของตำรวจ ทหาร และพลเรือนมีผลในทางบวกมากขึ้น
 
นั่นล้วนมาจากความร่วมมือของประชาชน ความอดทนของเจ้าหน้าที่รัฐในการที่จะไม่ใช้ความรุนแรง และที่สำคัญคือ การเปิด “พื้นที่พูดคุย ที่เกิดขึ้น ทั้งการพูดคุยกับประชาชน และกับกลุ่มผู้เห็นต่างในพื้นที่ และการพูดคุยแบบไม่ต้องมี “โต๊ะประชุม ของคณะพูดคุยสันติสุขที่ส่งผลในทางบวกต่อสถานการณ์ในพื้นที่โดยตรง
 
“ข่าวดี” ที่เกิดขึ้นที่คนในพื้นที่ควรจะรับทราบ เช่น แนวร่วมที่บุกยึดโรงพยาบาลเจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 13 มี.ค.ที่ผ่านมา ถูกออกหมายจับแล้ว 27 คน และจับแบบเป็นๆ ได้แล้ว 3 คน ในรอบ 2 เดือนที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ติดตามยึดอาวุธปืนที่ถูกปล้นจากกองพลพัฒนาที่ 4 ค่ายปิเหล็ง เมื่อต้นปี 2547 ได้อีก 18 กระบอก และสามารถยึดฐานที่มั่นของกองกำลังติดอาวุธฝ่ายตรงข้ามบนเทือกเขาต่างๆ ได้ 9 ฐาน
 
ที่สำคัญคือ มีการตั้งชมรมเพื่อ “พาคนกลับบ้าน ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้รวม 37 ชมรม เพื่อทำหน้าที่ในการพาคนที่ต้องการยุติบทบาทของการเป็น “แกนนำการเป็น “แนวร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดนเพื่อกลับคืนสู่ครอบครัว ซึ่งโครงการนี้ถือว่าเป็นโครงการของการ “สร้างสันติสุข ที่ดีโครงการหนึ่ง อันเป็นการแสวงหาแนวทาง “สันติวิธี ของการร่วมมือกันระหว่างรัฐกับประชาชนในการ “ดับไฟใต้
 
เช่นเดียวกับการที่จะหยุดปัญหาการ “ซ้อม-อุ้มหาย ผู้ต้องหา หรือผู้ต้องสงสัย ซึ่งเป็นเรื่องที่ เจ้าหน้าที่รัฐถูกกล่าวหาจากนักสิทธิมนุษยชน และประชาชนมาโดยตลอดว่า ประเทศไทยมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น
 
ขณะนี้มีข่าวในเชิงบวกเกิดขึ้นคือ “กฎหมายว่าด้วยการซ้อม ทรมานและการอุ้มหาย” ได้ผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี และอยู่ในชั้นของการตรวจสอบจากสำนักกฤษฎีกา ก่อนที่จะเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาออกเป็นข้อกฎหมาย
 
หากมีการออกเป็นกฎหมายนี้ได้จริง ก็จะเป็นการป้องกันมิให้เจ้าหน้าที่รัฐทำการละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องหา ผู้ถูกกล่าวหา และป้องกันการซ้อม การอุ้มหายต่อผู้ต้องหา และผู้ต้องสงสัย ไม่ว่าจะเป็นคดีความมั่นคง หรือคดีอื่นๆ ที่เกิดขึ้น “ดาษดื่น” ในทุกภูมิภาค ที่มีการร้องเรียนไปยังองค์กรของผู้ที่ทำงานในด้านสิทธิมนุษยชน และหากกฎหมายนี้บังคับใช้ “เงื่อนไข” ที่เกี่ยวกับการซ้อม ทรมาน และการอุ้มหายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็อาจจะหมดไปด้วย
 
