xs
xsm
sm
md
lg

ดับ “ไฟบนดิน” ได้ แต่ดับ “ไฟใต้ดิน” ไม่ได้..แล้วจะดับ “ไฟใต้” ได้อย่างไร?! / ไชยยงค์ มณีพิลึก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบ
 
คอลัมน์  :  จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์ มณีพิลึก
--------------------------------------------------------------------------------
 
 
ถ้าติดตามสถานการณ์ความรุนแรงจากการก่อการร้ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่าง “เกาะติดโดย “ตัดฉากเฉพาะ 2 ปีที่เกิดองค์ “รัฏฐาธิปัตย์ โดย “กองทัพ” เข้ามาจัดตั้งรัฐบาลเพื่อบริหารประเทศ จะเห็นว่า แม้สถานการณ์ความรุนแรงยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นระยะๆ ตามจังหวะเหตุการณ์ และเงื่อนไขที่เกิดขึ้นในพื้นที่
 
โดยเฉพาะในท่ามกลางเหตุร้ายรายวันที่ขบวนการ “บีอาร์เอ็นฯ” ยังคงนโยบายให้มีเหตุร้ายเกิดขึ้นวันละ 1-2 เหตุการณ์ เพื่อที่จะ “เลี้ยงกระแส” ให้เห็นว่า พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังไม่สงบ และดีขึ้นอย่างที่ฝ่ายของรัฐบาล และหน่วยงานในพื้นที่เพียรบอกแก่ประชาชน
 
แต่ “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” ก็เพียรพยายามอย่างยิ่งในการสร้างแนวป้องกัน “7 หัวเมืองเศรษฐกิจ” ทุกวิถีทางให้ปลอดภัยจากการก่อการร้ายของ “แนวร่วม” ขบวนการแบ่งแยกดินแดน โดยเฉพาะในเรื่องของการก่อการร้ายด้วยปฏิบัติการ “คาร์บอมบ์
 
ซึ่งก็สามารถทำให้เขตเศรษฐกิจ 7 หัวเมืองใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ปลอดภัย แต่เป็นการปลอดภัยที่แลกมากับ ความเหนื่อยยากของกองกำลัง ที่ต้องทำหน้าที่อย่างเต็มที่ชนิดที่ “หลุดและ “หลวม ไม่ได้แม้แต่วันเดียว
 
เพราะในขณะที่พื้นที่ “ในเมือง” หน่วยงานของรัฐมี “ตาสับปะรดเพื่อเป็นหูเป็นตาช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ แต่พื้นที่นอกเมืองแนวร่วมก็มี “ตาสับปะรด คอยรายงานความเคลื่อนไหวของเจ้าหน้าที่เช่นกัน ถ้าเกิด “ช่องว่าง ขึ้นเมื่อไหร่ กองกำลังติดอาวุธที่เตรียมพร้อมอยู่แล้วในพื้นที่รอบนอกก็จะเข้าก่อการร้ายทันที
 
ดังนั้น ถ้า กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ต้องการที่จะสร้างความปลอดภัยอย่างถาวรให้เกิดแก่หัวเมืองเศรษฐกิจทั้ง 7 หัวเมือง และไม่ต้องการใช้กำลังพลจำนวนมาก แต่ให้กำลังพลทำหน้าที่อย่างเต็มที่ สิ่งที่ต้องเร่งปฏิบัติการ คือ การเข้าควบคุมพื้นที่ “รอบนอก” ที่เป็น “รอยต่อ” กับเขตเมืองให้ได้ โดยเฉพาะพื้นที่หมู่บ้าน เชิงเขา และริมทะเลที่เป็นพื้นที่ “ยุทธศาสตร์” ที่บีอาร์เอ็นฯ ใช้เป็นฐานที่มั่นในการเคลื่อนไหว โดยต้องทำให้เป็นหมู่บ้าน หรือพื้นที่ “ปลอดแนวร่วม” โดยเร็ว
 
เนื่องเพราะถ้าหมู่บ้านในพื้นที่รอบนอกเป็นพื้นที่ปลอดจากแนวร่วมได้เมื่อไหร่ เมื่อนั้นแหละที่จะทำให้พื้นที่หัวเมืองเศรษฐกิจมีความปลอดภัยอย่างถาวร
 
