คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์ มณีพิลึก
----------------------------------------------------------------------------------------------------
แล้วสถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็เป็นไปตามแบบที่เคยเป็นมา นั่นคือ ความรุนแรงใน “เดือนรอมฎอน” ที่เคยเกิดขึ้นทุกๆ ปี ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา ซึ่งจะเรียกว่าเป็น “วงจรอุบาทว์” ของขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่นำโดย “บีอาร์เอ็น” และนำมาใช้ปฏิบัติการต่อประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะใน 3 จังหวัด คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส กับ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ได้แก่ จะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย
ปีนี้สถานการณ์ความรุนแรงเริ่มตั้งแต่ก่อนที่จะเข้าสู่เดือนรอนฎอนด้วยซ้ำ โดยก็มีเหตุร้ายรายวันสืบต่อเนื่อง มีการการใช้ระเบิดแสวงเครื่อง การเผาสถานที่ราชการ เผาเสาสัญญาณโทรศัพท์ กราดยิงชาวไทยพุทธในร้านน้ำชา และล่าสุด ใช้ จยย.บอมบ์กับรถบัสรับส่งนักเรียนที่เป็นลูกหลานของเจ้าหน้าที่ทหารค่ายอิงคยุทธบริหาร และรถยนต์ของนายทหาร
ถึงขั้นเป็นเหตุให้นายทหารระดับ “พ.อ.” และ “พ.ท.” บาดเจ็บสาหัส รวมทั้งนักเรียน ผู้ปกครอง และชาวบ้านที่ไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งกับขบวนการแบ่งแยกดินแดนด้วย เพียงแต่เผอิญว่า ไปอยู่ในพื้นที่รัศมีของ จยย.ที่คนร้ายมีเป้าประสงค์ในการเอาชีวิตของเจ้าหน้าที่รัฐ
จะเห็นว่าปฏิบัติการของ “แนวร่วม” ขบวนการแบ่งแยกดินแดนเป็นปฏิบัติการที่ไม่ได้สนใจว่า “ผู้บริสุทธิ์” โดยเฉพาะที่เป็น “ชาติพันธุ์เดียวกัน” จะได้รับความเดือดร้อน บาดเจ็บ ล้มตายหรือไม่ ซึ่งวิธีการเช่นนี้คือ วิธีการที่ “ไร้มนุษยธรรม” ของคนในขบวนการ ซึ่งคนในพื้นที่ไม่ควรให้การสนับสนุน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ฝักใฝ่ต่อขบวนการแบ่งแยกดินแดนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ควรจะลุกขึ้นมา “คัดค้าน” ด้วย เพราะประชาชนผู้บริสุทธิ์เหล่านี้ไม่ควรที่จะกลายเป็นเหยื่อของความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐ กับขบวนการแบ่งแยกดินแดน
ดังนั้น จึงเชื่อเหลือเกินว่าอีก 3 สัปดาห์ต่อนี้ไป ซึ่งยังอยู่ในห้วงของเดือนรอมฎอน หรือเดือนแห่งการการถือศีลอดของผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม สถานการณ์ความรุนแรงที่เป็น “เหตุร้ายรายวัน” ยังต้องเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยที่เจ้าหน้าที่ที่เป็นฝ่ายป้องกันเหตุก็ไม่สามารถที่จะป้องกันได้ในทุกพื้นที่ของ 3 จังหวัด กับ 4 อำเภอของ จ.สงขลา เพราะพื้นที่กว้างใหญ่เกินกำลังของเจ้าที่ในการดูแลอย่างทั่วถึง
