“ประยุทธ์” เชื่อ โอไอซีลงพื้นที่ จชต.ไฟใต้ดีขึ้น มั่นใจเปิดเวทีรับฟังทุกฝ่ายแล้วแก้ปัญหา เฉ่งนักวิเคราะห์ถามลั่นหรือจะให้ปิดกวาดล้างอย่างบางประเทศ แจงแก้กฎหมาย กอ.รมน.แค่รองรับอำนาจช่วยภัยพิบัติ
วันนี้ (27 ก.พ.) เมื่อเวลา 14.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงการลงพื้น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ขององค์การความร่วมมืออิสลาม (โอไอซี) ว่า คาดหวังว่าสถานการณ์จะดีขึ้น เพราะเป็นการสร้างกำลังใจในเวทีประเทศอิสลาม หรือโลกมุสลิม ให้เข้าใจว่าการแก้ปัญหาภาคใต้ไม่ได้แก้ไขเหมือนกับที่อื่นๆ มีวิธีการแตกต่างกันออกไป ไม่ใช่รบกันทั้งเมือง ไม่ใช้อาวุธวิถีโค้งหรือเครื่องบินใหญ่โต แต่เป็นเรื่องในพื้นที่ท้องถิ่นซึ่งเป็นพื้นที่ห่างไกลบ้าง เขตเมืองบ้าง โดยลักษณะการลอบทำร้าย โดยอาจจะมีการบิดเบือนสร้างแนวร่วมในการทำที่คาดหวังว่าจะเกิดผลกับอุดมการณ์หรือทางการเมือง หรืออะไรก็แล้วแต่ รัฐบาลใช้การบังคับใช้กฎหมายกับเรื่องการพัฒนาทุกอย่าง มีโครงการลงไปมากมาย มีงบประมาณลงไปพอสมควร สร้างเขตเศรษฐกิจใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้ความสำคัญจัดเป็นพื้นที่พิเศษในการพัฒนาและการศึกษา เปิดเวทีแสดงความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ภาครัฐ ข้าราชการ ประชาชน องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) นักธุรกิจ ไทยพุทธและมุสลิมในพื้นที่มาคุยรับฟังปัญหาซึ่งกันและกัน ในเวทีเดียวกันจะได้ไปสู่ข้อสรุปจะแก้ปัญหากันอย่างไรถึงจะแก้ได้ ที่ผ่านมารัฐบาลอยู่ตรงกลาง ฟังทีละข้างก็แก้อะไรไม่ได้ แก้ทีก็โดนซ้ายโดนขวา วันนี้รัฐบาลนี้ทำและประชุมหลายครั้งแล้ว
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า ต้องเห็นใจอีกเรื่องที่ทุกคนต้องการความอิสรเสรี ไม่ต้องการให้มีการบังคับใช้กฎหมายอะไรเลย ไม่ต้องตรวจรถเพราะไม่สะดวก คนไม่เดือดร้อนก็บอกไม่สะดวก แต่คนที่เดือดร้อนก็บอกตายทุกวัน แล้วจะให้รัฐบาลทำอะไร ก็ต้องมีมาตรการตรวจค้น ตรวจสอบรถตั้งด่านตรวจจุดสกัด ก็ไม่สะดวก แต่คนเดือดร้อนก็มี คนที่ไม่เดือดร้อนไม่อยู่ในพื้นที่เจอการตรวจด้วยก็ต้องยอมเห็นใจคนที่ตายเจ็บบ้าง ต้องสร้างสังคมอย่างนี้ขึ้นมา ไม่ใช่ให้รัฐบาลทำอย่างเดียว เพราะรัฐบาลมีหน้าที่อย่างเดียวคือการบังคับใช้กฎหมาย ใช้มากเกินไปกฎหมายก็เสียหายอีก เพราะมันใช้ไม่ได้ ทุกคนไม่ร่วมมือ รัฐบาลก็ต้องใช้กฎหมายมุ่งเน้นตอบสนองเพื่อป้องกันความเสียหาย การบาดเจ็บสูญเสียของประชาชนนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อให้ขบวนการที่จะทำให้เกิดความวุ่นวายสับสนอลหม่านล้มเลิกไป มันสู้กันด้วยความคิด ไม่ได้สู้กันด้วยกำลัง ทหารที่ลงไปจะเห็นได้ว่าเป็นเหยื่อทุกวัน เพราะเปิดเผยตนเอง ไม่ได้ไปลาดตระเวนเข้าป่าเข้าไปสู้กันในป่า เพราะสู้กันอยู่ในเมืองทั้งสิ้น มันเป็นคนละเรื่องกับการใช้ยุทธวิธีทางทหาร เป็นการป้องกันตัวเจ้าหน้าที่ ประชาชาชนผู้บริสุทธิ์โดยการเปิดเผยตัวตลอด เวลาใครจะมาลอบยิงทำร้ายต้องเห็นใจบ้าง ยิ่งมีการพูดไปพูดมาเจ้าหน้าที่ก็เสียกำลังใจ หาว่าไปใช้งบประมาณสูง แต่เสี่ยงทุกวัน เสี่ยงเพื่อใคร ดังนั้นเรื่องการแก้ปัญหาภาคใต้กรุณาคิดให้ถูกต้อง
