คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์ มณีพิลึก
--------------------------------------------------------------------------------
นอกจากเหตุการณ์ก่อการร้ายด้วยระเบิดแสวงเครื่องเพื่อต้อนรับการเปิดภาคเรียนวันแรกในพื้นที่ อ.มายอ จ.ปัตตานี แล้ว ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา สถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เกิดจากการกระทำของ “แนวร่วม” ขบวนการแบ่งแยกดินแดนลดน้อยลงกว่าเดิม
แต่การลดน้อยลงของ “เหตุร้ายรายวัน” ไม่ได้หมายความว่า สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะดีขึ้นแล้ว เพราะจากการตรวจสอบจากแหล่งข่าวพบว่า อาจจะเป็นการ “พักรบ” ชั่วคราวของแนวร่วม เพื่อรอการปฏิบัติการในช่วงของเดือน “รอมฎอน” ที่กำลังจะมาถึงในต้นห้วงมิถุนายนนี้
และการที่สถานการณ์ลดน้อยลงก็ไม่ใช่เรื่องการเสียชีวิตของ “มะแซ อูเซ็ง” ประธานฝ่ายเยาวชนของ “ขบวนการบีอาร์เอ็นฯ” แต่อย่างใด
เพราะการตายของ มะแซ อูเซ็ง อาจจะเป็นการ “ตายจริง” เพราะพ่ายแพ้แก่โรคร้าย หรืออาจะเป็นการ “ตายปลอม” เพื่อที่ต้องการหลุดพ้นจากองค์กร และให้ “คนใหม่” ทำหน้าที่แทน เพื่อปรับปรุงองค์กรให้มีความเข้มแข็ง หรืออาจจะมีนัยอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นความ “ช่ำชอง” ทางด้านยุทธศาสตร์ของบีอาร์เอ็นฯ ที่จะต้องศึกษา และตามให้ทัน
สำหรับในห้วงเดือนรอมฎอนในแต่ละปีที่ผ่านมา จะพบว่า แนวร่วมมีการก่อเหตุมากกว่าในห้วงเวลาปกติ เพราะขบวนการแบ่งแยกดินแดนยังใช้วิธีการเดิมๆ ในการ “บ่มเพาะ” สมาชิกทั้งที่เป็นสมาชิกเก่า และแนวร่วมใหม่ที่ถูกนำเข้าสู่ขบวนการให้เชื่อว่า การฆ่าผู้ที่เป็น “ศตรู” ในเดือนรอมฎอนจะ “ได้บุญถึง 10 เท่า”
ซึ่งเป็นการใช้หลักการศาสนาที่ “บิดเบือน” เพื่อหลอกใช้แนวร่วมให้ปฏิบัติการก่อการร้ายที่ขบวนการแบ่งแยกดินแดนใช้กันมาเป็นเวลานาน แต่แปลกที่เรื่องความเชื่อที่ผิดๆ เช่นนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวกับศาสนา หรือผู้นำศาสนายังแก้ไม่ได้
ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของ “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” ที่จะต้องมีแผนในการรับมือต่อการก่อเหตุร้ายของแนวร่วมในห้วงของเดือนรอมฎอนให้ได้ รวมทั้งเป็นหน้าที่ของผู้นำศาสนาที่จะต้องชี้ให้เห็นว่า ความเชื่อ และวิธีการที่นำมาใช้เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ทั้งหลักกฎหมาย และหลักศีลธรรม
ใครก็ตามที่อยู่เบื้องหลังในการสั่งการ และผู้ที่เป็นผู้ลงมือปฏิบัติการฆ่าคนในเดือนรอมฎอน คือ “คนบาปของสังคม” ที่จะต้องถูกประณาม และเขาเหล่านั้นคือ “สัตว์นรก” ที่ไม่ใช่คนแต่อย่างใด
สำหรับความเคลื่อนไหวในส่วนของ “การเมือง” ของบีอาร์เอ็นฯ ก่อนที่จะเข้าสู่เดือนรอมฎอน พบว่า ยังมีการหยิบยก 2 เงื่อนไขขึ้นมาเพื่อขยายผลในทางการเมือง
เงื่อนไขที่ 1 คือ เรื่องของ “ปอเนาะญีฮาด” ที่ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ที่ถูกทางการไทยยึดทรัพย์ในข้อหาใช้ปอเนาะแห่งนี้เป็นที่ “ซ่องสุมการก่อการร้าย” โดยใช้เงื่อนไขของ “ที่ดินวากัฟ” มาเป็นประเด็นนำการปลุกระดมทั้งภายในพื้นที่ และในต่างประเทศ
ทั้งในรูปแบบการขอความเห็นใจ และขอความช่วยเหลือจากประเทศมุสลิม รวมถึงองค์กรต่างๆ เพื่อชี้ประเด็นให้เห็นว่า “ถูกรังแก” รวมทั้งมีการปลุกระดมภายในพื้นที่มิให้ร่วมมือ หรือใช้ประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว หลังจากที่ทางการคืน หรือยกที่ดินของปอเนาะญีฮาดให้แก่องค์กรมุสลิมในพื้นที่เพื่อใช้ประโยชน์ในด้านการศึกษา และศาสนา
