คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์ มณีพิลึก
--------------------------------------------------------------------------------
การปิดล้อม และเข้าปะทะระหว่างทหารพรานจากกรมทหารพรานที่ 46 กับกำลัง “อาร์เคเค” ของขบวนการแบ่งแยกดินแดน “บีอาร์เอ็น” บนเทือกเขาช้างเผือก บ้านไอกรอส หมู่ 6 ต.ช้างเผือก อ.จะแนะ จ.นราธิวาส เมื่อหลายวันที่ผ่านมา ถือเป็นอีกครั้งที่เป็นความสำเร็จเกิดจาก “การข่าว” ที่แม่นยำ และการใช้ “ยุทธวิธี” ที่ถูกต้อง จนสร้างความสูญเสียให้แก่ฝ่ายตรงข้ามได้จำนวนมาก
ก่อนหน้าที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้ส่งกำลังทหารเข้าตรวจสอบพื้นที่เสี่ยงที่ “แนวร่วม” ขบวนการแบ่งแยกดินแดนใช้ในการเป็นหลังพิง เพื่อบีบให้ออกจากหมู่บ้าน เพื่อเป็นการแยกชาวบ้านกับแนวร่วมออกจากกัน รวมทั้งเป็นการบีบไม่ให้แนวร่วมมีการใช้ “หมู่บ้าน” และ “มวลชน” เป็นที่เคลื่อนไหว และเตรียมการก่อการร้าย จนทำให้กำลังส่วนหนึ่งต้องหลบขึ้นเทือกเขาหลังหมู่บ้านเพื่อความปลอดภัย
4 ศพของฝ่ายตรงข้ามจากการปฏิบัติการของทหารพรานครั้งนี้ คือ อาร์เคเคที่เคยถูกใช้เป็นชุดปฏิบัติการยึดโรงพยาบาลเจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เพื่อใช้เป็นฐานในการโจมตีฐานทหารพรานที่ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับโรงพยาบาล ปฏิบัติการครั้งนี้ของทหารพรานนอกจากจะสร้างความสูญเสียให้ฝ่ายตรงข้ามแล้ว ยังเป็นการปิดคดีการยึดโรงพยาบาลเจาะไอร้องไปในตัวด้วย
ที่สำคัญที่สุดคือ ยังการทำลายแผนการก่อการร้ายในห้วง “เดือนรอมฎอน” ของขบวนการบีอาร์เอ็น ใน จ.นราธิวาส ที่มีการเตรียมการก่อเหตุในเดือนแห่งความศักดิ์สิทธิ์ของผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม
ในห้วงของเดือนรอมฎอนที่จะมาถึงในวันที่ 6 มิถุนายนนี้ บีอาร์เอ็นได้สั่งการให้กองกำลังติดอาวุธ หรือที่เรียกว่าอาร์เคเคปฏิบัติการต่อเจ้าหน้าที่รัฐ และประชาชนชาวไทยพุทธที่เป็นมวลชนของเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อสร้างความสูญเสีย และทำให้แนวร่วมที่เข้ามาใหม่เห็นถึง ”ศักยภาพ” ของขบวนการ และเพื่อ “สร้างข่าว” ให้แก่โลกมุสลิมเห็นถึงการ “ขับเคลื่อน” ของขบวนการในพื้นที่ เพื่อเป้าหมายการแบ่งแยกดินแดน
โดยตลอดมา บีอาร์เอ็นจะใช้เดือนแห่งความศักดิ์สิท ธิ์หรือเดือนแห่งความบริสุทธิ์เพื่อการทำลายล้าง โดยการบิดเบือนคำสอนของศาสนาว่า การ “ฆ่าศัตรู” ในเดือนรอมฎอนจะได้บุญมากกว่าปกติถึง 10 เท่า
