คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์ มณีพิลึก
เดือดแดดเดือนมีนาคมร้อนอย่างไร “ไฟใต้” ก็จะน่าเป็นอย่างนั้น เพราะตลอดทั้งเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งหน่วยงานความมั่นคงมั่นใจว่าไฟใต้กำลังจะ “มอดดับ” ภายในปี 2561 นั้น เวลานี้ดูเหมือนจะไม่ได้เป็นไปอย่างที่มีการประโคมโหมโห่ไว้แล้ว
แต่กลายเป็นว่าในพื้นที่ 3 จังหวัดคือ ปัตตานี ยะลาและนราธิวาส กับ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ได้แก่ จะนะ เทพา นาทวีและสะบ้าย้อย กลับไม่มีพื้นที่ไหนที่เป็น “พื้นที่ปลอดภัย” เพราะมีเหตุไม่ยิงรายวัน ก็วางเพลิง หรือไม่ก็ระเบิดแสวงเครื่องถูกปฏิบัติการเป็นดาวกระจายไปทั่ว
ส่งผลให้ธุรกิจค้าขายของ “คนไทยพุทธ” กลายเป็นเป้าหมายอีกครั้ง และแม้แต่พื้นที่ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ก็ไม่รอดจากการปฏิบัติการ “หยอกเย้า” จาก “โจรใต้” หรือ “แนวร่วม” ของขบวนการแบ่งแยกดินแดน
เจ็บไม่มาก ตายน้อย คงไม่ใช่ประเด็นสำคัญที่จะต้องนำมาเป็นข้อพิจารณา เพราะข้อพิจารณาที่สำคัญกว่าคือ วันนี้โจรใต้หรือแนวร่วมถูกสั่งการจากใคร จาก “บีอาร์เอ็นฯ” ตามที่คนส่วนใหญ่เชื่อ หรือว่าจาก “4-5 ตระกูลใหญ่” ที่ที่ฝ่ายรัฐเชื่อว่ายังมีอิสระในการเคลื่อนไหวเพื่อก่อเหตุต่างๆได้อย่างเป็นผล
ระเบิดทำงานได้บ้าง และเกิดด้านไปบ้าง ถือเป็น “โชคดี” และเป็นเรื่องของ “โชคช่วย” โดยเฉพาะหลายเป้าหมายไม่เกิดความสูญเสียสักเท่าไหร่ ทั้งนี้หาใช่เกิดจากปฏิบัติการป้องกันได้ผลของหน่วยงานความมั่นคงไม่
ปฏิบัติการระเบิดแบบใหม่ๆ เช่น ระเบิดกระติกน้ำ ระเบิดกระเป๋าสตางค์ ระบิดรถถีบ (จักรยานเสือหมอบ) ซึ่งต่อไปจะมี “ระเบิดหมวกกันน็อค” หรือไม่ก็ “ระเบิดหม้อข้าว” และอื่นๆ ที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อให้ง่ายในการเคลื่อนย้ายและสามารถการผ่านจุดตรวจค้นได้
ระเบิดแบบที่ว่ามานี้ไม่ได้หวังผลในเรื่องความรุนแรง แต่หวังผลในเรื่องก่อกวน และที่สำคัญคือการสร้างความหวาดระแวง ความปั่นป่วนให้เกิดขึ้นในพื้นที่ จนกลายเป็น “ความแตกตื่น” เมื่อมีการตรวจพบ จนต้องปิดพื้นที่ ปิดเมือง เพื่อตรวจค้นระเบิดที่ถูกนำไปซุกซ่อน
นี่คือการทำลายสังคม ทำให้สังคมไม่เป็นสุข และเมื่อเจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจต้องตรวจค้นอย่างเข้มงวดต่อผู้สัญจรไปมา นั่นก็จะสร้าง “ความเบื่อหน่าย” และ “เกิดอคติ” กับเจ้าหน้าที่ ซึ่งสุดท้ายก็จะทำให้สังคมมองว่า เรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นเป็นการแก้ปัญหากันที่ปลายเหตุ นั่นคือ “ความล้มเหลว” ของเจ้าหน้าที่
ปฏิบัติการ “ดาวกระจาย” ที่เกิดขึ้น จึงเป็นตัวบ่งชี้ที่ชัดเจนว่าการป้องกันเพื่อหยุดการก่อเหตุร้ายของ เจ้าหน้าที่รัฐ หรือของหน่วยงานความมั่นคง ทั้งหมดยังคง “ล้มเหลว” ไม่เป็นท่า
และถ้ามีการเปิดเผย “พื้นที่เซฟตี้โซน” จำนวน 14 อำเภอที่หน่วยงานความมั่นคงมีการโอ้อวดเอาไว้อีก รับรองว่าทั้ง 14 อำเภอที่ถูกระบุว่าเป็น “พื้นที่ปลอดภัย” คงจะไปไม่มีรอดแม้แต่อำเภอเดียว
