คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์ มณีพิลึก
----------------------------------------------------------------------------------------
การออกมาพูด และกล่าวถึง “ขบวนการบีอาร์เอ็นฯ” และ “ดูลเลาะ แวมะนอ” ผู้นำหมายเลข 1 ของ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสารท ผบ.ทบ.และเลขาธิการ กอ.รมน.เมื่อหลายวันก่อน หลังจากที่มีหลักฐานให้เชื่อว่า คาร์บอมบ์ที่ห้างบิ๊กซีปัตตานี เป็นฝีมือสมาชิกของขบวนการนี้นั้น เป็นสิ่งที่ถูกต้อง และที่สำคัญเป็นการ “สื่อ” ถึงหัวหน้าขบวนการบีอาร์เอ็นฯ ที่ได้เสียง “ปรบมือ” จากคนในพื้นที่อย่างเต็มที่ ซึ่งไม่ใช่จากสมาชิก หรือ “มวลชน” ของขบวนการ
รวมทั้ง “ได้ใจ” ของกำลังพลของกองทัพเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากคนของกองทัพที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ชายแดน ณ ปลายด้ามขวานต่างรู้กันดีว่า การก่อเหตุร้ายที่ผ่านมา 13 ปี มาจากการปฏิบัติการของบีอาร์เอ็นฯ
ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส กับ 4 อำเภอของ จ.สงขลา คือ จะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย ต่างเข้าใจสถานการณ์ เข้าใจปัญหา และต่างก็อึดอัดต่อนโยบายของ “ผู้นำหน่วย” ในพื้นที่ ซึ่ง “ไม่ยอมรับ” และ “ไม่ให้ความสำคัญ” ต่อบีอาร์เอ็นฯ แถมยังเชื่อว่าวันนี้บีอาร์เอ็นฯ ล่มสายไปแล้ว มีเพียงคนกลุ่มหนึ่งใช้ชื่อบีอาร์เอ็นฯ เพื่อสร้างสถานการณ์
ดังนั้น เมื่อผู้นำหน่วยไม่เชื่อในเรื่องขบวนการบีอาร์เอ็นฯ จึงไม่ได้ให้ความสนใจต่อการเคลื่อนไหวของบีอาร์เอ็นฯ จึงทำให้บีอาร์เอ็นฯ เปิดเกม “รุกหนัก” ทั้งทางการเมือง และการทหาร โดยที่ไม่มีการตอบโต้จากหน่วยกำลังในพื้นที่ เนื่องจากผู้นำหน่วยเชื่อว่า สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดเป็นเรื่องของกลุ่มผู้แสวงหาประโยชน์ โดยอาศัยชื่อของบีอาร์เอ็นฯ บังหน้า เมื่อผู้นำในพื้นที่เชื่ออย่างนี้ มีหรือที่ผู้ใต้บังคับบัญชาคนไหนจะกล้าสวนกระแส และเห็นต่างจากผู้นำหน่วย
นี่คือสาเหตุที่ 1 ปีที่ผ่านมา บีอาร์เอ็นฯ จึงสามารถก่อเหตุได้อย่างต่อเนื่อง?!
และอย่าว่าแต่ “กองกำลังในพื้นที่” จะอยู่ในสภาพที่ “หยุดนิ่ง” แบบที่ไม่ถอยหลัง แต่ก็ไม่เดินหน้าเลย แม้แต่ “หน่วยข่าว” ที่เกาะติดกับงานการข่าวจำนวนกว่า 20 นาย ก็หยุดนิ่ง เพราะข่าวความเคลื่อนไหวของบีอาร์เอ็นฯ เป็นข่าวที่ “นาย” ไม่สนใจ เสนอไปก็ไม่มีใครอ่าน
เนื่องจากนายสั่งการให้หาข่าวเรื่อง “ภัยแทรกซ้อน” เพียงอย่างเดียว เพราะนายเชื่อว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นทั้งหมด ในสายตาของนายคือ เรื่องของ “ภัยแทรกซ้อน”
ปัญหาความไม่สงบของจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นปัญหาใหญ่ที่เกี่ยวพันต่อความมั่นคงของประเทศ และชีวิตทรัพย์สินของประชาชน เป็นปัญหาที่ถ้าตั้ง “โจทย์ผิด” หมายถึงการ “เสียดินแดน” ให้แก่ขบวนการแบ่งแยกดินแดนก็เป็นได้
ดังนั้น 13 ปีที่ผ่านมา ถ้ามองว่าความรุนแรง ความเสียหายทั้งหมดไม่ได้มาจากขบวนการแบ่งแยกดินแดน แต่เป็นผลจากภัยแทรกซ้อนของกลุ่มอิทธิพลในพื้นที่ ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงก็น่า “เสียดายเงินงบประมาณ” กว่า 300,000 ล้านเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งถูกกองทัพนำไป “ถลุง” อย่างผิดทิศทาง