ที่สำคัญ การสูญเสียอาร์เคเคถึง 4 คน และบาดเจ็บอีกจำนวนหนึ่งของบีอาร์เอ็นจะนำมาซึ่งการ “เอาคืน” และ “แก้แค้น” กลับอย่างหนักแน่นอน เพื่อขวัญกำลังใจให้ทั้งแนวร่วม และแกนนำบีอาร์เอ็นในพื้นที่ปฏิบัติการก่อเหตุร้ายด้วยความรุนแรงใน 3 จังหวัดคือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส กับ 4 อำเภอของ จ.สงขลา คือ เทพา นาทวี จะนะ และสะบ้าย้อยในเร็วๆ นี้
ดังนั้น “จุดเปราะบาง” ที่สุดในขณะนี้ยังคงเป็นพื้นที่ของ จ.สงขลา โดยเฉพาะทั้งใน 4 อำเภอดังกล่าว และหมายรวมถึง อ.หาดใหญ่ และ อ.สะเดา ด้วย
สิ่งที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ต้องทำการป้องกัน คือ เมื่ออาร์เคเคทำการเอาคืนกับตำรวจ ทหาร และเจ้าหน้าที่รัฐอื่นๆ ไม่ได้ ความซวยก็จะตกกับ “ประชาชน” โดยเฉพาะ “ชาวไทยพุทธ” ผู้ บริสุทธิ์ที่จะต้องเป็นผู้รับเคราะห์ หรือเป็นผู้ถูกนำมา “บูชายัญ” แทน
เช่นเดียวกับกรณีของ “ปอเนาะญีฮาด” ที่มีไทยพุทธจำนวนไม่น้อยได้กลายเป็น “เครื่องบัดพลี” ความไม่พอใจของอาร์เคเคต่อการยึด “ที่ดินวากัฟ” ของปอเนาะญีฮาดไปเป็นของรัฐ
การใช้ “นโยบายป้องกัน” เพื่อรักษาชีวิต และทรัพย์สินของผู้บริสุทธิ์ โดยเฉพาะชาวไทยพุทธเพียงอย่างเดียวคงจะได้ผลไม่เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ สิ่งที่หน่วยงานของรัฐในพื้นที่ต้องทำคือ “การบอกความจริง” ถึงแผนการ และวิธีการของบีอาร์เอ็นให้ประชาชน โดยเฉพาะคนไทยพุทธได้รับทราบถึงภัยอันตรายที่อาจเกิดขึ้นในห้วงของเดือนรอมฎอน
เพื่อให้คนไทยพุทธได้รับรู้ ได้มีการป้องกันตัวเอง และป้องกันทรัพย์สิน ซึ่งเป็นวิธีการหนึ่งในการที่จะ “เซฟ” ชีวิตของผู้บริสุทธิ์ไว้ได้ โดยไม่ต้องกลัวว่าคนไทยพุทธจะหวาดกลัวต่อความจริง เพราะ 12 ปีที่ผ่านมา คนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้พ้นจากความหวาดกลัวมานานแล้ว
ที่นี่เห็นด้วยต่อการใช้นโยบายของ พล.ท.วิวรรธน์ ปฐมภาคย์ แม่ทัพภาคที่ 4 และ ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ในการใช้กำลังทหารเข้าทำการ “กดดัน” แนวร่วมในทุกพื้นที่ เพื่อมิให้มีความเคลื่อนไหวอย่างสะดวก หรือให้ต้องหลบหนีไปยังประเทศเพื่อนบ้าน หรือขึ้นไปหลบซ่อนในเทือกเขาต่างๆ
และสนับสนุนให้มีการใช้กองกำลังในการ “ปิดล้อมพื้นที่” ที่อาร์เคเคใช้ในการซ่องสุมกำลัง หรือหลบซ่อนตามเทือกเขาต่างๆ โดยใช้กำลัง และอาวุธปฏิบัติการต่ออาร์เคเคด้วยเหตุผลที่ว่า เมื่อกองกำลังติดอาวุธเหล่านี้ขาดเสรีภาพในการเคลื่อนไหวเพื่อก่อการร้าย หรือถูกกดดันจนต้องไปอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน เหตุร้ายในพื้นที่ก็จะลดน้อยลงโดยธรรมชาติ