วันนี้ฝ่ายความมั่นคงมีความก้าวหน้าในเรื่องการดับไฟใต้อยู่ 2 เรื่อง เรื่องที่ 1 คือ การการนำอดีตโจรใต้ หรือแนวร่วม และกลุ่ม “ผู้ตกใจ” ที่ถูกออกหมายจับและหนีไปยังประเทศมาเลเซีย ให้ได้กลับเข้าสู่กระบวนการ “พาคนกลับบ้าน” จำนวนหลายร้อนคน
เรื่องที่ 2 กระบวนการ “พูดคุยสันติสุข” มีความก้าวหน้าในการพูดคุยระหว่างโจรแบ่งแยกดินแดนภายใต้การนำของ “กลุ่มมาราปาตา” กับตัวแทนรัฐบาลไทยภายใต้หัวหน้าคณะคือ พล.อ.อักษรา เกิดผล จนนำไปสู่การเปิดสำนักงานเพื่อใช้เป็น “วอร์รูม” ที่สำนักงานกรรมการอิสลามจังหวัดปัตตานี และเตรียมประกาศพื้นที่ปลอดภัยหรือเซฟตี้โซนจำนวน 1 อำเภอในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ชายแดนภาคใต้ในเดือนเมษายน 2561 นี้
อีกทั้งมีแถมให้คือกำลังมีการเตรียมที่จะปล่อย “คนผิด” ที่อยู่ในเรือนจำจำนวนหนึ่ง เพื่อช่วยให้การพูดคุยบรรลุเป้าหมาย และยกเว้นการใช้กฎหมายกับโจรใต้ในกลุ่มมาราปาตานี เพื่อให้เดินทางเข้า-ออกระหว่างไทย-มาเลเซียได้สะดวกดาย ทั้งนี้ก็เพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงของการพูดคุยกันไว้นั่นเอง
แต่ทำไมในพื้นที่กลับยังระงมไปด้วยเสียงระเบิดแสวงเครื่อง การเผาธุรกิจและบ้านเรือนของคนไทยพุทธ แถมยังมีการตายรายวันของทั้งคนไทยพุทธและมุสลิม โดยที่ไม่รู้ว่าสาเหตุเกิดจากเรื่องอะไร อีกทั้งสถานการณ์ความหวาดระแวงยังคงมีอยู่ทุกหย่อมย่าน
ทั้งหมดทั้งปวงไม่เอื้ออำนวยกับการพูดคุยสันติสุขแต่อย่างใด จนมีคำถามว่าในบรรยากาศเช่นนี้การสร้าง “สันติสุข” จะเกิดขึ้นได้จริงล่ะหรือ
อันเป็นไปตามคำถามของ “คนไทยพุทธ” ในพื้นที่ที่มีต่อหน่วยงานความมั่นคงว่า “โครงการพาคนกลับบ้าน” และการ “พูดคุยสันติสุข” จะมีประโยชน์อันใด ถ้าในพื้นที่ยังเต็มไปด้วยความรุนแรง เสียงปืน เสียงระเบิด เปลวเพลิง และยังมีคนตายคนเจ็บเกิดขึ้นไม่หยุดหย่อน
ในความเข้าใจของคนในพื้นที่ ถ้าโครงการพาคนกลับบ้านและการพูดคุยสันติสุขเป็นนโยบายที่ใช้ดับไฟใต้ได้จริง เมื่อทั้ง 2 โครงการสามารถขับเคลื่อนอย่างได้ผลและมีความก้าวหน้า หากเป็นเช่นนั้นสถานการณ์ในพื้นที่จะต้องสงบลง นั้นหมายถึงการขับเคลื่อนนโยบายดับไฟใต้เป็นเรื่องที่ตอบโจทย์ได้แท้จริง
ส่วนอีกประเด็นที่เป็นความล้มเหลวในการแก้ปัญหาของหน่วยงานความมั่นคง นั่นคือ การที่หน่วยงานความมั่นคงตรวจสอบ “โรงเรียนบางกงวิทยา” ในพื้นที่ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี พบเอกสารและอุปกรณ์อื่นๆ มากมายที่เชื่อว่าใช้ในการ “ปลุกระดม” และใช้ “บ่มเพาะ” นักรบรุ่นใหม่ และยังพบอุปกรณ์ประกอบระเบิดแสวงเครื่อง รวมทั้งเอกสารที่แสดงให้เห็นถึงงบอุดหนุนโรงเรียนที่ไม่สอดคล้องกับจำนวนครูและนักเรียน
นั่นแสดงให้เห็นว่า วันนี้ขบวนการบีอาร์เอ็นฯ ยังคง “ยุทธศาสตร์” ในการใช้โรงเรียนเอกชนในพื้นที่เป็นฐานในการบ่มเพาเยาวชนเข้าสู่ขบวนการ เช่นเดียวกับก่อนปี 2547 ที่โรงเรียนหลายแห่งคือฐานที่มั่นของบีอาร์เอ็นฯ
