xs
xsm
sm
md
lg

ปรากฏการณ์ไฟใต้ที่ “ไปไกลกว่าที่คิด” ใน 10 วันสุดท้ายเดือนรอมฎอน “โจทย์” ที่ต้องเร่งหาทางคลี่คลาย / ไชยยงค์ มณีพิลึก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากสื่อสังคมออนไลน์
 
คอลัมน์  :  จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์  มณีพิลึก
--------------------------------------------------------------------------------
 
 
สถานการณ์ความไม่สงบใน 10 วันสุดท้ายของเดือน “รอมฎอน” ก่อนที่จะถึงวัน “ฮารีรายอ อิดิลฟิตรีย์ เป็นเช่นเดียวกับทุกปีที่ผ่านมา นั่นคือ มีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นอย่างถี่ๆ ที่ผู้ปฏิบัติการต้องการ “สื่อ” ให้เห็นถึง “ความรุนแรง” ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งให้คนทั้งโลกเห็นว่า “ขบวนการแบ่งแยกดินแดน” ซึ่งไม่ว่าจะเป็นกลุ่มไหนต้องการที่จะใช้ความรุนแรงมากกว่าที่จะใช้ “สันติวิธี” เพื่อแก้ปัญหา “ความขัดแย้ง” หรือ “ความเห็นต่าง ต่อปัญหาความไม่สงบของจังหวัดชายแดนภาคใต้
 
แต่ถ้าติดตามข่าวของโลกทั้งใบจะพบว่า ในช่วง 10 วันสุดท้ายของเดือนรอมฎอนไม่เพียงแต่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยเท่านั้นที่กลุ่มผู้ก่อการร้ายมุสลิมก่อเหตุด้วยความรุนแรง เพราะในประเทศมุสลิมอีกหลายประเทศก็มีการก่อเหตุด้วยความรุนแรงเช่นกัน และรุนแรงยิ่งกว่า “เหตุร้าย” ในจังหวัดชายแดนภาคใต้มากนัก
 
เช่นการวินาศกรรมในประเทศซาอุดีอาระเบียถึง 3 ครั้ง ใน 4 เมืองใหญ่ การก่อเหตุในกรุงอิสตันบูล ของประเทศตุรกี การก่อเหตุในเมืองโซโล ของประเทศอินโดนีเซีย การก่อวินาศกรรมในไนต์คลับแห่งหนึ่งในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ของประเทศมาเลเซีย และยังมีที่ประเทศอื่นๆ อีก ซึ่งล้วนแต่เกิดขึ้นในห้วง 10 วันสุดท้ายของเดือนรอมฎอนทั้งสิ้น
 
อันแสดงให้เห็นว่า “การก่อการร้าย” ในประเทศต่างๆ เหล่านี้ก็เป็นเฉกเช่นเดียวกับการก่อการร้ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วย “หลักคิด” และ “หลักปฏิบัติ” ด้วยเหตุด้วยผลเดียวกันของกลุ่มที่เป็น “เชื้อชาติ” เดียวกัน โดยอาศัยเดือนแห่งความศักดิ์สิทธิ์ และความดีงามในการสร้าง “บาปกรรมอันยิ่งใหญ่” แก่มวลมนุษย์
 
ในส่วนของจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น สิ่งที่เกิดขึ้นในเดือนรอมฎอนของปีนี้ แม้ว่าจะมีเหตุการณ์ที่ “น้อยกว่า” เดือนรอมฎอนในปี 2558 แต่ก็ “มากกว่า” เหตุร้ายที่เกิดขึ้นในปี 2557 ซึ่งหากคิดเข้าข้างตนเองก็อาจจะบอกแก่สังคมได้ว่า มีการป้องกันการก่อเหตุร้ายที่ “ได้ผล”
 