ข้อสำคัญแม้ว่าวันนี้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า จะได้รับความร่วมมือในทาง “การข่าว” กับประชาชนมากขึ้น แต่ก็ไมได้หมายความว่า ประชาชนจะรู้ถึงความเคลื่อนไหวของแนวร่วมทุกเรื่อง และสิ่งที่ต้องยอมรับคือ ขบวนการแบ่งแยกดินแดนในพื้นที่มีการ “ปิดลับ” และมีการวางแผนในการ “ตัดตอน” ที่ดี แบบที่เหนือกว่าการคาดคิดของเจ้าหน้าที่
แค่แผนการ “แสร้งตาย” ของ “มะแซ อูเซ็ง” ประธานฝ่ายเยาวชนของบีอาร์เอ็น ที่สร้างข่าวการเสียชีวิตด้วยวัณโรคเรื้อรัง มีการฝัง “ศพปลอม” โดยมีพยานทั้งที่เป็น “สายข่าว” ของ กอ.รมน. และของหน่วยงานความมั่นคงของประเทศมาเลเซียยืนยันเพื่อให้สมจริง
จึงเชื่อว่าการแสร้งตายของ มะแซ อูเซ็ง เป็นแผนการหนึ่งของบีอาร์เอ็น และอาจจะเป็นของ “มาเลเซีย” ในการเดินเกมทั้งในด้าน “การเมือง” และ “การทหาร” ต่อฝ่ายรัฐบาลไทย เพราะที่ผ่านมา ในโต๊ะ “พูดคุยสันติสุข” สิ่งที่ฝ่ายไทยต้องการคือ ต้องการที่จะพูดคุยกับ มะแซ อูเซ็ง และอับดุลเลาะ แวมะนอ 2 แกนนำบีอาร์เอ็นที่เป็นผู้กำหนด “บทบาท” ในการนำองค์กร
เนื่องเพราะมีความเชื่อว่า ทั้ง “มะแซ” และ “อับดุลเลาะ” คือ ผู้ที่ไม่เห็นด้วยต่อการพูดคุยสันติสุข รวมทั้งเป็นผู้กำหนดบทบาทของทั้งฝ่ายทหาร และฝ่ายการเมืองในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ที่ผ่านมา ทั้งมะแซ และอับดุลเลาะ ยืนยันชัดเจนว่า บีอาร์เอ็นยังไม่ถึงเวลาที่จะพูดคุย หรือเจรจากับรัฐบาลไทย พร้อมทั้งยังคงยืนยันว่า จะใช้วิธีการทางการทหารในพื้นที่ 3 จังหวัด กับ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ต่อไปจนกว่าจะได้รับชัยชนะ และชันชนะที่ต้องการคือ “เอกราช”
ดังนั้น การแสร้งตายของ มะแซ อูเซ็ง รวมทั้งกระแสการตั้งบุคคลอื่นขึ้นมาทำหน้าที่ฝ่ายเยาวชนของบีอาร์เอ็นแทนเขาในครั้งนี้ ฝ่ายความมั่นคงจะต้องติดตาม “ความเคลื่อนไหว” ของ “บีอาร์เอ็น” รวมทั้งของ “มาเลเซีย”อย่างใกล้ชิดว่า บีอาร์เอ็นจะใช้นโยบายการเมือง และการทหารต่อจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างไร
ในขณะที่ปัญหาภายในของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เองนั้น การแจ้งความเพื่อดำเนินคดีต่อ “มูลนิธิผสานวัฒนธรรม” อย่าง “พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ” ผู้เป็นประธานมูลนิธิ และ “ทนายสมชาย หอมลออ” ที่ปรึกษามูลนิธิ รวมทั้ง “อัญชนา หีมมิหน๊ะ” ในข้อหาหมิ่นประมาท กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ก็ยังเป็นเรื่องที่ “อ่อนไหว” ต่อความรู้สึกของผู้คน และองค์กรในกระบวนการยุติธรรมภาคประชาชน
