xs
xsm
sm
md
lg

อย่าตอบโต้โจรใต้ด้วย “วิถีเถื่อน” แต่ต้องสื่อสารกับสังคมและปิดจุดอ่อนด้านการข่าว / ไชยยงค์ มณีพิลึก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
คอลัมน์  :  จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์  มณีพิลึก
--------------------------------------------------------------------------------
 
การยึดโรงพยาบาลเจาะไอร้องเพื่อทำเป็นฐานปฏิบัติการถล่มกองร้อยทหารพราน อาจจะจบลงไปเพียงเวลา 20 นาที แต่เรื่องราวของการที่ “แนวร่วม” ขบวนการบีอาร์เอ็นฯ บุกยึดโรงพยาบาลเจาะไอร้อง และยิงถล่มฐานทหารพรานน่าจะยังไม่จบง่ายๆ
 
เพราะเรื่องการยึดโรงพยาบาลเจาะไอร้องของแนวร่วม ยังมีปมประเด็นให้ติดตามมาหลายประเด็น ทั้งในเรื่องของการ “เยียวยา” ทางด้านจิตใจของผู้ได้รับผลกระทบ การตรวจสอบหาข้อเท็จจริงของ “หนอนบ่อนไส้” รวมทั้งการสอบสวนถึง “ความบกพร่อง” ของกองกำลังในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครองที่ไม่ทราบความเคลื่อนไหวของแนวร่วมในการเข้าโจมตีด้วยการยึดโรงพยาบาลในครั้งนี้
 
ทั้งที่ก่อนจะมีการปฏิบัติการด้วย “วิถีเถื่อน” บรรดาแนวร่วมได้เข้า-ออกในพื้นที่ ตรวจสอบการทำหน้าที่ของตำรวจ ทหาร และบุคลากรในโรงพยาบาลหลายครั้ง และหลังโรงพยาบาลที่เป็นเทือกเขาตะเว ก็มีการสร้าง “นั่งร้าน” บนต้นไม้เพื่อเป็นที่ “ตรวจการหน้า” ก่อนที่จะเข้าปฏิบัติการโจมตีฐานปฏิบัติการของทหารพราน
 
คงปฏิเสธไม่ได้ว่า หลายครั้งของความสูญเสียที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งเกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ไม่มีขีดความสามารถในการ “สร้างมวลชน” ไม่มีมวลชนที่เป็นของรัฐ แม้แต่ผู้นำท้องที่ก็ไม่เป็นคนของรัฐ ดังนั้น กำลังของทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครองในพื้นที่จึงไม่เคยที่จะ “ระแคะระคาย ต่อแผนปฏิบัติการของแนวร่วม
 
หรืออาจจะมีคนที่รู้ว่าจะมีการปฏิบัติการโจมตีเจ้าหน้าที่ แต่ไม่ยอมแจ้งข่าว หรือแม้แต่เพียง “กระซิบให้เจ้าหน้าที่สักคนได้ทราบ เพราะคิดว่า “ธุระไม่ใช่” ซึ่งแสดงให้เห็นว่า คนในพื้นที่ไม่มีใครรัก และผูกพันต่อเจ้าหน้าที่ในฐานปฏิบัติการแม้แต่คนเดียว
 
ซึ่งประเด็นนี้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ต้องตั้งเป็น “โจทย์” เพื่อนำไป “ขบคิด” ให้แตก
 
การเคลื่อนไหวของกำลังคนหลายสิบคนในพื้นที่ต้องมีการวางแผน มี “สายข่าว ในพื้นที่รายงานความเคลื่อนไหวของเจ้าหน้าที่ให้ทราบ มีการติดตามก่อนเข้าตี โดยเฉพาะในพื้นที่หลังโรงพยาบาลที่เป็นเทือกเขาตะเว ต้องมีแนวร่วมเข้า-ออก ทั้งนี้ ก็เพื่อให้ความมั่นใจถึงความไม่ผิดพลาด
 
ไม่ใช่จู่ๆ ก็แบกปืนเข้ายึดโรงพยาบาล เพื่อใช้เป็น “ป้อมปืน ยิงใส่เจ้าหน้าที่ การที่แนวร่วมทำตามแผนได้สำเร็จชนิด “สมบูรณ์แบบ” คือ เข้ายึด และถอยอย่างปลอดภัย ไม่มีการสูญเสีย และไม่มีการไล่ติดตามอย่างทันท่วงที
 
