ปัตตานี - สถาบันการศึกษาชายแดนใต้ ร่วมจัดประชุม “ไตรสันติภาพ บนเส้นทางสังคมมุสลิมอาเซี่ยน” อาเจะห์-มินดาเนา-ปาตานี เพื่อหารือแลกเปลี่ยนประสบการณ์บนความขัดแย้ง มุ่งผลักดันสันติภาพ
วันนี้ (30 ก.ย.) ที่ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ คณะรัฐศาสตร์ สถาบันสันติศึกษา วิทยาลัยอิสลามศึกษา ม.สงขลานครินทร์ ได้ร่วมกับศูนย์ความร่วมมือทรัพยากรสันติภาพ วิทยาลัยประชาชน และสถาบันอัสสลาม ม.ฟาฏอนี (มฟน.) ได้จัดการประชุมวิชาการนานาชาติ ว่าด้วยไตรสันติภาพบนเส้นทางสังคมมุสลิมอาเซียน ภายใต้หัวข้อ “สังคมมุสลิม, ความรู้ และการสร้างสันติภาพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ณ วิทยาลัยอิสลามนานาชาติ ม.อ.ปัตตานี โดยมีนักวิชาการทั้งใน และต่างประเทศ ผู้แทนหน่วยงานรัฐ ภาคประชาสังคม นักศึกษา จำนวน 400 คนเข้าร่วม
ในที่ประชุมได้การแสดงปาฐกถาโดยนักวิชาการ และผู้บริหารมหาวิทยาลัยในพื้นที่ความขัดแย้ง 3 แห่ง ได้แก่ ศ.ดร.ยุสนี ซาบี อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยอิสลามแห่งชาติอัลรานิรี จากอาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย ศ.ดร.มาคาปาโด อบาตอน มุสลิม อธิการบดีมหาวิทยาลัยแห่งรัฐมินดาเนา จากหมู่เกาะมินดาเนา ของประเทศฟิลิปปินส์ และ ผศ.ดร.อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี จากจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย หรือปาตานี
นอกจากนี้ ยังมีพิธีลงนามในบันทึกความร่วมมือระหว่าง 5 สถาบันการศึกษาจาก 3 พื้นที่ความขัดแย้ง เพื่อพัฒนาความร่วมมือในทางวิชาการ และการอภิปรายในหัวข้อ “ความรู้ ทางเลือกในพื้นที่ความขัดแย้ง” และการนำเสนอบทความทางวิชาการจากนักวิชาการในพื้นที่ชายแดนใต้ และจากต่างประเทศอีกด้วย
ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการสถานวิจัยความขัดแย้งฯ ระบุว่า การจัดประชุมในครั้งนี้มุ่งหวังเพื่อเปิดประเด็นให้แวดวงวิชาการ และผู้คนในสังคมได้ตระหนักว่า สังคมมุสลิมในภูมิภาคอาเซียนนั้นมีทุนทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะหลักคำสอนในศาสนาอิสลามที่เอื้อต่อการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งด้วยสันติวิธี และการเปิดกว้างต่อการยอมรับความแตกต่างทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นฐานให้แก่การผลักดันสันติภาพเกิดขึ้นได้ แม้ว่าในหลายพื้นที่จะมีความขัดแย้งที่มีการใช้ความรุนแรงก็ตาม
“การที่เราเชื่อมโยงให้เห็นว่าพื้นที่อย่างมินดาเนา ของฟิลิปปินส์ และอาเจะห์ ในอินโดนีเซีย กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นที่นี่ ก็เพื่อเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ซึ่งกันและกัน เพราะเราต่างเผชิญต่อความขัดแย้งที่มีลักษณะคล้ายๆ กัน แต่มีขั้นตอน หรือกระบวนการสันติภาพที่แตกต่างกัน ผมเชื่อว่าหากเราสร้างความร่วมมือในการขับเคลื่อนงานความรู้ด้วยกัน เราอาจพัฒนาประสบการณ์ของทั้ง 3 พื้นที่นี้ให้เป็นตัวแบบในการแก้ไขความขัดแย้งต่อไปได้ในอนาคต” ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าว
ผู้อำนวยการสถานวิจัยความขัดแย้งฯ ม.อ.ปัตตานี กล่าวต่อว่า ในบันทึกความร่วมมือระหว่างสถาบันในครั้งนี้จะเป็นการลงนามโดยผู้แทน 5 สถาบัน ได้แก่ ม.สงขลานครินทร์ ม.ฟาฏอนี วิทยาลัยประชาชน ม.แห่งรัฐมินดาเนา และ ม.อิสลามแห่งชาติอัลรานิรี โดยจะมีเนื้อหาที่ระบุถึงความร่วมมือในการทำวิจัย และการประชุมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อต่างๆ ร่วมกัน การแลกเปลี่ยนบุคลากรทั้งนักวิจัย อาจารย์ และนักศึกษา ตลอดจนแบ่งปันข้อมูลข่าวสารในทางวิชาการระหว่างกัน นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงความร่วมมือในการพัฒนาศักยภาพบุคลากรของสถาบันต่างๆ ด้วยเช่นกัน
ผศ.ดร.สุกรี หลังปูเต๊ะ รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ ม.ฟาฏอนี กล่าวว่า ความร่วมมือดังกล่าวยังรวมไปถึงข้อตกลงที่สถาบันการศึกษาในแต่ละพื้นที่จะสลับหมุนเวียนกันจัดประชุมวิชาการนานาชาติที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสันติภาพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในทุกๆ ปี โดยจะถือว่าการประชุมไตรสันติภาพครั้งนี้เป็นการริเริ่มครั้งแรก และในปีต่อไปมีการตกลงว่าจะจัดขึ้นอีกครั้งที่มินดาเนา ประเทศฟิลิปปินส์
ตนเห็นว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ไม่เพียงแต่จะยกระดับสถานะของงานวิชาการที่เกี่ยวต่อการศึกษาความขัดแย้ง และสันติศึกษาเท่านั้น แต่ยังเป็นการพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับอิสลามศึกษา และมุสลิมศึกษาให้เชื่อมโยงต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่อยู่ในภาวะความขัดแย้งอีกด้วย
“ไม่ใช่ว่าเราเท่านั้นที่ต้องการเรียนรู้จากบทเรียนต่างๆ จากเพื่อนบ้านเหล่านี้ แต่พวกเขาเองก็ต้องการเก็บรับประสบการณ์หลายอย่างจากเราด้วยเช่นกัน ผมคิดว่านี่คือย่างก้าวที่สำคัญ” รองอธิการบดี มฟน. กล่าว