xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อ “ภาพลวงตา” ยังมากมาย หนทางดับไฟใต้จึงต้องคดเคี้ยวยากจะไปถึงจุดหมาย / ไชยยงค์ มณีพิลึก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบ
 
คอลัมน์  :  จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์  มณีพิลึก

----------------------------------------------------------------------------------------
 
 
จำได้ว่าผู้เขียนเคยเขียนไว้ชัดเจนว่า สถานการณ์ความรุนแรงของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เหตุร้ายลดลงในห้วง 1 เดือนกว่าที่ผ่านมานั้น เป็นเพียงเรื่องของการ “พักรบชั่วคราว” ของขบวนการบีอาร์เอ็นเท่านั้น ซึ่งมาจากสาเหตุ 2 ประการ
 
ประการที่ 1 คือ เกิดภัยธรรมชาติ น้ำท่วมครั้งใหญ่ในภาคใต้ และในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งก็เป็นพื้นที่ภัยพิบัติในครั้งนี้ด้วย กลุ่มแบ่งแยกดินแดนจึงหยุดการปฏิบัติการต่อเป้าหมายเป็นการชั่วคราว เพื่อให้ทหารทำการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ ซึ่งประสบภัยพิบัติอย่างเต็มที่ เพราะ “มวลชน” ของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนต่างได้รับความเดือดร้อน และต้องการความช่วยเหลือเช่นเดียวกับประชาชนกลุ่มอื่นๆ
 
และประการที่ 2 การสิ้น “ผู้นำจิตวิญญาณ” ของบีอาร์เอ็นอย่าง “สะแปอิง บาซอ” ซึ่งถือเป็นผู้นำเบอร์ 1 ของขบวนการ บีอาร์เอ็นจึงต้องมีการพักรบเป็นการชั่วคราว เพื่อปรับสภาพภายในขององค์กร โดยเฉพาะในการสรรหาผู้นำจิตวิญญาณคนใหญ่
 
ซึ่งวันนี้เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า ผู้นำจิตวิญญาณคนใหม่ของบีอาร์เอ็นที่มีการนำเสนอระหว่าง “ดูลเลาะ แวมะนอ” หรือ “อับดุลเลาะ แวมะนอ” คนปัตตานี กับ “อาหมัด ตืองะ” คนยะลานั้น ในส่วนของ “อับดุลเลาะ แวมะนอ” คือ ผู้นำจิตวิญญาณคนใหม่ของบีอาร์เอ็น
 
การที่พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดเหตุน้อยลงชั่วคราว ไม่ได้มาจากความสำเร็จของการ “พูดคุยสันติสุข” หรือการปราบปรามการกระทำผิดในเรื่องของ “ภัยแทรกซ้อน” แต่อย่างใด
 
และหลังจากที่น้ำแห้งกับมีการตั้งผู้นำจิตวิญญาณของขบวนการบีอาร์เอ็นเรียบร้อยเมื่อไหร่ สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ก็จะกลับคืนมา
 
เหตุการณ์เผาโรงโม่หินมนู และโรงโม่หินศิลาทอง ที่ ต.ลำใหม่ จ.ยะลา โดยคนร้าย 20 คนเข้าไปปฏิบัติการจนสร้างความเสียหายอย่างยับเยิน แสดงให้เห็นว่าไม่ใช่เรื่องของความขัดแย้งทางธุรกิจ และไม่ใช่เรื่องของผลประโยชน์จากการเรียกค่าคุ้มครอง เพราะโรงโม่ทั้ง 2 แห่งมีการ “เคลียร์มวลชน” ในพื้นที่ และ “ค่าคุ้มครอง” อย่างครบถ้วน
 
การวางเพลิงโรงโม่ทั้ง 2 แห่ง จึงคือการก่อวินาศกรรม เพื่อทำลายเศรษฐกิจในพื้นที่ ซึ่งเป็นเป้าหมายในปฏิบัติการของบีอาร์เอ็น และในอนาคตบีอาร์เอ็นมีแผนปฏิบัติการแบบใหม่ที่เรียกว่า  “เล็กๆ ไม่ แต่ใหญ่ๆ ทำ”
 