แสดงให้เห็นว่า กำลังในพื้นที่ “วางใจ ในสถานการณ์ อาจจะไม่มีการลาดตระเวนตรวจสอบพื้นที่ในจุด “ล่อแหลม และไม่ได้สังเกตถึง “ความผิดปกติ” ที่เกิดขึ้นก่อนที่จะถึงวันที่เกิดเหตุ
 
ในขณะเดียวกับการ “ไล่ล่าติดตามจับกุมแนวร่วมหรือ “โจรร้าย” กว่า 20 คน ที่บุกโรงพยาบาลก็ยังไม่จบ กำลังของทหาร และตำรวจยังต้องติดตามจับกุมกันต่อไป เพื่อแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของเจ้าหน้าที่ และความศักดิ์สิทธิ์ของการบังคับใช้กฎหมาย ลดทอนความฮึกเหิมของขบวนการ โดยเฉพาะเพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้แก่ประชาชน
 
แต่สิ่งที่ต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่งในการปิดล้อม ตรวจค้น และจับกุม คือ ต้องอยู่ในกรอบของกฎหมาย และความมี “มนุษยธรรมที่ต้องไม่ใช้ “วิถีเถื่อน เช่นเดียวกับที่แนวร่วมได้ใช้ในการยึดโรงพยาบาล เพื่อเอาบุคลากรของโรงพยาบาล และคนป่วยเป็น “โล่มนุษย์” เพื่อความได้เปรียบของการสู้รบ
 
เพราะหากขาดความรอบคอบ รัดกุม หรือมีการ “ลุแก่อำนาจอาจจะกลายเป็น “เงื่อนไขให้ “มุสลิม นำไปเป็น “ข้อกล่าวหา ในเรื่องของการใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรม และอาจจะกลายเป็น “ประเด็น ให้ขบวนการบีอาร์เอ็นฯ นำไปขยายความขัดแย้งด้วยการปลุกระดม และโฆษณาชวนเชื่อต่อมุสลิมทั้งใน และนอกประเทศ
 
ยิ่งกับ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า แล้วต้องยอมรับว่ายัง “อ่อนด้อย” ในการชี้แจ้ง หรือทำความเข้าใจต่อสังคมในเรื่องของการถูก “กล่าวหา” หรือ “ป้ายสี” จากขบวนการ จนบางครั้งถึงกับ “ไปไม่เป็น” ทั้งที่เป็นเรื่องไม่จริง ดังนั้น เมื่อไม่ให้เกิดได้จึงจะเป็นการดีที่สุด
 
นอกจากนั้น ประเด็นของการยึดโรงพยาบาลเจาะไอร้องของแนวร่วมในครั้งนี้ เหตุร้ายยังคงมีการเกิดอย่างต่อเนื่อง ทั้งในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส กับ 4  อำเภอของ จ.สงขลา คือ จะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย ซึ่งมีทั้งการยิงชาวไทยพุทธที่เป็นอดีตผู้ใหญ่บ้านที่ ต.ลำไพล อ.เทพา และยิงร้านก๋วยเตี๋ยวที่ อ.สะบ้าย้อย เป็นการเปิดพื้นที่ขยายแนวความรุนแรงให้ครอบคลุมรวมพื้นที่ 4 จังหวัด
 
โดยข้อเท็จจริงก่อนที่บีอาร์เอ็นฯ ฝ่ายทหารจะใช้ “ไม้ตาย คือ ความรุนแรง โดยไม่คำนึงถึง “มนุษยธรรม เช่น การยึดโรงพยาบาล การยิงผู้บริสุทธิ์ โดยเฉพาะ “ไทยพุทธ ทำให้ฝ่ายการเมืองของบีอาร์เอ็นฯ ในพื้นที่ได้พยายามที่จะใช้เงื่อนไขการยึด “ปอเนาะญีฮาดวิทยา” มาใช้ในการปลูกระดมมวลชนอย่างหนักในพื้นที่ 3 จังหวัด กับ 4 อำเภอ โดยการสนับสนุนจากบางกลุ่มบางองค์กร
 
แต่ด้วยการที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ตั้งรับอย่าง “รัดกุม และสร้างความเข้าใจต่อคนในพื้นที่ “ส่วนใหญ่ ได้ดี จึงทำให้ประเด็นของปอเนาะญีฮาดวิทยากลายเป็น “ไฟที่จุดไม่ติด ซึ่งถือเป็นความสำเร็จของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าในเรื่องนี้
 