ทางออกที่น่าจะดีกว่าการใช้กฎหมายเพื่อจัดการองค์กรที่ทำหน้าที่ในเรื่อง “สิทธิเสรีภาพ” หรือ “สิทธิมนุษย์ชน” คือ “การพูดคุย” ทำความเข้าใจด้วยเหตุและผล รวมทั้งการพิสูจน์ด้วยข้อเท็จจริงของหน่วยงานในพื้นที่ มากกว่าจะจบลงด้วยการใช้กระบวนการยุติธรรมมาจัดการ เพราะสุดท้ายแล้วผลที่ติดตามมาจะเป็น “ผลเสีย” มากกว่าผลดี
เพราะวันนี้สถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ได้ส่งผลในความรู้สึกของความ “หวาดระแวง” ของความ “แตกแยก” ระหว่างผู้คนที่มี “ชาติพันธุ์” และมี “ศาสนา” ที่ต่างกันในพื้นที่เท่านั้น แต่ได้มีการแผ่ขยายไปสู่สังคมนอกพื้นที่จังหวัดภาคใต้ ซึ่งมีการนำเอาเหตุการณ์ และสถานการณ์ที่ขบวนการบีอาร์เอ็นใช้ความรุนแรงต่อประชาชนในพื้นที่ไปขยายผล โดยเฉพาะกับ “คนไทยพุทธ” ที่ตกเป็นเหยื่อของแนวร่วมที่เจ็บแค้น และโกรธ เกลียดเจ้าหน้าที่รัฐ เมื่อ “เอาคืน” หรือ “แก้แค้น” เจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้ ก็มาลงที่ประชาชนที่เป็น “ไทยพุทธผู้บริสุทธิ์”
ในโลกโซเซียลมีเดียได้มีการนำเอาสถานการณ์ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ไป “ปลุกเร้า” จนทำให้คนไทยพุทธในภาคอื่นๆ ของประเทศมีความรู้สึกหวาดระแวง หวาดกลัว และออกมาต่อต้านในการก่อสร้างศาสนาสถาน และไม่ต้องการที่จะอยู่ร่วมกันในชุมชน ซึ่งวันนี้สิ่งเหล่านี้มีการก่อตัวที่อาจจะยังไม่มากก็จริง แต่ถ้าสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังรุนแรง และชาวไทยพุทธยังกลายเป็นเหยื่อมากขึ้นเรื่อยๆ สุดท้ายก็จะส่งผลให้ “ผู้นับถือศาสนาอิสลาม” ในพื้นที่ภาคอื่นๆ ที่เป็นชนส่วนน้อยในพื้นที่ หรือภูมิภาคนั้นๆ ต้องได้รับผลกระทบไปด้วย
วันนี้กระแสของความหวาดระแวง และหวาดกลัว “มุสลิม” กำลังแผ่ขยายไปอย่างรวดเร็วในประเทศไทย ถ้าสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังรุนแรง และบีอาร์เอ็นยังไม่เปลี่ยนนโยบายในการเข่นฆ่าผู้บริสุทธิ์ ซึ่งผู้ที่จะต้องแบกรับ “ความกดดัน” ที่เกิดจากความหวาดระแวง และหวาดกลัวก็คือ “มุสลิมผู้บริสุทธิ์” ซึ่งไม่ได้มีส่วนรับรู้ หรือเห็นด้วย หรือสนับสนุนบีอาร์เอ็นในการใช้ความรุนแรงต่อการแบ่งแยกดินแดนแต่อย่างใด
ณ วันนี้เรื่องนี้จึงเป็น “เรื่องใหญ่” ทั้งของรัฐบาลไทยที่จะต้องแก้ปัญหาความแตกแยก ความหวาดระแวง ความหวาดกลัวมุสลิมที่เกิดขึ้นแล้วในหลายพื้นที่ และหลายภูมิภาค
ในส่วนของขบวนการบีอาร์เอ็นที่เป็นผู้ใช้ความรุนแรง และความรุนแรงนั้นก็ได้ส่งผลถึงมุสลิมโดยตรง บีอาร์เอ็นเองก็ต้องทบทวนว่า สุดท้ายการใช้ความรุนแรงโดยมีผู้บริสุทธิ์เป็นผู้รับเคราะห์นั้น ในที่สุดแล้วจะได้รับ “ชัยชนะ” หรือสร้างความ “หายนะ” ให้แก่พี่น้องร่วมชาติพันธุ์หรือไม่