xs
xsm
sm
md
lg

อดีตสมาชิกพูโล และแนวร่วม RKK เข้ารายงานตัวต่อแม่ทัพ 4 ร่วมโครงการพาคนกลับบ้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ปัตตานี - อดีตแกนนำระดับสั่งการ และสมาชิกขบวนการพูโล พร้อมแนวร่วม RKK นำครอบครัวรายงานตัวต่อแม่ทัพภาคที่ 4 ขอเข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้าน เปิดใจหากโครงการไปได้ดีจะนำสมาชิกที่เหลือยุติบทบาทร่วมสร้างสันติสุข

วันนี้ (14 ก.พ.) ที่ห้องประชุม หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 44 อ.สายบุรี จ.ปัตตานี พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4/ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางการปฏิบัติโครงการพาคนกลับบ้าน โดยมี พล.ต.เฉลิมพล จินนารัตน์ ผู้แทนเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ นายบรรจบ จันทรัตน์ ผู้แทนจากกระทรวงมหาดไทย นายวีรนันท์ เพ็งจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี นายแวดือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี รวมถึงผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม
 

 
โดยในวันนี้ เป็นการประชุมหารือความคืบหน้าการดำเนินงานโครงการพาคนกลับบ้าน ในประเด็นการอำนวยความสะดวกด้านกระบวนการยุติธรรม และขั้นตอนการพิสูจน์สัญชาติ โดยล่าสุด มีผู้ที่ประสงค์เข้ามารายงานตัวเข้าสู่โครงการพาคนกลับบ้านเพิ่มขึ้นอีก จำนวน 103 คน ประกอบด้วย สมาชิก BRN และพูโลเก่า รวมถึงผู้ที่เข้าไปหลบหนียังประเทศเพื่อนบ้าน โดยหลังการประชุมได้มีการพบปะกับผู้ที่เข้ารายงานตัวในโครงการพาคนกลับบ้าน จำนวน 103 คน พร้อมกับญาติพี่น้อง โดยมีผู้แทนจากกระทรวงมหาดไทย และสภาความมั่นคงแห่งชาติ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงกระบวนการขั้นตอนโครงการพาคนกลับบ้าน นอกจากนี้ ยังมีเจ้าหน้าที่จากศูนย์ปฏิบัติการนิติวิทยาศาสตร์จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำการตรวจดีเอ็นเอผู้ที่รายงานตัวเข้าร่วมโครงการในเบื้องต้นอีกด้วย
 

 
พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4/ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 กล่าวว่า สำหรับการดำเนินงานโครงการพาคนกลับบ้าน ในขณะนี้ได้เชิญทางด้านกระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม และสภาความมั่นคงแห่งชาติ รวมถึงฝ่ายตำรวจ และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ มาเพื่อพิสูจน์สัญชาติของผู้ที่เข้าร่วมโครงการ ล่าสุด จำนวน 103 คน เพื่อพิสูจน์ว่าเป็นสัญชาติไทย หลังจากนั้น จะนำสู่กระบวนการขั้นตอนโครงการฯ ยืนยันว่าจะดูแลทุกคนด้วยความยุติธรรมตามกระบวนการกฎหมายไทย ซึ่งในขณะนี้มีผู้ที่ได้รับการพิสูจน์สัญชาติแล้ว จำนวน 24 คน

โดยจากการพูดคุยกับผู้ร่วมโครงการพาคนกลับบ้านในครั้งนี้คนหนึ่ง เปิดเผยว่า รู้สึกดีใจที่ทางรัฐบาลไทยให้การดูแลพวกเขา ขณะนี้ทุกคนต้องการที่จะกลับมาอยู่ประเทศไทย เพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ และมีความมั่นใจในกระบวนการขั้นตอนของโครงการพาคนกลับบ้าน ขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ให้การดูแล และมีโครงการนี้ขึ้นมา
 




กำลังโหลดความคิดเห็น