การที่ฝ่ายรัฐทำสงครามไม่ว่าแบบ “อสมมาตร” หรือ “สมมาตร” ต่อฝ่ายตรงข้าม การทำให้ได้เปรียบ หรือได้ชัยชนะทาง “การทหาร” เสียก่อน จึงจะได้รับชัยชนะทาง “การเมือง”
หาก “แพ้ทางการทหาร” แบบแต่ละวันมีแต่การบาดเจ็บล้มตายของกำลังเกิดขึ้น เช่น ถูกวางระเบิดแสวงเครื่อง ถูกซุ่มโจมตี ถูกถล่มฐานปฏิบัติการจากฝ่ายตรงข้ามนานาชนิด โอกาสที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าจะ “ชนะทางการเมือง” ย่อมไม่เกิดขึ้น
ในขณะเดียวกัน ถ้าในทุกวันสิ่งที่เกิดขึ้นคือ การตรวจค้นกดดันจนได้อาวุธ และยุทธภัณฑ์ ได้ผู้ต้องสงสัย ได้ผู้ที่ถูกออกหมายจับ และมีการปิดล้อมปะทะด้วยกำลังอาวุธที่มีการสูญเสียของอาร์เคเค เช่น บาดเจ็บ ตาย และยึดค่ายพักได้ นอกจากขวัญ และกำลังใจของคนในพื้นที่จะดีขึ้นแล้ว เจ้าหน้าที่รัฐก็จะฮึกเหิมด้วยเช่นกัน และนั่นคือการที่ก้าวไปสู่ “ชัยชนะทางการเมือง” ในอนาคต
แม้ว่าในวันนี้อาจจะถูกมองว่าที่สถานการณ์ดีขึ้นเพราะมีการป้องกัน “หัวเมืองเศรษฐกิจ” ทั้ง 7 หัวเมืองไว้ได้ โดยไม่มีเหตุคาร์บอมบ์ หรือการใช้กองกำลังติดอาวุธในการปฏิบัติการในพื้นที่
อย่างเช่น การตรึงพื้นที่ใน อ.บันนังสตา จ.จะลา ที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า มีการ “ทุ่มกำลัง” เข้าไปเป็นจำนวนมาก รวมทั้งพื้นที่อื่นๆ ในหลายอำเภอของ จ.นราธิวาส ซึ่งอาจจะถูกมองว่าเป็นวิธีการสร้างความสงบเฉพาะหน้า เมื่อมีการถอนกำลังกลับสถานการณ์ความรุนแรงก็พร้อมที่จะเกิดขึ้นอีก
แต่เมื่อวันนี้ยังไม่มีวิธีการอื่นๆ ที่ทำให้ความรุนแรงลดน้อยลง หรือสถานการณ์ดีขึ้นกว่านี้ วิธีการ “ทุ่มกำลังเข้าปิดล้อม” เพื่อกดดันฝ่ายตรงข้ามจึงยังเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่หลังจากที่สามารถทำให้แนวร่วมออกจากพื้นที่แล้ว ต้องมีการดำเนินการทางการเมือง และการทหารควบคู่กันไป เพื่อสร้าง “ความอ่อนแอ” ให้แก่ ขบวนการบีอาร์เอ็น
เพื่อการได้ “ชัยชนะ” ทั้ง “ด้านการทหาร” และ “ด้านการเมือง” อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในอนาคต
ดังนี้แล้ว จะต้องดูกันในห้วงของเดือนรอมฎอนว่า กองทัพ และ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า จะหยุดแผนปฏิบัติการของอาร์เคเคได้อย่างแท้จริงหรือไม่ ถ้าทำได้จริงจะเป็นประวัติศาสตร์หน้าแรกในรอบ 12 ปีของไฟใต้ระลอกใหม่ที่ชนะทางการทหารต่อขบวนการบีอาร์เอ็น
ที่สำคัญที่สุดคือ เป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่า “อับดุลเลาะ แวมะนอ” ผบ.ฝ่ายทหารของบีอาร์เอ็นไม่ได้มีความเก่งกาจแต่อย่างใด