อันหมายความว่า จะลุกความถี่ในการปฏิบัติการต่อเป้าหมายเล็กๆ เช่น การก่อกวนรายวัน แล้วทำให้เป็นการปฏิบัติการรายใหญ่เป็นรายสัปดาห์ รายปักษ์ หรือรายเดือน และเป้าหมายจะเปลี่ยนไป-เปลี่ยนมา เพื่อให้เจ้าหน้าที่สับสน และจับทางในการป้องกันไม่ถูก
 
แต่ต่อด้วยการยิงถล่ม “สะมะแอ ดอเลาะ” นายก อบต.ยะหริ่ง ในพื้นที่ จ.ปัตตานี ซึ่งเป็นผู้นำท้องถิ่นผู้กว้างขวาง ซึ่งลักษณะการปฏิบัติการที่เกิดขึ้นบ่งบอกว่า เป็นการปฏิบัติการของ “แนวร่วม” มากกว่าเป็นการกระทำของ “เจ้าหน้าที่” หรือ “มือที่ 3”
 
ดังนั้น ถ้าหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่เชื่อว่าการพูดคุยสันติสุขที่ผ่านมา รวมทั้งการจับกุมและทำลายเครือข่ายภัยแทรกซ้อนทำให้สถานการณ์ดีขึ้น จึงเป็นเรื่องของ “ความเข้าใจผิด” ที่จำเป็นจะต้องเข้าใจให้ถูกต้อง และต้องมีความพร้อมในการรับมือต่อการก่อการร้ายที่กำลังจะมีการเปลี่ยนรูปแบบในอนาคต
 
และที่ต้องเข้าใจคือ การเสียชีวิตของ สะแปอิง ผู้นำหมายเลข 1 ของบีอาร์เอ็นที่เกิดขึ้น ไม่ได้มีผลดีต่อสถานการณ์ของจังหวัดชายแดนภาคใต้
 
กล่าวคือ “รัฐไทย” ไม่ได้อะไรเลย เพราะนอกจากไม่ได้กระทบกระเทือนต่อบีอาร์เอ็นแล้ว ยังทำให้มวลชนส่วนหนึ่งที่ไม่เชื่อว่า สะแปอิง เป็นคนร้ายที่เป็นผู้นำขบวนการแบ่งแยกดินแดน ซึ่งอยู่เบื้องหลังให้มีคนตายเป็นเรือนพัน เจ็บเป็นเรือนหมื่นแล้ว แถมมวลชนยังเชื่อว่าหน่วยงานความมั่นคง “กล่าวหา” และ “ใส่ร้าย” สะแปอิง อีกต่างหาก
 
แม้แต่เบื้องหลังการตายของสะแปอิง ที่หน่วยงานความมั่นคงควรจะ “หยิบฉวย” มาเป็น “โอกาส” ในการดับไฟใต้ โดยการ “รุกกลับมาเลเซีย” ซึ่งอยู่เบื้องหลังในการดูแลคนของบีอาร์เอ็นที่ในประเทศมาเลเซีย แต่ก็กลับไม่ได้ทำ เช่น เบื้องหลังการตายของสะแปอิง ที่เกิดจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ และมีผู้เสียชีวิต 2 ศพ รวมทั้งในเรื่องการออกมรณบัตรของคนตาย ที่ยังไม่มีการออกมรณบัตร ซึ่งย่อมมีผลต่อการจัดการในเรื่องมรดก ซึ่งสิ่งเหล่านี้ควรจะมีการทำ “ความกระจ่าง” ให้เกิดขึ้น
 
เช่นเดียวกับสถานการณ์ล่าสุดในประเทศมาเลเซีย ที่มีการจับกุม 6 คนร้าย ที่เป็นแนวร่วมปฏิบัติการก่อการร้ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ปาเสมัส ในรัฐกลันตัน ซึ่งทั้ง 6 คน คือ กลุ่มคน 131 คนที่เคยทำเรื่อง “ลี้ภัย” ไปจาก จ.นราธิวาส เพื่อไปอยู่ในประเทศมาเลเซียเมื่อหลายปีก่อน เพื่อต้องการ “สร้างเงื่อนไข” ให้เข้าองค์ประกอบของยูเอ็น เพียงต่อสุดท้ายแผนการยังไม่ประสบความสำเร็จ
 