“จะเอาอย่างต่างประเทศ ปิดพื้นที่กวาดล้างมันทั้งจังหวัด ทั้งอำเภอ มันก็ไม่ได้อีก ทำอย่างนั้นจะบานปลายหรือเปล่า อยากจะรบอย่างเขาหรืออย่างไร ที่เถียงกันทุกวัน วิเคราะห์สถานการณ์กันไปเรื่อยเปื่อย บางทีไม่ได้มีหลักคิดอะไรที่มันถูกต้อง เอาตัวอย่างตรงนั้นตรงนี้มาต่อกันไปมา ต้องทำแบบนี้แบบนั้น ไม่มีวิธีการเดียวที่จะแก้ปัญหาได้หรอก เรามีตั้ง 7-8 ยุทธศาสตร์ โครงการพาคนกลับบ้านก็มี มาตรา 21 ก็มี ในการพิจารณาเรื่องกระบวนการยุติธรรมโดยระบบของศาลก็มี เพื่อเปิดโอกาสให้คนเหล่านี้กลับเข้ามาพัฒนาบ้านเมือง เราทำทุกอย่างเลย ถ้าจะเอาตัวอย่างต่างประเทศบางประเทศ กวาดล้างอย่างเดียวมันใช่ไหมล่ะ อย่างอื่นมันเสียหายเท่าไหร่ คนส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับพวกนี้ไหม เข้าใจผมตรงนี้หน่อย สถานศึกษาเป็นอย่างไร มีโรงเรียนกี่ประเภท แล้วหลักการทางศาสนามีปัญหาอะไรตรงไหน ซึ่งไม่มีหรอก มีแต่คนไปสร้างให้มันเกิดขึ้นเท่านั้นเอง ทุกศาสนาดีหมด เราต้องไปเชื่อมต่อตรงนี้ให้ได้ ไม่ว่า ปอเนาะ ตาดีกาก็คนไทยทั้งนั้น ทำอย่างไรให้เขามาอยู่ในกรอบของกฎหมายและการใช้งบประมาณที่ถูกต้อง รัฐบาลก็ต้องดูแล ผมถือว่าหลายอย่างดีขึ้น แต่เรื่องบาดเจ็บสูญเสียยังมีอยู่ เพราะคนเหล่านี้ยังมีอยู่ แล้วเจ้าหน้าที่ต้องเปิดเผยตัวเองตลอดเวลา แล้วเราก็กวาดล้างขนาดใหญ่ไม่ได้ เว้นเสียแต่ว่ามันรุนแรงมาจนเกินเหตุมันก็ต้องทำแล้วมันถึงเวลาหรือยัง ถ้าเป็นต่างประเทศเขาก็ปิดล้อมพื้นที่ เคอร์ฟิวทั้งหมด ห้ามคนเข้าออก ใช้กำลังเข้ากวาดล้าง เอาไหมล่ะ อยากเห็นภาพนั้นหรือ คิดอะไรให้มีหลักการบ้าง” นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงความคืบหน้าการแก้ไขกฎหมายกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ด้วยว่า ตนบอกแล้วว่าเดิม กอ.รมน.ดูเฉพาะภัยที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ หรือความมั่นคงเป็นหลัก แต่จากสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตที่ผ่านมา พลเรือน ตำรวจ-ทหาร เข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาภัยพิบัติ จึงแก้กฎหมายเพื่อให้สามารถเข้าไปแก้ปัญหาภัยพิบัติได้ ถ้ายังอยู่เหมือนเดิมเจ้าหน้าที่บาดเจ็บสูญเสียต่างๆ จากการเข้าไปช่วยเรื่องภัยพิบัติ ครอบครัวก็เดือดร้อน เพียงแต่แก้ให้มีอำนาจตรงนี้ ไม่ได้แก้เพื่อการเมืองอะไรทั้งสิ้น กอ.รมน.เป็นกลไกเชื่อมโยงการทำงานระหว่างพลเรือน ตำรวจ-ทหาร เดิมมีกองบัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหาร ที่ 43 (พตท.43) แล้วยกเลิกสมัยไหนแล้วเกิดอะไรขึ้นจากการยกเลิก พตท.43 ไม่ย้อนกลับไปดู บทเรียนก็มีอยู่แล้ว มองแต่การเมืองอย่างเดียวจะไปได้อย่างไรประเทศไทย การเมืองไม่ใช่เรื่องที่ทำให้ทุกอย่างมันล้มเหลวไม่ใช่หรือ ประชาธิปไตย การเมือง ทำอย่างอื่นล้มเหลวไปทั้งหมดมันได้ไหม”