xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ ถก สมช.นัดแรก ตั้ง “ศูนย์ข้อมูลความมั่นคง”- สมช.ปัดคุยแถลงการณ์บีอาร์เอ็น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.อ.ทวีป เนตรนิยม เลขาธิการสมช.
นายกฯ ถก สมช. นัดแรก ตั้ง “ศูนย์รวบรวมข้อมูลด้านความมั่นคง” เน้นทุกหน่วยงานเข้าถึงได้ ด้าน “เลขา สมช.” ปัดหารือแถลงการณ์ “กลุ่มบีอาร์เอ็น” ครั้งล่าสุด ที่ไม่ปฏิเสธเจรจา ย้ำกลุ่มผู้เห็นต่างจะต้องพิสูจน์ตัวเองในการสร้างความไว้วางใจในการลดเหตุความรุนแรงในพื้นที่ให้ได้ก่อน

วันนี้ (12 ต.ค.) มีรายงานว่า ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม และ พล.อ.ทวีป เนตรนิยม เลขาธิการ สมช. พร้อมผู้นำเหล่าทัพเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง ถือเป็นการประชุมครั้งแรกของเลขา สมช. คนใหม่

พล.อ.ทวีป เปิดเผยภายหลังการประชุม ว่า ที่ประชุมมีการพูดถึงการทำงานภาพรวมในการแก้ไขปัญหาด้านความมั่นคง และความคืบหน้าการจัดลำดับ และการจัดทำข้อมูลศูนย์รวบรวมข้อมูลด้านความมั่นคงแห่งชาติ ของสภาความมั่นคงแห่งชาติ เพื่อให้ทุกหน่วยงานจัดลำดับความสำคัญ โดยให้หน่วยงานด้านความมั่นคงสามารถเข้าถึงข้อมูลได้

ด้าน กระทรวงกลาโหมได้เสนอแผนผนึกกำลังทรัพยากร เพื่อการป้องกันประเทศ เพื่อให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์พัฒนาความมั่นคงชาติ ของสภาความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่ โดย พล.อ.ประยุทธ์ ให้ไปปรับปรุงแผนและกำชับการทำงานด้านความมั่นคง จะต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน

ส่วนรายงานความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในด้านต่าง ๆ แม้ยังไม่ได้มีการกำหนดเวลาในการพูดคุยสันติสุขในครั้งต่อไป อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมยังไม่มีการหารือถึงแถลงการณ์ของกลุ่มบีอาร์เอ็น ครั้งล่าสุด เพราะเห็นว่ากลุ่มผู้เห็นต่างจะต้องพิสูจน์ตัวเองในการสร้างความไว้วางใจในการลดเหตุความรุนแรงในพื้นที่ให้ได้ก่อน

วันเดียวกัน เว็บไซต์สำนักข่าวอิศรา เผยแพร่ข่าวจาก “กลุ่มบีอาร์เอ็น” ซึ่งหน่วยงานความมั่นคงไทยเชื่อว่ามีบทบาทสูงสุดในสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้กว่า 1 ทศวรรษที่ผ่านมา โดยออกแถลงการณ์เป็นเอกสารภาษาอังกฤษ ลงท้ายว่ามาจากแผนกประชาสัมพันธ์ของขบวนการ ณ วันจันทร์ที่ 12 ตุลาคม 2558

สาระสำคัญของแถลงการณ์ คล้าย ๆ กับเนื้อหาในคลิปวิดีโอ ที่แถลงโดย นายอับดุลการิม คาลิบ ที่ออกมาเมื่อวันอังคารที่ 8 กันยายน 2558 คือ ไม่ไว้วางใจกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ในปัจจุบัน เพราะไม่ไว้วางใจรัฐบาลไทย โดยหากจะให้กลุ่มเคลื่อนไหวไว้วางใจ ต้องมีคนกลางและผู้สังเกตการณ์จากนานาชาติเข้าร่วมสังเกตการณ์การพูดคุย

ประเด็นที่เป็นข้อเสนอดังกล่าว ตรงกับส่วนหนึ่งของข้อเรียกร้องของบีอาร์เอ็น เมื่อครั้งร่วมโต๊ะพูดคุยสันติภาพกับรัฐบาลไทย เมื่อปี 2556 ซึ่งมี นายฮัสซัน ตอยิบ แกนนำบีอาร์เอ็น เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐ ขณะที่ฝ่ายไทยในขณะนั้นมี พลโท ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นหัวหน้า

สำหรับคำแปลโดยสรุปของแถลงการณ์บีอาร์เอ็น ระบุว่า แนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติปัตตานี หรือบีอาร์เอ็น แถลงว่า นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2503 ถึงทุกวันนี้ นับเป็นเวลา 55 ปีแล้วที่บีอาร์เอ็นได้ปกป้องเสรีภาพของปัตตานีผ่านกระบวนการปฏิวัติประชาชน ซึ่งบีอาร์เอ็นได้รับบทเรียนอันทรงคุณค่าในช่วงเวลาของการต่อสู้เพื่อเอกราช ว่าการต่อสู้อย่างไม่ลดละ ทำให้ความเสียสละอันยิ่งใหญ่และการตัดสินใจอันแน่วแน่ในการรักษาความไว้วางใจของประชาชนผู้เจ็บปวดเป็นจริงขึ้นมาได้ ทั้งหลายทั้งปวง คือ เอกราชไม่ได้มาด้วยการยึดครอง หรือผ่านข้อจำกัดแห่งการร้องขอ

ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่า บีอาร์เอ็นปฏิเสธกระบวนการสันติภาพผ่านการเจรจาสันติภาพ และการเจรจาต่อรอง แต่กระบวนการสันติภาพจะต้องมีเกียรติและจริงใจ ต้องมีความจริงใจในการปฏิบัติ กระบวนการสันติภาพต้องไม่ถูกใช้เป็นกลอุบายทางการเมือง เพื่อหลอกลวงและบั่นทอนความก้าวหน้าในยุทธศาสตร์ของชาวปัตตานี การเจรจาต่อรองจะต้องกระทำอย่างเป็นทางการ สอดคล้องกับมาตรฐานและปทัสถานระหว่างประเทศ ซึ่งต้องมีผู้ไกล่เกลี่ยและผู้สังเกตการณ์จากรัฐอื่นมามีส่วนร่วมด้วย เพราะสิ่งที่ปัตตานีกังวล คือ การที่รัฐหนึ่งเข้ายึดครองรัฐอื่น อีกทั้งสถานะและการดำรงอยู่ของชาติปัตตานีจะต้องได้รับการยอมรับ

บีอาร์เอ็น เชื่อว่า ประชาชนทุกคนของปัตตานี ไม่ว่าจะมีภูมิหลัง หรือศาสนาใด สมควรมีชีวิตที่ดีขึ้นในอนาคต นั่นคือปลอดการยึดครอง ปลอดการกดขี่ และปลอดการเลือกปฏิบัติ

ท่อนท้ายของแถลงการณ์ บีอาร์เอ็น ระบุด้วยว่า“ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ที่ปัตตานีจะได้รับอิสรภาพ อิสรภาพ อิสรภาพ”


กำลังโหลดความคิดเห็น