xs
xsm
sm
md
lg

“อุตตม” ลงพื้นที่เช็คคืบหน้ารับเบอร์ซิตี้ กนอ.จ่อผุดแห่งที่2ที่นราธิวาส

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


อุตตม” พร้อมด้วย “ประธานบอร์ด กนอ.” ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้านิคมฯยางพารา จังหวัดสงขลา เผยงานก่อสร้างรุดหน้ากว่า 50 % มั่นใจแล้วเสร็จพร้อมเปิดบริการนักลงทุนปี 61 เดินหน้าโครงการ กนอ. ศึกษาผุดแห่งที่ 2 จ.นราธิวาส

วันนี้(31พ.ค.) นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ ลงพื้นที่เยี่ยมชม และรับฟังบรรยายความคืบหน้าโครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมยางพารา หรือ Rubber City ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ ตำบล ฉลุง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ระยะที่ 2/2 และ 3 บนพื้นที่ รวมประมาณ 1,218 ไร่ซึ่งถือเป็นนโยบายที่รัฐบาลให้ความสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราของไทยให้ยั่งยืนเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันโดยเฉพาะการยกระดับราคายางพาราให้เพิ่มขึ้น

พลเอก วรพงษ์ สง่าเนตร ประธานกรรมการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันมีความก้าวหน้าไปมากกว่า 50% ในส่วนของระบบสาธารณูปโภค ซึ่งเป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ นักลงทุนวางแผนเริ่มเข้าใช้พื้นที่ได้ในต้นปี 2561 นอกจากนั้น กนอ. ยังได้กำหนดแนวทางการพัฒนานิคมฯยางพารา ที่สอดคล้องกับนโยบายการส่งเสริมกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม (SMEs) ตามนโยบายรัฐบาล ภายใต้โครงการ “กนอ.สานพลังประชารัฐ ยกระดับ SME ยางไทย ก้าวไกลในนิคมอุตสาหกรรมยางพารา” โดยการพัฒนาอาคารโรงงานมาตรฐาน (Ready - Built Factory) เพื่อรองรับSMEsที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมยางพารา

“อาคารโรงงานมาตรฐานจะเน้นอุตสาหกรรมสะอาดที่ไม่มีมลพิษ (Clean Industry) ภายในพื้นที่ระยะที่ 3ของนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ จังหวัดสงขลา เป็นโครงการก่อสร้างอาคารโรงงานมาตรฐานสำเร็จรูป พร้อมระบบสาธารณูปโภค ผู้ประกอบการสามารถเข้าประกอบกิจการได้ทันที บนพื้นที่ 25 ไร่ “พลเอกวรพงษ์กล่าว

<
นายวีรพงษ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า คณะกรรมบริการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (บอร์ดกนอ.) มีมติเห็นชอบให้กนอ.ศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมยางพาราใน อ.ยี่งอ จังหวัดนราธิวาส เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวมีศักยภาพในเรื่องของอุตสาหกรรมยางพารา อุตสาหกรรมอาหาร อาหารฮาลาล ซึ่งขณะนี้ กนอ.อยู่ระหว่างจัดหาพื้นที่จำนวน 2,000 ไร่โดยคาดว่าจะนำเสนอบอร์ดเห็นชอบภายในปีนี้
“ หากบอร์ดเห็นชอบก็จะดำเนินการได้ในปี 2561 - 2563 และพร้อมเปิดดำเนินกิจการในปี 2564 โดยการก่อสร้างนิคมฯยางพารา จ.นราธิวาส จะนำต้นแบบนิคมอุตสาหกรรมเมืองยางหรือ Rubber City จังหวัดสงขลาไปพัฒนาต่อยอดที่ขณะนี้ถือว่าประสบความสำเร็จที่นักลงทุนให้ความสนใจอย่างต่อเนื่อง”นายวีรพงษ์กล่าว
ทั้งนี้โครงการนิคมอุตสาหกรรมยางพารา (Rubber City) จังหวัดสงขลา ขณะนี้โครงการมีความคืบหน้าแล้ว 50%ล่าสุดมีผู้ประกอบการโรงงานแปรรูปยางพารา ในอุตสาหกรรมถุงมือยาง สารเคมีที่เกี่ยวข้องกับยาง ยางคอมพาวน์ ทั้งของไทยและต่างชาติ เช่น ศรีลังกา มาเลเซีย จีน อิตาลี สนใจเข้ามาลงทุนในพื้นที่ Rubber City คิดเป็นพื้นที่ที่ขายแล้วรวม 120 ไร่ หรือ 20% ของพื้นที่ขายทั้งหมดจำนวน 660 ไร่ โดยกนอ.มั่นใจว่า จะสามารถขายพื้นที่ทั้งหมดเร็วกว่าแผนที่วางไว้
พร้อมกันนี้ กนอ.ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) สนับสนุนสานพลังประชารัฐ บูรณาการความร่วมมือด้านการจัดหาแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักแรงงาน แรงงานจังหวัดสงขลา จัดหางานจังหวัดสงขลา สถาบันการศึกษาและอาชีวศึกษา 6 แห่ง เพื่อพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานในสถานประกอบการ เตรียมความพร้อมด้านแรงงานรองรับการลงทุนในนิคมฯยางพารา
กำลังโหลดความคิดเห็น