เพราะไม่เช่นนั้นแล้วการติดตาม ตรวจค้น และไล่ล่าของกำลังเจ้าหน้าที่ ทั้งตำรวจ และทหารก็จะเป็นเหมือนกับยุทธวิธีของ “เหมา เจอ ตุง” ที่ใช้ในการยึดครองแผ่นดินจีน นั่นก็คือ “มึงมากูมุด มึงหยุดกูแหย่ มึงแย่กูตี มึงหนีกูตาม
 
สุดท้ายแล้วถ้ากำลังป้องกัน 7 หัวเมืองหลุด หรือหลวม หรือมีการลดกำลังให้เหลือน้อยเมื่อไหร่ ก็จะถูกก่อวินาศกรรม หรือโจมตีในทันที
 
เช่น ถ้าต้องการให้ “หาดใหญ่” และ “สะเดา” อันเป็นเมืองเศรษฐกิจสำคัญของจังหวัดสงขลาเป็นพื้นที่ปลอดภัย โดยที่ไม่ต้องทุ่มกำลัง อส. ชรบ. ตำรวจ และทหารจำนวนมากในการตั้งจุดตรวจ จุดสกัด ตรวจค้นแหล่งต้องสงสัยตลอด 24 ชั่วโมง สิ่งที่ต้องดำเนินการคือ ต้องทำพื้นที่ อ.จะนะ อ.เทพา อ.นาทวี และ อ.สะบ้าย้อย ซึ่งเป็น 4 อำเภอ “สีแดง” ของ จ.สงขลา ให้เป็น “พื้นที่ปลอดโจรก่อการร้าย  เมื่อนั้นเมืองหาดใหญ่ และเมืองสะเดาก็จะปลอดภัยอย่างถาวร
 
แม้ว่าในรอบปี 2559 หลายฝ่ายจะดีใจ และเห็นว่าสถานการณ์น่าจะดีขึ้น เพราะ “โรงเรียน” ไม่ถูกเผา “ครู” ไม่ถูกฆ่าแม้แต่รายเดียว หลังจากที่ 11 ปีที่ผ่านมา ครูได้ถูกใช้เป็นเครื่องเซ่นสังเวยไฟใต้ไปแล้วถึง 182 ชีวิต
 
แต่อย่างเพิ่งดีใจต่อการไม่สูญเสียบุคลากรทางการศึกษา เพราะเหตุที่ไม่สูญเสียนั้นไม่ได้มาจากมาตรการคุ้มครองครูอย่างเข้มแข็งของหน่วยงานที่รับผิดชอบเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเพราะบีอาร์เอ็นฯ มีนโยบายที่ไม่ต้องการชีวิตครูเพื่อใช้เป็น “เหยื่อสถานการณ์ อีกแล้ว เพราะฝ่ายการเมือง และมวลชนในพื้นที่เห็นว่า วิธีการฆ่าครู และเผาโรงเรียนที่เคยใช้มีแต่จะทำให้ “สูญเสีย” ในทาง “การเมืองมากขึ้น
 
สิ่งที่หน่วยงานความมั่นคงต้องระมัดระวังคือ การไม่ไป “ติดกับดักของความรุนแรงที่บีอาร์เอ็นฯ สร้างขึ้นแบบ “รายวัน จนมีการพุ่งเป้าไปสู่ “งานการทหาร จนมองไม่เห็นความเคลื่อนไหวของ “งานการเมือง ของบีอาร์เอ็นฯ ที่ ณ วันนี้ยังคงมุ่งเน้นในการใช้ “สถานศึกษา” เพื่อทำการ “คัดตัว” และ “บ่มเพาะเยาวชนรุ่นใหม่เข้าสู่ขบวนการ
 
วันนี้ บีอาร์เอ็นฯ ยังยึดมั่น และตั้งมั่นอยู่กับ “แผนบันได 7 ขั้น” ที่เขียนขึ้นจากมันสมองของ “มะแซ อูเซ็ง” แกนนำคนสำคัญฝ่ายเยาวชน และตาดีกาอย่างไม่เปลี่ยนแปลง และมีความเข้มข้นมากขึ้นเสียด้วย โดยเฉพาะการมุ่งเป้าไปที่เยาวชนที่เป็น “สตรี”
 