เนื่องเพราะการก่อวินาศกรรมทุกครั้ง “แนวร่วม” ผู้ปฏิบัติการยังไม่สามารถ “เจาะไข่แดง ของทั้ง 7 หัวเมืองเศรษฐกิจสำคัญได้สำเร็จ แต่เป็นการก่อวินาศกรรรมในบริเวณ “ไข่ขาว ของพื้นที่ที่ทำให้ความเสียหายเกิดขึ้นได้ไม่ร้ายแรงมากนัก
 
หรือถ้าจะคิดแบบ “เชิงบวก” ก็จะต้องกล่าวว่า การตอบโต้ด้วยความรุนแรงต่อแนวร่วมเป็น “ยุทธการเชิงรุก” ของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ที่มีต่อกลุ่มติดอาวุธ มีการตรวจค้น ยึดคืนอาวุธยุทโธปกรณ์ จับกุม วิสามัญ และยึดค่ายพักของกองกำลังติดอาวุธได้จำนวนหนึ่ง จนเป็นเหตุให้แนวร่วมต้องปฏิบัติการ “เอาคืน ใน 10 วันสุดท้าย จนทำให้เห็นว่าสถานการณ์ในพื้นที่มีความรุนแรง
 
แต่ในมุมที่กลับกันก็ย่อมคิดได้เช่นกันว่า 20 วันก่อนถึง 10 วันสุดท้ายของเดือนรอมฎอนนั้น ขบวนการอาจจะมีแผนในการ “ออมกำลัง เอาไว้ โดยก่อเหตุเพียงประปราย เพื่อ “กำหนดเป้าหมาย ในการปฏิบัติการใน 10 วันสุดท้าย
 
อันเป็น 10 วันสุดท้ายที่ทำให้ค่อนข้างเห็นชัดว่า กำลังในพื้นที่ต่างๆ ที่เกิดเหตุไม่สามารถ “ป้องกันได้” แม้จะไม่ถึงการ “ยะย่ายพ่ายจะแจ แต่ก็เกิดอาการ “ป้อแป้ ให้เห็นได้ชัดเจน
 
โดยเฉพาะ “คาร์บอมบ์ จำนวน 2 ครั้ง ทั้งที่ข้างฐานปฏิบัติการทหารที่ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส และที่ฐานปฏิบัติการ นปพ.เกาะหม้อแกง ต.ท่ากำชำ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ซึ่งเป็นรถยนต์ที่แนวร่วมที่เคยก่อเหตุคาร์บอมบ์ที่ห้างเซ็นทรัลเฟสติวัล อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อกลางปี 2558 ประกอบไว้ จำนวน 4 คัน และ 1 ในคาร์บอมบ์ดังกล่าวถูกยึดได้ ส่วนอีก 2 คันที่เหลือถูกใช้ที่ อ.สุไหงโก-ลก และที่เกาะหม้อแกง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี นั่นเอง
 
ภาพประกอบจากสื่อสังคมออนไลน์
 
สิ่งที่ต้องตั้งข้อสังเกตประเด็นแรกคือ การที่ “รถกระบะทั้ง 2 คัน” ซึ่งเป็นรถที่เป็น “เป้าหมาย” ในการติดตาม และตรวจสอบของตำรวจ และทหารในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้สามารถ “หลุดรอด” โดยยังอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ได้จนถึงวันที่ถูกใช้ทำเป็นคาร์บอมบ์นั้น มันถูกซุกซ่อนอยู่ที่ไหน ด้วยวิธีการอย่างไร จึงทำให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบไม่พบ ทั้งที่รถยนต์ทั้ง 2 คันอยู่ในพื้นที่เกือบ 1 ปี ตรงนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีคำตอบ
 
