กนอ.เร่งพัฒนาพื้นที่นิคมฯ “ยางพารา” จังหวัดสงขลา รุดหน้าแล้วกว่า 55% คาดเปิดพื้นที่ทั้งโครงการรับนักลงทุนได้เร็วกว่าแผนที่วางไว้ปลายปีนี้ มั่นใจจะช่วยกระตุ้นราคายางพาราในประเทศให้ฟื้นตัวอีกครั้ง หากมีการลงทุนเต็มพื้นที่จะทำให้ความต้องการใช้ยางภายในประเทศเพิ่มขึ้นประมาณ 200,000 ตันต่อปี ด้านนักลงทุนไทย-ต่างชาติเข้าสอบถามข้อมูลพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า นิคมอุตสาหกรรมยางพารา (Rubber City) จังหวัดสงขลา ตั้งอยู่ในพื้นที่ระยะที่ 2/2 และ 3 ของนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ ตำบลฉลุง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ขนาดพื้นที่ 1,218 ไร่ เป็นนิคมอุตสาหกรรมที่จัดตั้งตามนโยบายรัฐบาล มีเป้าหมายเพื่อรองรับอุตสาหกรรมยางครบวงจร และเพื่อผลักดันให้ราคายางพาราของไทยปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งล่าสุดการก่อสร้างมีความคืบหน้าแล้วกว่า 55% คาดว่าจะสามารถพร้อมให้ผู้ประกอบการเข้าใช้พื้นที่ได้ทั้งหมดประมาณปลายปี 2560 โดยการพัฒนาพื้นที่ถือว่าเร็วกว่าแผนที่ กนอ.วางไว้เดิมซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในช่วงเดือนเมษายน 2561
“พื้นที่ในนิคมฯ ยางพาราจะพร้อมให้นักลงทุนเข้าประกอบกิจการได้อย่างสมบูรณ์ประมาณปลายปี 2560 ซึ่งปัจจุบันนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศยังคงสนใจสอบถามข้อมูลด้านการลงทุนและความคืบหน้าของการก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง โดย กนอ.คาดว่าเมื่อมีโรงงานอุตสาหกรรมเกิดขึ้นการใช้ยางพาราในพื้นที่ก็จะเพิ่มปริมาณขึ้นด้วย เชื่อว่าสถานการณ์ราคายางพาราของไทยหลังจากนี้จะมีทิศทางที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น” นายวีรพงศ์กล่าว
กนอ.ได้พัฒนาพื้นที่นิคมฯ ยางพารา โดยมีเป้าหมายให้สามารถรองรับอุตสาหกรรมยางแบบครบวงจร โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยางขั้นกลางน้ำและปลายน้ำ เช่น อุตสาหกรรมนวัตกรรมยาง อุตสาหกรรมจากน้ำยางข้น อุตสาหกรรมยางคอมปาวด์และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ประกอบด้วย พื้นที่พาณิชยกรรม 6 แปลง ประมาณ 29 ไร่ อุตสาหกรรมทั่วไป 8 แปลง ประมาณ 33 ไร่ อุตสาหกรรมยางขั้นกลาง 22 แปลง ประมาณ 125 ไร่ อุตสาหกรรมยางขั้นปลาย จำนวน 55 แปลง ประมาณ 375 ไร่ อุตสาหกรรมสะอาด 12 แปลง ประมาณ 64 ไร่ ซึ่งคาดว่าการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวจะตอบสนองความต้องการของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ กนอ.ตั้งเป้าไว้ในช่วงระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่ปี 2560-2564 จะมีโรงงานเข้าลงทุนในพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 70 โรงงาน มูลค่าการลงทุนประมาณ 8,000 ล้านบาท คาดว่าจะเกิดความต้องการใช้ยางพาราในภาคอุตสาหกรรมขั้นกลางน้ำและปลายน้ำเพิ่มขึ้นประมาณ 200,000 ตันต่อปี และเมื่อนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ยางพาราแล้ว จะสามารถเพิ่มมูลค่าประมาณ 6,000 ถึง 10,000 ล้านบาทต่อปี เกิดการจ้างงาน ประมาณ 7,000 คน หรือ 350 ล้านบาทต่อปี และจะช่วยสนับสนุนให้ราคายางพารามีเสถียรภาพและก่อให้เกิดรายได้แก่กลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางในระยะยาวได้อย่างแท้จริง
นอกจากการพัฒนาพื้นที่รองรับการลงทุนขนาดใหญ่แล้ว กนอ.ยังได้สานต่อนโยบายสานพลังประชารัฐของรัฐบาล โดยการจัดสรรพื้นที่บางส่วนในนิคมฯ ยางพาราก่อสร้างโรงงานมาตรฐานสำหรับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยางขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) บนพื้นที่ 25 ไร่ จำนวน 21 หลัง โดยที่ผ่านมา กนอ.ได้เปิดให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าใช้พื้นที่ประกอบกิจการเป็นที่เรียบร้อยจำนวน 10 หลัง รวมพื้นที่ทั้งสิ้น 5,000 ตารางเมตร ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 11 หลัง กนอ.คาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างเพิ่มเติมเร็วๆ นี้ เนื่องจากยังมีผู้ประกอบการ SMEs ที่ให้ความสนใจสอบถามเข้ามาอย่างต่อเนื่อง