ในขณะที่ฝ่ายความมั่นคงต้องยอมรับความจริงว่า วันนี้ฝ่ายความมั่นคงเข้าไม่ถึง หรือยังไม่กล้าที่จะเข้าไปทำการตรวจสอบสถานศึกษาที่อยู่ในข่ายต้องตรวจสอบ เพราะยังหวั่นเกรงต่อการใช้วิธีการที่เข้มข้นกับสถานศึกษา และศาสนาเหล่านี้จนทำให้เกิด “แนวร่วมมุมกลับ ขึ้น
 
และต้องยอมรับว่า ณ วันนี้ “จุดอ่อน ของฝ่ายความมั่นคงนี้ได้กลายเป็น “จุดแข็ง ที่บีอาร์เอ็นฯ สามารถใช้สถานศึกษาจำนวนหนึ่งเป็นที่บ่มเพาะเยาวชนรุนใหม่เข้าสู่ขบวนการ
 
สิ่งที่เกิดขึ้น และเห็นได้ชัดคือ บีอาร์เอ็นฯ มีระบบ “ตัวตาย ตัวแทน” เกิดขึ้นในขบวนการ ทั้งในการเป็น “แกนนำและเป็น “แนวร่วม ทั้งในระดับ “เปอร์มูดอ” และ “อาร์เคเค เพื่อปฏิบัติการก่อกวน และก่อวินาศกรรมในพื้นที่เป้าหมาย
 
กอ.รมน. ต้องยอมรับความจริงว่า ขบวนการบ่มเพาะเยาวชนของบีอาร์เอ็นฯ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และในต่างประเทศยังมีความต่อเนื่อง มากขึ้น” และ “เข้มแข็งขึ้น” ในขณะที่การจัดการต่อขบวนการเยาวชนของ กอ.รมน.ยังไม่ได้ผล
 
วันนี้สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ การที่เยาวชนในขบวนการแบ่งแยกดินแดนของบีอาร์เอ็นฯ กำลังนำเอา “ประเด็นความขัดแย้งใหม่ๆ” ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ เช่น “โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน” ก็ดี หรือโครงการพัฒนาพื้นที่ที่อาจจะมีผลกระทบต่อวิถีชีวิต ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ไปใช้ในการขับเคลื่อนให้ขบวนการเป็นส่วนเดียวกับประชาชนกลุ่มที่ “เห็นต่าง” กับหน่วยงานของรัฐ
 
นั่นอาจจะเป็นการขับเคลื่อน “งานการเมืองแบบใหม่” ของกลุ่มเยาวชนในขบวนการบีอาร์เอ็นฯ ที่อยากให้หน่วยงานความมั่นคง “จับตามอง” ให้ดีแล้วจะเห็นถึงการเคลื่อนไหวของบีอาร์เอ็นฯ ในการ “รุกคืบทางการเมือง ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
 
เชื่อเถอะว่า บีอาร์เอ็นฯ ไม่เคยเปลี่ยนแนวคิด และไม่เคยหยุดการเคลื่อนไหว รวมทั้งมีการปรับเปลี่ยนงานด้านการเมืองมาโดยตลอด โดยให้งานการทหารเป็น “หลุมพราง ให้หน่วยงานความมั่นคงติดอยู่ในกับดักความรุนแรงด้วยเหตุร้ายรายวัน โดยรัฐต้องทุ่มทั้ง “กำลังคน” และ “เม็ดเงิน เพื่อหยุดความรุนแรงนั้น
 
โดยให้หน่วยงานความมั่นคงเห็นว่า คำตอบของคำว่าสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ “ดีขึ้น” คือ “เหตุร้ายลดลง” จึงอาจจะไม่ใช่ข้อเท็จจริงเสมอไปสำหรับการทำ “สงครามประชาชน”
 
ชัยชนะทางการทหารมีเพียงอย่างเดียวคือ “การดับไฟบนพื้นดิน” แต่ชัยชนะทางการเมืองคือ “การดับไฟใต้พื้นดิน” ดังนี้แล้ว หากไฟใต้พื้นดินยังไม่มอดดับ ย่อมไม่ใช่แนวทางของการ “ดับไฟใต้” ที่ถูกต้องนั่นเอง?!?!
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น