เงือนไข ที่ 2 คือ เรื่องที่บีอาร์เอ็นฯ นำมาใช้ในขณะนี้ คือ เรื่องการ “สะดุดหกล้ม” ของกระบวนการ “พูดคุยสันติสุข” ระหว่าง “กลุ่มมาราปาตานี” ที่เป็นตัวแทนของขบวนการแบ่งแยกดินแดน 4 กลุ่ม กับตัวแทนของรัฐบาลไทย โดยมีประเทศมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก
โดยมีการปลุกระดมว่า “รัฐไทยไม่มีความจริงใจ” ต่อกระบวนการสันติภาพ หรือการพูดคุยเพื่อยุติการใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา สร้างความเข้าใจผิดในทุกรูปแบบ ทั้งในพื้นที่ และในต่างประเทศ ซึ่งเป็นยุทธวิธีที่บีอาร์เอ็นฯ มีความช่ำชอง
ในขณะที่หน่วยงานของรัฐไทยนั้น “ซื่อบื้อ” มากต่อการชี้แจงทำความเข้าใจในเรื่องการสะดุดหกล้มของกระบวนการพูดคุยสันติสุข เพราะนอกจาก “ผู้นำ” จะแสดงความ “หงุดหงิด” ไม่พอใจต่อผู้ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องนี้แล้ว ยังไม่มีหน่วยงานไหนออกมา “สื่อสาร” ต่อสังคมภายใน และสังคมโลกอย่างเป็นเรื่องเป็นราว
วันนี้เรื่องการหยุดชะงักของการพูดคุยระหว่าง 2 ฝ่าย ซึ่งจริงๆ แล้วเป็น “เรื่องปกติ” ของการพูดคุย ไม่ว่าเป็นเรื่องอะไรที่ต้องมีการสะดุด หรือหยุดพักเพื่อทบทวนข้อดี หรือข้อด้อยของแต่ละฝ่าย โดยเฉพาะฝ่ายที่รู้ว่าถ้าพูดคุยต่อไปอาจจะ “เพลี่ยงพล้ำ” จำเป็นที่จะต้อง “ขอเวลานอก” ในการปรับทัพ ปรับกระบวนการ และวิธีการ
แต่วันนี้มีคนกลุ่มหนึ่งในประเทศที่กำลัง “ฟูมฟาย” เหมือนกับว่า “เสียผลประโยชน์” หรือมี “ส่วนได้ส่วนเสีย” ต่อกลุ่มมาราปาตานีที่การพูดคุยต้องหยุดชะงักลง ในขณะที่ “บางคน” และ “บางกลุ่ม” ทำเหมือนว่า การที่กองทัพเปลี่ยนตัวใครบางคนให้พ้นจากหน้าที่ของกระบวนการพูดคุย อาจจะต้องบทำให้กระบวนการพูดคุยสันติสุขต้อง “พังพาบ” ลงไปอย่างทันทีทันใด
ในการแก้ปัญหาการก่อการร้ายก็ดี การแบ่งแยกดินแดนก็ดี ไม่ได้หมายความว่า ถ้าไม่มีกระบวนการพูดคุยแล้ว ปัญหาจะไม่มีทางได้รับการแก้ไข เพราะโดยข้อเท็จจริงแล้วกระบวนการพูดคุยกับ “ผู้ที่เห็นต่าง” หรือ “ศัตรู”ของรัฐเป็นเพียง “ถนนสายหนึ่ง” ที่ใช้ในการเดินไปสู่ “จุดหมาย” เท่านั้น
แต่ไม่ได้หมายความว่า ถ้าไม่มีถนนสายนี้แล้ว การแก้ปัญหาการก่อการร้าย และการแก้ปัญหาการแบ่งแยกดินแดนจะทำไม่ได้เลย หรือไม่มีทางที่จะยุติสถานการณ์ในพื้นที่ได้ เพราะในการที่จะยุติปัญหาการก่อการร้าย และการแบ่งแยกดินแดน ยังมีถนนอีกหลายสายที่จะให้เดินไปจุดจุดหมาย
เพราะแม้แต่ “การบังคับใช้กฎหมาย” และ “กระบวนการยุติธรรม” อย่างจริงจังก็เป็น “หนทาง” ในการสร้างความสงบสุขให้เกิดขึ้นได้เช่นกัน
ที่ผ่านมา สิ่งที่ทำให้สังคมมองเห็นว่า “ไฟใต้” มีความรุนแรงมากขึ้นทุกขณะ เพราะเราพาตัวไปติด “กับดักของความรุนแรง” หน่วยงานทุกหน่วยงานต่าง “สาละวน” อยู่กับเรื่องการระเบิด การฆ่ากันเป็นเรื่องหลัก จนไม่มีใครหยิบยกเอาเรื่องอื่นๆ มาพูดคุย หรือสื่อสารให้สังคมเห็นถึงการแก้ปัญหาในด้านอื่นๆ
เช่นเดียวกับวันนี้ที่เราพาตัวเข้าไปติด “กับดักของการพูดคุย” เมื่อเวทีการพูดคุยมีปัญหาเกิดสะดุดหกล้ม ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา แต่หลายกลุ่มหลายองค์กรทำเหมือนว่า ถ้าไม่มีการพูดคุย หรือทำให้การพูดคุยล่าช้า ประเทศไทยอาจจะ “จมปลักอยู่กับความรุนแรง” ตลอดไป
การพูดคุยที่เรารู้ว่ากำลังจะพาตัวไปสู่ “หลุมพราง” และ “ถอนตัว” ออกมาได้ทันท่วงที ผู้ที่เสียเปรียบจึงคือ บีอาร์เอ็นฯ ไม่ใช่เรา ส่วนกลุ่มคนที่เห็นว่าการ “ถอย” ออกจากเวทีการพูดคุยเป็นการ “เสียเปรียบ” และเป็นการ “เพลี่ยงพล้ำ” ของฝ่ายไทย คนพวกนั้นอาจจะเป็น “สาขาหนึ่ง” ของบีอาร์เอ็นฯ ในแผ่นดินไทยก็เป็นได้