และในการจับกุมครั้งนี้ มาเลเซียอ้างว่า เป็นกลุ่ม “รัฐอิสลาม” หรือ “ไอเอส” ไม่ใช่เป็นเครือข่ายของขบวนการบีอาร์เอ็น เพื่อที่ไม่ต้องการให้ฝ่ายไทยเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง หรือขอตัวกลับมาดำเนินคดีในไทย ในฐานะที่เป็นคนร้ายที่ก่อเหตุร้ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้
 
สุดท้ายแล้วเรื่องการจับกุมแนวร่วมกลุ่มบีอาร์เอ็นทั้ง 6 คน พร้อมด้วยอุปกรณ์การประกอบระเบิด ทางการมาเลเซียก็จะไม่ให้รายละเอียดแก่ทางการไทย เพราะคนทั้ง 6 มีบัตรประชาชนมาเลเซีย ย่อมไม่ใช่คนไทย รวมทั้งฝ่ายความมั่นคงของไทยก็ยังสับสนเสียเองในเรื่องของ “ซาอี บิน อาลี” ว่าเป็นคนคนเดียวกับ “อุสมาน เจ๊ะอูบง” ซึ่งถ้าตรวจสอบให้ชัดเจนจะพบว่า เป็นคนละคนกัน
 
เมื่อปลายสัปดาห์มีการประชุม RBC หรือคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาคระหว่างตัวแทนกองทัพของประเทศมาเลเซีย และตัวแทนของกองทัพไทยที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ซึ่งการประชุม RBC เกิดขึ้นตั้งแต่ยุคสมัยที่ยังมีโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายาปฏิบัติการในประเทศมาเลเซีย และในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยในยุคนั้นทั้ง 2 ประเทศถือว่าคอมมิวนิสต์มลายาเป็นปัญหาร่วม จึงต้องแก้ปัญหาร่วมกัน
 
แต่หลังจากที่ไทยนำ “เสี้ยนหนาม” ของมาเลเซียออกจากป่ามาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย โดยไทยรับผิดชอบในเรื่องงบประมาณเพียงฝ่ายเดียว การประชุม RBC ในยุคต่อมาจึงไม่ได้มีการนำเอาเรื่องขบวนการแบ่งแยกดินแดนเข้าไปเป็น “ปัญหาร่วม” ของทั้ง 2 ประเทศแต่อย่างใด
 
จึงน่าเป็นการเสียดายที่การประชุม RBC ในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา จึงเป็นเวทีที่หยิบยกเอาเรื่องที่มาเลเซียต้องการ มากกว่าที่ไทยเราต้องการมาพูดกันในที่ประชุม และเป็นการประชุมแบบโอ้โลม และปฏิโลม เพื่อการเอาใจฝ่ายมาเลเซีย โดยมีจุดมุ่งหมายเพียงการสานสัมพันธไมตรีระหว่างกองทัพ มากกว่าการแก้ปัญหาไฟใต้
 
จึงน่าเสียดายเป็นอย่างยิ่งที่การประชุม RBC ไม่เตยหยิบเอาเรื่องบีอาร์เอ็นมาขึ้นโต๊ะในการพูดคุย ทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญ และที่น่าสังเกตกว่านั้นคือ ผู้นำฝ่ายไทยต่างที่เก่งทางโอ้โลม และปฏิโลม ขณะที่ฝ่ายมาเลเซีย มักจะได้ “อวยยศ” จากรัฐบาล และกองทัพของมาเลเซียให้ผู้นำไทย อย่างการให้ตำแหน่ง “ดาโต๊ะ” และอาจจะสูงสุดถึง “ตันศรี” เพื่อเป็นการตอบแทน
 
และเหล่านี้คือ “ภาพลวงตา” หรือ “มายาภาพ” ซึ่งคงจะตอบโจทย์ได้ชัดเจนว่า ทำไมหนทางดับไฟใต้ของไทยจึง “คดเคี้ยว เลี้ยวลด” และเดินมาเท่าไหร่ก็ไม่ถึงจุดหมายสักที
 
กำลังโหลดความคิดเห็น