ตรัง - ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคใต้เสนอรัฐบาลใช้กฎหมายพิเศษแก้ปัญหาราคายาง-ปาล์มตกต่ำ เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว หวั่นเศรษฐกิจช่วงครึ่งหลังปี 60 อาจดิ่งลงไปมากกว่านี้
วันนี้ (4 ก.ค.) นายวิถี สุพิทักษ์ ประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัทวู้ดเวอร์ค ผู้ประกอบการธุรกิจยางพารารายใหญ่ของจังหวัดตรัง และประธานสภาอุตสาหกรรมภาคใต้ มองว่า สถานการณ์เศรษฐกิจของจังหวัดตรัง และของภาคใต้ในช่วงครึ่งปีหลังนี้ (กรกฎาคม-ธันวาคม 2560) ยังคงต้องจับตามองอย่างต่อเนื่อง และมีโอกาสที่จะเติบโตได้น้อยกว่าปีที่แล้ว อันเนื่องมาจากปัญหาพืชผลทางการเกษตร โดยเฉพาะยางพารา และปาล์มน้ำมันที่มีราคาตกต่ำ นับตั้งแต่ช่วงกลางปีเป็นต้นมา ขณะที่มาตรการแก้ไขปัญหาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่เป็นรูปธรรมเด่นชัด
เช่น การสนับสนุนให้ใช้ยางพาราในประเทศเพื่อทำถนน หรือทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ มากขึ้น แต่ในความเป็นจริงกลับยังคงมีการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด หรือติดขัดในเรื่องระบบราชการแบบเดิมๆ ทั้งที่รัฐบาลชุดนี้มีอำนาจพิเศษที่จะเข้าไปดำเนินการให้ทุกอย่างเห็นผลได้อย่างรวดเร็ว และขณะนี้ก็กำลังมีปัญหาเรื่องกฎหมายแรงงานต่างด้าวฉบับใหม่ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการรายย่อย หรือ SME ที่มีความจำเป็นต้องนำแรงงานต่างด้าวมาใช้งานต่างๆ เช่น การกรีดยาง การตัดปาล์ม หรือการจับสัตว์น้ำ เพราะหาแรงงานคนไทยได้ยาก
ทั้งนี้ ก่อนหน้านั้นในช่วงต้นปี 2560 ภาคการเกษตรของภาคใต้กำลังมีทิศทางที่สดใส รวมไปถึงภาคการท่องเที่ยว และส่งผลดีมาถึงภาคอุตสาหกรรม แต่เมื่อถึงช่วงปลายไตรมาส 2 (เมษายน-มิถุนายน) พืชผลทางการเกษตรกรกลับมีราคาตกต่ำลงอย่างมาก ส่งผลให้ประชาชนระดับรากหญ้าซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางเกษตร ต้องประสบกับความเดือดร้อน เนื่องจากมีรายได้ลดลง แต่มีรายจ่าย หรือค่าครองชีพต่างๆ ที่สูงขึ้น และยังมองไม่เห็นว่าในอนาคตจะดีขึ้นหรือไม่ อย่างไร
โดยเฉพาะยางพาราที่มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ กก.ละ 40 บาท ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงก็คือ ลูกจ้าง หรือคนกรีดยาง เนื่องจากเมื่อแบ่งรายได้กับนายจ้าง หรือเจ้าของสวนในอัตรา 50-50 เปอร์เซ็นแล้ว ลูกจ้างจะมีรายได้ประมาณเดือนละ 1 หมื่นบาทต่อครอบครัว ซึ่งถือว่าค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับภาระค่าใช้จ่ายในยุคปัจจุบัน ประกอบกับยังเจอปัญหาฝนตกชุก จนทำให้มีวันกรีดน้อยกว่าทุกปีด้วย ดังนั้น จึงควรหามาตรการทำให้ราคายางพาราขยับตัวขึ้นไปอยู่ที่ กก.ละ 50 บาท เป็นอย่างน้อย และสนับสนุนให้ใช้ยางพาราในประเทศอย่างจริงจัง
สำหรับปัญหาของปาล์มน้ำมันก็คล้ายๆ กับยางพารา เพราะล่าสุด มีราคาร่วงลงไปเหลือ กก.ละ 3 บาทเศษๆ เท่านั้น ซึ่งในส่วนของลูกจ้าง หรือคนตัดปาล์มอาจจะไม่ค่อยมีผลกระทบมากนัก เพราะยังคงได้รับค่าแรงเท่าเดิมคือ กก.ละ 80 สตางค์ ถึง 1 บาท แต่ในส่วนของนายจ้างเมื่อหักลบทั้งค่าจ้าง และต้นทุนแล้ว จะเหลือเงินค่อนข้างน้อยจนอยู่ได้อย่างยากลำบาก ภาครัฐจึงเห็นควรหามาตรการทำให้ราคาปาล์มน้ำมันขยับตัวขึ้นไปอยู่ที่ กก.ละ 4 บาทเป็นอย่างน้อย และสนับสนุนวิชาการเพื่อช่วยเพิ่มผลผลิต