ที่ผ่านมาจนถึงวันนี้มีการดำเนินคดีกับโรงเรียนที่กลายเป็นที่บ่มเพาะและฝึกการก่อการร้ายมีเพียง 2 โรงคือ “โรงเรียนบูรพาวิทยา” ที่ จ.นราธิวาส และ “โรงเรียนญีฮาดวิทยา” ที่ จ.ปัตตานี
เมื่อเหตุการณ์อย่างนี้เกิดกับโรงเรียนบากงวิทยาได้ ทำไมจะเกิดกับโรงเรียนอื่นๆ ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากไม่ได้ และหน่วยงานความมั่นคงจะดำเนินการตรวจสอบโรงเรียนที่เหนืออยู่อย่างไร หรือปล่อยให้กลายเป็นแหล่งบ่มเพาะเพื่อสร้าง “นักปฏิวัติ” ให้ได้ครบ 3,000 คน และสร้าง “นักรบ” ให้ได้ครบ 100,000 คนในช่วงเวลา 15 ปี อันเป็นไปตามโครงสร้างใหม่ที่ขบวนการบีอาร์เอ็นฯ วางแผนไว้
โดยเฉพาะเงินอุดหนุนโรงเรียนเอกชนที่ได้งบอุดหนุนจากรัฐ และรัฐขาดการบริหารจัดการที่ถูกต้อง จนเกิดการทุจริตขึ้น เพราะขาดการตรวจสอบจำนวนครู นักเรียนและบุคลากรของโรงเรียนว่าเป็นจริงตามที่ได้รับงบอุดหนุนหรือไม่ และที่สำคัญเงินเหล่านี้ถูกใช้ไปในทางที่เป็นภัยกับความมั่นคงหรือไม่
ขอบคุณ พล.ต.จตุพร กลัมพสุต ผบ.ฉก.ปัตตานี ที่กล้าหาญในการ “สวนกระแส” ว่า “ไม่มีบีอาร์เอ็นฯ” แล้ว
โดยยังเดินหน้าตรวจสอบและจับกุม “อุสตาซ” บางคนของโรงเรียนดังกล่าว เพื่อเป็นการ “เปิดโปง” ให้สังคมได้รับทราบว่า บีอาร์เอ็นฯ ยังคงใช้ยุทธศาสตร์ของ “การศึกษาเชิงเดี่ยว” และใช้ “โรงเรียนสอนศาสนา” เป็นฐานที่มั่นในการบ่มเพาะคนเข้าสู่ขบวนการ ซึ่งก่อนปี 2547 เป็นอย่างไร ผ่านมาวันนี้ปี 2561 หรือ 14 ปีมาแล้วก็ยังเป็นอย่างนั้น
ทั้งหมดเป็นเพราะรัฐบาลยังเพิกเฉยกับหัวใจของการปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจาก “ใจกลาง” ของปัญหาซึ่งก็คือ บีอาร์เอ็นฯ ไม่ใช่ “ภัยแทรกซ้อน” เมื่อไม่มีการจัดการกับใจกลางของปัญหา ดังนั้นไฟใต้ จึงไม่มีทางมอดดับได้
และสิ่งสำคัญคือ รัฐบาลยัง “หลงทิศ” ในนโยบายต่างประเทศที่จะใช้ดับไฟใต้
เพราะในประเทศมาเลเซียนั้น หน่วยงานที่ดูแลขบวนการแบ่งแยกดินแดนในไทยคือ “ตำรวจสันติบาล” ไม่ใช่ “ทหาร” หรือ “หน่วยข่าวกรอง” หรือ “สภาความมั่นคง”
และแม้แต่ “ดาโต๊ะซัมซามิน” ซึ่งเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยสันติสุขก็ยัง “เข้าถึง” แกนนำของขบวนการบีอาร์เอ็นฯ ได้ยาก การที่จะเข้าถึง “ดูลเลาะ แวมะนอ” ผู้เป็นเบอร์ 1 หรือแกนนำสำคัญคนอื่นๆ ของบีอาร์เอ็นฯ ต้องอาศัย “สันติบาล” เท่านั้นจึงจะได้ผล
แต่เมื่อทุกฝ่ายยังพยายามที่จะให้สังคมเข้าใจว่า เวลานี้ไม่มีบีอาร์เอ็นฯ แล้ว และไฟใต้ที่เกิดขึ้นไม่ใช่ฝีมือของ บีอาร์เอ็นฯ ก็เท่ากับเข้าไม่ถึงใจกลางของปัญหา สุดท้ายไฟใต้จึงยังคงเป็นไปอย่างที่เป็นและอย่างที่เห็น
ถือเป็น “เวรกรรม” ของคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่จะต้อง “รับกรรม” กันต่อไป เช่นเดียวกับคนไทยทั้งประเทศ ที่ต้อง “กัดฟัน” ยอมให้กองทัพใช้งบประมาณที่เป็นภาษีของทุกคนปีละหลายหมื่นล้านบาทเพื่อการดับไฟใต้ ส่วนใครจะ “ค้าสงคราม” หรือใครจะได้ “กำไร” ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
และที่สำคัญยิ่งคือ ขึ้นอยู่กับว่าจะมี “หนูตัวไหน” กล้าหาญนำ “กระพรวน” ไปผูก “คอแมว” หรือไม่ก็เท่านั้น