การที่บีอาร์เอ็นฯ หันมาใช้ความรุนแรง แบบ “วิถีเถื่อน ครั้งนี้ ถ้า กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า “ตั้งรับ” ให้ดี โดยที่ไม่ “หลงเหลี่ยมใช้ความรุนแรงแบบเดียวกันในการตอบโต้ โดยปฏิบัติการภายใต้กฎหมายอย่างรอบคอบ เปิดโปงความจริงที่เกิดขึ้นให้สังคมได้รับรู้ถึง “ความป่าเถื่อน ของขบวนการ ซึ่งมีพยานหลักฐานที่ควรแก่การเชื่อถือ และใช้การสื่อสารต่อสังคมให้เป็นประโยชน์ ก็จะกลายเป็น “จุดแข็ง ในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น
 
ถ้าติดตามการพัฒนาการของสถานการณ์อย่างเกาะติด จะเห็นว่า หลังจากที่บีอาร์เอ็นฯ ถูก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า “เปิดโปง รวมทั้งการ “ยอมรับ ของบีอาร์เอ็นฯ เองในบางส่วนว่า เป็นผู้ก่อการร้ายในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประชาชนในพื้นที่มีปฏิกิริยาที่ไม่ยอมรับ และห่างเหินต่อขบวนการในพื้นที่มากขึ้น เนื่องจากในอดีตนั้นคนส่วนใหญ่ในพื้นที่ถูกปลุกระดมให้เชื่อว่า การก่อการร้ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็น “ฝีมือเจ้าหน้าที่” เป็นการสร้างสถานการณ์เพื่อ “ป้ายสี ให้แก่ขบวนการแบ่งแยกดินแดน
 
จะเห็นว่าในการปฏิบัติการยึดโรงพยาบาลเจาะไอร้องครั้งนี้ บีอาร์เอ็นฯ ยังพยายามที่จะใช้วิธีการเดิมๆ ที่เคยใช้คือ การ “ป้ายสีว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อสร้างสถานการณ์ โดยมีแนวร่วมทั้งที่เป็น “องค์กร ในพื้นที่ และนอกพื้นที่ “ขานรับ” ทั้งด้วยความ “จงใจและ “ไม่มีประสบการณ์”
 
แต่เมื่อเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ทั้งโดยวิธีการ และโดยข้อเท็จจริงที่ไม่สอดคล้องต่อการสร้างสถานการณ์ จึงทำให้ “ฟืนเปียกน้ำ จนจุดไม่ติด และกลายเป็นผลดีต่อเจ้าหน้าที่รัฐ
 
วันนี้บีอาร์เอ็นฯ มีการวิเคราะห์กันแล้วว่า การเปิดเผยตนเองว่าเป็นผู้ที่ก่อความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ “ทางการเมืองของขบวนการ เพราะเป็นจุดอ่อนที่ทำให้ประชาชน “ส่วนใหญ่ ที่ไม่นิยมความรุนแรง เกิดอาการไม่เห็นด้วย และไม่สนับสนุน
 
ดังนั้น บีอาร์เอ็นฯ จึงพยายามที่จะกลับไปเป็นแบบในอดีต นั่นคือ การ “ปิดบังตนเอง” ไม่ยอมรับว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นมาจากการกระทำของตนเอง และพยายามหาเหตุผลเพื่อปลุกระดมว่า เจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้กระทำ
 
เหล่านี้คือ “จุดอ่อน ของบีอาร์เอ็นฯ ที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ต้อง “เกาะกุม ให้ได้ เพื่อความได้เปรียบในการต่อสู้เพื่อนำไปสู่ชัยชนะทางด้านมวลชน
 
แต่ที่สำคัญกว่าคือ วันนี้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ก็ยัง “มีจุดอ่อนอีกมากมาย” โดยเฉพาะจุดอ่อนของเจ้าหน้าที่ในฐานปฏิบัติการที่ยังขาดงาน “การข่าว” ที่ดี และขาด “แนวร่วม” ที่เป็นคนในพื้นที่ จนนำไปสู่ความสูญเสียที่สำคัญหลายต่อหลายครั้ง
 
และ “จุดอ่อน” สุดท้ายคือ “การสื่อสารต่อสังคม” ที่ยังคงมีลักษณะที่ “ย่ำเท้าอยู่กับที่” หากสามารถปิดจุดอ่อนเหล่านี้ได้ เชื่อว่าสถานการณ์ของจังหวัดชายแดนภาคใต้คงจะลดความรุนแรงลงได้
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น