xs
xsm
sm
md
lg

“ครม.ส่วนหน้า” ของขวัญชิ้นใหม่มอบให้คนชายแดนใต้ / ไชยยงค์ มณีพิลึก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบ
 
คอลัมน์  :  จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์ มณีพิลึก

--------------------------------------------------------------------------------
 
 
ลำพังสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็นับว่ารุนแรง และยุ่งยาก ทั้งกับคนในพื้นที่ และหน่วยงานความมั่นคง ซึ่ง 12 ปีผ่านไปของเหตุความรุนแรงครั้งใหม่ ทั้งรัฐบาล ทั้งกองทัพ ที่เป็นเจ้าภาพหลักในการแก้ปัญหายังอยู่ในลักษณะการ “ยักตื้นติดกึก ยักลึกติดกัก” หาทางออกจาก “กับดัก” ของความรุนแรงไม่เจอ
 
เมื่อพบกับการก่อการร้ายที่มีการขยายพื้นที่ในการก่อวินาศกรรมไปในจังหวัดต่างๆ ของภาคใต้ตอนบน และลามไปถึง จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นเมืองชายแดนที่ติดกับประเทศพม่า ยิ่งทำให้สถานการณ์การแก้ปัญหาของรัฐบาล และกองทัพยุ่งยากยิ่งขึ้น
 
เพราะจากการตรวจสอบความเคลื่อนไหวของกลุ่มก่อการร้าย กลุ่มแบ่งแยกดินแดน ซึ่งอยู่ในข่ายเป็น “ศัตรู” กับ “รัฐไทย” และมีความสามารถในการทำ “สงครามกองโจร” ทั้งวิธีการ “ลอบกัด” วิธีการฉวยโอกาส และอีกสารพัดวิธีในการสร้างความสูญเสียให้แก่ประชาชน และเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อเป็นการ “ต่อรอง” กับอำนาจรัฐ
 
อย่าว่าแต่การก่อวินาศกรรมในพื้นที่ภาคใต้ตอนบนที่เป็นเมืองท่องเที่ยวเลย แม้แต่ในกรุงเทพฯ อันเป็นเมืองหลวง โจรร้ายเหล่านี้ก็สามารถที่จะก่อวินาศกรรมได้ เพราะมีการสร้าง “เครือข่าย” ของขบวนการไว้นานแล้ว
 
หรือแม้กระทั่งพื้นที่ของภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ถ้าขบวนการก่อการร้ายมีแผนปฏิบัติการพวกเขาก็สามารถทำได้ เพราะวันนี้ขบวนการก่อการร้าย หรือขบวนการแบ่งแยกดินแดนมีการสร้าง “โครงข่าย” เอาไว้แล้วทั้งสิ้น
 
เช่นเดียวกับการก่อการร้ายในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเจ้าหน้าที่เชื่อมั่นในการป้องกันพื้นที่ 7 หัวเมืองใน 4 จังหวัดภาคใต้ และสาเหตุที่ไม่มี “คาร์บอมบ์” หรือการกก่อวินาศกรรมที่รุนแรง เป็นเพราะมีการป้องกันที่มีประสิทธิภาพ ทำให้คนร้ายเข้าไปก่อเหตุไม่ได้นั้น
 
นั่นอาจจะเป็นการ “เข้าใจตนเอง” เพียงฝ่ายเดียว เพราะข้อเท็จจริงอาจจะเป็นเพราะว่า ที่ไม่เกิดเหตุเนื่องจาก  “ยังไม่ถึงเวลา” ของการปฏิบัติการ หรือมี “เงื่อนไข” อื่นๆ แอบแฝงอยู่
 
อย่างกรณีคาร์บอมบ์ที่ “โรงแรมเซาท์เทิร์นวิว” ชานเมืองปัตตานี ที่เกิดขึ้นเป็นรายล่าสุด แสดงให้เห็นว่า หากกลุ่มก่อการร้ายคิดที่จะทำพวกมันย่อมหาวิธีการได้ โดยเฉพาะวิธีการใช้รถยนต์ที่เป็นของราชการ ทั้งด้วยการลัก ขโมย หรือปล้นชิง และการปลอมแปลงรถยนต์อื่นๆ เพื่อให้ดูคล้ายกับรถยนต์ทางราชการ ก็เคยเกิดขึ้นแล้วหลายครั้ง เพียงแต่ระเบิดที่ใช้ไม่รุนแรงอย่างที่โรงแรมเซาท์เทิร์นวิว
 
ปัญหาที่ต้องคิดต่อไปในเรื่องคาร์บอมบ์ที่โรงแรมเซาท์เทิร์นวิว อะไรคือเหตุผลในการบอมบ์โรงแรมแห่งนี้ ทำไมคนร้ายจึงไม่เอารถ “กู้ชีพ กู้ภัย” ไปจอดในสถานที่ราชการอื่นๆ เพราะการที่คนร้ายใช้รถราชการของโรงพยาบาลตำบลเป็นคาร์บอมบ์ เชื่อว่าสามารถเข้าใกล้สถานที่ราชการต่างๆ ได้อย่างแน่นอน
 