ประเด็นที่ 2 เหตุการณ์คาร์บอมบ์ที่เกาะสมุย นับแต่วันแรกที่เกิดเหตุจนถึงวันนี้ หน่วยงานทุกหน่วยประสานเสียงว่า เหตุการณ์ครั้งนั้นไม่ใช่ฝีมือของขบวนการแบ่งแยกดินแดนในจังหวัดชายแดนใต้ แต่เป็นเรื่องของความขัดแย้งทางการเมือง เมื่อมีหลักฐานประจักษ์ชัดจากคาร์บอมบ์ทั้ง 2 ครั้งนี้ หน่วยงานที่รับผิดชอบจะตอบสังคมว่าอย่างไร อะไรคือข้อ “เท็จ” อะไรคือข้อ “จริง” ต้องมีคำตอบ
 
สิ่งที่เป็นข้อสังเกตประเด็นต่อมาคือ วิธีการของแนวร่วมในการก่อเหตุร้ายด้วยคาร์บอมบ์ทั้ง 2 เหตุการณ์ ใช้วิธีการขับรถยนต์ที่ประกอบเป็นคาร์บอมบ์ไปจอดในจุดที่เป็นเป้าหมายคือ “จุดตรวจ” ของเจ้าหน้าที่แบบดื้อๆ ทื่อๆ ก่อนที่จะซ้อนท้ายรถ จยย.ของพรรคพวกหลบหนี สิ่งนี้เป็น “ยุทธวิธีใหม่” ของแนวร่วมที่เพิ่งเกิดขึ้น
 
อันแสดงให้เห็นว่าแนวร่วมเหล่านี้ไม่เกรงกลัวต่อ “กล้องวงจรปิด” ที่จะเป็นหลักฐานในการจับกุม และไม่กลัวถูกเจ้าหน้าที่ในจุดตรวจจับกุม หรือกระทั่ง “วิสามัญ” แสดงให้เห็นถึง “ความมุ่งมั่น” ในการก่อการร้าย ซึ่งคนที่ทำแบบนี้ได้ต้อง “ใจใหญ่กว่าตับ” ซึ่งเป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่ต้องระวังป้องกัน เพราะวิธีการอย่างนี้อาจจะเกิดขึ้นอีกก็ได้
 
ต่อไปวิธีการในการก่อการร้ายของแนวร่วมที่ยังเป็นแบบเดิมๆ คือ การระเบิดเส้นทางรถไฟ เพื่อสร้างความเสียหายให้แก่สาธารณะประโยชน์ที่เป็นของรัฐ มีการยิงผู้นำศาสนาหน้ามัสยิด มีการยิงระเบิดเอ็ม 79 เพื่อให้เกิดความเสียหายต่อมัสยิด เพื่อป้ายความผิดว่าเป็นการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่รัฐ และเพื่อสร้างสถานการณ์
 
เพราะขบวนการแบ่งแยกดินแดนยังเชื่อว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่ซึ่งเป็น “คนส่วนใหญ่ ยังเชื่อในคำโฆษณาชวนเชื่อว่า “มุสลิมไม่ทำในสิ่งที่บาป เช่นนี้ และสาเหตุที่คนในพื้นที่ส่วนใหญ่ยังเชื่อในการ “หลอกลวง” ของขบวนการ เนื่องจากยังมีความรู้สึกที่เป็น “อคติ” ต่อเจ้าหน้าที่รัฐเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
 
ต่อมา เป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่เกิดขึ้นในห้วงของเดือนรอมฎอนในครั้งนี้ เช่น การส่ง “บัตรแสดงประชามติ ในการที่จะอยู่กับ “รัฐไทย” ต่อไป หรือจะแยกตัวเป็น “เอกราช” ซึ่งมีการแชร์กันในสื่อสังคมออนไลน์ เป็นการ ปฏิบัติการพร้อมๆ กับการรณรงค์ในการรับร่างรัฐธรรมนูญของรัฐบาล ซึ่งเชื่อว่าเป็นการ “โยนหินถามทาง” เพื่อหยั่งกระแสของคนในพื้นที่
 