แต่ในท่ามกลางข่าวสาร และปรากฏการณ์ที่เป็นในเชิงบวกต่อการแก้ “ปัญหาเรื้อรัง” ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ยังมีสิ่งที่หน่วยงานของรัฐต้องติดตาม และแก้ไข โดยเฉพาะกับการ “รู้เขา รู้เรา กับขบวนการที่เป็นฝ่ายตรงข้าม หรือผู้ก่อเหตุ นั่นก็คือ ขบวนการบีอาร์เอ็น โคออดิเนต ที่แม้ว่าทางหนึ่งยังคงทำการพูดคุยกับ คณะพูดคุยเพื่อสันติสุข แต่อีกทางหนึ่งบีอาร์เอ็นก็ยังคงเดินหน้าในการปรับกระบวนการต่อสู้กับภาครัฐ มีการปรับโครงสร้างใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา เพื่อความ “เหนือกว่า ในการต่อสู้กับ “รัฐไทย”
 
ซึ่งจะเห็นได้ว่าหลังจากที่ กอ.รมน. มีความรู้ในเรื่องโครงสร้างของขบวนการบีอาร์เอ็นในพื้นที่ และเข้าทำการสลายแกนนำ แนวร่วม และแผนการได้ในบางส่วน ขณะนี้บีอาร์เอ็นได้ปรับแผนการปฏิบัติการในรูปแบบใหม่ ทั้งด้าน “การเมือง” และ “การทหาร  มีการยกเลิกตำแหน่ง และหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ อย่างหน่วยงาน หรือตำแหน่ง “อาเยาะ และอื่นๆ เป็นต้น อีกทั้งมีการปรับแผนการปฏิบัติการให้เป็นไปแบบหลวมๆ ในตำบล และหมู่บ้าน เพื่อมิให้เป็น “เป้าหมายของเจ้าหน้าที่
 
มีการปรับขบวนการเยาวชนให้ “เข็มแข็ง” และ “ลงลึกในการปลุกระดม มีแผนการยึดสถานศึกษาเพื่อใช้ในการเพิ่มจำนวนแนวร่วม มีการให้ความสำคัญต่อสตรีในพื้นที่ ทั้งที่เป็นเยาวชน นักศึกษา และแม่บ้าน มีการเพิ่มหน่วยงาน “ลอจิสติกส์” เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการส่งกำลังบำรุง และอื่นๆ ซึ่งหน่วยงานในพื้นที่ทุกหน่วยต้องติดตามศึกษาถึงความเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของขบวนการบีอาร์เอ็นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
 
สิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในวันนี้ไม่ใช่เรื่องของ “การพูดคุยสันติสุขว่าจะเดินหน้าไปได้แค่ไหน อย่างไร ไม่ใช่เรื่องของ “เหตุร้ายรายวัน” ที่อยู่ในความรับผิดชอบของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และไม่ใช่เรื่องของ “การพัฒนา” ที่อยู่ในความรับผิดชอบของ ศอ.บต. และกองทัพ
 
แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ หน่วยงานที่รับผิดชอบในการดับไฟใต้ ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ ทหาร พลเรือน แม้แต่สภาความมั่นคง และสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ ต่าง “ถือ” และ “มี” ข้อมูลที่เป็น “ชุดความจริง” คนละชุด และทุกหน่วยงานหรือองค์กรต่างก็ยืนยันที่จะ “เชื่อ” ในข้อมูลของหน่วยงานของตนว่า “ถูกต้อง” และไม่รับฟังชุดความจริงของคนอื่น หรือหน่วยงานอื่นๆ
 
โดย “มุ่ง” ที่จะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยข้อมูลที่เชื่อว่า นี่คือ “ความจริง” ทั้งที่ชุดความจริงที่เชื่อว่าจริงนั้น อาจจะจริงไม่ใช่ทั้งหมด และหลายชุดเป็นชุดของ “ความเท็จ” ด้วยซ้ำ
 
นี่ต่างหากที่เป็นเรื่องที่ “น่าห่วง” และ “น่าวิตกกังวล” สำหรับสถานการณ์ความไม่สงบของจังหวัดชายแดนภาคใต้ในเวลานี้
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น