โดยปกติโรงแรมที่ตกเป็นเหยื่อคาร์บอมบ์ เป็นโรงแรมที่ผู้ บริหารมี “ตาสับปะรด” จากผู้ที่แวดล้อมโรงแรม และมีผู้นำท้องถิ่นดูแลความปลอดภัยอย่างดียิ่ง จะเห็นว่า 12 ปีที่ผ่านมา โรงแรมแห่งนี้อยู่รอดปลอดภัยมาโดยตลอด ดังนั้น การเลือกทำคาร์บอมบ์ที่โรงแรมแห่งนี้ นอกจากเป็นการสร้างสถานการณ์ ซึ่งเป็นเหตุ “ปกติ” ในพื้นที่แล้ว ยังมี “เหตุผลนอกเหนือ” จากนี้หรือไม่
 
มีการให้เหตุผลของคาร์บอมบ์ในครั้งนี้ว่า เพื่อเป็นการ “สอดรับ” ต่อการก่อวินาศกรรมในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน ที่สุดท้ายแล้วการก่อวินาศกรรมที่ภาคใต้ตอนบนเป็นฝีมือของกลุ่มก่อการร้าย หรือขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่ไปจากพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้
 
ซึ่งหลังเกิดเหตุใน 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน หน่วยงานความมันคงของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก ศชต. ก็ใช้แผน “ปูพรม” ในการตรวจค้นพื้นที่เป้าหมาย ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชน หรือปอเนาะ และสถานที่อื่นๆ โดยใช้วิธีการเดิมๆ คือ การควบคุมตัวผู้ที่มี “หมายจับเก่า” ไปทำการ “ซักถาม” ตามวิธีการของฝ่ายความมั่นคง เพื่อหาจุดเชื่อมโยง และรายละเอียดที่คนในขบวนการเหล่านี้อาจจะทราบ “เบาะแส” ของกลุ่มก่อการร้าย แม้ว่าจะไม่ได้เข้าร่วมปฏิบัติการก็ตาม
 
ในขณะที่ผู้หลักผู้ใหญ่ที่นั่งรับฟังข้อมูลอยู่ใน “เมืองหลวง” บน “หอคอยงาช้าง” ก็ให้สัมภาษณ์เป็นคุ้งเป็นแควว่า ระเบิดใน 7 จังหวัดภาคใต้ คนร้ายไปจากปอเนาะ และมีกลุ่มนักการเมืองในพื้นที่อยู่เบื้องหลัง ซึ่งก็เหมือกับที่เคยให้สัมภาษณ์เมื่อครั้งที่มีคาร์บอมบ์ที่ห้างเซ็นทรัลเฟสติวิล บนเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อปี 2558 ที่ผ่านมา
 
นี่ก็อาจจะเป็น “สาเหตุหนึ่ง” ที่ทำให้เกิดคาร์บอมบ์ที่โรงแรมเซาท์เทิร์นวิว หรือไม่ เพื่อเป็นการ “ยืนยัน” อย่างรู้กันภายในของหน่วยงานความมั่นคงว่า “ไผเป็นไผ
 
ที่สำคัญที่ต้องตั้งเป็นข้อสังเกตคือ คาร์บอบม์ที่ จ.ปัตตานี เกิดขึ้นหลังจากที่มีการกำหนดการในการ “พูดคุยสันติสุข” ระหว่างตัวแทนของรัฐบาลกับ “กลุ่มมาราปาตานี” โดยมีรัฐบาลมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก ซึ่งกำหนดขึ้นในวันที่ 2 ก.ย.ที่จะถึงนี้ หลังจากที่กระบวนการพูดคุยแบบเต็มรูปแบบมีอันต้อง “หยุดยาว” มาแล้วหลายเดือน จากปัญหาการไม่มีการลงนามใน “ทีโออาร์” ของฝ่ายรัฐไทย
 
หากติดตามสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะพบว่า ในการกำหนดการพูดคุยทุกครั้ง ความรุนแรงในพื้นที่ 4 จังหวัดก็จะเกิดขึ้นทุกครั้ง เหมือนกับการ “เหยียบเบรก” อย่าง “จงใจ” ของขบวนการ หรือของกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยต่อการพูดคุยสันติสุข เพราะไม่อยากให้เกิดขึ้น
 
และครั้งนี้ก็อาจจะทำให้การพูดคุยระหว่างตัวแทนของรัฐไทยกับมาราปาตารีมีอันต้อง “สะดุด” ลงอีกครั้งหรือไม่ เพราะฟังน้ำเสียงจากคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.ที่ไม่ “แฮปปี้” ต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นก่อนการพูดคุย โดยให้เหตุผลเหมือนทุกครั้งคือ “ถ้าเหตุการณ์ยังรุนแรงก็ยังไม่ต้องคุย”
 