และต่อด้วยปรากฏการณ์ของ “กลุ่มบุหงารายา ที่ใส่เสื้อที่มีตราเป็นสัญลักษณ์ดินแดน “อาณาจักรมาลายูตอนเหนือ แล้วมีการแชร์กันในสื่อสังคมออนไลน์ จนเกิดกระแสในทางลบว่า เป็นกลุ่มที่ต้องการให้เกิด “รัฐอิสลาม ในแหลมมลายู จนสุดท้าย กอ.รมน.ต้องแถลงข่าวเพื่อมิให้เกิดความแตกตื่นขึ้น
 
แม้ว่าทางตัวแทนกลุ่มบุหงารายา จะออกมาอรรถาธิบายถึงรูปแบบ และตัวอักษรของ “แผนที่” บนเสื้อยืดที่สวมใส่ว่า เป็นสัญลักษณ์ของ “ตาดีกา และต้องการจำหน่ายเสื้อนี้เพื่อหารายได้ใช้ในการรณรงค์เรื่องของการศึกษา แต่ “จังหวะ” และ “เวลา” ที่มีการเผยแพร่ก็เป็นเหตุให้ผู้ที่ไม่เข้าใจชวนสงสัยในพฤติกรรม เพราะเป็นการเผยแพร่ในช่วงที่เกิดเหตุคาร์บอมบ์ที่เกาะหม้อแกงอย่างพอดิบพอดี
 
รวมทั้งยังมีการเผยแพร่แผ่นไวนิลที่มีข้อความ “สิทธิในการกำหนดใจตนเอง หน้าศาสนสถานบางแห่ง จนทำให้เจ้าหน้าที่ต้องทำการรื้อออก และหลังจากนั้น ก็มีการแชร์ภาพ “คนถูกมัดมือและปิดปาก ซึ่งแสดงเป็นสัญลักษณ์ในเชิงต่อต้านผ่านสื่อสังคมออนไลน์อย่างรวดเร็ว
 
และปรากฏการณ์สุดท้ายคือ “สารถึงพี่น้องชาวมุสลิม” ในวันฮารีรายอ อีดิลฟิตรีย์ของ “อาวัง ญาบะ”ประธานกลุ่ม “มาราปาตานี ที่เป็นเสมือนว่ามาราปาตานีเป็นผู้นำของคนในพื้นที่ โดยมีการแสดงความห่วงใยในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งในเรื่อง “ปอเนาะญีฮาด” และเรื่องความขัดแย้งใน “โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา” จ.สงขลา พร้อมทั้งการแสดงความเห็นให้พื้นที่ปลอดภัย และเกิดสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้
 
ทั้งหมดคือสิ่งที่เกิดขึ้นใน 10 วันสุดท้ายของเดือนรอมฎอนปี 2559 ที่หน่วยงานความมั่นคงต้องนำไปเป็น “โจทย์” เพื่อหาทาง “คลี่คลาย” หรือตอบโจทย์ที่เกิดขึ้น เพราะทุกประเด็นมีการ “เชื่อมโยง” ที่มองเห็นถึงนัยที่สำคัญต่อการดำรงอยู่ของ “ไฟใต้” และการที่จะ “ดับไฟใต้” ซึ่งถ้ามองด้วยใจที่ไม่โน้มเอียงก็จะเห็นว่า สถานการณ์ใต้วันนี้ “ไปไกลกว่าที่คิด”
 
ในส่วนของ “บีอาร์เอ็น” หรือ “มาราปาตานี” นั้น “อาวัง ญาบะ” ในฐานะประธานกลุ่มเองก็ต้องตอบคำถามคนในพื้นที่ด้วยเช่นกันว่า ท่านจะแสวงหา “พื้นที่ปลอดภัย” และ “หมู่บ้านสันติสุข” ได้จากที่ไหน ถ้ากองกำลังติดอาวุธในพื้นที่ของบีอาร์เอ็นยังไม่หยุดการใช้ความรุนแรงอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้
 

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น