และก็น่าจะมีคำถามถึงอดีต “ผบ.ทบ.” ในรอบ 13 ปี รวมทั้ง “แม่ทัพภาคที่ 4” แต่ละนายว่า มีการใช้ “อวัยวะส่วนไหน” ของร่างกายมาเป็นหลักในการคิดแก้ปัญหา ถึงปล่อยให้ภัยแทรกซ้อนเล่นงานจนต้องสูญเสียทั้งชีวิตของประชาชน ของทั้งตำรวจและทหารกว่า 6,000 นาย
เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ และวันนี้สิ่งที่ต้องได้คำตอบก่อนที่จะมีการ “เดินหน้า” เพื่อการ “ดับไฟใต้” ต่อไปก็คือ “กองทัพ” “กอ.รมน.” “คสช.” และ “รัฐบาล” โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ หัวหน้า คสช.จะต้องประชุม “โต๊ะใหญ่” เพื่อทำการ “ฟันธง” ว่า
ณ วันนี้สิ่งที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ การตายรายวัน คาร์บอมบ์ จยย.บอมบ์ หรือแม้แต่การวางเพลิงในสถานที่ต่างๆ การก่อวินาศกรรมโรงแรม เสาไฟฟ้า และสายส่งแรงสูง เป็นเรื่องที่มาจากภัยแทรกซ้อน หรือบีอาร์เอ็นฯ
“โต๊ะอิหม่าม” ที่มัสยิดบ้านเกาะเปาะ และ “สุไฮมี สะมะแอ” สมาชิกบีอาร์เอ็นฯ ใน “โครงการพาคนกลับบ้าน” มันเกี่ยวกับภัยแทรกซ้อนตรงไหน?!
เพราะถ้ากองทัพยังไม่ได้บทสรุปของปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ชัดเจนว่ามาจากเรื่องอะไร และมาจากใคร ก็มิเท่ากับว่าการแก้ปัญหาที่ผ่านมา 13 ปี “ผิดพลาด” และการแก้ปัญหาในวันนี้ก็ยัง “มะงุมมะงาหรา” อย่างนั้นหรือ?!
จึงเห็นด้วยที่วันนี้ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสารท ผบ.ทบ. ซึ่งมีตำแหน่งของเสนาธิการ กอ.รมน.อยู่ด้วย ต้องตัดสินใจในการ “ชี้ขาด” ว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นมาจากบีอาร์เอ็นฯ โดยการสั่งการของดูลเลาะ แวมะนอ หรือเป็นเรื่องของภัยแทรกซ้อนที่มาจากการค้าน้ำมันเถื่อน สุรา ยาสูบ เนื้อเถื่อน หรือแม้แต่ขนมนมเนยจากฝั่งมาเลเซีย และบ่อนการพนันใน จ.สงขลา จ.ยะลา จ.ปัตตานี และ จ.นราธิวาส
เพื่อที่คนในพื้นที่จะได้ “ตาแจ้ง” เข้าใจถึงสถานการณ์อย่างถ่องแท้ กำลังพลของกองทัพภาคที่ 4 และ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า จะได้รู้ว่า “ศัตรู” ที่สร้างความเสียหาย ความโหดร้าย ความรุนแรงเป็นใคร และที่ สำคัญต้องมี “วิธี” หรือ “นโยบาย” ที่ชัดเจนว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร
เพราะวันนี้คนในพื้นที่ที่ได้ฟัง พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสารท ผบ.ทบ.พูดถึงบีอาร์เอ็นฯ พูดถึงดูลเลาะ แวมะนอ แล้ว ต่างเชื่อว่านี่คือ “ความจริง” แต่เมื่อผู้นำหน่วยในพื้นที่ให้สัมภาษณ์แบบสวนกระแสว่าไม่ใช่ฝีมือบีอาร์เอ็นฯ ก็ไม่รู้ว่าจะเชื่อใคร
และที่สำคัญถ้าไฟใต้ “ถูกจุด” โดยบีอาร์เอ็นฯ นโยบายที่ใช้ต้องเป็นอีกแบบหนึ่ง แต่ถ้าเป็นเรื่องของภัยแทรกซ้อน นโยบายที่ใช้ก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง
เงินงบประมาณ 300,000 ล้าน กับเวลา 13 ปี ถ้าใช้สู้รบกับบีอาร์เอ็นฯ จะมากจะน้อยก็น่าจะเห็นได้ว่า พอจะ “สมน้ำสมเนื้อ” กับจำนวนทหาร 80,000 คน ที่ถูกส่งเข้ามาเพื่อทำ “สงครามประชาชน” และก็น่าจะ “พอเหมาะพอควร”
แต่ถ้าทั้งงบประมาณ และกำลังพลขนาดนี้ รวมทั้งใช้เวลา 13 ปีในการทำสงครามกับภัยแทรกซ้อน ขอโทษเถอะครับ ถ้าเป็นอย่างนี้คนที่มีส่วนในการรับผิดชอบทั้งหมด “สมควรตาย” ?!?!