ซึ่งก็น่าที่จะเห็นด้วยกับท่านนายกรัฐมนตรีในบางประเด็น เพราะถ้าเหตุการณ์ยังไม่ดีขึ้น การพูดคุยไปก็ไร้ประโยชน์ เนื่องจากจุดประสงค์หลักของรัฐบาล และของกองทัพคือ การ “ยุติความรุนแรง” ในพื้นที่ เมื่อคณะที่จะมาพูดคุยด้วยกับตัวแทนรัฐไทยไม่ใช่กลุ่มที่ “สั่งการ” ในพื้นที่ให้หยุด หรือให้เดินตามคำสั่งได้ ก็เท่ากับไม่ได้พูดคุยกับ “ตัวการ” ที่แท้จริงที่อยู่เบื้องหลังการสร้างความรุนแรง
 
แต่อีกมุมมองหนึ่งที่ต้องมองด้วยคือ ถ้าจะให้การพูดคุยสันติสุขเดินต่อไปได้ จะต้องแยกเอาเรื่องความรุนแรงในพื้นที่ออกจากเรื่องของการพูดคุย เพราะการพูดคุยคือ การแสดงว่าทั้ง 2 ฝ่ายจะใช้วิธีการสร้าง “สันติสุข” ด้วยการพูดคุย ซึ่งเป็นการค่อยๆ หาทางออกจากความรุนแรง ซึ่งต้องใช้ “เงื่อนไข” และ “เวลา” ที่ยาวนานบนโต๊ะของการพูดคุย
 
ส่วนเรื่องการก่อเหตุในพื้นที่ก็แยกออกไปเป็นอีกประเด็นหนึ่ง ด้วยการหาวิธีการทั้งการพูดคุยในพื้นที่ ซึ่งเป็นงาน “การเมือง” และใช้วิธี “การทหาร” ต่อกลุ่มผู้ใช้ความรุนแรง เพราะรัฐบาล คสช.และกองทัพเองก็รู้อยู่ว่า ขบวนการก่อการร้ายในพื้นที่มีอยู่ไม่น้อยกว่า 3 กลุ่ม ที่ปฏิบัติการด้วยความรุนแรงในพื้นที่ และไม่ได้ขึ้นตรงต่อขบวนการใดขบวนการหนึ่ง
 
ถ้าจะเอาเหตุความรุนแรงในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็น “เงื่อนไขในการพูดคุย” โดยถ้าความรุนแรงไม่ลด สร้างพื้นที่ปลอดภัยไม่ได้ ก็เลื่อนการพูดคุยไปนั้น เชื่อว่าโอกาสการพูดคุยอย่างเป็นทางการกับกลุ่มมาราปาตานีที่ใน “ทีโออาร์” ฉบับใหม่ระบุไว้ ซึ่งเราจะขอให้เรียกชื่อว่า “กลุ่มผู้เห็นต่าง” น่าจะมีการ “เลื่อนยาวๆ” ไปอีกครั้งหนึ่ง
 
แต่จะเลื่อนออกไปอย่างไรก็เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. แต่ก็อย่าลืม “ถามชาวบ้านในพื้นที่” บ้างนะว่าพวกเขาคิดเห็นอย่างไรต่อการเลื่อนการพูดคุยที่อาจจะเกิดขึ้น
 
เอาเถอะ! แม้ว่าการพูดคุยอาจจะเลื่อนๆ ไปอีกหลังมีคาร์บอมบ์ที่ จ.ปัตตานี และเหตุก่อวินาศกรรมใน 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบนที่ยิ่ง “สืบสวน” ยิ่งพัวพันถึงขบวนการ “บีอาร์เอ็น” มากขึ้น แต่วินาศกรรมที่ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน และคาร์บอมบ์ที่หน้าโรงแรมเซาท์เทริ์นวิว ก็ทำให้มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแก่ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้อีกครั้ง
 
นั่นคือ “คนใต้” กำลังจะได้ “ครม.ส่วนหน้า” ซึ่งจะมาตั้งที่ จ.ปัตตานี เพื่อทำหน้าที่ “ดับไฟใต้” อันเป็นนโยบายใหม่ของรัฐบาล และ คสช. หลังจากที่ 2 ปีผ่านพ้นไปยังไม่เห็น “หนทาง” ที่จะทำให้ไฟใต้มอดดับ
 
12 ปีที่ผ่านมา คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เห็นการแก้ปัญหาไฟใต้มาแล้วหลายรูปแบบ เช่น ผ่านการยุบ “ศอ.บต.” ผ่านการยุบ “พตท.43” แล้วก็กลับมาตั้งขึ้นใหม่ มีการตั้ง “กอ.สสส.จชต.” มีการใช้ “พ.ร.บ.ศอ.บต.” มีการตั้ง “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” มีการตั้ง “กระทรวงศึกษาธิการส่วนหน้า” แล้วอาจจะยุบ ศอ.บต.ไปรวมกับ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ฯลฯ
 
และอีกไม่ช้าของขวัญชิ้นใหม่ที่จะเป็นเครื่องมือในการดับไฟใต้ก็คือ “ครม.ส่วนหน้า” จึงหวังว่าจะเป็นเครื่องมือ “ชิ้นสุดท้าย” ที่เป็นของขวัญสำหรับคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งรัฐบาลจะใช้ในการ “ดับไฟใต้” และ “ดับไฟในใจ” ของคนในพื้นที่
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น